ร่วมกันจุดเทียนสว่างกลางสายฝน



โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2551

ในกระแสข่าวสารจากสื่อทั้งที่เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้ช่างเต็มไปด้วยความเกลียดชังซึ่งกันและกัน ความก้าวร้าวรุนแรง การทะเลาะวิวาทและการต่อสู้กันทางความคิดความเห็น แบ่งฝ่ายกันอย่างไม่มีใครยอมใคร แต่ละฝ่ายต่างก็อ้างว่าฝ่ายตนมีความรัก รักชาติ รักแผ่นดิน รักสันติ รักความเป็นธรรม รักประชาชน แต่กิริยาอาการและถ้อยคำที่บอกรักนั้นหยาบคาย ให้ร้ายและร้อนแรงด้วยโทสะ โกรธ เกลียด และอหังการ

ใจของผู้เขียนเจ็บอยู่ลึกๆ เหตุไฉนคนไทยจึงไม่รักกัน

เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ กรกฎาคม ผู้เขียนได้รับเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้าร่วมประชุมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างสังคมสุขภาวะที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ เป็นเวที “เติมหัวใจให้สังคม” จัดโดยเจ้าภาพ ๙ องค์กร ซึ่งทำงานก่อสานพลังทางสังคมอย่างเข้มแข็ง เพื่อลดความทุกข์ สร้างเสริมความสุขในกลุ่มเล็กๆ กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ

วันนั้นผู้เขียนได้พบโอเอซิสที่ชุ่มชื่นร่มเย็นกลางทะเลทราย เวทีเสวนามิได้ใหญ่โตอะไรนัก แต่บรรยากาศอบอวลด้วยความรัก ความปรารถนาดีในกลุ่มคนดีๆ ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๐ ขวบ จนถึง ๗๘ ปี มีการนำเสนอกรณีดีงามถึง ๑๐ เรื่อง ซึ่งสร้างความประทับใจอย่างยิ่งแก่ผู้เข้าประชุม นับตั้งแต่ ครูแอน ครูอาสาสมัครสอนศิลปะในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ครูถั่น จุลนวล จากบ้านหนองเสาธง จังหวัดสงขลา ที่สร้างตำบลสมานฉันท์ และเสนอกระบวนการคัดกรองคนดีในชุมชนเข้ามาเป็นคณะรัฐมนตรีของหมู่บ้าน

ผู้เขียนรู้สึกทึ่งมาก เมื่อนายกพิชัยแห่งหมู่บ้านห้วยดง จังหวัดพิจิตร ทำกระบวนการประกันราคาดอกรัก เพื่อให้คนในตำบลมีรายได้จากดงดอกรักอย่างพอเพียง งานขององค์กรพัฒนาหมู่บ้านโดยเยาวชน (อมย.) ที่ชุมชนอ่าวลึกน้อย วิธีการสร้างคนดีแทนคุณแผ่นดินของบริษัทเอเชียพรีซิชั่น ที่ทำให้คนงานกว่า ๖๐๐ คนมีความสุขและเห็นว่า “โรงงานเป็นมากกว่าที่ทำมาหากิน”

ผู้เขียนได้ฟังคุณอ้อม เทพธิดาสีขาวที่ทำงานรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์มาตั้งแต่โรงพยาบาลเริ่มต้นโครงการ เป็นการทำงานหนัก สู้งานด้วยรักและอดทนอย่างยิ่งยวด ผจญกับสภาพของผู้ป่วยที่สังคมรังเกียจ และตนเองก็ถูกรังเกียจจากผู้คนรอบข้างเช่นกัน ไม่มีสิ่งใดมาทำให้เธอท้อถอย

เมืองไทยมีแพทย์และพยาบาลดีๆ แบบคุณอ้อมอยู่มากมาย

ผู้เขียนได้เห็นการเปิดโอกาสให้คนที่สนใจทำภาพยนตร์สั้น มาสร้างและแบ่งปันผลงานแลกเปลี่ยนกันในเรื่องแผนที่ความดี ซึ่งนิตยสารไบโอสโคปได้ทำกิจกรรมเป็นผลสำเร็จ กลายเป็นภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวน่าสนใจ ได้ฟังผู้ป่วยโรคมะเร็ง ทำงานช่วยเหลือ แบ่งปันอย่างจริงใจในโครงการเพื่อนช่วยเพื่อนมะเร็งระยะสุดท้าย

น้องปุ๋ย เยาวชนจากกาฬสินธุ์ เล่าถึงการเรียนรู้จากครอบครัวและงานอาสาสมัครในชุมชน กรณีสุดท้ายคือโครงการของโรงเรียนชลบุรีสุขบท ที่สร้างกระบวนการเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนให้หยุดการฆ่าหมาจรจัด ด้วยกิจกรรมรักสัตว์ รักสังคม โครงการนี้มิใช่เกิดผลดีต่อชีวิตหมาเท่านั้น แต่นักเรียนและอาจารย์ที่ปรึกษาได้พัฒนาคุณธรรมของตนเอง โรงเรียนและวัดกลายเป็นศูนย์กลางของความรักและความรู้ เกิดคุณค่าทั้งแก่ชีวิตหมาและชีวิตคน

ตลอดเวลา ๓ ชั่วโมงครึ่ง ที่ผู้ร่วมเสวนาได้ดูวีดิทัศน์ ฟังเรื่องราวดีๆ อย่างมีความสุข รับประทานของว่าง ดื่มกาแฟ และได้รับความรู้จากนิทรรศการตามมุมต่างๆ นั้น คุณนิรมล เมธีสุวกุล (คุณนก) ทำหน้าที่พิธีกรอย่างเชี่ยวชาญ เสียสละ อดทน อดรับประทานขนม ไม่ได้เข้าห้องน้ำ เธอดำเนินรายการตั้งแต่ต้นจนจบภาคเช้า ด้วยวิธีการที่เป็นกันเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส ปราศจากกิริยาที่ปรุงแต่ง ทำให้ทุกคนมีความสุข ผู้เขียนจึงขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ คุณนกทำงานด้วยรักในงานที่ทำ

ประเทศไทยยังมีคนดีอยู่มากมาย มีกิจกรรมดีๆ อย่างหลากหลายเต็มแผ่นดิน

มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจทำงานหนักอยู่เงียบๆ ต่อสู้อุปสรรคอย่างอดทน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ดังที่ครูแอนบอกว่า เป็น “การจุดเทียนกลางสายฝน”

แน่นอน คนที่จุดเทียนกลางสายฝนต้องพากเพียรอดทนต่อการจุดไฟต่อไส้เทียนที่เปียกชื้น มือที่ป้องลมย่อมร้อนเมื่อถูกเปลวเทียนกระทบและร่างกายก็เปียกปอน แต่เมื่อมีความรักและความหวัง เทียนก็สว่างขึ้นได้ และฝนก็หายไปในที่สุด

ความฉ้อฉลและการแข่งขันช่วงชิงกันในบ้านเมืองของเราขณะนี้ เปรียบเหมือนลมฝนที่ซัดกระหน่ำลงมาทุกแห่งหน เมื่อน้ำท่วม ไฟดับ ต้นไม้โค่นล้มขวางทางระเกะระกะ การจราจรติดขัด รถประจำทางไม่วิ่ง ฯลฯ คนที่เอาตัวรอดต่างก็รีบหลบเข้าบ้าน ปิดประตู ในขณะที่คนยากไร้เอาตัวไม่รอด ต้องยืนเปียกฝนอยู่ตามที่จอดรถประจำทาง หวาดกลัว หิว และสิ้นหวัง ชาวไร่ชาวนาขายผลิตผลได้ราคาต่ำ ขาดทุน เป็นหนี้สิน ซื้อหวยเพื่อซื้อความหวังที่ไม่รู้ว่าเมื่อใดจะมีลาภลอยมาถึงมือ

ผู้คนหลายกลุ่มทั่วประเทศห่วงใยและอาสาคลายทุกข์เพื่อนร่วมชาติด้วยวิธีการที่สร้างความร่วมมือ เสริมพลังกันและกัน เสริมความสุขและความหวังให้แก่เพื่อนร่วมทุกข์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนแรกของบทความนี้

อะไรดลใจให้คนอาสามุ่งทำงานหนักเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่น คำตอบคือ ความรัก

ความรักคืออะไร

ความรักเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป เป็นความรู้สึกที่บริสุทธิ์ ประณีต ละเอียดอ่อน มีผู้ให้และมีผู้รับ เป็นความรักซึ่งกันและกัน

ความรักเกิดขึ้นในจิตใจ สะสม เพิ่มพูน และถ่ายทอดได้

ความรักแตกต่างจากอารมณ์ใคร่ ซึ่งเป็นความดึงดูดและความคลั่งไคล้ทางร่างกาย

ความรักเกิดจากหัวใจสู่หัวใจ เป็นความงามที่จับใจ และเป็นคุณสมบัติแท้จริงของจิตวิญญาณ

ความรักเกิดขึ้นเงียบๆ ในความคิด จิตสำนึก เริ่มจากความเมตตา อยากแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างจริงใจที่จะลดความทุกข์ของผู้อื่น

ความรักช่วยกระตุ้นพลังแรงแข็งขันที่จะบากบั่นทำงานอาสาสมัครโดยไม่หวังผลตอบแทน

ในความรักจึงมีความเสียสละ มีความเบิกบานแจ่มใส มีความสุขที่เกิดจากจิตใจที่นิ่งและสงบ

ความรักนั้นยิ่งลดความเห็นแก่ตัว ยิ่งเพิ่มความรักผู้อื่น

ความรักจึงเป็นต้นธารของคำหลายคำ เช่น ความสามัคคี สมานฉันท์ การเห็นคุณค่า ความกรุณา การให้อภัย

ก่อนจบบทความนี้ ผู้เขียนขอยกข้อความจากปกหลังของหนังสือ “เพื่อรักและประจักษ์ปัญญาธรรมชาติ” ซึ่งศิษย์รักของผู้เขียน (ศึกษิต เทพศึกษา) ได้เรียบเรียงจากความคิดและประสบการณ์ของ
โดโรธี แม็คเคลน ไว้ว่า

“แก่นของอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายคือความรัก
วัฒนธรรมย่อยทั้งหลาย คือความรักที่แสดงออกมาในลักษณะเฉพาะตน
เพื่อเพิ่มความงามให้แก่องค์รวมแห่งชีวิต
เหมือนดอกไม้หลากชนิดหลากสีสัน
ที่ต่างเพิ่มความงามให้แก่สวนดอกไม้ของโลก”


ในอุทยานแห่งสยาม จะมีพฤกษานานาพรรณที่แตกต่างกันทั้งสี กลิ่น และรูป จึงไม่แปลกที่คนในสังคมแต่ละกลุ่มจะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง ถ้าเรารู้จักคิดทางบวก ก็จะเห็นความงามของความแตกต่างกันเหล่านั้น

ขอแต่เพียงมีความรัก ไม่หลงตนเอง ถ้าเป็นพวกฉันทุกอย่างถูกหมด ถ้าไม่ใช่พวกฉันทุกอย่างเลวหมด

ขอแต่เพียงเรามาเติมใจให้กัน ช่วยเหลือแบ่งปันให้แก่เพื่อนร่วมทุกข์

เพื่อแต่ละคนจะมีความสุขอย่างยั่งยืน

Back to Top