กาลครั้งหนึ่งของความยุติธรรม



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2551

-๑-


กาลครั้งหนึ่ง ผู้คนได้รับการเชื้อเชิญเข้ามาในมหาสภา เพื่อร่างธรรมนูญในการจัดระเบียบโครงสร้างของสังคมร่วมกัน

ผู้คนเหล่านี้ มีทั้งหญิง ชาย เด็ก คนแก่ ศาสนิกชน นักกีฬา นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักธุรกิจ ตำรวจ ทหาร ปราชญ์ชาวบ้าน

มหาสภาอันศักดิ์สิทธิ์นี้ มีระเบียบอยู่ว่า หลังจากร่างธรรมนูญเสร็จสิ้น ผู้ที่ร่วมร่างธรรมนูญจะต้องถึงแก่อายุขัยพร้อมกัน และต้องไปเกิดใหม่ในสังคมที่อยู่ภายใต้ธรรมนูญที่ร่วมกันร่างขึ้นมา โดยไม่ทราบได้ว่า ตนเองจะไปเกิดเป็นใคร

เขาหรือเธอเหล่านั้นจะเกิดไปเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นคนผิวขาว ผิวเหลือง ผิวสี ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดในครอบครัวร่ำรวยหรือยากจนก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปนับถือพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ ฮินดู หรือไร้ศาสนา ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นคนพิการ วิกลจริต หรือปรกติ ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นคน สัตว์ หรือพืช ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นโฮโมหรือเฮเทโรเซ็กชวลก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นหมอ พยาบาล ผู้ป่วย ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นคนไทย หรือพม่า ลาว เขมร ที่ลี้ภัยมาอยู่เมืองไทย ก็ไม่อาจรู้ได้

จะเกิดไปเป็นรัฐบาล ฝ่ายค้าน คนทำรัฐประหาร กลุ่มประท้วง ก็ไม่อาจรู้ได้

คำถามก็คือ – ธรรมนูญสังคมที่ผู้คนกลุ่มนี้จะร่วมกันร่างมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

-๒-


กาลครั้งหนึ่ง จอห์น รอลส์ (ค.ศ. ๑๙๒๑ – ๒๐๐๒) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และนักปรัชญาชาวอเมริกัน ได้เสนอแนวคิดที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในแวดวงปรัชญาการเมืองแบบเสรีแนวคิดหนึ่ง นั่นคือ “ความยุติธรรมในฐานะความเป็นธรรม” ซึ่งตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐาน ๒ ประการ
๑. ทุกคนย่อมได้รับสิทธิและเสรีภาพในกรอบที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพทางการเมืองที่เท่าเทียมกัน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ปกป้องคุณค่าแห่งความเป็นธรรมไว้
๒. ความไม่เท่าเทียมทางสังคมและเศรษฐกิจอาจเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไข ๒ ประการ คือ หนึ่ง ขึ้นกับตำแหน่งหน้าที่การงาน ทั้งนี้ ทุกคนต้องมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเข้าถึงตำแหน่งหน้าที่การงานนั้น และสอง ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ด้อยโอกาสในสังคมนั้น

โดยนัยยะนี้ การละเมิดสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนย่อมกระทำมิได้ และการกระจายรายได้ต้องเน้นประโยชน์ของคนยากคนจนหรือคนเล็กคนน้อยให้มากที่สุด

-๓-


กาลครั้งหนึ่ง นักปรัชญาสำนักต่างๆ พยายามนำเสนอนิยามความหมายของความยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็น ความยุติธรรมเชิงกระจาย หรือความยุติธรรมในฐานะความเป็นธรรม เน้นที่ผลลัพธ์โดยพิจารณาจากประโยชน์ของทุกฝ่ายในสังคม

ไม่ว่าจะเป็น ความยุติธรรมเชิงกระบวนการ เน้นที่กระบวนการได้มาซึ่งกฎหมาย และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม

ไม่ว่าจะเป็น ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่ใช้วิธีไกล่เกลี่ยระหว่างคู่กรณีเมื่อเกิดความขัดแย้ง

ไม่ว่าจะเป็น ความยุติธรรมแบบแก้แค้นทดแทนผู้ถูกละเมิด ด้วยการยอมรับว่าการลงโทษผู้กระทำผิดนั้นชอบธรรมแล้ว ไม่ว่าจะด้วยการจำกัดอิสรภาพหรือประหารชีวิตด้วยวิธีต่างๆ

ฯลฯ

-๔-


กาลครั้งหนึ่ง แอร์นส์ แฟร์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวสวิส ผู้โดดเด่นจากงานวิจัยที่หลอมรวมองค์ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ ประสาทวิทยา และจิตวิทยาเข้าไว้ด้วยกัน เคยกล่าวว่า ความยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการ

กาลครั้งหนึ่ง ซาราห์ บรอสนัน นักชีววิทยาชาวอเมริกัน ได้ยืนยันงานของแอร์นส์ แฟร์ด้วยการทดลองฝึกลิงหน้าขาว ๒ กลุ่ม ซึ่งลิงกลุ่มหนึ่งจะได้รับรางวัลเมื่อทำแบบทดสอบได้ดี แต่อีกกลุ่มหนึ่งจะได้รับรางวัลทุกครั้งแม้จะทำแบบทดสอบดีบ้างไม่ดีบ้างหรือไม่ได้ทำด้วยซ้ำ เมื่อลิงอีกกลุ่มมองเห็นความไม่ยุติธรรมดังกล่าวก็ปฏิเสธที่จะทำแบบทดสอบหลังจากนั้นทันที

กาลครั้งหนึ่ง ลิงยังรู้จักความยุติธรรม

-๕-


กาลครั้งหนึ่ง ในโลกที่มีลิงรู้จักความยุติธรรม และมีผู้ชำนาญการต่างๆ นิยามความยุติธรรม

ในปี ค.ศ. ๑๙๗๓ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีคนที่ ๓๗ ของสหรัฐอเมริกา สั่งให้ไล่อัยการพิเศษ อาร์คิบาล ค็อกซ์ ที่กำลังสืบสวนคดีวอเทอร์เกต ซึ่งเกี่ยวพันกับการกระทำผิดของประธานาธิบดี หัวหน้าอัยการและรองหัวหน้าอัยการปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งอันไม่ชอบธรรมนั้น และประท้วงด้วยการลาออก อัยการอาวุโสที่เหลืออยู่และสยบยอมต่อประธานาธิบดีเป็นผู้ไล่ค็อกซ์ออก

หลังจากนั้นไม่ถึงปี ริชาร์ด นิกสัน ต้องเข้าสู่กระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี ด้วยหลักฐานแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ๓๖ ครั้ง และถูกศาลสูงบังคับให้มอบเทปบันทึกเสียงในทำเนียบรัฐบาลออกมา เขาต้องลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีเพื่อหนีการดำเนินคดีในชั้นศาล และได้รับการจดจำในฐานะประธานาธิบดีที่มีชื่อเสียงเสื่อมเสียมากที่สุด แทนที่จะเป็นวีรบุรุษสันติภาพในฐานะผู้ยุติสงครามเย็นกับรัสเซีย เชื่อมสัมพันธไมตรีกับจีน และยุติสงครามเวียดนามอันยืดเยื้อยาวนาน

กาลครั้งหนึ่ง ประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องนี้ไว้ วิกิพีเดียก็เขียนไว้

-X-


กาลครั้งหนึ่ง

ไม่ว่าวงล้อของกาลเวลาจะหมุนไปอีกกี่กัปกัลป์

ไม่ว่าเราจะเกิดใหม่หรือไม่เกิดเป็นใครหรืออะไร

ไม่ว่าโลกยุคหน้าจะเป็นยุคอวกาศเหมือนสตาร์เทร็กหรือสตาร์วอรส์หรือไม่ หรือกลับคืนสู่ยุคหินที่ผู้คนไม่ใส่เสื้อผ้าหรือไม่

ไม่ว่าจะมีกี่สำนัก กี่นิยาม มีศาล อัยการ ตำรวจ ทนาย นักกฎหมาย บอกเราว่าความยุติธรรมเป็นอย่างไร - ทั้งที่แม้แต่ลิงก็ยังรู้

กาลครั้งหนึ่ง เรายังถามกันอยู่ว่า - ต้องใช้ความรู้ จิตและใจแบบไหนจึงจะสร้างความยุติธรรมและความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม?

Back to Top