จิตวิญญาณสหกรณ์ (๑) : จุดเริ่มต้นที่ถูกต้อง



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 กันยายน 2560

ผมมีโอกาสเข้าไปทำงานด้านสหกรณ์ในตำแหน่งประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำกัดตั้งแต่วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นงานที่หนัก และเหนื่อยใจมาก แต่ก็เป็นงานที่ท้าทายมากเช่นเดียวกัน เพราะเข้ามาบริหารในช่วงที่ระบบสหกรณ์ทั่วประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตศรัทธา เริ่มตั้งแต่ปัญหาของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่ปัจจุบันอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ มาจนถึงปัจจุบัน ที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งเลิกกิจการของสหกรณ์เคหสถานนพเก้ารวมใจ โดยที่สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำกัด มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับทั้งสองสหกรณ์ที่กล่าวถึงในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ของทั้งสองแห่ง

แม้มีประสบการณ์น้อย แต่ผมก็ศึกษาและเรียนรู้ตลอดเวลา ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับงานสหกรณ์อย่างเต็มที่ ผนวกกับการที่ได้มีโอกาสพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้รู้และผู้มีประสบการณ์ในการทำงานสหกรณ์โดยตรง พอจะสรุปเป็นเบื้องต้นได้ว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากคนในวงการสหกรณ์เองโดยเฉพาะผู้บริหารสหกรณ์ ไม่ใช่ระบบ ไม่ใช่โครงสร้าง ไม่ใช่แนวคิด หลักการ อุดมการณ์และ/หรือปรัชญาของสหกรณ์ ซึ่งเปี่ยมไปด้วยความจริง ความดี ความงาม ทั้งในแนวคิดและแนวปฏิบัติของความเป็นสหกรณ์

อยากจะพูดตรงๆ ว่าปัญหาส่วนมากที่เกิดขึ้นมาจากผู้บริหาร และผู้ที่ทำงานทั้งที่อยู่ในสหกรณ์ และผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ ขาดจิตวิญญาณสหกรณ์ เพราะไปติดกับดักอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง


จิตวิญญาณสหกรณ์เป็นนามธรรม เป็นมิติภายในที่จับต้องโดยตรงไม่ได้ แต่มันจะสะท้อนออกมาจากการคิด การพูด และการกระทำ ซึ่งเป็นพฤติกรรมของบุคคล ที่สังเกตได้ เป็นมิติภายนอก

จิตวิญญาณสหกรณ์สามารถสกัดออกมาได้จากประวัติความเป็นมาของสหกรณ์ แนวคิด อุดมการณ์ และหลักการทั้งเจ็ดประการของสหกรณ์ซึ่งประกอบด้วย ๑.สมาชิกภาพเป็นแบบเปิดกว้างและโดยความสมัครใจ ๒.มีการควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย ๓.การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก ๔.การปกครองตนเอง และความเป็นอิสระ ๕.มีการศึกษา อบรม และสารสนเทศ ๖.มีความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ และ ๗.มีความเอื้ออาทรต่อชุมชน

อุดมการณ์สหกรณ์ ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า ชุมชน สังคม จะกินดีอยู่ดี มีสันติสุข และมีความเป็นธรรมได้ โดยการช่วยเหลือตนเอง การช่วยเหลือซึ่งกันและกันของสมาชิกในสหกรณ์ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสหกรณ์ คนในชุมชนและสังคมโดยรวม

หากหลักธรรมาภิบาลเป็นจิตวิญญาณของผู้บริหาร ผู้บริหารสหกรณ์ที่ขาดจิตวิญญาณสหกรณ์ก็จะสร้างปัญหาต่างๆ ดังที่ปรากฏขึ้นได้ โดยเฉพาะเรื่องของการทุจริต คอรัปชั่น การฟอกเงิน การเล่นพรรคเล่นพวก...

เพื่อส่งเสริมและสร้างเสริมให้สหกรณ์มีความมั่นคงอย่างเพียงพอ มั่งคั่งอย่างพอเพียง และยั่งยืนอย่างแท้จริง ชาวสหกรณ์ควรต้องหันกลับมาคิด พูด และทำในสิ่งที่ถูกต้อง (Doing the right things) นั่นคือการทำงานสหกรณ์ตามอุดมการณ์ และหลักการของสหกรณ์ มีการศึกษา พัฒนา เปลี่ยนแปลงและปรับปรุงการทำงานให้เหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การทำงานของสหกรณ์เป็นไปอย่างถูกต้อง (Doing things right) มีทั้งประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ดังพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงชี้แนะให้กับผู้นำสหกรณ์ที่เข้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ ศาลาดุสิตดาลัย เมื่อวันที่ ๑๑ พ.ค. ๒๕๒๑ ที่สะท้อนถึงแนวคิด แนวปฏิบัติ ในการทำงานสหกรณ์ที่เปี่ยมไปด้วยจิตอาสา จิตสำนึกสาธารณะ ซึ่งเป็นแก่นแกนสำคัญของจิตวิญญาณสหกรณ์ สั้นๆ แต่มีความหมายที่ลุ่มลึกและกว้างไกล

”...สหกรณ์ แปลว่าการทำงานร่วมกัน การทำงานร่วมกันนี้ลึกซึ้งมาก เพราะว่าจะต้องร่วมมือกันทุกด้าน ทั้งในด้านการที่ทำด้วยร่างกาย ทั้งในด้านการที่ทำด้วยสมอง และงานการที่ทำด้วยใจ ทุกอย่างขาดไม่ได้ต้องพร้อม...”

คนในวงการสหกรณ์จึงต้องควรหันหน้ามาช่วยกันสร้างและรักษาจิตวิญญาณสหกรณ์ให้คงอยู่และเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สหกรณ์มีความ “มั่นคงอย่างเพียงพอ ก่อให้เกิดความมั่งคั่งอย่างพอเพียง หล่อเลี้ยงสหกรณ์ให้มีความยั่งยืนอย่างแท้จริง”

Back to Top