โดย
ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2551
การศึกษาในระบบโรงเรียนกำเนิดขึ้นควบคู่กันกับระบบอุตสาหกรรมในสังคมตะวันตก เพราะเมื่อแรกเริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมก็มีคนงานจำนวนมากที่ต้องมาทำงานในโรงงาน การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแตกต่างจากงานในภาคเกษตรกรรมเพราะคนงานต้องทำงานเต็มเวลาและไม่สามารถเลี้ยงดูลูกหลานได้ จึงจำเป็นต้องมีระบบการเลี้ยงดูและให้การศึกษาสำหรับบุตรหลานของคนงานเหล่านั้น
การศึกษาในระบบโรงเรียนที่ว่าจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการเตรียมลูกหลานคนงานเหล่านี้ให้พร้อมที่จะไปทำงานเป็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคตเท่านั้น ระบบการจัดการโรงเรียนจึงไม่ต่างไปจากระบบการจัดการอุตสาหกรรม
เด็กนักเรียนเป็นเสมือนวัตถุดิบของโรงงานอุตสาหกรรม ถูกคัดเลือกด้วยเกณฑ์มาตรฐานที่เหมือนๆ กัน แบ่งการเรียนเป็นชั้นๆ ตามอายุที่เท่าๆ กัน ผ่านการเรียนการสอนที่เหมือนๆ กัน เพื่อจบออกมามีคุณภาพมาตรฐานเหมือนๆ กัน การวัดผลเน้นไปที่ความแตกต่างในเชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณภาพ เช่น ทำข้อสอบได้คะแนนดีกว่าคนอื่น
แต่ข้อสอบที่ทุกคนทำก็เป็นข้อสอบมาตรฐานเดียวกัน เพื่อตรวจวัดในสิ่งๆ เดียวกันมากกว่าที่จะตรวจหาศักยภาพหรือความสามารถเฉพาะตัว
และเพื่อให้การประเมินผลเชิงปริมาณเป็นไปได้อย่างเที่ยงตรงและรัดกุมยิ่งขึ้น ข้อสอบก็ต้องเป็นข้อสอบแบบปรนัยด้วย
ฐานความคิดที่สำคัญของข้อสอบปรนัยก็คือ ความจริงและสิ่งที่ถูกต้องนั้นถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คำตอบสุดท้ายนั้นมีคนรู้อยู่แล้ว นักเรียนหรือผู้สอบไม่มีส่วนในการกำหนดว่าอะไรถูก อะไรผิด และก็ไม่ต้องคิดอะไรใหม่ด้วย และเพียงแค่จดจำให้ได้ว่าคำตอบที่ถูกต้องที่มีอยู่ในตัวเลือกนั้นคืออะไร
เลือกแล้วก็รอให้มีคนมาบอกว่า “ถูกต้องแล้วคร้าบ...”
ระบบการศึกษาจึงไม่ต่างจากระบบอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตขนาดใหญ่ หรือ mass production โดยมีผู้สร้างความรู้จำนวนน้อย แต่มีผู้เสพหรือบริโภคความรู้เป็นจำนวนมาก คนส่วนใหญ่ถูกฝึกให้รอคอยที่จะบริโภคความรู้สำเร็จรูปมากกว่าที่จะมีส่วนร่วมในการผลิตความรู้ และความรู้ที่เหมาะกับการบริโภคแบบ mass consumption จึงเป็นความรู้ฉาบฉวยที่ถูกทำให้ง่ายและบริโภคได้โดยไม่ต้องใช้สติปัญญาอะไรมากนัก
ซึ่งก็คือความรู้แบบ how to สำเร็จรูปที่เราเห็นแพร่หลายอยู่กลาดเกลื่อนบนแผงหนังสือทั่วไปนั่นเอง
วิธีคิดในระบบอุตสาหกรรมความรู้นี้จึงสร้างวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก
เราอาจเรียกสังคมลักษณะนี้ว่าสังคมปรนัย คือเป็นสังคมที่ผู้คนใช้ชีวิตเหมือนทำข้อสอบปรนัย ตัดสินใจผ่านตัวเลือกสำเร็จรูปที่ถูกกำหนดไว้แล้วล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า บัตรเครดิต รวมไปถึงการงานและการใช้เวลาว่าง อย่างเช่น การใช้เวลาว่างวันหยุดสุดสัปดาห์ก็เป็นแบบปรนัย ไม่ต้องใช้จินตนาการหรือความคิดอะไรมาก แค่เลือกระหว่างนอนอยู่บ้านดูทีวี หรือจะออกไปเดินห้าง
การเรียนการสอนแบบปรนัยจึงเป็นรากฐานสำคัญของการผลิตซ้ำอุดมการณ์บริโภคนิยมในสังคมอุตสาหกรรม
เพราะการเรียนแบบปรนัยสอนให้เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกโดยไม่ต้องมีส่วนร่วมกำหนด คำตอบที่ถูกหรือผิดนั้นถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วโดยที่เราไม่ได้มีส่วนร่วมในการคิด ตีความ หรือตัดสินอะไร เราเป็นเพียงคนเกาะรั้วดูอยู่นอกสนามแบบปรนัย (Objective) โดยไม่ได้ร่วมเล่นด้วย
ในสังคมปรนัย คนส่วนใหญ่จึงทำหน้าที่เป็นเพียงคนดู ไม่ว่าจะเป็นการงานหรือการละเล่น งานต่างๆ มีผู้บริหารจำนวนน้อย คิดงานให้คนจำนวนมากทำไปวันๆ โดยคนส่วนใหญ่เหล่านี้ไม่ต้องคิดอะไรมาก
แม้แต่ในการละเล่นหรือสันทนาการ เราก็ไม่ต้องคิดและไม่ต้องลงมือทำ เราไม่ได้สนุกกับการเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล เทนนิส หรือกอล์ฟ เราแค่สนุกกับการดูการแข่งขันก็พอ ไม่ว่าจะดูที่สนามหรือในทีวีที่มีคนเล่นเพียงไม่กี่คน แต่มีคนดูเป็นหมื่นเป็นแสน กีฬามีไว้ดูมากกว่ามีไว้เล่น หรือเรื่องอาหาร เราก็ไม่ใช้เวลากับการปรุงอาหาร แต่เราจะมีความสุขกับการดูรายการอาหารในโทรทัศน์ เราไม่สนใจจัดบ้านของเรา (หรือเราอาจไม่มีบ้านอยู่) แต่เรามีความสุขกับการอ่านหนังสือบ้านและสวนมากกว่า เป็นต้น
สังคมปรนัยจึงเป็นสังคมที่คนส่วนใหญ่ทำหน้าที่ในการเสพมากกว่าการสร้าง
ลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่เราสังเกตได้โดยทั่วไป ถ้าเราเปรียบเทียบรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นอย่างเช่น ทีวีแชมเปี้ยน ซึ่งบ้านเราก็นำมาทำเป็นรายการแฟนพันธุ์แท้ เราจะเห็นว่ารายการทั้งสองแตกต่างกันอย่างสำคัญประการหนึ่งคือ รายการทีวีแชมเปี้ยนนั้น การแข่งขันส่วนใหญ่จะเป็นการประชันฝีมือในการสร้างหรือการผลิต เช่น แข่งขันทำอาหาร ตกแต่งต่อเติมบ้าน หรือประดิษย์ประดอยข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ
ส่วนรายการแฟนพันธุ์แท้นั้นส่วนมากเป็นการแข่งกันเพื่อดูว่าใครเสพหรือบริโภคเก่งกว่ากัน เช่น รู้เรื่องดาราคนนี้ทุกอย่าง จำพระเครื่องหรือจตุคามได้ทุกรุ่น ร้องเพลง (ของคนอื่น) ได้ทุกเพลง จำรถจักรยานยนต์ได้ทุกรุ่น ดูหนังทุกเรื่องของดาราบางคน เป็นต้น
รายการอย่างหลังนี้ ใครเสพมาก บริโภคมากเป็นผู้ชนะ และการตอบถูกก็ไม่ใช่ผลผลิตหรือผลงานการสร้างอะไรของคุณ แค่จำมาเท่านั้น
เหมือนกับการสอบปรนัยที่เราไม่จำเป็นต้องมีความเห็นเป็นของเรา ไม่ต้องตีความ และอาจารย์ก็ไม่สนใจว่าสิ่งที่เรียนที่สอนนั้นมีคุณค่าหรือความหมายสำหรับนักเรียนแต่ละคนอย่างไร เพราะการสอบปรนัยไม่ได้ประเมินว่าคุณมีความคิดเห็นหรือสร้างคำอธิบายของคุณเองได้หรือไม่ สนใจแต่เพียงว่าคุณรู้หรือไม่ว่าคำตอบที่ถูกต้องคืออะไร
ส่วนการสอบแบบอัตนัยนั้นก็ดูเหมือนใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากระบบการเรียนการสอนแล้ว ที่ยังหลงเหลืออยู่บ้างก็เป็นการสอบอัตนัยแบบปรนัย คือเพียงแค่จำเนื้อหามาบอกหรือเขียนซ้ำโดยไม่ต้องสนใจว่าผู้ตอบมีความคิดเห็นเป็นของตนเองหรือไม่
เรียกว่าจำให้ได้แล้วเอามาเขียนซ้ำใหม่ (re-description) โดยไม่มีการครุ่นคิดตรึกตรองหรือกลั่นกรองเป็นความคิดอ่านหรือความเห็นของตนเอง
เหมือนกินอาหารแล้วสำรอกออกมาโดยไม่มีการย่อย
ข้อจำกัดของระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ ทำให้มีความพยายามที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ก้าวพ้นไปจากระบบอุตสาหกรรมความรู้ แนวคิดหนึ่งที่มีความสำคัญคือ แนวคิดเรื่องการเรียนรู้สู่จิตสำนึกใหม่หรือ Transformative Learning ที่ได้รับอิทธพลจากนักคิดและนักปฏิบัติอย่างเช่น เปาโล แฟร์ (Paulo Freire), แจ็ค เมอซิโรว์ (Jack Mezirow) และนักจิตวิทยาอย่าง คาร์ล จุง (C. G. Jung)
การเรียนรู้แบบปรนัยนั้นมีคำตอบที่ถูกต้องอยู่ล่วงหน้าแล้ว จึงเน้นการจดจำสาระข้อมูล หรือ Information และสอนให้คิดตาม ทำตามในสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้วว่าถูกต้อง จึงเป็นการสร้างให้คนเชื่องเพื่อที่จะออกไปรับใช้ระบบมากกว่าที่จะไปเปลี่ยนแปลงระบบ หรือเรียกว่าเน้นที่ Conformation
การเรียนเพียงเพื่อให้จดจำหรือมีข้อมูล (Information) จำนวนมากและให้คิดตามๆ กัน ทำตามที่ถูกกำหนดให้ทำ (Conformation) จะไม่สามารถนำไปสู่การค้นพบตนเองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง หรือ Transformation ได้
การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานของวิธีคิดและจิตสำนึก ที่ทำให้การใช้ชีวิตและการจัดความสัมพันธ์กับสังคมและโลกแวดล้อมไม่เป็นไปอย่างฉาบฉวย
การเกิดขึ้นของทัศนะต่อชีวิตและจิตสำนึกใหม่ที่เข้าใจความจริงของโลกภายนอกและโลกแห่งชีวิตด้านในอย่างลุ่มลึกนี้ เป็นผลจากการมีประสบการณ์ตรงของผู้เรียนที่ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในความจริงของชีวิต (ไม่ใช่ยืนเกาะรั้วมองดูชีวิตอยู่ห่างๆ) ทั้งยังต้องมีการใคร่ครวญตรึกตรองอย่างลึกซึ้งต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิตจนเกิดการประจักษ์แจ้งในใจตนเองถึงคุณค่าและความหมายของชีวิต (ไม่ใช่จำมาจากสิ่งที่คนอื่นคิดไว้)
นี่เป็นสาเหตุว่า ทำไมกระบวนการเรียนรู้สู่จิตสำนึกใหม่จึงไม่สามารถทำให้เป็นแบบปรนัยได้
แสดงความคิดเห็น