กุมภาพันธ์ 2011

ทักษะเพื่อการเปลี่ยนแปลง



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2554

ในช่วง ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมา ปีเตอร์ เซ็งกี้ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่สถาบันเอ็มไอที ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้จุดประกายแนวคิดเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้จนแพร่หลายไปทั่วโลก ผ่านหนังสือของเขาชื่อ The Fifth Discipline โดยนำเสนอแนวคิดในการเสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้ ร่วมกันภายในองค์กรให้กลับมามีชีวิตและเชื่อมสัมพันธ์กันอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถเจริญก้าวหน้า พัฒนาและเติบโตต่อไปในสภาพเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปได้

มุมมองของเซ็งกี้ท้าทายแนวคิดการบริหารจัดการแบบเดิมที่มององค์กรเป็นเครื่องจักรกลไก ที่เน้นการทำงานแยกส่วน และมองบุคลากรเป็นเพียง “ชิ้นส่วน” หนึ่งขององค์กร หรือเป็นเพียง ทรัพยากรที่ปรับเปลี่ยนทดแทนได้ คำสั่งและการควบคุมด้วยระบบที่ชัดเจนจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดี ในขณะที่เซ็งกี้เน้นความสำคัญที่การพัฒนาการเรียนรู้ใน ๕ องค์ประกอบ ได้แก่ ความสามารถเป็นนายเหนือตัวเอง (Personal Mastery) การสร้างแบบจำลองความจริง (Mental Model) การเรียนรู้อย่างเป็นทีม (Team Learning) การสร้างวิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision) และวิธีคิดเชิงระบบ (System Thinking) ทั้งนี้จุดเริ่มต้นที่สำคัญ คือการเปิดใจเรียนรู้ของคนในองค์กร เพราะหากผู้คนไม่ยอมเรียนรู้หรือปรับตัว องค์กรก็ไม่สามารถเรียนรู้และปรับตัวหรือพัฒนาต่อได้

จากประสบการณ์การทำงานกับองค์กรต่างๆ ในช่วงระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า อาการของภาวะตีบตันของการเรียนรู้ในองค์กร ได้แก่ ความเชื่อที่ว่า “ไม่มีอะไรเปลี่ยนได้” หรือ “ทำไปก็เท่านั้น แล้วทุกอย่างก็จะกลับไปเหมือนเดิม” เป็นภาวะสิ้นหวัง เบื่อเซ็ง สิ้นแรงบันดาลใจ อาการเหล่านี้อาจมีเหตุปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ความสัมพันธ์ในองค์กรเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจแนวดิ่ง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกดทับไม่รับรู้หน่วยย่อยที่เล็กกว่า ไม่ส่งเสริมหรือหล่อเลี้ยงการเจริญเติบโตองค์กร ผู้คนมีความรู้สึกว่าระบบบริหารบุคลากรมีความไม่เป็นธรรมหรือไม่โปร่งใส การสื่อสารภายในองค์กรที่ติดขัด ไม่มีประสิทธิภาพ เกิดความแบ่งแยกและกลุ่มก้อนที่ไม่สื่อสารกัน ภาระงานมากจนทำให้บุคลากรไม่สามารถรักษาสมดุลของชีวิตส่วนตัวและความสัมพันธ์ในองค์กรได้ ที่สำคัญคือการขาดความสม่ำเสมอในโอกาสการเรียนรู้จากกันและกัน

จะเห็นว่าในบรรดาเหตุปัจจัยเหล่านี้ บางเรื่องพอจะปรับเปลี่ยนได้ไม่ยากนัก เพราะมีรูปธรรมจับต้องได้ เช่น การปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายและระบบการทำงาน แต่การปรับเปลี่ยนทัศนคติความเชื่อ พฤติกรรมและการสื่อสารของคนในองค์กรเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก จำต้องอาศัยเวลาและความพยายามอย่างยิ่งยวด ในหนังสือ Immunity to Change โดย ดร.โรเบิร์ต คีแกน และ ลิซา ลาสโคว ลาเฮย์ ที่ได้ศึกษาพฤติกรรมการเรียนรู้ และการเปลี่ยนแปลง ของมนุษย์และองค์กรในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในแต่ละปี ท่ามกลางโอกาสและ ความท้าทายต่างๆ องค์กรในทุกภาคทุกหน่วยต่างลงทุนด้วยเงินจำนวนมหาศาล ไม่น้อยกว่าพันล้านดอลลาร์และให้เวลากับการพยายามปรับปรุงพัฒนาทักษะและความสามารถของคนในองค์กร ด้วยหลักสูตรพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นผู้นำ และประสิทธิภาพการทำงาน การโค้ชผู้บริหาร และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สะท้อนถึงความ คาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผลลัพธที่จะดีขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่ลงทุนลงเวลา มากมายขนาดนี้…แต่ถ้าเราได้มีโอกาสไปกินข้าว หรือสนทนากับผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้อย่างเป็นกันเอง เราจะได้ยินอย่างตรงไปตรงมาว่า “ก็คงต้องยอมรับว่า ถึงที่สุดแล้วคนเรามันเปลี่ยนไม่ได้หรอก แอลยังไงก็ยังคงเป็นแอลวันยังค่ำแหละ คนเราพออายุสัก ๓๐ หรือ ๓๕ ปี เขาก็จะเป็นอย่างที่เขาเป็นมานั่นแหละ อย่างมากก็อาจปรับตัวได้บ้าง ตามสภาพแวดล้อม จริงๆ แล้วผมคิดว่าเราควรจะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของคนพวกนี้ให้มากที่สุด แล้วลงทุนจ้างคนมา อุดจุดอ่อน แทนที่จะลงทุนให้พวกเขาต้องมาเปลี่ยนแปลงตัวเองในสิ่งที่พวกเขาจะไม่เปลี่ยน”

คีแกนเสนอทางออกที่พอจะให้ความหวังในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบว่า หากเราสามารถเข้าใจ เบื้องหลังแรงต้านการเปลี่ยนแปลงของบุคคลที่เปรียบเสมือนภูมิต้านทานโรคของร่างกายคนเรา ที่เรียกว่า ภูมิต้านทานทางจิตวิทยา หรือที่เราเรียกง่ายๆ ว่า ลักษณะนิสัยหรือความเป็นตัวตนแล้ว เราก็จะพบหนทางสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น แนวคิดก็คือ ลักษณะนิสัย ที่แต่ละคนเป็นนั้นพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่วัยเด็กเพื่อปกป้องจิตใจจากภัยอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ และเป็นกลไกที่ช่วยให้มีความก้าวหน้าและพัฒนาได้

เช่น คุณศักดา (นามแฝง) เป็นผู้นำองค์กรธุรกิจแห่งหนึ่งที่มุ่งมั่นเอาการเอางาน เด็ดขาด และจริงจังกับการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย เขาผลักดันให้ตัวเองและองค์กรเกิดความเจริญก้าวหน้า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ลักษณะเด่นของศักดา คือความมุ่งมั่น เด็ดขาด แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ได้รับการประเมินว่า เป็นผู้นำที่งานสำเร็จ แต่ทีมงานมีความขัดแย้งแตกแยก ขาดแรงบันดาลใจในการทำงานเป็นทีม ในฐานะผู้นำ เขาจำต้องรับผิดชอบปัญหาความสัมพันธ์ ในองค์กรกับเพื่อนร่วมทีม หรือปัญหาการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ

โดยนิสัยส่วนตัวแล้ว เขาจะเป็นคนรักพวกพ้องและจริงใจกับทุกคน สนุกสนานเฮฮา ไปไหนไปกัน แต่สำหรับเรื่องงาน เขาไม่ยอมอ่อนข้อให้ใครง่ายๆ การที่ศักดาถูกคาดหวังจาก องค์กรให้เปลี่ยนวิธีการสื่อสารและทำงานกับผู้คน เป็นสิ่งที่เขาอึดอัด และท้อใจ เขาต้องเข้าหลักสูตรอบรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อฝึกที่จะเป็นคนที่ ประนีประนอมและถ้อยทีถ้อยอาศัย ต้องฝึกทั้งการสื่อสารด้วยคำพูดและการแสดงออก ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก มีบุคลิกลักษณะบางอย่างในตัวเขาที่ “ใช้ได้ผล” มาตลอด ไม่ว่าเขาจะตั้งใจ และพยายามเพียงใด ศักดาก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างที่องค์กรต้องการ

ในเชิงจิตวิทยา ความเป็นตัวตนหรือลักษณะนิสัยที่ก่อรูปมาเป็นลักษณะเด่นของชีวิตแต่ละคน คือศักยภาพหรือกลยุทธ์ที่แต่ละคนใช้ (หรือถูกใช้) ในการอยู่รอดและการปรับตัวเข้ากับสังคม ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่ช่วยให้เรารู้สึกปลอดภัยจากภาวะเปราะบางและความเจ็บปวด ไม่เพียงเท่านั้นยังช่วยให้เราก้าวหน้าพัฒนามาถึงจุดหนึ่งที่น่าพึงพอใจ ดังนั้น เราไม่สามารถละทิ้งด้านหลักนี้ไปจากชีวิตได้ แต่สามารถพัฒนาความตระหนักรู้ (Awareness) และ การยอมรับในระบบภูมิคุ้มกันแบบอัตโนมัติภายในตัวเรานี้อย่างชื่นชมยินดี ในขณะเดียวกัน ก็ตระหนักรู้ถึงมีศักยภาพด้านอื่นๆ ที่เรามีอิสระที่จะดึงออกมาใช้ได้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ในกรณีของศักดา เขาไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสิ่งที่เขาเป็น เพียงแค่ตระหนักรู้ว่าลักษณะนิสัยหลักที่เขาเป็น เป็นจุดแข็งที่สำคัญ และมีค่าสำหรับชีวิตเขา สิ่งนี้คือความมุ่งมั่นแน่วแน่ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็สามารถตระหนักรู้ถึงศักยภาพอีกด้านอื่นที่อาจยังเป็นรองอยู่ในตัวเขาด้วย เช่น ความยืดหยุ่นและการสื่อสารที่ใส่ใจความสัมพันธ์ ที่เขาสามารถปรับใช้ในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายงานได้ โดยความสมดุลภายในตัวเองจะก่อเกิดผลดีรอบด้านตามมา

ทั้งนี้ ความตระหนักรู้และความสามารถในการปรับเปลี่ยนเชิงพฤติกรรมของผู้นำที่ จะส่งผลสืบเนื่องกับภาวะภายในขององค์กรนั้น จะมีความยั่งยืนและมีประสิทธิภาพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ความตั้งใจและแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนของผู้นำ และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การฝึกฝนทักษะด้านในของผู้นำ (Inner Skills) อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ โดยมีกลุ่มเรียนรู้และสนับสนุน (Dialogue Group) ที่จะช่วยให้ความตระหนักรู้ภายในและ การปรับเปลี่ยนภายนอกเป็นไปได้อย่างเปี่ยมประสิทธิภาพ

X-Ray จิต พิชิตความไม่รู้



โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554

ตั้งแต่นำเสนอแนวคิด “ภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง” ให้กับสังคมไทยมาหนึ่งปีกว่า ผมและทีมงานได้มีโอกาส X-Ray จิต ให้กับคนไทยมากว่าพันคน การ X-Ray จิต เป็นการสืบค้นภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลงของจิต ที่คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่ามีอยู่ในตัวเอง ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเปิดเผยให้คนได้เห็นด้วยตนเอง ว่ามีความรู้สึกนึกคิดอะไรที่กำลังทำงานอย่างเป็นระบบ ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก ทำให้คนมีพฤติกรรมและการแสดงออกต่างๆ ขัดแย้งกับใจที่อยากให้เกิดอะไรดีๆ ในชีวิต

ยิ่ง X-Ray จิตมาก ประสบการณ์และเรื่องราวที่ได้รับฟังก็ยิ่งมากตามไปด้วย สิ่งที่ผมพบก็คือ เอาเข้าจริงแล้ว คนปรับตัวยาก แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ในยุคนี้ใครว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” ก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำกันแล้ว เพราะไม่ว่าจะวัยไหนก็ “ดัดยาก” ไปตามๆ กัน ในยุคข้อมูลข่าวสาร ยิ่งรู้มาก ยิ่งดัดยากเสียด้วย

คนในยุคนี้เรียนรู้ทักษะใหม่ในการดำรงชีวิตท่ามกลางข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทักษะค้นหากูเกิล หรือทักษะอัพเดตสถานะบ้างอะไรบ้าง แต่จากข้อเท็จจริงที่พบ ผมกลับคิดว่า คนยุคนี้ต้องการทักษะในการปรับตัว (adaptive skills) พูดให้ง่ายก็คือ ให้แต่ละคนหันกลับมาฝึกตัวเองให้เป็น “ไม้อ่อนดัดง่าย” ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็ตาม

ทักษะในการปรับตัวนี้มีอยู่ในตัวทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่หลับใหลอยู่เท่านั้นเอง การปลุกทักษะนี้ให้ตื่นขึ้น อาศัยแนวทางการ X-Ray จิต จนเจอกับภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง ที่ทำงานอย่างเป็นระบบ โดยมีความเชื่อผิดๆ เป็นเหตุ ก่อให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่ซ่อนอยู่ จนนำไปสู่พฤติกรรมขัดแย้ง เมื่อเรารู้ตัวแล้วว่ามีภูมิต้านทานอะไรอยู่ เราจึงสามารถทำงานต่อไปได้ โดยเริ่มจากการกล้าเผชิญความเชื่อผิดๆ ของตนเอง ลงมือทำอะไรบางอย่างที่ท้าทายความเชื่อนั้น เพื่อรับข้อเท็จจริง จนจิตใต้สำนึกยอมจำนนกับข้อเท็จจริง เป็นการเรียนรู้ไปปรับเปลี่ยนไป

กล่าวโดยรวม กระบวนการ X-Ray จิตและทำงานกับภูมิต้านทาน เพื่อพิชิตความไม่รู้ ทั้งที่ไม่รู้เรื่องและไม่รู้ตัว (ดูภาพประกอบ) พื้นที่ทางจิตคนเรามี ๔ ด้าน แบ่งอย่างง่ายๆ ออกเป็นสองเกณฑ์คือ จิตผู้รู้ (subject) กับ สิ่งที่ถูกรู้ (object) จิตผู้รู้มีสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ รู้ตัว กับไม่รู้ตัว ในขณะที่สิ่งที่ถูกรู้มีสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ รู้เรื่อง กับไม่รู้เรื่อง รวมกันเป็น “หน้าต่างความ (ไม่) รู้” พื้นที่ที่เรารู้ตัวว่าเรารู้เรื่องอะไรเรียกว่า “ฉลาด” พื้นที่ที่เรารู้ตัวว่าไม่รู้เรื่องอะไรเรียกว่า “โง่” อันนี้เป็นฝั่งที่เรารู้ตัว ส่วนฝั่งที่เราไม่รู้ตัว มีพื้นที่ที่เราไม่รู้ตัวว่าเรารู้เรื่องอะไร เรียกว่า “หลง” เช่น หลงเชื่อ หลงรัก หลงคิด หลงกลัว เป็นต้น ในขณะที่พื้นที่สุดท้ายคือพื้นที่ที่เราไม่รู้ตัวเลย ว่าเราไม่รู้เรื่องอะไร เป็นสุดยอดของความไม่รู้ เรียกว่า “หลับใหล” เป็นที่เก็บของศักยภาพและทักษะต่างๆ ในตัวเรา


หน้าต่างความ (ไม่) รู้

สงวนลิขสิทธิ์โดย สถาบันปลูกรัก


หน้าที่ของเราในยุคนี้คือ ขยายพื้นที่ทางจิตในช่อง “ฉลาด” ให้กว้างขึ้น

ผมพบว่า เพียงแค่คนได้เจอความเชื่อผิดๆ ที่ตนหลงเชื่อมานาน ชีวิตเขาก็เริ่มเห็นช่องทางในการพ้นจากความทุกข์ในใจ คล้ายกับคนมีอาการป่วย แต่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไร พอแค่ได้รู้ต้นเหตุที่แท้จริง ก็สบายใจขึ้น เพราะรู้ว่าจะรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี

หลังจากนั้นคือ ลงมือรักษา ในที่นี้คือ ท้าทายตัวเองให้ทำนอกเหนือจากความหลงเชื่อ เพื่อรับข้อเท็จจริง ที่นอกเหนือการรับรู้ตามความเชื่อเดิม ผลลัพธ์ในเบื้องต้นเมื่อจิตเริ่มคลี่คลายจากความหลงเชื่อ คือ คนมีความสุขในชีวิตมากขึ้น ผลลัพธ์ในเบื้องปลายคือ คนปรับตัวง่ายขึ้น

ความสามารถในการปรับตัว (adaptive capacity) ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นสิ่งที่เก็บซ่อนอยู่ในพื้นที่ “หลับใหล” คนที่ทำงานกับภูมิต้านทานจะเริ่มมีทักษะในการปรับตัวติดตัวไปด้วย ได้แก่ ทักษะการสังเกต ทักษะการตีความหมายใหม่ ทักษะการจัดลำดับความสำคัญใหม่ในการลงมือทำ เป็นต้น

เปรียบเทียบกับทักษะชีวิตของคนเราหลายอย่างๆ ก็มีลักษณะหลับใหลคล้ายคลึงกัน เมื่อเหตุปัจจัยเหมาะสม ทักษะนั้นก็จะถูกปลุกขึ้นมา เช่น ทักษะการขี่จักรยาน ทักษะการว่ายน้ำ เป็นต้น เราอาศัยการลองลงมือทำ ขี่ล้มๆ ว่ายจมๆ วันดีคืนดี เราก็ขี่ได้ ว่ายเป็นขึ้นมา อย่างผมเองเคยมีประสบการณ์ตรงกับเรื่องว่ายน้ำ จากเดิมที่ลอยตัวไม่เป็น กลัวจมน้ำ แต่ก็อาศัยไปสระว่ายน้ำอยู่เป็นประจำ วันดีคืนดี ผมฝันว่า ผมลอยน้ำได้ วันรุ่งขึ้น ผมก็ลองเอาตัวไปลงน้ำ วันนั้นกลับลอยน้ำได้เลย เราลองทบทวนดูว่าชีวิตของเรามีทักษะอะไรบ้างที่ถูกปลุกขึ้นมา

เวลาเรามองขึ้นไปบนท้องฟ้ายามเช้า เรามองไม่เห็นดวงจันทร์ เรามองไม่เห็นดวงดาว แต่ถามว่ามีดวงจันทร์ดวงดาวอยู่ไหม มีอยู่ ที่มองไม่เห็นเพราะมีแสงบดบังอยู่ ภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลงของเราก็เหมือนกัน มีอยู่ แต่มองไม่เห็น เพราะมีจิตสำนึกบดบัง ความจริงคือ มันทำงานกับเราตลอดเวลา เหมือนดวงจันทร์ดวงดาวที่ส่องแสงอยู่ตลอดเวลา เราจึงมักกระทำพฤติกรรมและแสดงอารมณ์ที่ขัดแย้งกับความตั้งใจดีๆ ในชีวิต เช่น ตั้งใจว่าจะใช้จ่ายอย่างประหยัด แต่เอาเข้าจริง เวลาเดินไปในห้าง เจอสินค้าออกใหม่ สินค้าลดราคา เราก็แวะดูสักหน่อย รู้ตัวอีกทีก็มีของติดตัวกลับบ้านมาเสียแล้ว รู้ตัวอีกทีก็มานั่งรู้สึกผิด ทั้งหมดทั้งปวงมันเกิดจากเราไม่รู้ตัวว่ามีอะไรทำงานอยู่ใต้จิตสำนึก

จากตัวอย่าง หากนักช็อปปิ้งทำงานกับภูมิต้านทานได้แล้ว เขาจะมีความสุขมากขึ้นที่ไม่หลงซื้อโดยไม่รู้ตัว และเขาจะมีความสามารถในการปรับตัวอย่างเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของแฟชั่น สังเกตกระแสการเปลี่ยนแปลงออก รู้ว่าอะไรควรซื้อหรือไม่ควรซื้อ เป็นผู้บริโภคที่ฉลาดมากขึ้น

X-Ray จิต พิชิตความไม่รู้ ทำให้จิตฉลาดขึ้น ยิ่งทำงานกับภูมิต้านทานจริง จิตก็จะยิ่งฉลาดขึ้นอีก เป็นความฉลาดทางการปรับตัว (ไม่ใช่มีแต่ข้อมูลความรู้) ยุคความรู้แบบทุกวันนี้ ต้องการจิตฉลาดปรับตัวแล้วนะครับ

ใกล้เกิด ใกล้ตาย ใกล้กัน



โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2554

หญิงสาวผู้หนึ่งนอนราบอยู่กับพื้น ดูอ่อนเพลีย เหงื่อออกจนโทรมกาย สักพักเธอร้องโหยหวนราวกับเจ็บปวด หายใจเข้าออกอย่างแรง ชีพจรเธอเต้นเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ ความดันโลหิตสูงปรี๊ด เธอดิ้นบิดตัวอย่างทรมาน ที่พื้นมีเลือดของเธอที่ไหลซึมออกมาไม่หยุด

ลองจินตนาการภาพหญิงผู้นี้ดูสิครับ หากเป็นเรา เราจะดูแลเธออย่างไร ด้วยท่าทีอย่างไร

ลองซูมภาพมายังโลก ดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์กำลังดี ไม่ร้อน ไม่หนาวจนเกินไป ก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยร่วมโลกใบเดียวกันนี้กว่าสามสิบล้านชนิด ขณะนี้โลกใบกลมกำลังตัวร้อน อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ หน้า สาหร่ายที่อาศัยอยู่ในปะการังล้มหายตายจาก จนสีสันสวยงามของเหล่าปะการังหายไป แหล่งเพาะพันธุ์ปลาและสัตว์ทะเลอื่นๆ กลายเป็นสุสานร้างใต้น้ำสีซีดยาวสุดลูกหูลูกตา บนบกก็อุณหภูมิสูงไม่แพ้กัน น้ำแข็งที่ยอดเขาและขั้วโลกทั้งสองละลายไวเหมือนไอศกรีมนอกตู้แช่ พายุฝนแต่ละปีก็รุนแรงขึ้น ปรากฏการณ์ Cloud Burst ทำให้ลำธารที่เคยไหลรินกลายเป็นเชี่ยวกราก เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเมืองและคร่าชีวิตผู้คน แม้กระทั่งอาณาจักรลาดัก ติดประเทศทิเบต บนเทือกเขาหิมาลัย ที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง ๓ กิโลเมตร ไม่เฉพาะแต่เทือกเขาสูงบริเวณหลังคาโลก ภูเขาในไทยแต่ละลูกก็ถูกตัดไม้จนหัวโล้น เหลือป่าเฉพาะในเขตอนุรักษ์เป็นหย่อมๆ เท่านั้น ฝนตกแต่ละฤดูชะเอาหน้าดินไหลออกสู่ทะเลแดงฉานน่ากลัว

ลองจินตนาการภาพโลกใบนี้ดูสิครับ หากเป็นเรา เราจะดูแลโลกใบนี้อย่างไร ด้วยท่าทีอย่างไร

บางคนอาจจะคิดว่าเธอเป็นโรคร้ายแรง เป็นมะเร็งรักษาไม่หาย มีโรคแทรกซ้อนรุมเร้ามากมาย อาการกำลังกำเริบหนัก เขาอาจจะพยายามให้เธอกินยา ฉีดยา แถมด้วยให้ยาทางสายน้ำเกลือ อุณหภูมิที่สูงก็ต้องรีบลด หาผ้าเย็นมาเช็ดลำตัว ที่ความดันสูงก็ต้องดูแลให้ยา ที่เลือดไหลก็ต้องรีบห้ามเลือดกันจ้าละหวั่น

แต่บางคนที่สังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่มากไปกว่านั้น เห็นท้องที่ใหญ่โตของเธอ พบสัญญาณชีพเล็กๆ ในนั้น ด้วยการมองเห็นนี้ มันทำให้พวกเขาคิดมีวิธีดูแลเธอที่ต่างออกไป ตระเตรียมอุปกรณ์ที่เหมาะสม กรรไกร ลูกยางแดง พยายามพูดคุยให้กำลังใจเธอที่จวนเจียนเหมือนจะหมดลม ราวกับจะขาดใจ แต่สักพักทุกคนก็ได้ยินเสียงร้องไห้จ้าของทารกแรกเกิดตัวน้อย

บางคนอาจจะคิดว่าโลกกำลังเป็นป่วยไข้ร้ายแรง เป็นมะเร็งรักษาไม่หาย มีโรคแทรกซ้อนรุมเร้ามากมาย อาการกำลังกำเริบหนัก ด้วยมุมมองนี้ ได้ทำให้พวกเขาพยายามเยียวยารักษาโลกจากอาการต่างๆ นานาเหล่านั้น ด้วยการให้ยา ใส่สารเคมีให้มากเข้า มีทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น หรือต้องผ่าตัดใหญ่ สร้างเขื่อน ทำทางระบายน้ำ เพื่อจัดการกับน้ำท่วม บางคนเห็นว่าอาการโลกตัวร้อน นี้ต้องฉีดสารเคมีประเภทซัลเฟอร์เข้าไปในชั้นบรรยากาศ เพื่อลดแสงอาทิตย์ บ้างก็ว่าต้องให้ทะเลกินธาตุเหล็ก เพื่อให้แพลงก์ตอนพืชที่อยู่ในท้องทะเลมากขึ้น โตเร็วขึ้น จะได้ดูดเอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงที่เราใช้กันและเป็นเหตุให้โลกร้อนออกจากชั้นบรรยากาศมากขึ้น ไปถึงกระทั่งผู้คนบางกลุ่มบางประเทศที่คิดและเชื่อว่าจะต้องกำจัดสิ่งมีชีวิตบางชนิด คนบางเผ่าพันธุ์ให้สิ้นไปจากโลก อาการของโลกจึงจะดีขึ้น พวกเขาสะสมอาวุธมากขึ้นๆ จนมีปริมาณที่สามารถทำสงครามฆ่ามนุษย์ทั้งโลกได้หลายรอบ

แต่อาจยังมีบางคนที่ชี้ชวนกันให้สังเกตและเฝ้าติดตามสัญญาณบางอย่างที่ค่อยๆ เกิดขึ้น จนขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ เขาเหล่านี้อาจบอกว่า ขอให้ดูสถานการณ์การเติบโตของขบวนการส่งเสริมสุขภาพองค์รวม การส่งเสริมสันติภาพ ความกระตือรือร้นและความสนใจของผู้คนต่อการพัฒนาทางจิตวิญญาณ การเรียนรู้ด้านในของตน การมีจิตวิวัฒน์และจิตตปัญญาในการใช้ชีวิต

ด้วยการมองเห็นนี้ ทำให้พวกเขาตระเตรียมหาอุปกรณ์ และประกอบสร้างโครงสร้างที่เหมาะสม เยียวยาอาการป่วยไข้ของโลกบนวิธีคิดที่ต่างออกไป ไม่เพียงจัดการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาทางการเมือง แต่ฟูมฟักเอื้อเฟื้อให้การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณได้เติบโต เป็นความพยายามประคับประคองโลกและมนุษยชาติที่เหมือนจะกำลังไปไม่รอดแล้ว แต่อีกไม่นานเขาอาจได้เห็นการเกิดขึ้นของกระบวนทัศน์ คำอธิบาย และแนวทางการอยู่ร่วมกันใหม่ ที่ไม่เพียงแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์เดิม แต่รวมถึงการสร้างเสริมความสัมพันธ์ใหม่ และสิ่งใหม่ๆ ด้วย

อะไรคือความสามารถในการจำแนกแยกแยะคนเป็นมะเร็งกับคนตั้งครรภ์ออกจากกัน

อะไรคือความสามารถในการจำแนกแยกแยะสังคมที่กำลังตกต่ำแตกหักล่มสลายกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ความสัมพันธ์ใหม่ที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อุณหภูมิการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจที่เสียหาย ผู้คนที่ล้มตาย เป็นเพราะโรคร้ายรักษาไม่หายเกาะกิน หรือเป็นอาการ เป็นสัญญาณการเปลี่ยนผ่านของระบบความคิดความเชื่อชุดเดิม ที่คับแคบ ไม่สามารถอธิบายและรองรับความจริงที่ซับซ้อนได้

จากความคิดความเชื่อที่เห็นโลกเป็นส่วนสุดสองด้าน ขาว-ดำ ฉันถูก-แกผิด ต้องมีผู้แพ้-ต้องมีผู้ชนะ ตีความทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาลส์ ดาร์วิน (อย่างผิดๆ) ว่าเป็นการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุด (Survival of the Strongest) ต้องโหดร้ายรุนแรงเข้มแข็งเท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้

ไปสู่ความคิดความเชื่อที่เห็นโลกอยู่ในสมดุลของความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อน มีเฉดสีต่างๆ มากมายที่อยู่ร่วมกันอย่างบรรสานสอดคล้องเหมือนรุ้งบนท้องฟ้าที่กว้างขวางพอสำหรับรุ้งมากกว่าหนึ่งตัวด้วย ไม่จำเป็นต้องมีตัวเดียวโดดๆ ทุกฝ่ายสามารถเป็นเจ้าของชัยชนะร่วมกันได้ เห็นความดีในกันและกัน เห็นความจำเป็นและความงามในการดำรงอยู่ร่วมกัน เข้าใจทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาลส์ ดาร์วิน (อย่างถูกต้อง) ว่าเป็นการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุด (Survival of the Fittest) ต้องรู้จักปรับตัว ช่วยเหลือสนับสนุนกันด้วยจึงจะอยู่รอด และยิ่งไปกว่านั้น รู้ด้วยว่ามีความสัมพันธ์อย่างไร จึงจะสามารถทั้งอยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมาย

นอกเหนือไปจากใจและทักษะที่จะผ่า กำจัด ทำลาย ที่เราคุ้นเคยกันมากแล้ว เห็นสิ่งที่อยู่ในมือเป็นของมีเหลี่ยมมีคม เป็นมีดเป็นค้อน เห็นอะไรก็จะแทง จะตัด จะทุบไปหมด เราอาจจะต้องเรียนรู้ที่จะฝึกทั้งใจและทักษะที่จะประกอบสร้าง ปลูกฝัง บ่มเพาะ ไปจนถึงทำคลอดกระบวนทัศน์ใหม่

ความสามารถในการจำแนกแยกแยะและสังเกตเห็นสิ่งที่แตกต่างนี้ อาจจะไม่มีวันเกิดขึ้นเลยก็ได้ ถ้าเราไม่เคยริเริ่มจะมองหา หรือไม่คิดแม้แต่ว่ามันจะมีหวัง

หากเราเริ่มมองหา เราอาจจะเริ่มมองเห็นก็ได้

การดูแลหญิงสาวผู้ป่วยหนักอย่างเข้าใจและตระเตรียมการกำเนิดใหม่ของชีวิตน้อยๆ อาจจะเป็นรูปธรรมตัวอย่างของการมองหาความรู้ทางการแพทย์และประสบการณ์ เพื่อให้เราได้มองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ นอกเหนือไปจากปัญหา

แต่การดูแลเยียวยาโลกทั้งใบ ที่เป็นเสมือนคนไข้ขนาดยักษ์และมีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่ามากมายนี้ สิ่งที่เรากำลังมองหาอาจไม่ใช่แค่ความรู้ทางเทคนิค ไม่ใช่แค่ประสบการณ์จากการแก้ปัญหาก่อนหน้า เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มันเกินไปกว่าความรู้เดิมๆ ประสบการณ์เดิมๆ ที่เราเคยใช้กันมา

เราอาจจะต้องมีสายตาที่เห็นกว้างไปกว่าแค่ปัญหาเฉพาะหน้า มีใจที่เปิดรับได้มากกว่าแค่เรื่องราวที่เราคุ้นเคยและเชื่อตามกันมา และมีชีวิตที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับโลก เมื่อนั้นหรือเปล่า เราถึงจะเห็นโอกาสการกำเนิดใหม่ พร้อมกับสามารถประคับประคองอาการป่วยไข้ไปด้วยได้อย่างเหมาะสม

ถ้าเราเริ่มมองหา เราก็จะมองเห็น และสร้างความเป็นได้สำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้ขึ้นมา

แม้เวลาของเราจะเหลือน้อย แต่ทางรอดของเราก็ยังพอจะมีครับ

จิตปฐมภูมิในพุทธศาสนากับสนามแห่งรูป



โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554

จอร์จ วอลด์ นักชีววิทยารางวัลโนเบลจากฮาวาร์ดบอกว่า เขาคิดว่าจิตมาก่อนกระบวนการวิวัฒนาการของจักรวาล “มันอยู่ของมันมาตลอด” (ตั้งแต่ก่อนจะมีจักรวาลเสียอีก) องค์ดาไล ลามะที่ ๑๔ ผู้นำสูงสุดของพุทธศาสนาวัชรยาน ของทิเบตพลัดถิ่นที่ไปอยู่ธรรมศาลาประเทศอินเดีย ก็บอกในทำนองนั้น และ บี. อแลน วอลเลซ ได้กล่าวในหนังสือของเขา (B. Alan Wallace: Hidden Dimensions, 2007) เช่นเดียวกันว่า ในพุทธศาสนาพูดว่า จิตปฐมภูมิ (ญาณ) – ซึ่งแยกออกจากพลังงานปฐมภูมิไม่ได้ – นั้น มีมาก่อนจักรวาลนี้เสียอีก บี. อแลน วอลเลซ นั้นเป็นชาวพุทธและติดตามองค์ดาไล ลามะมาตลอด เขาเป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงและจบปริญญาตรีทางฟิสิกส์

ถ้าจำไม่ผิดในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปพูดกับพระสงฆ์ที่เรียนปริญญาโทในมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฟังที่วัดบวรนิเวศ แต่จำรายละเอียดไม่ได้ จำได้เพียงว่าเกี่ยวกับพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ และมีคุณสุชีพ ปุญญานุภาพผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือสุชีโวภิกขุเมื่อยังบวชเป็นพระ - ผู้เชี่ยวชาญในพุทธศาสนาอย่างยิ่งคนหนึ่ง - นั่งฟังอยู่ด้วย ผู้เขียนได้พูดว่าวิทยาศาสตร์ (เฉยๆ) ที่เราใช้กันในบ้านเรามานานนั้น และประสบความสำเร็จมาก เพราะมันไม่มีนามหรือจิตที่มองไม่เห็นอย่างหนึ่ง กับมันเป็นความจริงตามที่ตาของมนุษย์ทุกๆ คนเห็นและได้ประโยชน์จริงๆ อีกอย่างหนึ่ง มนุษย์เรานับวันถึงได้เชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ จนแม้แต่คนที่บวชพระและอยู่ในศาสนาเอง บางทีก็เชื่อในวิทยาศาสตร์โดยแบ่งความจริงออกเป็นสองอย่าง คือความจริงทางโลก กับทางธรรมหรือความจริงแท้ ทั้งๆ ที่ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

ผู้เขียนได้พูดต่อไปว่าวิทยาศาสตร์ที่เราเรียนรู้และใช้กัน โดยคิดว่าเป็นความจริงนั้น เราต้องระวังที่จะไม่เอาศาสนาไปเปรียบเทียบหรือทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะพุทธศาสนา เพราะว่าธรรมะเป็นอกาลิโก โอปนยิโก ความจริงหรือสัจธรรมไม่เคยเปลี่ยน แต่วิทยาศาสตร์อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ มีทฤษฏีใหม่มาแทนทฤษฏีเก่าอยู่เรื่อยๆ

ต่อมาอีกนานหรือเมื่อหลายสิบปีมานี้ ในขณะที่ความรู้และวิชาการของมนุษย์ที่ก้าวหน้ามาโดยตลอดค้นพบว่า ความจริงที่ตาเราเห็น หูได้ยิน ที่ตั้งอยู่บนวัตถุเนื้อเยื่อ ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นเช่นนั้นอย่างแท้จริงโดยไม่มีข้อสงสัยนั้น ที่จริงแล้วแสนจะหยาบกร้าน เมื่อวิทยาการลงลึกขึ้นหรือละเอียดขึ้น เราจะพบว่าแท้จริงแล้ว สิ่งที่เห็นเป็นวัตถุเนื้อเยื่อนั้นเป็นเพราะว่ามันหยาบกร้านนั่นเอง ถ้าหากเราลงไปที่ละเอียดจริงๆ แล้ว เราจะรับรู้ได้ว่า สิ่งที่เราเห็น หูได้ยิน และสิ่งที่เรารับรู้เมื่อลงไปที่ละเอียดกว่านั้น เป็นสิ่งเดียวกัน เราเรียกความรู้ใหม่นี้ว่า ควอนตัมเมคคานิกส์ หรือควอนตัมฟิสิกส์ หรือฟิสิกส์ใหม่ ตอนนั้นอาจารย์สุชีพบอกว่า เรื่องที่หมอพูดน่าสนใจ เพราะว่ามีคนมากมายชอบพูดว่าพุทธศาสนาเป็นวิทยาศาสตร์

ตรงนี้และเดี๋ยวนี้ ผู้เขียนขอพูดว่า จริงๆ แล้วควอนตัมฟิสิกส์จะพูดแต่สิ่งที่ละเอียดสุดทางวิทยาศาสตร์ในระดับที่ต่ำมากๆ ระดับอะตอมหรือต่ำกว่านั้น เช่น อนุภาคหรือควากส์ และจริงๆ แล้ว ผู้เขียนคิดเอาเองว่า สิ่งที่เล็กละเอียดสุดย่อมเหมือนกับสิ่งที่หยาบใหญ่ต่างๆ จนสุดที่จะหยาบ คือดาวเคราะห์ที่ใหญ่ เช่นโลกเรา ดวงอาทิตย์ หรือดาว (ฤกษ์) กาแล็กซี จนถึงจักรวาลเอง ย่อมมีคุณสมบัติหรือหลักการคล้ายๆ กัน เพียงแต่ผิดกันที่ขนาด แรงต่างๆ และมวลสาร ซึ่งยิ่งมีขนาดใหญ่กว่าก็ยิ่งมีมากกว่า

ฉันใดฉันนั้น สิ่งที่เล็กละเอียดก็เป็นอย่างนั้น อะตอมมีลักษณะสมบัติอย่างไร อนุภาคหรือควากส์ก็เป็นอย่างนั้นได้โดยหลักการ อะตอมมีสนามพลังงานได้หรือมีสนามควอนตัมได้ อนุภาคหรือควากส์ก็มีได้เช่นกัน ฉะนั้นจิตที่เล็กละเอียดสุดๆๆๆ ละเอียดยิ่งกว่าอนุภาคหรือควากส์ไม่รู้กี่เท่า ก็มีสนามพลังงานหรือสนามควอนตัมฟิลด์ ตลอดจนซุปเปอร์...ซุปเปอร์ ฯลฯ สนามควอนตัม จนไม่รู้ว่ากี่ซุปเปอร์กี่ซุปเปอร์ได้เหมือนกัน

รูเพิร์ต เชลเดรก นักชีววิทยาและนักวิจัย ได้สร้างทฤษฏีที่ก่อให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายในวงการว่าด้วยวิทยาศาสตร์แห่งชีวิตมากมายเมื่อราวๆ ๓๐ ปีมาแล้ว จนบรรณาธิการวารสารวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษและในยุโรป – ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ทางชีววิทยา - ถึงกับด่าว่า “เป็นหนังสือที่ควรเผาทิ้งทำลายมากที่สุด” แต่ต่อมา หนังสือและผลงานวิจัยกับทฤษฏีของเขากลับได้รับการอ้างอิงในทางบวกมากที่สุดคนหนึ่ง และผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่านบางคนคงเคยได้ยินชื่อของ รูเพิร์ต เชลเดรก บ้างไม่มากก็น้อย (Rupert Sheldrake: New Science of Life, 1981)

ว่ากันตามจริง ทฤษฏีของ รูเพิร์ต เชลเดรก ก็คล้ายคลึงกับความคิดของ เดวิด โบห์ม นักควอนตัมฟิสิกส์ผู้มีฉายานามว่า “ตัวแทนของไอน์สไตน์” (protégé) ที่คิดว่า โบห์มได้พิสูจน์สัจธรรมความจริงแท้ของพระพุทธองค์ดังที่ปรากฏในพระสูตรของพุทธศาสนามหายาน (อวตังสกสูตร) ที่กล่าวว่า ในจักรวาลนี้ ทุกๆ สิ่งและทุกๆ ปรากฏการณ์ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงต่อเนื่องซึ่งกันและกันเป็นหนึ่งเดียว (All is One and One is All) จริงๆ แล้วผู้เขียนคิดว่าความจริงทางควอนตัม (quantum reality) ทั้ง ๘ ข้อนั้น ล้วนแล้วแต่ตรงกับสัจธรรมความจริงของพุทธศาสนาทั้งนั้น นั่นคือวิทยาศาสตร์โดยฟิสิกส์ใหม่ซึ่งถูกต้องกว่าคลาสสิคัลฟิสิกส์ของนิวตันไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่านั้น ได้พิสูจน์แล้วพิสูจน์อีกจนหมดข้อสงสัยว่า สัจธรรมความจริงของพุทธศาสนาเป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ยุคใหม่อย่างไร? จึงไม่ควรที่ใครๆ จะเปรียบเทียบพุทธศาสนาว่าเป็นวิทยาศาสตร์เฉยๆ อย่างที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างบนนั้น

ทฤษฏีของ รูเพิร์ต เชลเดรก มีใจความว่า สิ่งต่างๆ และปรากฏการณ์ทั้งหลายในโลกหรือจักรวาลทั้งหมด มีการกระทำที่มีรูปแบบแน่นอนตายตัว ที่ทำให้มันทั้งหลายมีรูปแบบหรือรูปร่างที่ต้องตายตัวเช่นนั้นโดยไม่มีทางเป็นอย่างอื่น คือพูดง่ายๆ มีรูปแบบหรือสนาม – เหมือนแท่งแม่เหล็กที่ไม่ว่าเราจะหักออกเป็นกี่แท่ง แต่ละแท่งก็จะยังคงลักษณะของแม่เหล็ก คือมีขั้วเหนือขั้วใต้อยู่เสมอไป - ที่จะต้องจัดการ (organize) ขยายข้ามมิติของเวลา-สถานที่ ให้มันเป็นเช่นนั้นอยู่วันยังค่ำ ลูกมะม่วงโดยธรรมชาติจะต้องมีรูปร่าง กลิ่น และขนาดของลูกมะม่วง ลูกจระเข้โดยธรรมชาติจะต้องเหมือนพ่อเหมือนแม่ของมันวันยังค่ำ

รูเพิร์ต เชลเดรก เรียกสนามที่ก็อปปี้รูปแบบนี้ว่า สนามรูปแบบของสรรพสิ่งทั้งหมด – รวมทั้งผลึกที่ไม่มีชีวิตด้วย - (morphic field) ซึ่งถ้าหากเป็นสิ่งมีชีวิต เขาจะเรียกว่าสนามรูปแบบของชีวิต (morphogenetic field) ส่วนการสะท้อนรูปแบบซึ่งทำให้ภาพของรูปแบบ (morphic resonance) ผ่านกาลเวลาเป็นล้านๆ ปี มีคนไปสัมภาษณ์ เดวิด โบห์ม ถึงในเรื่องนี้ในปี ค.ศ.๑๙๘๔ ว่าจะเกี่ยวข้องกับความต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันหรือความเป็นทั้งหมด (all or wholeness) ของเขาหรือไม่ โบห์มตอบว่า ในทางควอนตัมฟิสิกส์ที่เขาเสนอนั้น เป็นเรื่องใหญ่ และทั่วไป และเกี่ยวกับจักรวาลทั้งหมด แต่หากเป็นเรื่องความคิดเห็นของ รูเพิร์ต เชลเดรก ในกรณีนี้แล้ว เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ที่นักชีววิทยาตำหนิ รูเพิร์ต เชลเดรก เป็นเพราะเขาไปรื้อฟื้นความคิดของลามารค ที่นักชีววิทยาทั้งหมดไม่เชื่อ (แต่ตอนนี้ลามารคกลับมาแรงในวงการวิทยาศาสตร์)

ผู้เขียนคิดเอาเองว่า ที่นักชีววิทยาไม่ด่า เดวิด โบห์ม เพราะเขายิ่งใหญ่เกินไปประการหนึ่ง และเพราะว่าเป็นเรื่องของควอนตัมฟิสิกส์ที่นักชีววิทยาส่วนใหญ่ในเวลานั้นไม่ค่อยจะรู้อย่างลึกซึ้งเท่าใดนักอีกประการหนึ่ง จริงๆ แล้วนักฟิสิกส์จำนวนมากรวมทั้ง จอห์น เบลล์ นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล (Bells’ theorem) เชื่อว่าการสร้างก็อปปี้รูปแบบ คือสนามควอนตัม (quantum field) รูปแบบหนึ่ง

บทความนี้มีเป้าหมายที่จะบอกท่านผู้อ่านว่า ความรู้ทั้งหมด - เช่นเดียวกับสรรพสิ่งสรรพปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวงในโลกในจักรวาล – ล้วนเชื่อมโยงต่อเนื่องเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างกัน หรือระหว่างอะไรต่อมิอะไร ในที่นี้คือศาสนากับศาสนา เพราะว่าทุกศาสนาเป็นเรื่องและสอนธรรมะหรือธรรมชาติ แต่คนเราทั่วไปมักจะคิดว่าธรรมชาติคือสิ่งแวดล้อมที่มองเห็น (หรือใช้อุปกรณ์เช่นกล้องจุลทรรศน์ช่วยขยาย) แต่ธรรมะนั้นรวมถึงธรรมชาติที่มองไม่เห็นและไม่มีทางมองเห็นด้วย ซึ่งก็คือความจริงที่แท้จริง (Absolute Mind หรือปรมัตถ์) หรือพระเจ้าที่อยู่สูงกว่าพระเจ้า หรือพระเจ้าที่เป็นส่วนตัว (personal God หรือผู้สร้าง ผู้ควบคุมและผู้ให้รางวัลกับลงโทษมนุษย์) หรือว่าศาสนากับวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ขอให้เป็นศาสนาหรือเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ

ผู้เขียนเชื่อว่าฟิสิกส์ใหม่มี ๒ ทฤษฏีคือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ กับทฤษฏีควอนตัม คือความจริงที่แท้จริง ไม่เหมือนความจริงทางโลกที่อวัยวะประสาทสัมผัสของสัตว์โลกบอกกับสัตว์โลก (ที่รวมทั้งมนุษย์ด้วย) หรือคลาสสิคัลฟิสิกส์ของ ไอแซค นิวตัน และชีววิทยาดาร์วินิซึ่มของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน แม้ว่าคลาสสิคัลฟิสิกส์และชีววิทยาดารวินิซึ่มจะใช้ได้ และผลิตเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ สนองกิเลสตัณหาให้กับมนุษย์ได้ และทำให้คุณภาพของชีวิตมนุษย์ดีขึ้น แต่มันก็แค่ความจริงทางโลก ไม่ใช่ความจริงแท้ของจักรวาล ซึ่งไม่อาจจะอธิบายการพองตัว (inflation) ของจักรวาลอย่างทันทีทันใดได้ ไม่อาจจะอธิบายมวลสารและพลังงานมืด (dark energy) ได้ ไม่อาจจะอธิบายอัตราเร่ง (speed) ของกาแล็กซีที่นับวันนับวินาทีมีแต่จะเร็วขึ้น ๆ เรื่อยๆ ได้ หรือแม้ไม่อาจจะอธิบายการมีจักรวาลจำนวนไม่สิ้นสุดตามที่พุทธศาสนาบอกได้ ไม่อาจจะอธิบายความว่างเปล่าหรือสุญตาตามที่พุทธศาสนาบอกได้ ไม่อาจจะบอกการกำเนิดที่ไม่มีการกำเนิดของจิตและพลังงานปฐมภูมิ (primordial consciousness/primordial energy) ตามที่พุทธศาสนาบอกได้ ไม่อาจจะบอกการกำเนิดของสนามแห่งรูปหรือรูปแบบได้ ฯลฯ นอกจากการอธิบายด้วยควอนตัมเมคคานิกส์ ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ และทฤษฏีซุปเปอร์สตริง นั่นคือจักรวาลวิทยาใหม่ที่มีอายุไม่ถึง ๑๐ ปี นั่นคือความจริงที่แท้จริงของจักรวาลหรือปรมัตถ์

Back to Top