กันยายน 2017

จิตวิญญาณสหกรณ์ (๑) : จุดเริ่มต้นที่ถูกต้อง



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 กันยายน 2560

ผมมีโอกาสเข้าไปทำงานด้านสหกรณ์ในตำแหน่งประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำกัดตั้งแต่วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นงานที่หนัก และเหนื่อยใจมาก แต่ก็เป็นงานที่ท้าทายมากเช่นเดียวกัน เพราะเข้ามาบริหารในช่วงที่ระบบสหกรณ์ทั่วประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตศรัทธา เริ่มตั้งแต่ปัญหาของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่ปัจจุบันอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ มาจนถึงปัจจุบัน ที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งเลิกกิจการของสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ โดยที่สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำกัด มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้งสองสหกรณ์ที่กล่าวถึงในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ของทั้งสองแห่ง

แม้มีประสบการณ์น้อย แต่ผมก็ศึกษาและเรียนรู้ตลอดเวลา ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับงานสหกรณ์อย่างเต็มที่ ผนวกกับการที่ได้มีโอกาสพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้รู้และผู้มีประสบการณ์ในการทำงานสหกรณ์โดยตรง พอจะสรุปเป็นเบื้องต้นได้ว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากคนในวงการสหกรณ์เองโดยเฉพาะผู้บริหารสหกรณ์ ไม่ใช่ระบบ ไม่ใช่โครงสร้าง ไม่ใช่แนวคิด หลักการ อุดมการณ์และ/หรือปรัชญาของสหกรณ์ ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความจริง ความดี ความงาม ทั้งในแนวคิดและแนวปฏิบัติของความเป็นสหกรณ์

อยากจะพูดตรงๆ ว่าปัญหาส่วนมากที่เกิดขึ้นมาจากผู้บริหาร และผู้ที่ทำงานทั้งที่อยู่ในสหกรณ์ และผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ ขาดจิตวิญญาณสหกรณ์ เพราะไปติดกับดักอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง

อ่านต่อ »

ความคับแคบสุดโต่งในยุคข้อมูลข่าวสาร



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 กันยายน 2560

ในยุคที่ใครๆ เรียกว่ายุคข้อมูลข่าวสาร ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ในขณะที่ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยให้มีความรู้กว้างขวาง และเข้าถึงความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า ผู้คนจำนวนมากมีมุมมองที่คับแคบลง และมีความเห็นที่สุดโต่งมากขึ้น

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะทุกวันนี้ ข้อมูลมีมากมายท่วมท้นจนผู้คนจัดการกับมันได้ยากขึ้น จึงเกิดมีเทคโนโลยีคัดกรองข้อมูลข่าวสารให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ตัวคัดกรองหรือ filter ดังกล่าว มีทั้งที่ผู้บริโภคเลือกเอง และที่ถูกเลือกมาให้ผู้บริโภค โดยผู้ให้บริการ เช่น Google, Amazon และ Facebook เป็นต้น ทั้งนี้โดยประมวลจากข้อมูลการใช้งานของเรา เช่น เมื่อเราต้องการให้ Google ค้นหาข้อมูลเรื่องใด Google จะเอาข้อมูลเกี่ยวกับเรา เช่น สถานที่ การค้นหาคำในอดีต รวมทั้งความสนใจส่วนตัว มาใช้ในการหาคำตอบ เพื่อให้ได้ผลที่สอดคล้องกับความต้องการของเรามากที่สุด ส่วน Amazon ก็สามารถคาดการณ์ได้จากพฤติกรรมของเราว่า เรามีรสนิยมแบบใด ดังนั้นจึงน่าจะชอบหนังสือเล่มใด หรืออัลบั้มเพลงใดบ้าง ทั้งนี้เพื่อแนะนำสินค้าที่ตรงกับรสนิยมของเรา ในทำนองเดียวกัน Facebook ก็จะอัพเดทข้อมูลของเพื่อนที่เราติดต่อบ่อยที่สุด ขณะเดียวกันก็กรองเอาคนที่เราติดต่อน้อยที่สุดออกไป เป็นต้น

เทคโนโลยีเหล่านี้ดูเหมือนดี ช่วยทุ่นเวลาให้แก่เรา เพราะคัดกรองข้อมูลข่าวสารที่เราไม่สนใจออกไป แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เรารับรู้แต่ข้อมูลที่ถูกใจเรา รวมทั้งรับรู้ประเด็นที่หลากหลายน้อยลง มิหนำซ้ำยังรับรู้แต่แง่มุมที่แคบลงด้วย

ใช่แต่เท่านั้น สื่อออนไลน์หรือเว็บข่าวที่เกิดขึ้นมากมาย ยังหนุนเสริมปรากฏการณ์ดังกล่าวให้เข้มข้นขึ้น เพราะสื่อดังกล่าวจะตอบสนองความต้องการของคนเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นเนื้อหาจึงขาดความหลากหลาย ผิดกับสื่อดั้งเดิมที่มุ่งตอบสนองความต้องการของมวลชนซึ่งมีความหลากหลายสูง (เป็นเหตุให้ได้ชื่อว่า สื่อมวลชน) จึงมีเนื้อหาที่หลากหลาย ครอบคลุมคนทุกกลุ่มเท่าที่จะทำได้ สื่อออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่มีเนื้อหาที่หลากหลายน้อยลงเท่านั้น แม้แต่มุมมองก็แคบลง เจาะจงเฉพาะแนวใดแนวหนึ่ง สุดแท้แต่กลุ่มผู้อ่าน ดังนั้นผลที่เกิดขึ้นคือ ผู้อ่านรับรู้แต่มุมเดียว รวมทั้งได้ข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้องกับความคิดความเชื่อเดิมอยู่แล้ว

อ่านต่อ »

ความรู้ที่ใช้จริงไม่ได้ ไม่ใช่ความรู้



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 กันยายน 2560

วันหนึ่งขณะที่ผมกำลังทำการอบรมทักษะกระบวนกรให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ขอนแก่น เทพกีตาร์บอกกับผมว่า พี่ชายจะมาเยี่ยม เขาเข้ามาร่วมที่โต๊ะอาหารแต่ไม่ได้แตะต้องอะไรเลยเพราะทานมาแล้ว เราสนทนาแลกเปลี่ยนกันและเขาเล่าเรื่องให้ฟังว่า อยากให้เทพกีตาร์ไปช่วยเหลือเพื่อนคนหนึ่งของเขาซึ่งในตอนนี้กำลังแย่ ปัญหาครอบครัวและการเงินรุมเร้าจนนอนไม่หลับ และต้องหลบไปพำนักอยู่กับเขา วันๆ ไม่ยอมพูดจากับใคร พูดอะไรก็ไม่ฟัง ในที่สุดเขาไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยโยนหนังสือเล่มหนึ่งให้เขาหนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า ตกตั้งใหม่*

จากวันที่ได้หนังสือ พี่ชายเล่าว่า เขาถือหนังสือเล่มนี้ติดตัวและหยิบไปอ่านแทบทุกที่ไม่เว้นแม้เข้าห้องน้ำ หนังสือเล่มนี้ทำให้เขาสงบลง นอนหลับได้ และเริ่มพูดจากับคนอื่น เมื่อพี่ชายถามว่าเขาอยากได้อะไร เขาบอกว่ารู้ว่าหนังสือนี้มีสามเล่ม และต้องการสองเล่มที่เหลือ และบอกว่าหนังสือนี้ทำให้เขาได้สติ และสามารถผ่านเรื่องราวร้ายๆ มาได้ ผมได้ยินแล้วรู้สึกดีใจ เพราะหลังจากผมเป็นบรรณาธิการหนังสือ ตกตั้งใหม่ อยู่สองเล่ม ก็ไม่ค่อยได้รับคำวิจารณ์ติชมใดๆ จากผู้อ่านเลย จนรู้สึกท้อถอย และรู้สึกว่าหนังสือที่ผมตั้งใจทำจนสุดฝีมือและแจกฟรีให้เป็นวิทยาทาน โดยการบริจาคจากกัลยาณมิตร กลับไม่มีใครสนใจอ่านสักเท่าไร ต่างจากหนังสือแนะนำช่องทางรวยที่มีกี่เล่มก็ขายได้หมด

ผมรู้สึกดีใจที่ในที่สุดก็มีคนอย่างน้อยหนึ่งคนที่ได้ใช้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ ดีใจที่มันเป็นปัจจัยให้เกิดจุดเปลี่ยนของชีวิตเขา นั่นคือข้อพิสูจน์ว่าแนวทางของการกลับมารู้สึกตัว ที่เรียกว่า “รีเซต” นั้นใช้ได้ผล และสามารถเยียวยาผู้คนที่กำลังอยู่ในภาวะคับขันของชีวิตได้เป็นอย่างดี

อ่านต่อ »

สืบสานปัญญาญาณจากแม่ธรรมชาติ



โดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 กันยายน 2560

คนไทยแต่โบราณมีความเชื่อในแม่ธรรมชาติ ที่เป็นความเชื่อหลักๆ ของคนในทุกภาคก็คือแม่โพสพ แม่ธรณี แม่คงคา ในวิถีชีวิตชาวนา ความศรัทธาในแม่ทั้งสามนี้ สะท้อนออกมาให้เห็นในพิธีกรรมต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความเคารพนอบน้อมและความเกรงอกเกรงใจ ตัวอย่างเช่น ในการทำนา ชาวนาจะบอกกล่าวและทำพิธีกรรมต่อแม่โพสพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่แรกหว่านข้าว ถอนกล้า ดำนา รับขวัญท้อง เกี่ยวข้าว เอาข้าวขึ้นยุ้ง ไปจนถึงจะนำข้าวออกจากยุ้งมาหุงหาก็ยังต้องบอกกล่าวแม่โพสพ ศรัทธาเช่นนี้ทำให้ข้าวไม่ใช่เป็นเพียงแค่อาหารที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่ข้าวยังมีจิตวิญญาณที่หล่อเลี้ยงจิตใจคน การทำนาของคนในยุคก่อนจึงไม่ใช่แค่การปลูกพืชทางกายภาพ แต่ยังเป็นพิธีกรรมที่เชื่อมต่อกับพลังของแม่ธรรมชาติ

ความเชื่อโบราณเช่นนี้จะยังคงมีคุณค่าอยู่อีกหรือในยุค “ชาวนามือถือ” ชาวนาสมัยใหม่ที่ไม่ต้องลงมือทำนาเองแล้ว เพียงแค่ใช้มือถือโทรสั่งจ้างคนมาทำ ก็จัดการงานในนาได้ทุกขั้นตอน ระบบเกษตรกรรมสมัยใหม่ที่ต้องรีบเร่งการผลิต ไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับการทำพิธีกรรมที่ต้องอาศัยความประณีตละเอียดอ่อน ยิ่งบางพื้นที่ปลูกข้าวปีละสามหน พิธีรับขวัญท้องข้าวอันเป็นพิธีกรรมสำคัญที่สุดในกระบวนการทำนายังกลับกลายเป็นสิ่งหายาก

ดิฉันมีโอกาสไปเป็นนักเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งทำการเผยแพร่เรื่องการทำนาอินทรีย์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้เรียนรู้วิธีทำนาที่เคารพต่อแม่ธรรมชาติ รวมทั้งได้พูดคุยกับคุณเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิ จากประสบการณ์อันยาวนานในการทำงานเผยแพร่เรื่องเกษตรอินทรีย์ ทำให้คุณเดชาได้คำตอบว่า ไม่ว่าเทคโนโลยีทางการเกษตรจะก้าวล้ำแค่ไหน จะมีพันธุ์ข้าวมหัศจรรย์จากจีเอ็มโอหรือปุ๋ยยาราคาแพงแค่ไหน ก็ไม่สามารถช่วยชาวนาได้จริง กระบวนการผลิตสมัยใหม่ยิ่งทำให้ชาวนาเป็นหนี้ และยังไม่สามารถสู้กับวิกฤตสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ แต่ความเชื่อโบราณอันชาญฉลาดของปู่ย่าตายายนี้แหละที่จะเป็นทางรอดของชาวนา

คุณเดชาเล่าว่า ตอนแรกที่ทำมูลนิธิ ก็พยายามจะฟื้นฟูความเชื่อดั้งเดิมขึ้นมา เพียงแค่ให้เป็นขวัญเป็นศักดิ์ศรีของชาวนา จนกระทั่งปี ๒๕๔๘ มูลนิธิได้เชิญคุณโดโรธี แมคเคลน (Dorothy Maclean) จากชุมชนฟินด์ฮอร์น (Findhorn) ในสกอตแลนด์มาสอนวิธีเชื่อมต่อกับปัญญาญาณของธรรมชาติให้กับชาวนาไทย ชุมชนฟินด์ฮอร์นทำเกษตรอินทรีย์ด้วยการสื่อสารกับปัญญาญาณของธรรมชาติสำเร็จมาแล้ว แต่เดิมพื้นที่ของชุมชนเป็นทรายที่แห้งแล้ง ขาดความอุดมสมบูรณ์ คุณโดโรธีและเพื่อนร่วมงานสื่อสารกับปัญญาญาณในธรรมชาติ ผ่านการทำสมาธิ และได้รับคำแนะนำในการปลูกพืชที่เหมาะสม ทำให้พื้นที่สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ จนโด่งดังเพราะปลูกกะหล่ำได้หัวละ ๑๘ กิโลกรัม ปัจจุบันชุมชนกลายเป็นต้นแบบของการปลูกพืชอินทรีย์ชั้นแนวหน้าของโลก

คุณเดชาจึงเชื่อมั่นว่า การกลับไปหาความเชื่อโบราณนั่นเองที่จะให้ภูมิปัญญาในการทำเกษตรอินทรีย์สู้กับวิกฤตสิ่งแวดล้อมและสู้กับการโฆษณาของบริษัทปุ๋ยและยา ตัวคุณเดชาเองมักจะมีความรู้แบบปิ๊งแว้บหรือญาณทัสนะ (Intuition) คืออยู่ๆ ก็มีความคิดขึ้นมาในหัวว่าควรจะปลูกข้าวอย่างไร และเมื่อนำความรู้นั้นไปทดลองทำ ก็ปรากฏว่าได้ผล เช่น ความรู้ในการคัดเลือกพันธุ์ข้าว โดยแกะเปลือกเมล็ดข้าวให้เป็นข้าวกล้อง เพื่อจะได้ดูลักษณะภายในของเมล็ดข้าวได้อย่างชัดเจน ทำให้เลือกเมล็ดที่มีลักษณะดีไปปลูกได้ ซึ่งไม่เคยมีใครคิดจะทำเช่นนี้มาก่อน ชาวนาแต่ไหนแต่ไรก็คัดเมล็ดพันธุ์จากข้าวเปลือกกันทั้งนั้น อยู่ๆ คุณเดชาก็เกิดความรู้นี้ขึ้นมาเอง จนถึงปัจจุบัน มูลนิธิข้าวขวัญสามารถเพาะพันธุ์ข้าวที่ทนทานและให้ผลผลิตดีได้ ด้วยวิธีง่ายๆ เช่นนี้ โดยไม่ต้องมีห้องวิจัยไฮเทคแต่อย่างใด และที่สำคัญ นักเรียนชาวนาของมูลนิธิก็สามารถใช้วิธีนี้คัดพันธุ์ข้าวให้เหมาะกับที่นาอินทรีย์ของตัวเองได้ พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะทำให้ข้าวสามารถทนทานต่อสภาวะแวดล้อมที่แปรปรวนได้

อีกองค์ความรู้สำคัญของโรงเรียนชาวนาที่มาจากการปิ๊งแว้บของคุณเดชาก็คือ การใช้จุลินทรีย์ป่ามาหมักฟางในนาข้าวให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยอันอุดมซึ่งแทบจะไม่ต้องใช้เงินทุนอะไรเลย ไม่ต้องเผาฟางเพื่อเคลียร์พื้นที่ก่อนทำการปลูกข้าวรอบต่อไป ดังที่ชาวนามักจะทำกัน อันก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก คุณเดชากล่าวว่าจุลินทรีย์ป่าเหล่านี้อยู่ร่วมกันมานาน จนเกิดการคัดเลือกตามธรรมชาติอย่างเหมาะสมอยู่แล้ว ส่วนจุลินทรีย์ที่ผ่านการคัดเลือกจากห้องทดลอง มนุษย์เป็นคนคัดเอง นักวิจัยก็จะคัดเฉพาะตัวดีๆ เปรียบไปก็เหมือนเราคัดคนเก่งๆ มาทำงานร่วมกัน แต่ละคนก็ต่างมีความคิดของตัวเอง ทำงานร่วมกันก็มักจะตีกันเอง สู้จุลินทรีย์ที่ผ่านการคัดเลือกจากธรรมชาติไม่ได้ และที่สำคัญชาวนาสามารถหาดินจากป่าที่สมบูรณ์มาเพาะเลี้ยงได้เองอย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อจุลินทรีย์จากห้องทดลองเลย

คุณเดชาเชื่อว่าปัญญาญาณเหล่านี้เกิดมาจากความเคารพในแม่โพสพ ปัญญาญาณเช่นนี้ ไม่เพียงเกิดกับคุณเดชาคนเดียวเท่านั้น ลูกศิษย์ของโรงเรียนชาวนาคนอื่นก็นำวิชาที่เรียนจากคุณโดโรธีไปทดลองและได้ผลอย่างน่าทึ่ง ลูกศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งก็คือ คุณจักรภฤต บรรเจิดกิจ หรืออาจารย์เบ้ ผู้ก่อตั้งวิชชาลัยชาวนา จังหวัดพิจิตร และผู้คิดค้นการใช้จุลินทรีย์จาวปลวกที่สามารถย่อยสลายฟางในนาข้าว ย่อยกองปุ๋ยหมักได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถนำมาใช้เพาะเห็ดโคนที่ราคาแสนแพงได้อีกด้วย

คุณจักรภฤตเล่าให้ดิฉันฟังว่า หลังจากเรียนจากคุณโดโรธีแล้ว ก็กลับไปฝึก โดยนั่งแกะเมล็ดข้าวเปลือกให้เป็นข้าวกล้องทีละเมล็ดๆ เพื่อให้เกิดสมาธิ จะกินข้าวแต่ละทีก็จะแกะเมล็ดข้าว จนกระทั่งเกิดการเชื่อมต่อกับปัญญาญาณของแม่ธรรมชาติได้ และได้รับภารกิจให้ก่อตั้งศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ทั้งๆ ที่ไม่คิดว่าตนเองจะทำได้ แต่ก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างเหลือเชื่อ จนสามารถก่อตั้งและให้ความรู้แก่ชาวนาได้ ส่วนที่มาของจุลินทรีย์จาวปลวกก็คือ ในปี ๒๕๕๑ เกิดปิ๊งแว้บขึ้นมาว่า ในวันแม่ปีนี้ แม่ธรรมชาติจะให้ของขวัญ จึงจุดธูป ๒๑ ดอก (๒๑ คือกำลังของแม่ธรณี) แล้วขอความรู้จากแม่ธรณี เสร็จแล้วก็ถือจอบเดินหาความรู้นั้น จนไปขุดจอมปลวกแล้วเจอจาวปลวก ภายในมีจุลินทรีย์ซึ่งก็คือโปรโตซัวที่อยู่ภายในตัวปลวก โปรโตซัวเหล่านี้คอยย่อยสลายไม้ที่ปลวกกัดกิน เมื่อนำจุลินทรีย์นี้มาเพาะเลี้ยง ปรากฏว่าย่อยฟางข้าวในนาได้อย่างรวดเร็วมาก เพียงแค่สามวัน ฟางก็นิ่ม พร้อมเป็นปุ๋ยสำหรับข้าวได้ อาจารย์เบ้บอกว่า ลองคิดดูว่าปลวกกินบ้านยังได้ จุลินทรีย์จาวปลวกจึงย่อยฟางได้อย่างง่ายดาย นอกจากนั้น เมื่อนำไปฉีดต้นข้าว ต้นข้าวก็ยังแข็งแรงอีกด้วย อีกของขวัญอันพิเศษจากแม่ธรณีก็คือ เมื่อคุณจักรภฤตเพาะจุลินทรีย์นี้ มีบางส่วนล้นออกมาจากถัง ปรากฏว่าพอถึงวันพระ เห็ดโคนก็ขึ้นในบริเวณนั้น เห็ดโคนนั้นจะขึ้นอยู่ตามจอมปลวก แต่เมื่อใช้จุลินทรีย์จาวปลวกไปรดโคนต้นไม้ เห็นโคนก็ขึ้นได้เช่นกัน

เคล็ดลับการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์จาวปลวกก็แสนง่าย คุณจักรภฤตอธิบายว่า ใช้จาวปลวก ซึ่งก็คือตัวแทนของแม่ธรณี ข้าวสุก เป็นตัวแทนของแม่โพสพ น้ำสะอาดคือแม่คงคา ส่วนอากาศและความร้อนก็คือแม่พระพายและแม่พระเพลิง รวมแม่ทั้งห้าเป็นเบญจภาคี เหมือนนิ้วทั้งห้าที่ขาดจากกันไม่ได้ ทุกส่วนผสม ชาวนาไม่ต้องหาซื้อแต่อย่างใด แม้แต่กากน้ำตาลที่ใช้เพาะเลี้ยงจุลินทรีย์อื่นๆ ก็ไม่ต้องซื้อเพราะใช้ข้าวสุกแทนได้

ของขวัญจากแม่ธรณีนี้เป็นประโยชน์สำหรับชาวนาอย่างยิ่ง ชาวนาสามารถทำนาอินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยาที่ทำลายสุขภาพ แถมยังมีเห็ดโคนขายเพิ่มรายได้อีกต่างหาก ชาวนาหลายรายที่ทำตามวิธีนี้สามารถปลดหนี้และมีชีวิตอย่างมีความสุขได้

ทั้งคุณเดชาและอาจารย์เบ้แบ่งปันองค์ความรู้อย่างไม่เคยหวงแหน เพราะถือว่าเป็นความรู้ที่มาจากแม่ธรรมชาติ ที่ต้องการช่วยผู้คน ทั้งชาวนาในประเทศ รวมไปถึงชาวนาต่างประเทศที่มาเรียนรู้จากมูลนิธิข้าวขวัญ ต่างก็ทดลองวิธีการของแม่ธรรมชาติจนได้ผลสำเร็จ อาจารย์เบ้ยืนยันว่า “ทำนาแบบนี้ ได้ข้าวมากกว่านาเคมีทุกคน ดินดีขึ้น มีความสุขทุกคน” ตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ มูลนิธิข้าวขวัญจึงจัดให้มีพิธีไหว้ครูบูชาแม่โพสพ ในวันพืชมงคลของทุกปี ให้ชาวนาของโรงเรียนชาวนาได้มาร่วมใจกันขอบคุณ “ครู” ซึ่งก็คือแม่ธรรมชาติทั้งหลายที่มอบองค์ความรู้มาช่วยเหลือชาวนาและผู้คนที่กินข้าวทุกคนอย่างเมตตากรุณา บรรดานักเรียนชาวนา ซึ่งปีหลังๆ นี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนเมืองที่ผันตัวเองไปเป็นชาวนา ต่างพากันมาแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อสืบสานปัญญาญาณของแม่ธรรมชาติกันต่อไป

หัวใจสิงห์ สิทธาของไทย



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 กันยายน 2560

สืบเนื่องจากงานเสวนาประมวล เพ็งจันทร์-วิศิษฐ์ วังวิญญู

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๐ เราสองผู้เฒ่าจัดคุยกันให้เพื่อนพ้องและลูกหลานฟัง หลายคนบอกว่ามันเข้มข้นอบอวลไปด้วยพลังงานดีๆ มากมาย ผมจึงอยากบันทึกบางประเด็นที่ทรงพลังและน่าสนใจจะสืบค้นต่อ

ผมขอโฟกัสไปที่อาจารย์ประมวลก่อน ว่าเกิดอะไรขึ้นกับอาจารย์ตอนอายุห้าสิบ เมื่อออกเดินเพื่อค้นหาอิสรภาพ อาจารย์ประมวลคนเก่าที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมหรือความไม่ถูกต้องทุกๆ กรณีอย่างเข้มข้น รวมถึงการรักษาต้นพะยอมริมถนนเอาไว้อย่างเอาเป็นเอาตาย เป็นต้น ณ บัดนี้ คงต้องยอมรับว่า เราหาประมวลคนเก่าไม่เจอในร่างของชายคนนี้

ประเด็นน่าสนใจหลายประเด็นได้ผุดพรายขึ้นมา ที่ดูเหมือนความแตกต่างของขั้วขัดแย้งระหว่างเราสองคน เช่นเรื่องของความคิดและประสบการณ์ เวลาผู้เข้าร่วมฟังในงานนี้มีแนวโน้มที่จะแบ่งแยกเรื่องราวเป็นขาวเป็นดำ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเช่นนั้นล่ะหรือ

ประสบการณ์เดินสู่อิสรภาพของอาจารย์ประมวล แน่นอนว่าเป็นอะไรที่เข้มข้น เหมือนว่านี่เป็นการที่อาจารย์นำเอาความคิดที่สั่งสมหลายสิบปีออกมาปฏิบัติ แต่แท้ที่จริงก่อนหน้านั้นอาจารย์ไม่ปฏิบัติเลยหรือ คงไม่ใช่ ผมว่าอาจารย์ก็ปฏิบัติตลอดเวลา มีประสบการณ์ตรงมาตลอด แต่การเดินครั้งนั้น เป็นประสบการณ์ตรงที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงกับประสบการณ์ตรงที่ผ่านมาทั้งหมดของอาจารย์มากกว่า

อ่านต่อ »

Back to Top