มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554
ตั้งแต่นำเสนอแนวคิด “ภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง” ให้กับสังคมไทยมาหนึ่งปีกว่า ผมและทีมงานได้มีโอกาส X-Ray จิต ให้กับคนไทยมากว่าพันคน การ X-Ray จิต เป็นการสืบค้นภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลงของจิต ที่คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่ามีอยู่ในตัวเอง ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเปิดเผยให้คนได้เห็นด้วยตนเอง ว่ามีความรู้สึกนึกคิดอะไรที่กำลังทำงานอย่างเป็นระบบ ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก ทำให้คนมีพฤติกรรมและการแสดงออกต่างๆ ขัดแย้งกับใจที่อยากให้เกิดอะไรดีๆ ในชีวิต
ยิ่ง X-Ray จิตมาก ประสบการณ์และเรื่องราวที่ได้รับฟังก็ยิ่งมากตามไปด้วย สิ่งที่ผมพบก็คือ เอาเข้าจริงแล้ว คนปรับตัวยาก แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ในยุคนี้ใครว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” ก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำกันแล้ว เพราะไม่ว่าจะวัยไหนก็ “ดัดยาก” ไปตามๆ กัน ในยุคข้อมูลข่าวสาร ยิ่งรู้มาก ยิ่งดัดยากเสียด้วย
คนในยุคนี้เรียนรู้ทักษะใหม่ในการดำรงชีวิตท่ามกลางข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นทักษะค้นหากูเกิล หรือทักษะอัพเดตสถานะบ้างอะไรบ้าง แต่จากข้อเท็จจริงที่พบ ผมกลับคิดว่า คนยุคนี้ต้องการทักษะในการปรับตัว (adaptive skills) พูดให้ง่ายก็คือ ให้แต่ละคนหันกลับมาฝึกตัวเองให้เป็น “ไม้อ่อนดัดง่าย” ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็ตาม
ทักษะในการปรับตัวนี้มีอยู่ในตัวทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่หลับใหลอยู่เท่านั้นเอง การปลุกทักษะนี้ให้ตื่นขึ้น อาศัยแนวทางการ X-Ray จิต จนเจอกับภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลง ที่ทำงานอย่างเป็นระบบ โดยมีความเชื่อผิดๆ เป็นเหตุ ก่อให้เกิดความรู้สึกนึกคิดที่ซ่อนอยู่ จนนำไปสู่พฤติกรรมขัดแย้ง เมื่อเรารู้ตัวแล้วว่ามีภูมิต้านทานอะไรอยู่ เราจึงสามารถทำงานต่อไปได้ โดยเริ่มจากการกล้าเผชิญความเชื่อผิดๆ ของตนเอง ลงมือทำอะไรบางอย่างที่ท้าทายความเชื่อนั้น เพื่อรับข้อเท็จจริง จนจิตใต้สำนึกยอมจำนนกับข้อเท็จจริง เป็นการเรียนรู้ไปปรับเปลี่ยนไป
กล่าวโดยรวม กระบวนการ X-Ray จิตและทำงานกับภูมิต้านทาน เพื่อพิชิตความไม่รู้ ทั้งที่ไม่รู้เรื่องและไม่รู้ตัว (ดูภาพประกอบ) พื้นที่ทางจิตคนเรามี ๔ ด้าน แบ่งอย่างง่ายๆ ออกเป็นสองเกณฑ์คือ จิตผู้รู้ (subject) กับ สิ่งที่ถูกรู้ (object) จิตผู้รู้มีสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ รู้ตัว กับไม่รู้ตัว ในขณะที่สิ่งที่ถูกรู้มีสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ รู้เรื่อง กับไม่รู้เรื่อง รวมกันเป็น “หน้าต่างความ (ไม่) รู้” พื้นที่ที่เรารู้ตัวว่าเรารู้เรื่องอะไรเรียกว่า “ฉลาด” พื้นที่ที่เรารู้ตัวว่าไม่รู้เรื่องอะไรเรียกว่า “โง่” อันนี้เป็นฝั่งที่เรารู้ตัว ส่วนฝั่งที่เราไม่รู้ตัว มีพื้นที่ที่เราไม่รู้ตัวว่าเรารู้เรื่องอะไร เรียกว่า “หลง” เช่น หลงเชื่อ หลงรัก หลงคิด หลงกลัว เป็นต้น ในขณะที่พื้นที่สุดท้ายคือพื้นที่ที่เราไม่รู้ตัวเลย ว่าเราไม่รู้เรื่องอะไร เป็นสุดยอดของความไม่รู้ เรียกว่า “หลับใหล” เป็นที่เก็บของศักยภาพและทักษะต่างๆ ในตัวเรา
แสดงความคิดเห็น