มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2551
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้ไปพูดเรื่อง “วิธีเอาชนะความตาย (How to Win Death)” ให้กับนักศึกษาปริญญาโท คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ศูนย์วัดศรีสุดาราม ผู้เขียนไม่ได้เป็นคนตั้งชื่อหัวข้อการพูดคุยดังกล่าว ซึ่งเป็นประเด็นทางกายที่เอามาใช้ในความหมายที่คนทั่วไปในสังคมเข้าใจกัน เพราะไม่มีใครเอาชนะความตายได้ตราบใดที่เรายังอยู่ในวัฏสงสาร จริงๆ แล้ว พูดรวมๆ ในทางวัฒนธรรม สาเหตุที่เราทั่วๆ ไปไม่ชอบความตายนั้น เป็นเพราะเราต่างยินดีปรีดากับการเกิด จนบางคนต้องเฉลิมฉลองการเกิดหรือครบรอบวันเกิดเพื่อแสดงความดีใจกัน เพราะฉะนั้น การเอาชนะความตายในที่นี้ จึงมีความหมายหลักๆ อยู่ที่ความกลัวการพลัดพรากจากกัน หรือความไม่ชอบ (ทั้งของผู้ที่กำลังจะตายไป กับของญาติพี่น้องที่อยู่ข้างหลัง) อันเป็นเรื่องของความเป็นจิตรู้ตัวตน (self) ของเราเอง (จิตรู้ หรือจิตสำนึก ที่ได้มาจากจิตไร้สำนึกอันสากลที่บริหารผ่านสมองและโดยสมอง) ซึ่งจริงๆ แล้ว จิตสำนึกแม้ว่าจะเป็นจิต แต่มันไม่ใช่ตัวตน (อัตตา) ของเราสักหน่อย
การเอาชนะความตายในที่นี้จึงเป็นเรื่องการตายไปจากภพภูมินี้ โลกสามมิติ (บวกหนึ่ง) ใบนี้ อันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกันของจิตกับสมอง (interaction of mind or consciousness กับ body) หรือเรียกว่าวิญญาณขันธ์ในทางพุทธศาสนา ซึ่งสำหรับผู้เขียน จิตสำนึกเป็นจิต (ไร้สำนึก) ที่ผ่านการบริหารที่สมองชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง (unconsciousness as consciousness)
ในศาสนาที่อุบัติขึ้นมาจากลัทธิพระเวท ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมที่ไม่ใช่อารยัน (pre-vedic culture – เผ่าพันธุ์จากอัฟริกาตะวันออกที่ได้อพยพโยกย้ายมาอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ และสร้างอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ (Indus civilization) ขึ้นมาตั้งแต่ราวๆ ๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล) กับชนเผ่าอารยันซึ่งเป็นเผ่าเร่ร่อนจากเอเชียกลางและนับถือพระเจ้าหลายองค์ (pantheism) เข้าด้วยกันเป็นลัทธิพระเวท อันเป็นต้นตอของศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ที่มีอภิปรัชญาหลากหลายเกิดขึ้นนับจากนั้นมา รวมทั้งอภิปรัชญาความรู้ที่ต่อมากลายเป็นฐานหนึ่งของพุทธศาสนาด้วย ในตอนนั้นจึงมีทฤษฎีมากมายที่อธิบายเรื่องของโลก ของจักรวาล และเรื่องของความจริงแท้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิต เรื่องของกรรม เรื่องของมายา หรือเรื่องของอนิจจตา ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นอภิปรัชญาของอินเดียโบราณที่อธิบายไว้แตกต่างกันไป ฉะนั้น เรื่องของจิตไร้สำนึกอันสากล [ซึ่งมีลักษณะที่นักฟิสิกส์ใหม่หลายคนคิดว่าเป็นสนามแควนตัม หรือซุปเปอร์แควนตัม (Bohm)] จึงมีทฤษฎีทางอภิปรัชญาโบราณของอินเดียเขียนไว้แล้วตั้งแต่หลายร้อยปีหรือพันๆ ปีก่อนคริสตกาล เช่น ทฤษฎีโยคะ (Yoga) และทฤษฎีสางขยะ (Sankhya) เป็นต้น ทฤษฎีทั้งสองที่ได้มาจากเส้นทางภายใน รวมกับอีกหลายทฤษฎี มีการกล่าวถึงจิตว่า จิตนั้นสร้างขึ้นไม่ได้ ทำลายก็ไม่ได้ จึงไม่มีวันตายไปจากจักรวาลนี้หรือจากจักรวาลไหนๆ ได้
ทฤษฎีสางขยะนี้น่าสนใจ เพราะหลายอย่างคล้ายๆ กับพุทธศาสนาสมัยแรกๆ และคล้ายๆ กับจักรวาลวิทยาใหม่ ทั้งๆ ที่มีมาก่อนพุทธกาล และก่อนอุปนิษัทด้วยซ้ำอย่างน้อยนับร้อยๆ ปี ครูคนแรกของพระพุทธเจ้า (ก่อนตรัสรู้) คือ อาฬารดาบส เป็นผู้ที่เชื่อและรู้จักปรัชญาสางขยะนี้ดี ได้พูดถึงที่มาของสรรพสิ่ง สรรพปรากฏการณ์ รวมทั้งที่มาของชีวิตรวมทั้งมนุษย์ว่า ทั้งหมดมาจากจิตสากล – ‘ปุรุษะ (purusa)’ กับ ‘ประกฤติ หรือ ปกติ (prakrti)’ อันแรกเป็นจิตหรือจิตวิญญาณสากล (soul or atta) ส่วนอันหลังเป็นจิตที่จะวิวัฒน์มาเป็นสรรพสิ่งของจักรวาลหรือเป็นอนุภาค (ธรรมธาตุ) ซึ่ง ‘ปุรุษะ’ กับ ‘ประกฤติ’ นี้ เมื่อพบกันจะสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกปรากฏการณ์ของจักรวาลขึ้นมา รวมทั้งสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ ผ่าน ‘คุณ (gunas)’ ทั้งสาม
ทฤษฎีสางขยะนี้เป็นเรื่องของความรู้ที่ได้มาจากการปฏิบัติโยคะสมาธิ หรือเป็นญาณทัศนะล้วนๆ จึงไม่พูดถึงพระเจ้าเลย หรือจริงๆ แล้วไม่มีพระเจ้าด้วยซ้ำ (atheist) โดยในความเข้าใจของผู้เขียน ปรัชญานี้มีแต่เพียงปุรุษะหรือจิต (ที่เป็น) สากลหนึ่ง กับประกฤติอีกหนึ่งที่ปะทะกัน ประกฤติที่รวมกาย (๑๕) และจิตสำนึก (conscious mind = ๑) กับธาตุที่เป็นส่วนละเอียดยิ่งของธาตุหยาบทั้ง ๕ – ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศธาตุ – (๕) รวมกับจิตสากลที่อยู่ในใจมนุษย์ทุกๆ คนที่เรียกจิตพุทธะหรือจิตหนึ่ง (buddi/atman = ๑) และบารมี-อวิชชา-ความดีงาม-ความไม่รู้ที่เลวร้ายที่สะสมจนกลายเป็นบุคลิกลักษณะของคนผู้นั้นๆ (ahangar = ๑) ซึ่งเมื่อรวมกับตัวประกฤติเองอีกหนึ่ง (๑) ทั้งหมดรวมเป็น ๒๔ ไว้ด้วยกัน ประกอบเป็นนาม-รูปของชีวิตมนุษย์หนึ่งคน เพราะฉะนั้นเมื่อมนุษย์หนึ่งคนตายไปจากโลก จึงไม่ได้ตายทางจิตไปทั้งหมด หากตายแต่เพียงแค่กาย (๑๕) – รวมธาตุหยาบทั้ง ๕ ในนั้น – กับจิตรู้อีกหนึ่ง (๑) ส่วนจิตที่เหลือของมนุษย์ผู้นั้น (ยกเว้นปุรุษะและประกฤติใหญ่เดิมที่ไม่ได้มีวิวัฒนาการ (โดยทฤษฎี) ใดๆ เลย) ไม่ได้ตายจริง แต่เวียนว่ายตายเกิดต่อไป
น่าสนใจที่ธาตุละเอียดอย่างยิ่ง (subtle elements) ซึ่งเป็นที่มาของดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศธาตุที่หยาบๆ ทั้งหมด เกิดมาตรงกันกับคุณสมบัติย่อยๆ ของอนุภาค เช่น สี หรือ รส ฯลฯ (color or taste) ของฟิสิกส์ใหม่ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หรืออนุภาคที่ประกอบเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งที่หยาบและละเอียดเหล่านั้น จะเป็นความรู้ที่รู้กันมาตั้งแต่หลายพันปีก่อนแล้ว โดยได้มาด้วยการทำสมาธิตามที่ปรัชญาสางขยะบอก ผู้เขียนจึงได้บอกว่าทฤษฎีนี้มีส่วนที่เหมือนกับจักรวาลวิทยาใหม่และฟิสิกส์ใหม่อย่างไม่น่าเชื่อหลายอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
ในขณะเดียวกัน พุทธศาสนายังสอนในเรื่องของกรรม และการเกิดใหม่ด้วยแรงกรรมที่คนผู้นั้น กระทำไว้ในอดีตรวมทั้งในชาติภพก่อน พุทธศาสนาสอนให้เชื่อในเรื่องการระลึกชาติ ซึ่งเป็นทั้งด้านของกายภาพกับด้านของจิตว่าเป็นไปได้ ดังที่องค์ดาไล ลามะกล่าวไว้ว่า “การระลึกชาติ...เป็นส่วนหนึ่งของที่มาของมนุษย์ เป็นข้อพิสูจน์ถึงความสามารถของ ‘กระแสธารของจิต’ (วิญญาณโสตะ หรือสัมวัติกะวิญญาณ) ที่จะคงสภาพของความรู้ทั้งในด้านของกายภาพและจิตภาพเอาไว้ได้ ซึ่งมีสาเหตุสัมพันธ์กับหลักปฏิจจสมุปบาทและกฎธรรมชาติว่าด้วยเหตุที่ก่อผล” (คำนำของหนังสือ The Case for Reincarnation)
การตายของสัตว์โลกหรือมนุษย์นั้น อาจแยกได้เป็นสองประเภท คือ ตายไปเพราะหมดอายุขัย (proptosis) หรือป่วยตาย เกิดอุบัติเหตุ ในภาวะปกติ การตายของมนุษย์ส่วนใหญ่มากๆ จะเป็นการตายไปตามอายุขัยของปัจเจกแต่ละคน มีการตายร่วมกันเป็นหมู่น้อยหรือน้อยมาก แต่ในภาวะที่ไม่ปกติ เช่น ระหว่างมีสงคราม โรคระบาด ภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว พายุร้าย สึนามิ หรือโลกร้อนจนแผ่นดินกลายเป็นทะเลทรายที่ไร้ทั้งน้ำและพืชพันธุ์ธัญญาหาร หรือกระทั่งอุกกาบาตวิ่งมาชนโลกที่ล้วนอาจจะเป็นไปได้ทั้งนั้น ในภาวะเช่นนั้น การตายร่วมกันเป็นหมู่ หรือกระทั่งเป็นหมู่บ้าน หรือเมือง หรือทั้งโลกย่อมเป็นไปได้ ตามเหตุปัจจัยที่กล่าวมาข้างบนนั้น ทำให้การตายเพราะอายุขัยของแต่ละคนกลายเป็นเรื่องเล็กไป
ผู้เขียนเป็นแพทย์ แถมเป็นพยาธิแพทย์ [พยา-ธิ เป็นคนละคำกับ พะ-ยาด ที่หมายถึง หนอนพะ-ยาดต่างๆ โดยพยาธิวิทยามาจากคำว่า pathology ที่แปลว่า การศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของโรคทั้งหลายทั้งทางกาย (physical) และทางหน้าที่ (function)] จึงมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิทยาศาสตร์ของคนตายจากโรคนั้นๆ นอกจากนี้ ในช่วง ๗ – ๘ ปีมานี้ ผู้เขียนยังมีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย รวมทั้งมะเร็งหรืออัมพาตอัมพฤกษ์จำนวนมากในสถานพยาบาลที่เป็นประหนึ่งฮอสปีซ [hospice - สถานพยาบาลที่ไม่ยื้อความตาย คำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รักษาด้วยการประคับประคอง (palliative)] และให้การดูแลทางจิตและจิตวิญญาณกับศาสนา เพื่อให้บางคนที่พอจะพูดกันได้บ้างไม่กลัวตาย ให้รู้จักและเข้าใจชีวิตที่แยกจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ได้ ซึ่งการพูด วิธีพูด กับท่าทางของผู้พูดไม่ใช่ของง่ายเลย เพราะแพทย์และพยาบาลล้วนเรียนมาแต่เรื่องของวิทยาศาสตร์ทางกาย จึงมักไม่เชื่อในเรื่องของจิตและจิตวิญญาณ แพทย์เองแม้จะเรียนจิตวิทยามาบ้างก็เป็นเรื่องของโรคจิต ที่สำคัญ ผู้พูดไม่ใช่พระ จึงต้องทำให้ผู้ป่วยไว้ใจและเชื่อว่าแพทย์เองก็ไม่กลัวตายด้วย และการที่ผู้เขียนพอมีประสบการณ์การดูแลเรื่องทางจิตใจให้กับคนแก่มากๆ หรือดูแลคนเป็นโรคที่เกิดจากความชรามานานพอสมควร เห็นคนแก่ คนป่วย และตายไปมาก (หลายคนตายไปต่อหน้าต่อตา) พอจะสรุปได้ดังนี้ (ซึ่งนักวัตถุนิยมมักไม่รู้)
แสดงความคิดเห็น