มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2551
ในกระแสข่าวสารจากสื่อทั้งที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้ช่างเต็มไปด้วยความเกลียดชังซึ่งกันและกัน ความก้าวร้าวรุนแรง การทะเลาะวิวาทและการต่อสู้กันทางความคิดความเห็น แบ่งฝ่ายกันอย่างไม่มีใครยอมใคร แต่ละฝ่ายต่างก็อ้างว่าฝ่ายตนมีความรัก รักชาติ รักแผ่นดิน รักสันติ รักความเป็นธรรม รักประชาชน แต่กิริยาอาการและถ้อยคำที่บอกรักนั้นหยาบคาย ให้ร้ายและร้อนแรงด้วยโทสะ โกรธ เกลียด และอหังการ
ใจของผู้เขียนเจ็บอยู่ลึกๆ เหตุไฉนคนไทยจึงไม่รักกัน
เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ผู้เขียนได้รับเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้าร่วมประชุมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างสังคมสุขภาวะที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ เป็นเวที “เติมหัวใจให้สังคม” จัดโดยเจ้าภาพ ๙ องค์กร ซึ่งทำงานก่อสานพลังทางสังคมอย่างเข้มแข็ง เพื่อลดความทุกข์ สร้างเสริมความสุขในกลุ่มเล็กๆ กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ
วันนั้นผู้เขียนได้พบโอเอซิสที่ชุ่มชื่นร่มเย็นกลางทะเลทราย เวทีเสวนามิได้ใหญ่โตอะไรนัก แต่บรรยากาศอบอวลด้วยความรัก ความปรารถนาดีในกลุ่มคนดีๆ ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๐ ขวบ จนถึง ๗๘ ปี มีการนำเสนอกรณีดีงามถึง ๑๐ เรื่อง ซึ่งสร้างความประทับใจอย่างยิ่งแก่ผู้เข้าประชุม นับตั้งแต่ ครูแอน ครูอาสาสมัครสอนศิลปะในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ครูถั่น จุลนวล จากบ้านหนองเสาธง จังหวัดสงขลา ที่สร้างตำบลสมานฉันท์ และเสนอกระบวนการคัดกรองคนดีในชุมชนเข้ามาเป็นคณะรัฐมนตรีของหมู่บ้าน
ผู้เขียนรู้สึกทึ่งมาก เมื่อนายกพิชัยแห่งหมู่บ้านห้วยดง จังหวัดพิจิตร ทำกระบวนการประกันราคาดอกรัก เพื่อให้คนในตำบลมีรายได้จากดงดอกรักอย่างพอเพียง งานขององค์กรพัฒนาหมู่บ้านโดยเยาวชน (อมย.) ที่ชุมชนอ่าวลึกน้อย วิธีการสร้างคนดีแทนคุณแผ่นดินของบริษัทเอเชียพรีซิชั่น ที่ทำให้คนงานกว่า ๖๐๐ คนมีความสุขและเห็นว่า “โรงงานเป็นมากกว่าที่ทำมาหากิน”
ผู้เขียนได้ฟังคุณอ้อม เทพธิดาสีขาวที่ทำงานรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์มาตั้งแต่โรงพยาบาลเริ่มต้นโครงการ เป็นการทำงานหนัก สู้งานด้วยรักและอดทนอย่างยิ่งยวด ผจญกับสภาพของผู้ป่วยที่สังคมรังเกียจ และตนเองก็ถูกรังเกียจจากผู้คนรอบข้างเช่นกัน ไม่มีสิ่งใดมาทำให้เธอท้อถอย
เมืองไทยมีแพทย์และพยาบาลดีๆ แบบคุณอ้อมอยู่มากมาย
ผู้เขียนได้เห็นการเปิดโอกาสให้คนที่สนใจทำภาพยนตร์สั้น มาสร้างและแบ่งปันผลงานแลกเปลี่ยนกันในเรื่องแผนที่ความดี ซึ่งนิตยสารไบโอสโคปได้ทำกิจกรรมเป็นผลสำเร็จ กลายเป็นภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ ได้ฟังผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทำงานช่วยเหลือ แบ่งปันอย่างจริงใจในโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งระยะสุดท้าย
น้องปุ๋ย เยาวชนจากกาฬสินธุ์ เล่าถึงการเรียนรู้จากครอบครัวและงานอาสาสมัครในชุมชน กรณีสุดท้ายคือโครงการของโรงเรียนชลบุรีสุขบท ที่สร้างกระบวนการเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนให้หยุดการฆ่าหมาจรจัด ด้วยกิจกรรมรักสัตว์ รักสังคม โครงการนี้มิใช่เกิดผลดีต่อชีวิตหมาเท่านั้น แต่นักเรียนและอาจารย์ที่ปรึกษาได้พัฒนาคุณธรรมของตนเอง โรงเรียนและวัดกลายเป็นศูนย์กลางของความรักและความรู้ เกิดคุณค่าทั้งแก่ชีวิตหมาและชีวิตคน
ตลอดเวลา ๓ ชั่วโมงครึ่ง ที่ผู้ร่วมเสวนาได้ดูวีดิทัศน์ ฟังเรื่องราวดีๆ อย่างมีความสุข รับประทานของว่าง ดื่มกาแฟ และได้รับความรู้จากนิทรรศการตามมุมต่างๆ นั้น คุณนิรมล เมธีสุวกุล (คุณนก) ทำหน้าที่พิธีกรอย่างเชี่ยวชาญ เสียสละ อดทน อดรับประทานขนม ไม่ได้เข้าห้องน้ำ เธอดำเนินรายการตั้งแต่ต้นจนจบภาคเช้า ด้วยวิธีการที่เป็นกันเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส ปราศจากกิริยาที่ปรุงแต่ง ทำให้ทุกคนมีความสุข ผู้เขียนจึงขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ คุณนกทำงานด้วยรักในงานที่ทำ
ประเทศไทยยังมีคนดีอยู่มากมาย มีกิจกรรมดีๆ อย่างหลากหลายเต็มแผ่นดิน
มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจทำงานหนักอยู่เงียบๆ ต่อสู้อุปสรรคอย่างอดทน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ดังที่ครูแอนบอกว่า เป็น “การจุดเทียนกลางสายฝน”
แน่นอน คนที่จุดเทียนกลางสายฝนต้องพากเพียรอดทนต่อการจุดไฟต่อไส้เทียนที่เปียกชื้น มือที่ป้องลมย่อมร้อนเมื่อถูกเปลวเทียนกระทบและร่างกายก็เปียกปอน แต่เมื่อมีความรักและความหวัง เทียนก็สว่างขึ้นได้ และฝนก็หายไปในที่สุด
ความฉ้อฉลและการแข่งขันช่วงชิงกันในบ้านเมืองของเราขณะนี้ เปรียบเหมือนลมฝนที่ซัดกระหน่ำลงมาทุกแห่งหน เมื่อน้ำท่วม ไฟดับ ต้นไม้โค่นล้มขวางทางระเกะระกะ การจราจรติดขัด รถประจำทางไม่วิ่ง ฯลฯ คนที่เอาตัวรอดต่างก็รีบหลบเข้าบ้าน ปิดประตู ในขณะที่คนยากไร้เอาตัวไม่รอด ต้องยืนเปียกฝนอยู่ตามที่จอดรถประจำทาง หวาดกลัว หิว และสิ้นหวัง ชาวไร่ชาวนาขายผลิตผลได้ราคาต่ำ ขาดทุน เป็นหนี้สิน ซื้อหวยเพื่อซื้อความหวังที่ไม่รู้ว่าเมื่อใดจะมีลาภลอยมาถึงมือ
ผู้คนหลายกลุ่มทั่วประเทศห่วงใยและอาสาคลายทุกข์เพื่อนร่วมชาติด้วยวิธีการที่สร้างความร่วมมือ เสริมพลังกันและกัน เสริมความสุขและความหวังให้แก่เพื่อนร่วมทุกข์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนแรกของบทความนี้
อะไรดลใจให้คนอาสามุ่งทำงานหนักเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่น คำตอบคือ ความรัก
ความรักคืออะไร
ความรักเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เป็นความรู้สึกที่บริสุทธิ์ ประณีต ละเอียดอ่อน มีผู้ให้และมีผู้รับ เป็นความรักซึ่งกันและกัน
ความรักเกิดขึ้นในจิตใจ สะสม เพิ่มพูน และถ่ายทอดได้
ความรักแตกต่างจากอารมณ์ใคร่ ซึ่งเป็นความดึงดูดและความคลั่งไคล้ทางร่างกาย
ความรักเกิดจากหัวใจสู่หัวใจ เป็นความงามที่จับใจ และเป็นคุณสมบัติแท้จริงของจิตวิญญาณ
ความรักเกิดขึ้นเงียบๆ ในความคิด จิตสำนึก เริ่มจากความเมตตา อยากแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างจริงใจที่จะลดความทุกข์ของผู้อื่น
ความรักช่วยกระตุ้นพลังแรงแข็งขันที่จะบากบั่นทำงานอาสาสมัครโดยไม่หวังผลตอบแทน
ในความรักจึงมีความเสียสละ มีความเบิกบานแจ่มใส มีความสุขที่เกิดจากจิตใจที่นิ่งและสงบ
ความรักนั้นยิ่งลดความเห็นแก่ตัว ยิ่งเพิ่มความรักผู้อื่น
ความรักจึงเป็นต้นธารของคำหลายคำ เช่น ความสามัคคี สมานฉันท์ การเห็นคุณค่า ความกรุณา การให้อภัย
ก่อนจบบทความนี้ ผู้เขียนขอยกข้อความจากปกหลังของหนังสือ “เพื่อรักและประจักษ์ปัญญาธรรมชาติ” ซึ่งศิษย์รักของผู้เขียน (ศึกษิต เทพศึกษา) ได้เรียบเรียงจากความคิดและประสบการณ์ของ
โดโรธี แม็คเคลน ไว้ว่า
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2551
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้ไปพูดเรื่อง “วิธีเอาชนะความตาย (How to Win Death)” ให้กับนักศึกษาปริญญาโท คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ศูนย์วัดศรีสุดาราม ผู้เขียนไม่ได้เป็นคนตั้งชื่อหัวข้อการพูดคุยดังกล่าว ซึ่งเป็นประเด็นทางกายที่เอามาใช้ในความหมายที่คนทั่วไปในสังคมเข้าใจกัน เพราะไม่มีใครเอาชนะความตายได้ตราบใดที่เรายังอยู่ในวัฏสงสาร จริงๆ แล้ว พูดรวมๆ ในทางวัฒนธรรม สาเหตุที่เราทั่วๆ ไปไม่ชอบความตายนั้น เป็นเพราะเราต่างยินดีปรีดากับการเกิด จนบางคนต้องเฉลิมฉลองการเกิดหรือครบรอบวันเกิดเพื่อแสดงความดีใจกัน เพราะฉะนั้น การเอาชนะความตายในที่นี้ จึงมีความหมายหลักๆ อยู่ที่ความกลัวการพลัดพรากจากกัน หรือความไม่ชอบ (ทั้งของผู้ที่กำลังจะตายไป กับของญาติพี่น้องที่อยู่ข้างหลัง) อันเป็นเรื่องของความเป็นจิตรู้ตัวตน (self) ของเราเอง (จิตรู้ หรือจิตสำนึก ที่ได้มาจากจิตไร้สำนึกอันสากลที่บริหารผ่านสมองและโดยสมอง) ซึ่งจริงๆ แล้ว จิตสำนึกแม้ว่าจะเป็นจิต แต่มันไม่ใช่ตัวตน (อัตตา) ของเราสักหน่อย
การเอาชนะความตายในที่นี้จึงเป็นเรื่องการตายไปจากภพภูมินี้ โลกสามมิติ (บวกหนึ่ง) ใบนี้ อันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกันของจิตกับสมอง (interaction of mind or consciousness กับ body) หรือเรียกว่าวิญญาณขันธ์ในทางพุทธศาสนา ซึ่งสำหรับผู้เขียน จิตสำนึกเป็นจิต (ไร้สำนึก) ที่ผ่านการบริหารที่สมองชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง (unconsciousness as consciousness)
ในศาสนาที่อุบัติขึ้นมาจากลัทธิพระเวท ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมที่ไม่ใช่อารยัน (pre-vedic culture – เผ่าพันธุ์จากอัฟริกาตะวันออกที่ได้อพยพโยกย้ายมาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ และสร้างอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ (Indus civilization) ขึ้นมาตั้งแต่ราวๆ ๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล) กับชนเผ่าอารยันซึ่งเป็นเผ่าเร่ร่อนจากเอเชียกลางและนับถือพระเจ้าหลายองค์ (pantheism) เข้าด้วยกันเป็นลัทธิพระเวท อันเป็นต้นตอของศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ที่มีอภิปรัชญาหลากหลายเกิดขึ้นนับจากนั้นมา รวมทั้งอภิปรัชญาความรู้ที่ต่อมากลายเป็นฐานหนึ่งของพุทธศาสนาด้วย ในตอนนั้นจึงมีทฤษฎีมากมายที่อธิบายเรื่องของโลก ของจักรวาล และเรื่องของความจริงแท้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิต เรื่องของกรรม เรื่องของมายา หรือเรื่องของอนิจจตา ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นอภิปรัชญาของอินเดียโบราณที่อธิบายไว้แตกต่างกันไป ฉะนั้น เรื่องของจิตไร้สำนึกอันสากล [ซึ่งมีลักษณะที่นักฟิสิกส์ใหม่หลายคนคิดว่าเป็นสนามแควนตัม หรือซุปเปอร์แควนตัม (Bohm)] จึงมีทฤษฎีทางอภิปรัชญาโบราณของอินเดียเขียนไว้แล้วตั้งแต่หลายร้อยปีหรือพันๆ ปีก่อนคริสตกาล เช่น ทฤษฎีโยคะ (Yoga) และทฤษฎีสางขยะ (Sankhya) เป็นต้น ทฤษฎีทั้งสองที่ได้มาจากเส้นทางภายใน รวมกับอีกหลายทฤษฎี มีการกล่าวถึงจิตว่า จิตนั้นสร้างขึ้นไม่ได้ ทำลายก็ไม่ได้ จึงไม่มีวันตายไปจากจักรวาลนี้หรือจากจักรวาลไหนๆ ได้
ทฤษฎีสางขยะนี้น่าสนใจ เพราะหลายอย่างคล้ายๆ กับพุทธศาสนาสมัยแรกๆ และคล้ายๆ กับจักรวาลวิทยาใหม่ ทั้งๆ ที่มีมาก่อนพุทธกาล และก่อนอุปนิษัทด้วยซ้ำอย่างน้อยนับร้อยๆ ปี ครูคนแรกของพระพุทธเจ้า (ก่อนตรัสรู้) คือ อาฬารดาบส เป็นผู้ที่เชื่อและรู้จักปรัชญาสางขยะนี้ดี ได้พูดถึงที่มาของสรรพสิ่ง สรรพปรากฏการณ์ รวมทั้งที่มาของชีวิตรวมทั้งมนุษย์ว่า ทั้งหมดมาจากจิตสากล – ‘ปุรุษะ (purusa)’ กับ ‘ประกฤติ หรือ ปกติ (prakrti)’ อันแรกเป็นจิตหรือจิตวิญญาณสากล (soul or atta) ส่วนอันหลังเป็นจิตที่จะวิวัฒน์มาเป็นสรรพสิ่งของจักรวาลหรือเป็นอนุภาค (ธรรมธาตุ) ซึ่ง ‘ปุรุษะ’ กับ ‘ประกฤติ’ นี้ เมื่อพบกันจะสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกปรากฏการณ์ของจักรวาลขึ้นมา รวมทั้งสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ ผ่าน ‘คุณ (gunas)’ ทั้งสาม
ทฤษฎีสางขยะนี้เป็นเรื่องของความรู้ที่ได้มาจากการปฏิบัติโยคะสมาธิ หรือเป็นญาณทัศนะล้วนๆ จึงไม่พูดถึงพระเจ้าเลย หรือจริงๆ แล้วไม่มีพระเจ้าด้วยซ้ำ (atheist) โดยในความเข้าใจของผู้เขียน ปรัชญานี้มีแต่เพียงปุรุษะหรือจิต (ที่เป็น) สากลหนึ่ง กับประกฤติอีกหนึ่งที่ปะทะกัน ประกฤติที่รวมกาย (๑๕) และจิตสำนึก (conscious mind = ๑) กับธาตุที่เป็นส่วนละเอียดยิ่งของธาตุหยาบทั้ง ๕ – ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศธาตุ – (๕) รวมกับจิตสากลที่อยู่ในใจมนุษย์ทุกๆ คนที่เรียกจิตพุทธะหรือจิตหนึ่ง (buddi/atman = ๑) และบารมี-อวิชชา-ความดีงาม-ความไม่รู้ที่เลวร้ายที่สะสมจนกลายเป็นบุคลิกลักษณะของคนผู้นั้นๆ (ahangar = ๑) ซึ่งเมื่อรวมกับตัวประกฤติเองอีกหนึ่ง (๑) ทั้งหมดรวมเป็น ๒๔ ไว้ด้วยกัน ประกอบเป็นนาม-รูปของชีวิตมนุษย์หนึ่งคน เพราะฉะนั้นเมื่อมนุษย์หนึ่งคนตายไปจากโลก จึงไม่ได้ตายทางจิตไปทั้งหมด หากตายแต่เพียงแค่กาย (๑๕) – รวมธาตุหยาบทั้ง ๕ ในนั้น – กับจิตรู้อีกหนึ่ง (๑) ส่วนจิตที่เหลือของมนุษย์ผู้นั้น (ยกเว้นปุรุษะและประกฤติใหญ่เดิมที่ไม่ได้มีวิวัฒนาการ (โดยทฤษฎี) ใดๆ เลย) ไม่ได้ตายจริง แต่เวียนว่ายตายเกิดต่อไป
น่าสนใจที่ธาตุละเอียดอย่างยิ่ง (subtle elements) ซึ่งเป็นที่มาของดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศธาตุที่หยาบๆ ทั้งหมด เกิดมาตรงกันกับคุณสมบัติย่อยๆ ของอนุภาค เช่น สี หรือ รส ฯลฯ (color or taste) ของฟิสิกส์ใหม่ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หรืออนุภาคที่ประกอบเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งที่หยาบและละเอียดเหล่านั้น จะเป็นความรู้ที่รู้กันมาตั้งแต่หลายพันปีก่อนแล้ว โดยได้มาด้วยการทำสมาธิตามที่ปรัชญาสางขยะบอก ผู้เขียนจึงได้บอกว่าทฤษฎีนี้มีส่วนที่เหมือนกับจักรวาลวิทยาใหม่และฟิสิกส์ใหม่อย่างไม่น่าเชื่อหลายอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
ในขณะเดียวกัน พุทธศาสนายังสอนในเรื่องของกรรม และการเกิดใหม่ด้วยแรงกรรมที่คนผู้นั้น กระทำไว้ในอดีตรวมทั้งในชาติภพก่อน พุทธศาสนาสอนให้เชื่อในเรื่องการระลึกชาติ ซึ่งเป็นทั้งด้านของกายภาพกับด้านของจิตว่าเป็นไปได้ ดังที่องค์ดาไล ลามะกล่าวไว้ว่า “การระลึกชาติ...เป็นส่วนหนึ่งของที่มาของมนุษย์ เป็นข้อพิสูจน์ถึงความสามารถของ ‘กระแสธารของจิต’ (วิญญาณโสตะ หรือสัมวัติกะวิญญาณ) ที่จะคงสภาพของความรู้ทั้งในด้านของกายภาพและจิตภาพเอาไว้ได้ ซึ่งมีสาเหตุสัมพันธ์กับหลักปฏิจจสมุปบาทและกฎธรรมชาติว่าด้วยเหตุที่ก่อผล” (คำนำของหนังสือ The Case for Reincarnation)
การตายของสัตว์โลกหรือมนุษย์นั้น อาจแยกได้เป็นสองประเภท คือ ตายไปเพราะหมดอายุขัย (proptosis) หรือป่วยตาย เกิดอุบัติเหตุ ในภาวะปกติ การตายของมนุษย์ส่วนใหญ่มากๆ จะเป็นการตายไปตามอายุขัยของปัจเจกแต่ละคน มีการตายร่วมกันเป็นหมู่น้อยหรือน้อยมาก แต่ในภาวะที่ไม่ปกติ เช่น ระหว่างมีสงคราม โรคระบาด ภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว พายุร้าย สึนามิ หรือโลกร้อนจนแผ่นดินกลายเป็นทะเลทรายที่ไร้ทั้งน้ำและพืชพันธุ์ธัญญาหาร หรือกระทั่งอุกกาบาตวิ่งมาชนโลกที่ล้วนอาจจะเป็นไปได้ทั้งนั้น ในภาวะเช่นนั้น การตายร่วมกันเป็นหมู่ หรือกระทั่งเป็นหมู่บ้าน หรือเมือง หรือทั้งโลกย่อมเป็นไปได้ ตามเหตุปัจจัยที่กล่าวมาข้างบนนั้น ทำให้การตายเพราะอายุขัยของแต่ละคนกลายเป็นเรื่องเล็กไป
ผู้เขียนเป็นแพทย์ แถมเป็นพยาธิแพทย์ [พยา-ธิ เป็นคนละคำกับ พะ-ยาด ที่หมายถึง หนอนพะ-ยาดต่างๆ โดยพยาธิวิทยามาจากคำว่า pathology ที่แปลว่า การศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของโรคทั้งหลายทั้งทางกาย (physical) และทางหน้าที่ (function)] จึงมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิทยาศาสตร์ของคนตายจากโรคนั้นๆ นอกจากนี้ ในช่วง ๗ – ๘ ปีมานี้ ผู้เขียนยังมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย รวมทั้งมะเร็งหรืออัมพาตอัมพฤกษ์จำนวนมากในสถานพยาบาลที่เป็นประหนึ่งฮอสปีซ [hospice - สถานพยาบาลที่ไม่ยื้อความตาย คำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รักษาด้วยการประคับประคอง (palliative)] และให้การดูแลทางจิตและจิตวิญญาณกับศาสนา เพื่อให้บางคนที่พอจะพูดกันได้บ้างไม่กลัวตาย ให้รู้จักและเข้าใจชีวิตที่แยกจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ได้ ซึ่งการพูด วิธีพูด กับท่าทางของผู้พูดไม่ใช่ของง่ายเลย เพราะแพทย์และพยาบาลล้วนเรียนมาแต่เรื่องของวิทยาศาสตร์ทางกาย จึงมักไม่เชื่อในเรื่องของจิตและจิตวิญญาณ แพทย์เองแม้จะเรียนจิตวิทยามาบ้างก็เป็นเรื่องของโรคจิต ที่สำคัญ ผู้พูดไม่ใช่พระ จึงต้องทำให้ผู้ป่วยไว้ใจและเชื่อว่าแพทย์เองก็ไม่กลัวตายด้วย และการที่ผู้เขียนพอมีประสบการณ์การดูแลเรื่องทางจิตใจให้กับคนแก่มากๆ หรือดูแลคนเป็นโรคที่เกิดจากความชรามานานพอสมควร เห็นคนแก่ คนป่วย และตายไปมาก (หลายคนตายไปต่อหน้าต่อตา) พอจะสรุปได้ดังนี้ (ซึ่งนักวัตถุนิยมมักไม่รู้)
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2551