สิงหาคม 2013

ผู้ประกอบการความสุข



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2556

แนวคิดเรื่องผู้ประกอบการความสุข คือค่ายเรียนรู้สำหรับผู้บริหารองค์กรที่ประสงค์จะพัฒนาตัวเองไปในแนวทางจิตตปัญญา หรือในแนวทางวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ ด้วยวัตถุประสงค์ ๔ ประการ คือ


การฟังดุจห้วงมหรรณพ

คือการฟังอย่างไม่มีขอบเขต สุดหยั่งคาด ครั้งหนึ่งมีรุ่นน้องคนหนึ่งบอกผมว่า ครั้่งหนึ่งที่ผมเคยฟังเธอเล่าความทุกข์ของเธอ มันทำให้เธอเลิกคิดฆ่าตัวตาย เธอเล่าว่า มันเป็นการฟังอย่างไม่มีขอบเขต ฟังได้ทั้งหมด ฟังอย่างที่ได้ยินเสียงของเธอเรื่องราวของเธอจริงๆ มันเปิดโอกาสให้เธอเหมือนได้กลับมาใคร่ครวญเรื่องราวทั้งหมดอย่างลึกซึ้ง และทำให้เธอสามารถปลดเปลื้องปมที่เธออยากจะฆ่าตัวตายออกไปได้

ส่วนใหญ่ เรามักจะคิดว่าเราฟังเป็นแล้ว แต่เวลาประชุม ทำไมลูกน้องจึงเงียบงันไม่มีใครออกความเห็น นั่นแหละคุณรู้หรือเปล่าว่า คุณฟังไม่เป็น

การฟังดุจห้วงมหรรณพคือการฟังด้วยตัวตนทั้งหมดของเรา ซึ่งจะเชื่อมโยงสมองซีกขวาเข้ากับซีกขวา หรืออีกนัยหนึ่ง เชื่อมหัวใจเข้ากับหัวใจ เป็นการฟังที่ทำให้เรามีพลังดึงดูด มีเสน่ห์ สามารถเชื่อมร้อยคนพูดให้ตรึงอยู่กับเรา ณ ขณะที่พูด และอาจจะตรึงเขาให้มีความสัมพันธ์อย่างดีเยี่ยมกับเราตลอดไป


การหล่อเลี้ยงบ่มเพาะผู้บริหารระดับกลาง

ทำไมเราจึงต้องลงไปทำเองเสียทุกเรื่อง ลงไปตัดสินใจเสียทุกอย่าง ทำไม? มันไม่ใช่ว่าเราเก่งหรอก แต่เรากำลังมีปัญหา กำลังไร้สมรรถภาพในการสร้างทีมผู้บริหารระดับกลาง หรือเรามอบหมายงานไม่เป็นต่างหาก

หากมองผ่านเลนส์แห่งปัญญาของศาสดาทั้งหลาย อาจจะตอบได้ว่า เป็นเพราะเราไปยึดติดอัตตา ที่ีเรียกว่า อัตวาทุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น พอได้ขึ้นเป็นผู้บริหาร เราก็ไปคิดว่าเราเป็นคนเหนือคน และมักจะเห็นทีมงานด้อยกว่าโง่กว่าเรา โดยไม่ได้ปฏิสัมพันธ์และรู้จักพวกเขาอย่างเพียงพอ เราปฏิบัติต่อพวกเขาประดุจดั่งว่าเป็นวัตถุ เป็นเพียงฟันเฟืองของเครื่องจักร ไม่เคยฟังความคิดเห็นของพวกเขาเลย ที่อาจจะทำให้เราได้รู้ว่า พวกเขาก็อยากออกแบบและตัดสินใจเรื่องงานด้วยตัวเองเหมือนกัน

ที่จริงมนุษย์ทุกคน มีศักยภาพมหาศาล หากไม่สามารถใช้ออกมาได้ อุปสรรคหนึ่งก็คือการถูกกดข่ม ไม่ว่าจะจากบุพการี ระบบการศึกษาและความเชื่อ ตลอดจนค่านิยมของสังคม เมื่อเราไม่มีเครื่องมืออะไรที่ดีกว่า เราก็มักจะใช้อำนาจ แต่อำนาจที่แท้จริงคืออะไร ปราชญ์สายสันติวิธีกล่าวไว้ว่า อำนาจคือการยอมรับ หากผู้คนไม่ยอมรับ แสดงว่าเราไม่ได้มีอำนาจอย่างที่ตัวเองคิดว่ามี


การหลอมรวม

องค์กรส่วนใหญ่มักจะแตกเป็นเสี้ยวๆ ไร้พลังเรี่ยวแรงที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า แต่ละแผนกดูแลแค่ตัวชี้วัดผลสำเร็จของงาน (KPI) ของแผนกตัวเอง แต่ไม่มีใครสนใจห่วงใยภารกิจโดยรวมขององค์กร หากการเชื่อมต่อของแต่ละคนในแผนกยังเป็นปัญหา แล้วการเชื่อมต่อระหว่างแผนกจะดีได้อย่างไร

ไดอะล็อก หรือการสนทนา หรือการสื่อสาร ระหว่างคนสองคน และคนในกลุ่ม ในแผนก ระหว่างแผนกและในองค์กร จะให้สัมฤทธิผล เราจะต้องสร้างวินัยพื้นฐานของการฟังอย่างไม่สอดแทรกตัดตอนขึ้นก่อน แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือความศรัทธาในมนุษย์ทุกๆ คนที่อยู่ต่อหน้าเรา เวลาจัดค่ายไดอะล็อก จะเห็นได้ว่า ผู้เข้าร่วมจะฟังเฉพาะกระบวนกรหรือวิทยากร ไม่ค่อยฟังกันเอง เพราะเรามักจะไม่นับถือคนกันเองในองค์กร เราคิดว่าพวกเขาไม่มีอะไรชาญฉลาดให้ต้องรับฟัง กระบวนการเรียนรู้จะสำเร็จต่อเมื่อเราสามารถปลุกเร้าให้พวกเขาฟังกันเอง และเชื่อมั่นศรัทธาว่าสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นจากการฟังกันและกันเอง

อีกระดับหนึ่งของการฟังกันดีๆ เราจะค้นพบความมหัศจรรย์ของปัญญาที่เกิดขึ้นจากกลุ่ม จะเกิดสภาวะสานพลัง (synergy) ที่ทุกคนมีสมาธิได้ง่ายๆ อย่างเป็นธรรมชาติ ทุกคนให้ถ้อยคำและความหมายไหลผ่านเข้ามาในตัวตนอย่างเปิดรับ ปัจเจกหลอมรวมเป็นชีวิตแห่งกลุ่ม อันยิ่งใหญ่และสลับซับซ้อนกว่าเดิม ผลลัพธ์รวมของกลุ่มไม่ใช่เป็นเพียงผลบวก หากกลายเป็นผลคูณหรือเลขยกกำลังด้วยซ้ำไป

การสานพลังที่เกิดขึ้น หากทำซ้ำอย่างสม่ำเสมอ จะค่อยๆ ซึมซับกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร การประสานงานในแผนกและระหว่างแผนกจะเป็นไปอย่างราบรื่น ความผิดพลาดจากการสื่อสารที่ทำให้งานผิดพลาดจะเกิดขึ้นน้อยลงมาก และปัญญาร่วมของกลุ่มจะก่อเกิด ยังผลให้มีนวัตกรรมมากมายและตลอดเวลา กลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มีชีวิตได้จริงๆ


บ่มเพาะ หล่อเลี้ยง ฝึกฝน

คือการบ่มเพาะหล่อเลี้ยงให้เกิดการเรียนรู้ตลอดเวลาตลอดชีวิต ในทุกขณะของลมหายใจเข้าออก แม้เมื่ออายุเก้าสิบแล้วก็ตาม

ทำไมผู้คนจึงหยุดเรียนรู้ ข้อหนึ่งเป็นเพราะคงคิดว่าการเรียนรู้มีข้อยุติ มีการจบสิ้น การเรียนรู้เป็นเรื่องของวัยเรียน หมดวัยเรียนก็ไม่ต้องเรียนอีกต่อไป

อีกข้อหนึ่งคือ เราเข้าใจการเรียนรู้ผิดๆ คิดว่าการเรียนรู้คือสิ่งที่เคยทำมาในโรงเรียน และคนส่วนมากจะรู้สึกล้มเหลวในระบบโรงเรียน ทำให้เขาประทับตราไว้ที่หน้าผากตัวเองว่าไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้อีกแล้ว เขาไม่เก่ง เขาโง่ ซึ่งยิ่งเลวร้ายเข้าไปใหญ่

สิ่งที่ต้องทำอันดับต้นๆ คือการเคลียร์ของเก่า ทำให้ผู้เรียนเข้าถึงใจว่า การเรียนรู้ที่แท้ไม่ได้เกิดขึ้นในระบบโรงเรียน คือกระบวนการคืนการเรียนรู้กลับสู่ผู้เรียน กลับไปหาแบบแผนการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ กลับมาสังเกตสังกาใหม่ กลับมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ ศิลปินและนักคิดสร้างสรรค์ซึ่งมีอยู่ในดีเอ็นเอของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว ดึงพวกเขาออกมาสัมผัสกับความมหัศจรรย์เมื่อการเรียนรู้ของตัวเองระเบิดออกมาจากภายใน

การเรียนรู้คือการฝึกฝนตลอดเวลา ทุกๆ กาลเทศะ เพียงแต่เราจะต้องอนุญาตให้ตัวเองคิด ตั้งข้อสังเกต ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ พร้อมจะรื้อความคิดความเชื่อเดิม เปิดหัวสมอง หัวใจ และเซลล์ทุกเซลล์ในกายของเรากับการสร้างใหม่ คือรื้อและสร้างใหม่ตลอดเวลา เหมือนเด็กๆ ที่เล่นกองทราย

จอจ เลียวนาร์ด ผู้ฝึกฝนไอคิโด ผู้เขียน Mastery ซึ่งผมแปลว่า "สู่ความเป็นเซียน" กล่าวว่า ในการฝึกฝน "ดูเหมือนว่าเราเสียเวลา แต่แล้วเราก็จะได้เวลามาอีกมากมาย ดูเหมือนว่าเราเสียแรง แต่แล้วเรากลับมีแรงมากยิ่งกว่าเดิม"

เขาพูดอีกว่า คนจำนวนไม่น้อยชอบชอปปิ้งสำนักฝึกฝนแบบต่างๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น เอ็นวีซี ซาเทียร์ ไดอะล็อก และอื่นๆ แต่เข้าไปด้วยอาการโฉบ จึงไม่สามารถก้าวย่างสู่ความเป็นเซียนได้ เพราะได้แต่โฉบไปโฉบมา ส่วนอีกพวกหนึ่ง เวลาทำอะไรจะจริงจังมาก จนเครียด สภาวะจิตแบบนั้นทำให้พวกเขากลับแย่ลงยิ่งกว่าเดิม เลยล้มเลิกการฝึกฝนไปเลย กลายเป็นผู้ที่ไม่เชื่อว่าการพัฒนาบุคลากรจะเป็นไปได้

การหลอมรวมสมองส่วนต่างๆ



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 สิงหาคม 2556

ผมเพิ่งเริ่มอ่านงานล่าสุดของ โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ซ (Joseph Chilton Pearce) ซึ่งอ้างงานจิตบำบัดของกลุ่มสหวิทยาการสาย Interpersonal Neurobiology (IN) ผ่านงานของ Allan Schore พูดถึงการสามารถหลอมรวมสมองกับการไม่สามารถหลอมรวมสมองในเด็ก ตั้งแต่ในท้องจนคลอดออกมาและเติบโตตามลำดับ สิ่งที่เพียร์ซเน้นและให้ความสำคัญมาก (จากงานวิจัยทางสมองต่างๆ) คือ สมองชั้นนอกในลำดับวิวัฒนาการ1 จะเติบโตสมบูรณ์ทีหลัง และจะหลอมรวมเอาสมองชั้นในกว่าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ให้ทำงานประสานกัน และสมองที่มาทีหลังก็จะผันตัวเองเป็นผู้บังคับบัญชาการ แต่หากมีเงื่อนไขไม่ครบถ้วน กระบวนการหลอมรวมก็จะไม่เป็นไปอย่างที่ควร

เงื่อนไขแรก คือการที่เด็กได้รับการเลี้ยงดูทางกายภาพปกติธรรมดา แต่เงื่อนไขที่สองซึ่งบางทีอาจจะขาดหายไปได้ง่ายๆ อย่างน่าเสียดาย เพียร์ซใช้คำว่า nurture หรือหล่อเลี้ยงทางอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก พ่อแม่หลายคนรักลูก แต่ไม่มี nurture ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การเลี้ยงดูตามธรรมชาติ แต่จะต้องเชื่อมโยงถึงกัน ที่ภาษาของวอยซ์ไดอะล็อกใช้คำว่า การเชื่อมแบบแผนพลัง (energetic linkage) คือการเชื่อมสนามพลังของคนสองคนเข้าด้วยกัน ไม่ต้องพูดก็เชื่อมต่อกันได้ ต่อติดกันอย่างอุ่นๆ ในหัวใจ ทางสาย IN เขาพูดถึงการใช้สมองซีกขวากับสมองซีกซ้ายเชื่อมต่อกันด้วยอวัจนภาษา คือหน้าตา ท่าทาง อากัปกิริยาต่างๆ เพราะเด็กน้อยหรือทารกยังพูดไม่ได้ แต่แม่ก็รู้ว่าลูกต้องการอะไรทั้ังทางกายภาพและอารมณ์ความรู้สึก สื่อสารกันได้แล้ว ส่งสัญญาณกลับไปกลับมาได้แล้ว เล่นกันได้แล้ว หยอกเอินกันได้แล้ว กระตุ้นให้หัวเราะกันได้แล้ว

เพียร์ซกล่าวว่า หากเงื่อนไขนี้ไม่บรรลุ แทนที่สมองส่วนเชื่อมต่อระหว่างสมองชั้นกลางและสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นสมองในส่วนวิวัฒนาการล่าสุดเพื่อให้เป็นผู้กำกับวงจะเชื่อมต่อกัน ก็จะกลับไปเชื่อมต่อกับสมองส่วนหลังหรือสมองสัตว์เลื้อยคลาน ให้สมองส่วนล้าหลังในวิวัฒนาการมากำกับชีวิตแทน ชีวิตก็จะเติบโตมาแบบดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดมากกว่าจะได้พัฒนาสติปัญญาขึ้นมา ซึ่งที่จริงได้มีการเขียนไว้ในดีเอ็นเอเรียบร้อยแล้ว

ในเรื่องการหลอมรวมของสมองส่วนต่างๆ ดังกล่าว มีคนเขียนมาถามผมหลายประเด็นซึ่งน่าสนใจ อย่างเช่นมีคนหนึ่งเขียนมาถามว่า “การหลอมหลวมสมองชั้นกลางกับส่วนหน้านั้น ผ่านการเลี้ยงดูของพ่อแม่กับครอบครัวใช่ไหมครับ การเลี้ยงดูแบบสัมพันธ์กันทางสนามพลัง ถ้าอย่างนั้นพ่อแม่ที่ไม่สามารถเชื่อมต่อสนามพลังกับลูกได้ ก็เหมือนกดสวิตช์ให้สมองส่วนกลางกับส่วนล่างเชื่อมต่อกัน เผอิญผมรู้สึกว่าผมเลี้ยงลูกสองคนแรกมาด้วยวิธีแบบนั้น ไม่รู้ว่าการเยียวยาแก้ไขการไม่ถูกเชื่อมกันนั้น ทำได้ยังไง เมื่อเด็กโตขึ้นมาแล้ว”

ผมตอบไปว่า “ข่าวดีคือ ทางสำนัก IN เขามีแนวทางบำบัดเยียวยา ซึ่งคาดว่าสำนักอื่นๆ ก็อาจจะมีด้วย นั่นคือพ่อแม่ต้องเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน เราต้องพร้อมจะกลับไปอยู่กับความสั่นไหวหรือความเปราะบางได้ เราต้องค้นให้พบโลกทางอารมณ์ความรู้สึกของเราที่ขาดหายไป พร่องไปเสียก่อน ในหนังสือ Mindsight ของ แดเนียล ไซเจล (Daniel Siegel) คนอายุเก้าสิบสองปียังมาให้เขาบำบัด เพื่อเปิดโลกการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกออกมา ในที่สุดเขาก็รับรู้ความรู้สึกได้ สั่นไหวเปราะบางได้ และมีชีวิตบั้ันปลายอย่างครบถ้วนบริบูรณ์มากขึ้นกับครอบครัว สามารถโรแมนติคได้ในวัยชรา ไม่เลวเลยครับ สำหรับชีวิตนั้น ผมว่าคุณภาพสำคัญกว่าปริมาณครับ

“เมื่อเราเปลี่ยนตัวเองได้แล้ว เราก็กลับไปเชื่อมต่อสนามพลังกับลูกได้ เราสามารถสั่นไหวกับลูกของเราได้ และสามารถปฏิสัมพันธ์กับลูกของเราได้อย่างมีความรักความอ่อนโยนเป็นตัวเชื่อม เราสามารถมี energetic linkage หรือสายใยอุ่นๆ ผูกพันกับลูกของเราได้อย่างเป็นปัจจุบัน อันนี้โดยตัวของมันเองจะเยียวยาให้ลูกของเรากลับมาหลอมรวมสมองของตัวเองได้”

อีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ “มันเชื่อมกันได้เหรอ ทางพุทธบอกให้เรารู้จักคำว่าความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในสติปัฏฐานสี่ มันคือการเชื่อมสมองหรือยังคะ ไม่เข้าใจคำว่าเชื่อมสมอง”

ผมตอบไปว่า “หนึ่ง เวลาเชื่อมโยงหลายศาสตร์เข้าด้วยกันต้องระวังนิดหนึ่งนะครับ ว่าศัพท์อาจจะมีความหมายที่ไม่ตรงกันเลยเสียทีเดียว มันอาจจะเหลื่อมซ้อนกัน จนทำให้เข้าใจผิด และไม่ตรงตามความหมายเดิมของต้นฉบับแห่งศาสตร์นั้นๆ

“สอง ในทางพุทธ การเจริญสติปัฏฐานสี่ หรือเจริญสติ ที่จะไม่ไปยึดว่า ความคิดก็ดี อารมณ์ความรู้สึกก็ดี ว่าเป็นเราเป็นตัวตนของเรา (คือละสักกายทิฏฐิ) ในทาง Interpersonal Neurobiology นั้น กระบวนการที่เราคลายออกจากความยึดมั่นถือมั่นหนึ่งใด ไม่ว่าจะถอนออกจากการยึดความคิด หรือการยึดอารมณ์ความรู้สึกก็ดี ตัววงจรสมองนั้นๆ ก็จะค่อยๆ คลายออก ทำให้การเชื่อมต่อวงจรสมองใหม่ๆ ทัศนะใหม่ๆ ความรู้สึกใหม่ๆ เป็นไปได้ง่ายขึ้น เพิ่มมุมมอง หรือเปิดให้ปัญญาญาณเกิดขึ้น หลุดออกการยึดติดในความคิดแคบๆ มุมมองแคบๆ ซึ่งการยึดติดเช่นนั้นก็คือมิจฉาทิฏฐิ

“หากดูจากภาพกงล้อของไซเจล ดุมล้อจะเป็นจิต วงล้อคือเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในโลกภายนอกก็ดี ในโลกภายในของเราเองก็ดี ซี่ล้อคือความใส่ใจและความสนใจที่เรามีให้กับปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ วงล้อตามตำแหน่งต่างๆ “การยึดติดกับความคิดหนึ่ง อารมณ์หนึ่ง บุคลิกภาพหนึ่ง อย่างตายตัว แช่แป้ง ก็คือความใส่ใจของเรา ซึ่งเป็นซี่ล้อนั้นได้ถูกล็อคใส่กุญแจตายตัว ทำให้เราไม่มีอิสระที่จะพุ่งซี่ล้อหรือความสนใจไปยังตำแหน่งอื่นๆ หรือพุ่งความสนใจไปยังเรื่องราวอื่่นๆ อันมีนับอเนกอนันต์ และการถูกล็อคก็คือ อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในมติแห่งประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) นั้นเอง

“สาม เรื่องนี้สามารถเชื่อมต่อไปยังอีกแนวคิดของอีกสำนักหนึ่งได้ คือ วอยซ์ไดอะล็อก กล่าวคือ เรามักจะไปยึดบุคลิกภาพเอามาเป็นตัวเรา หากเราเจริญสติมากขึ้น เราก็ไม่จำต้องติดอยู่กับบุคลิกภาพนั้นๆ ในศิลปะศาสตร์แห่งวอยซ์ไดอะล็อก วิถีของมันก็คือการแยกตัวออกจากตัวตนหลักๆ เหล่านั้น ด้วยวิถีแห่งการพัฒนา aware ego (ตัวกระทำการด้วยการตื่นรู้ หรือตัวตื่นรู้ที่กระทำได้) ขึ้นมาอย่างเพียงพอ จะด้วยผ่านกระบวนการที่มีผู้จัดให้ (facilitation) ก็ดี หรือสัมผัสได้ด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเองก็ดี เมื่อเราสามารถเป็นอิสระจากตัวตนหลักๆ ได้พอสมควรแล้ว เราอาจจะสามารถสัมผัสหรือสวมตัวตนตรงกันข้ามเข้ามา ทำให้ชีวิตเรามีทางเลือกมากขึ้น อันนี้จะพิจารณาเป็นอนัตตธรรมระดับหนึ่งได้ไหม?”



1หนังสือ The Biology of Transcendence ของ โจเซฟ ชิลตัน เพียร์ซ กล่าวถึงสมองสามชั้นตามขั้นตอนวิวัฒนาการ ได้แก่ สมองชั้นต้นคือสมองสัตว์เลื้อยคลาน เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตพื้นฐานของมนุษย์หรือเจตจำนงในการดำรงชีวิต (Willing) เป็นต้นกำเนิดของปัญญากาย วิวัฒนาการต่อมาคือ สมองชั้นกลางหรือสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก (Feeling) และวิวัฒนาการต่อมาเป็นสมองชั้นนอกหรือสมองใหญ่ของมนุษย์ เป็นสมองส่วนที่ใช้คิด (Thinking) ในลักษณะของตรรกะเหตุผลในสมองซีกซ้ายและความคิดสร้างสรรค์ในสมองซีกขวา (จาก “ความเข้าใจเรื่องสมองกับการสร้างแรงบันดาลใจ” โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ ตีพิมพ์ในมติชน ฉบับประจำวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐)

ทำดีได้ ไม่ต้องใช้คำขวัญ



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 สิงหาคม 2556

ในหนังสือเรื่อง “ปัญญาเหนือทุกข์” ของ แจ๊ค คอร์นฟิลด์ (กำธร เก่งสกุล แปล) ผู้เขียนเล่าถึงการวิจัยที่ทำในย่านพักอาศัยของคนจนในกรุงลอนดอน ถนนสองสายถูกเลือกขึ้นมาเพื่อการศึกษาเปรียบเทียบ ทั้งสองสายมีสภาพคล้ายกันและอยู่ห่างกันไม่ถึง ๒ กม. ที่สำคัญคือมีสถิติอาชญากรรมในระดับสูงพอๆ กัน แต่นักวิจัยได้เลือกถนนสายหนึ่งให้มีการเอาใจใส่อย่างดี เช่น ทำความสะอาดทุกวันเป็นเวลาหนึ่งปี เก็บขยะถูกชิ้น ลบรอยขีดเขียนบนกำแพงในที่สาธารณะ ปลูกไม้ดอกตรงขอบทางเดินและรดน้ำต่อเนื่อง ไฟริมถนนตลอดจนป้ายที่แตกหักได้รับการซ่อมแซมและทาสีใหม่

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีการประกาศต่อสาธารณชน หลังจากนั้นหนึ่งปีได้มีการนำถนนทั้งสองสายมาเปรียบเทียบกัน ปรากฏว่าสถิติอาชญากรรมบนถนนสายที่สะอาดและงดงามลดลงเกือบร้อยละ ๕๐

ผู้เขียนไม่ได้อธิบายว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวคล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นในหลายเมืองของหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ เมื่อชุมชนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย อาชญากรรมก็ลดลง สิ่งที่น่าคิดก็คือทั้งสองอย่างเกี่ยวพันกันอย่างไร คำตอบก็คือ ชุมชนที่เป็นระเบียบเรียบร้อยนั้นแสดงว่าผู้คนใส่ใจส่วนรวม คนที่อยู่ในบรรยากาศแบบนี้ย่อมเกิดตระหนักว่าตนจะทำตามอำเภอใจไม่ได้ จึงเกิดความยับยั้งชั่งใจเมื่อนึกอยากทำผิดกฎระเบียบ

คำอธิบายดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากความคิดที่ว่า อาชญากรรมตามชุมชนต่างๆ มักเริ่มจากการกระทำผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปากระจกหน้าต่างแตก หรือขีดเขียนในที่สาธารณะแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผู้คนจึงได้ใจและกล้าทำสิ่งที่อุกอาจมากขึ้น เช่น ลักขโมย และลุกลามไปสู่อาชญากรรมที่รุนแรง แนวความคิดนี้มองว่า การปล่อยให้มีกระจกหน้าต่างแตกหรือสีขีดเขียนเปรอะเปื้อนในที่สาธารณะเป็นเวลานานๆ คือการส่งสัญญาณว่า ชุมชนนี้ไม่มีใครเอาเป็นธุระ อยู่อย่างตัวใครตัวมัน เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้คนอื่นๆ ทำตามอำเภอใจ ไม่สนใจกฎเกณฑ์หรือกติกา เกิดความรู้สึกอยากทำสิ่งแย่ๆ อย่างเดียวกันบ้าง หรือทำยิ่งกว่า (แกทำได้ ฉันก็ต้องทำได้สิ)

ฟิลิป ซิมบาร์โด นักจิตวิทยาชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เคยทดลองเอารถคันหนึ่งซึ่งไม่มีป้ายทะเบียนมาจอดโดยเปิดฝากระโปรงทิ้งไว้ในเมืองบรองซ์ กรุงนิวยอร์ค อันเป็นย่านคนจนและเต็มไปด้วยอาชญากรรม ส่วนรถอีกคันหนึ่งเอาไปจอดทิ้งไว้ที่เมืองพาโลอัลโต แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นย่านคนมีฐานะ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ในชั่วเวลาไม่กี่นาทีรถคันแรกก็ถูกถอดแบตเตอรี่และหม้อน้ำ แล้วชิ้นส่วนอื่นๆ ก็ถูกถอดตามมา ภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมง ก็ไม่เหลือของมีค่าอยู่เลย ในที่สุดก็มีคนทุบกระจกเข้าไปขโมยชิ้นส่วนภายในรถ

ตรงข้ามกับรถคันที่สอง ไม่มีใครแตะต้องรถคันนั้นนานเป็นอาทิตย์ แต่เมื่อซิมบาร์โดลงมือทุบกระจกรถคันนั้นเสียเอง ไม่นานก็มีคนไปรื้อถอดชิ้นส่วนรถไม่ต่างจากที่บรองซ์ ซิมบาร์โดชี้ว่าสาเหตุที่การรื้อถอดชิ้นส่วนรถเกิดขึ้นเร็วมากในบรองซ์ ก็เพราะคนที่นั่นรู้สึกว่า จะทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครสนใจ พฤติกรรมแบบเดียวกันนี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้กระทั่งในถิ่นคนมีฐานะ หากมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่า “ทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครสนใจ”

ในกรณีดังกล่าว สิ่งที่เป็นสัญญาณว่า “ทำอะไรก็ได้ ไม่มีใครสนใจ” ก็คือ กระจกรถที่ถูกทุบแตกนั่นเอง นี้เป็นที่มาของทฤษฎี “หน้าต่างแตก” ของเจมส์ วิลสัน และยอร์จ เคลลิ่ง ทั้งสองอธิบายดังนี้ว่า “สมมติว่ามีอาคารหลังหนึ่งซึ่งมีหน้าต่างแตกหลายบาน หากหน้าต่างไม่ได้รับการซ่อม ก็มีแนวโน้มว่าอันธพาลจะทุบหน้าต่างแตกเพิ่มขึ้น ในที่สุดพวกเขาก็จะแอบเข้าไปในอาคารนั้น และหากอาคารนั้นไม่มีคนอยู่ มันก็อาจกลายเป็นที่อาศัยของคนเหล่านั้นหรือจุดไฟข้างใน”

แนวความคิดนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อนโยบายของสำนักงานตำรวจกรุงนิวยอร์คเมื่อ ๒๐-๓๐ ปีที่แล้ว มีการขจัดรอยขีดเขียนในที่สาธารณะ ดูแลสถานีรถไฟใต้ดินให้สะอาดสะอ้าน รวมทั้งใส่ใจกับการทำผิดกฎเล็กๆ น้อยๆ เช่น ไม่จ่ายค่าตั๋วรถไฟใต้ดิน หรือทำลายทรัพย์สินสาธารณะ สิ่งที่ตามมาก็คือ อาชญากรรมในกรุงนิวยอร์คซึ่งเคยพุ่งสูงได้ลดลงไปมาก ความสำเร็จดังกล่าวมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง แต่เชื่อว่าการทุ่มเทในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังก็มีส่วนอยู่ไม่น้อย

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมกับพฤติกรรมของผู้คนนั้นเกี่ยวพันกันอย่างยิ่ง สิ่งแวดล้อมที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเป็นระเบียบนั้น สามารถลดทอนพฤติกรรมด้านลบของผู้คน ทำให้อาชญากรรมลดลงได้ ในทางตรงข้ามสภาพแวดล้อมที่ถูกปล่อยปละละเลย สามารถส่งเสริมให้คนมีพฤติกรรมในทางลบจนกระทำอาชญากรรมต่างๆ ได้ไม่ยาก

อันที่จริงสภาพแวดล้อมยังสามารถมีอิทธิพลในลักษณะอื่นๆ ต่อพฤติกรรมของผู้คน ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ การทดลองในสำนักงานของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอังกฤษ พนักงานสามารถหาชาหรือกาแฟได้จากครัวรวม แต่ต้องชงเองและหยอดเงินใส่กล่องเองด้วย โดยมีป้ายบอกราคาติดไว้ที่ข้างฝา วันหนึ่งมีคนเอาภาพโปสเตอร์มาติดเหนือป้ายนั้น ภาพนั้นเปลี่ยนไปทุกอาทิตย์ ถ้าไม่ใช่ภาพดอกไม้ ก็เป็นภาพตาที่กำลังมองมายังผู้ดู ที่น่าแปลกก็คือ จำนวนเงินในกล่องจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคืออาทิตย์ใดที่เป็นภาพดอกไม้ จำนวนเงินที่ได้ (ต่อนม ๑ ลิตร) จะลดลง แต่อาทิตย์ใดเป็นภาพตาจ้องมอง จำนวนเงินที่ได้จะเพิ่มขึ้น เฉลี่ยแล้วอาทิตย์ใดที่มีตาจ้องมอง พนักงานจะหยอดเงินมากกว่าอาทิตย์ที่มีดอกไม้ เกือบ ๓ เท่า

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภาพโปสเตอร์นั้นมีผลต่อความซื่อสัตย์ของพนักงานด้วย ภาพตานั้นทำให้ผู้คนรู้สึกลึกๆ ว่าถูกจ้องมอง จึงมีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินตามราคา แต่หากเป็นภาพอื่น ก็อาจจะจ่ายบ้าง ไม่จ่ายบ้าง หรือจ่ายไม่ครบ

ทั้งหมดนี้ชี้ว่าความดีหรือศีลธรรมของผู้คนนั้น ไม่ได้อยู่ที่จิตสำนึกล้วนๆ แต่ยังขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งแวดล้อมมีผลต่อจิตสำนึก และนำไปสู่พฤติกรรมที่สอดคล้องกัน ดังนั้นการพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนให้มีศีลธรรม จึงไม่ควรเน้นที่การเทศน์การสอนหรือการรณรงค์ด้วยคำขวัญเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อม รวมถึงการสร้างเหตุปัจจัยภายนอกที่เกื้อกูลด้วย อาทิ การกระจายโภคทรัพย์ไม่ให้เกิดความยากไร้

เรื่องทำนองนี้อันที่จริงก็มีกล่าวในพระไตรปิฎก หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องของพระราชาที่ต้องการปราบโจรผู้ร้ายซึ่งมีอยู่ชุกชุม ความคิดของพระราชาก็คือ เพิ่มบทลงโทษให้หนักขึ้น แต่พราหมณ์ปุโรหิตทักท้วงเพราะเห็นว่าจะทำให้ปัญหาหนักขึ้น พราหมณ์เสนอให้มีการกระจายทรัพย์หรือส่งเสริมอาชีพ ไม่ว่าเกษตรกร พ่อค้า และขุนนาง พระราชาคล้อยตาม ปรากฏว่าเมื่อประชาชนอยู่ดีกินดี มีอาชีพ มีรายได้พอแก่อัตภาพ โจรผู้ร้ายก็หายไป ชาวเมืองอยู่อย่างผาสุก “รื่นเริงบันเทิงใจ อุ้มลูกฟ้อนรำไปมา สนุกสนาน บ้านช่องไม่ต้องปิดประตูลั่นกุญแจ”

น่าสังเกตว่า พราหมณ์ (ซึ่งเป็นตัวแทนความคิดของพระพุทธเจ้า) ไม่ได้เสนอให้มีการเทศนาสั่งสอนประชาชนหรือรณรงค์ให้ประชาชนมีศีลธรรมแต่อย่างใด เพียงแค่จัดระบบเศรษฐกิจให้ดี อาชญากรรมก็ลดลง ศีลธรรมก็กลับมา

เรื่องนี้ชี้ว่าในการเสริมสร้างศีลธรรมของผู้คน สิ่งหนึ่งที่มิอาจมองข้ามได้เลยก็คือการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมและเหตุปัจจัยภายนอกให้เกื้อกูลต่อจิตสำนึกและพฤติกรรมของผู้คนด้วย

จิตสำนึกของโครงสร้าง



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2556

ดาลิต หรือ จัณฑาล เป็นคนนอกวรรณะ ถือเป็นกลุ่มคนระดับล่างสุดของระบบวรรณะตามศาสนาฮินดู คนจน ขอทาน คนไร้บ้าน ที่เราเห็นตามท้องถนนอินเดีย ส่วนใหญ่ก็คือดาลิต และถูกปฏิบัติไม่ต่างจากฝุ่นตีนของพระเจ้า เป็นต้นว่า ห้ามใช้ข้าวของหรือดื่มน้ำจากบ่อเดียวกับคนวรรณะอื่น เพราะจะทำให้เกิดเสนียดจัญไรแปดเปื้อน กระทั่งว่าหากไปเหยียบเงาเข้าก็ต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์ใหญ่โต เด็กดาลิตจึงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ งานที่ได้ทำจึงเป็นเพียงกุลี และงานบางอย่างเช่นเก็บขี้ ก็เป็นงานที่กำหนดให้ดาลิตทำ จึงยากนักหนาที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตตนเองและเลื่อนสถานะทางสังคมของตนขึ้นมาได้ หากมีดาลิตแหกขนบก็จะถูกชุมชนของคนวรรณะสูงกว่าลงโทษอย่างรุนแรง จิตสำนึกของดาลิตผูกติดกับโครงสร้างที่กำหนดให้จำยอมเช่นนี้มายาวนานหลายพันปี

อัมเบดการ์ถือว่าเป็นดาลิตที่ได้รับโอกาสพิเศษ ครูผู้กรุณาให้เขายืมนามสกุลไปใช้ เด็กหัวดีผู้นี้มีโอกาสเรียนหนังสือและได้รับทุนมหาราชาไปเรียนที่อังกฤษ จนจบปริญญาเอกด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์ แต่เมื่อเขากลับมาทำงานชดใช้ทุน ก็ยังได้รับการปฏิบัติในฐานะดาลิตเช่นเดิม แม้แต่ในแวดวงของอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาจึงเริ่มทำงานต่อสู้เพื่อความเสมอภาคผ่านปัญหาที่ดาลิตถูกเลือกปฏิบัติในสังคมอินเดีย จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งจากดาลิตและจากนานาชาติ เมื่อก้าวเข้าสู่แวดวงการเมือง เป็นหัวหน้าพรรคแรงงานอิสระและเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกฎหมาย เขาก็มีส่วนสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียหลังจากได้รับเอกราชแล้ว แต่งานสำคัญที่สุดของเขาคือการปลดปล่อยดาลิตออกจากการกดขี่ทางสังคมและวัฒนธรรม เขาประกาศเปลี่ยนศาสนาจากฮินดูมาเป็นพุทธ และทำพิธีเปลี่ยนศาสนาพร้อมกับดาลิต ๖ แสนคนที่เมืองนาคปุระ และเรียกตนเองว่า “กลุ่มพุทธดาลิต” ถือเป็นการปลดแอกตนเองจากจิตสำนึกสยบยอมที่กดขี่มาหลายพันปีอย่างสิ้นเชิง ปัจจุบันมีประชากรกลุ่มพุทธดาลิตราว ๔๐ ล้านคน จากกลุ่มดาลิตราว ๔๕๐ ล้านคน

หลังจากรัฐธรรมนูญใหม่ และเปลี่ยนศาสนาใหม่ ประชากรกลุ่มพุทธดาลิตในอินเดียได้รับการศึกษามากขึ้น จากที่เคยได้เรียนถึงระดับประถมในยุคของอัมเบดการ์ ปัจจุบัน มีดาลิตเรียนจบเป็นวิศวกร เป็นแพทย์ เป็นคนทำงานเพื่อสังคม ฯลฯ มากขึ้น อย่างไรก็ดี ความรุนแรงต่อคนดาลิตยังดำรงอยู่ คนดาลิตยังถูกทำร้าย ผู้หญิงยังถูกข่มขืน เหตุอาชญากรรมในอินเดียจำนวนมากเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเพื่อรักษากฎระเบียบของสังคมและชุมชนเดิม ดังเช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ครอบครัวพุทธดาลิต ๕ คนในรัฐมหาราชตะถูกฆ่า เพราะลูกสาวอยากเรียนหนังสือ เมื่อถามว่าชาวดาลิตรู้สึกอย่างไรกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เพื่อนชาวดาลิตท่านหนึ่งตอบว่า พวกเราเข้าใจ

คนพุทธดาลิตนับถืออัมเบดการ์มาก บ้านทุกหลังจะมีภาพของเขาแขวนอยู่คู่กับภาพของพระพุทธเจ้า โดยถือเป็นแรงบันดาลใจในฐานะผู้ที่แสดงให้เห็นว่าดาลิตสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะมนุษย์ย่อมเกิดมาเสมอภาคเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ โดยนัยยะนี้ แม้คานธีจะได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งอินเดีย ในฐานะผู้ปลดปล่อยแผ่นดินอินเดียให้เป็นอิสระ แต่อัมเบดการ์ได้รับการยกย่องจากดาลิตทั้งหมด ในฐานะผู้ปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระ


ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของชาวพุทธดาลิตถือเป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง เพราะอัมเบดการ์เสียชีวิตหลังจากพิธีเปลี่ยนศาสนาไม่กี่วัน กลุ่มพุทธดาลิตซึ่งรวมตัวและยึดโยงเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่นั้นถือศีลและภาวนาแบบชาวพุทธ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกหลานเรียนหนังสือ จัดตั้งโรงเรียนผู้นำ และมีจิตสำนึกร่วมกันที่จะทำให้มนุษย์ทุกคนเข้าถึงอิสรภาพ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยวรรณะที่ถือกำเนิด หรือศาสนาที่นับถือ ปัจจุบันมีพรรคการเมือง ๓–๔ พรรคเป็นของคนดาลิต หนึ่งในนั้นใหญ่เป็นอันดับ ๔ ของพรรคการเมืองในอินเดีย และเคยมีคนดาลิตก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว คือ นารายานัน – การเปลี่ยนแปลงของผู้คนที่ถูกกำหนดให้เป็นฝุ่นตีนล่างสุดในสังคมมาหลายพันปี มาสู่ความเป็นเสรีชนผู้มีอำนาจตัดสินใจในชีวิตของตนเอง ในนามของพลเมืองของรัฐ นี้อาจจะถือได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์อย่างยิ่ง

จะเห็นได้ว่า แม้รัฐธรรมนูญที่มอบความเสมอภาคให้กับผู้คนจะเป็นเครื่องเอื้ออำนวยในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง แต่หากปราศจากผู้คนที่มีการเปลี่ยนแปลงทางจิตสำนึกอย่างลึกซึ้งเข้มข้นแล้ว ความเสมอภาคย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ และการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ก็คงไม่อาจสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการให้แต้มต่อทางการศึกษา/อาชีพ/สุขภาพกับกลุ่มประชากรดาลิตเพื่อยกระดับความเสมอภาคขึ้นมา


การสร้างจิตสำนึกอันตระหนักรับรู้ต่อโครงสร้างที่กดทับผู้คนนั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างการเปลี่ยนแปลงก็ว่าได้ การที่กฎหมายในประเทศไทยหลายฉบับแทบไม่มีผลในการบังคับใช้ เพราะไม่สอดคล้องกับจิตสำนึกและความตระหนักรับรู้ของผู้คน เป็นต้นว่า มาตรา ๔๐ ของกฎหมายประกันสังคม กฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ก็ในเมื่อผู้คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นหาบเร่แผงลอย คนขับมอเตอร์ไซค์และรถรับจ้าง ฯลฯ ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตนเองเป็นแรงงานนอกระบบ และถูกเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพและทางสังคมอื่นๆ โดยเข้าใจไปว่ามันเป็นเรื่องปรกติอยู่แล้วที่ตนเองไม่ใช่ข้าราชการ ไม่มีเงินเดือน ก็ไม่มีประกันสุขภาพ ฯลฯ เหมือนคนอื่นเขา การสร้างจิตสำนึกของความเป็นแรงงานนอกระบบจึงสำคัญไม่แพ้การออกกฎหมาย เป็นงานที่ยากเย็นหนักหนากว่าด้วยซ้ำ แต่ถือเป็นการลงทุนที่สร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้อย่างยั่งยืน

ยิ่งคนอยู่ในระดับล่างสุดของโครงสร้างสังคมมากเท่าไหร่ การสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับจิตสำนึกก็ดูเหมือนต้องใช้แรงและกำลังมากขึ้น ลองนึกถึงสถานการณ์ของเกษตรกรในระบบพันธสัญญาที่ตกอยู่ในภาวะเป็นหนี้ การจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในระบบพันธสัญญาที่ดำรงอยู่นั้นจึงเป็นเรื่องยาก แรงงานข้ามชาติที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากการคุกคามของผู้รักษากฎหมาย ก็ยากที่จะแสดงตนขึ้นมารักษาสิทธิแรงงานและสิทธิทางสุขภาพของตนได้ ฯลฯ การทำงานผู้คนเหล่านี้จึงต้องมีความละเอียดอ่อนและลงลึกเข้าไปในระดับจิตใต้สำนึก โดยคนทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงจำต้องมีทักษะในการจัดกระบวนการเพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจของผู้คนเหล่านี้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในที่สุด

นี้ไม่ได้หมายความว่า การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกจำเป็นต่อชนชั้นล่างหรือกลุ่มคนที่เสียเปรียบแต่ฝ่ายเดียว การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกยังจำเป็นต่อคนทุกกลุ่มในสังคม เนื่องจากจิตสำนึกร่วมหรืออุดมการณ์ร่วมกันของผู้คนในสังคมนั้น ก็คือการคัดกรองและกำหนดคุณค่าของสังคมร่วมกัน ทั้งเรื่องความเป็นธรรม การไม่เลือกปฏิบัติ การมีธรรมาภิบาลที่ดี การมีความกรุณาอันไม่มีที่ประมาณ เป็นต้น


เมื่อการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกเกิดขึ้นทั้งในระดับปัจเจกและระดับจิตสำนึกร่วมของสังคม นั่นคือ ความตระหนักรู้ในตัวในตนแบบเดี่ยว-เดี่ยว และความตระหนักรู้ในฐานะเป็นคนในโครงสร้าง นั้นแหละ การเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงรากถึงโคนจึงจะเกิดขึ้นได้

ผู้นำกับจิตสำนึกสาธารณะ



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 สิงหาคม 2556

ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น การทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ การสร้างมลภาวะทุกรูปแบบ ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และอีกหลายปัญหาที่กำลังบ่อนทำลายสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการชาดจิตสำนึกสาธารณะของคนในสังคม โดยเฉพาะผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการเมือง ผู้บริหาร และผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน

หรือสังคมไทยกำลังป่วยด้วยโรคจิตสำนึกสาธารณะบกพร่อง จำเป็นต้องรีบบำบัดรักษา?

ผู้นำที่พึงประสงค์ควรเป็นต้นแบบที่ดีงามให้กับคนในสังคม ด้วยการมีจิตสำนึกที่จะทำประโยชน์ให้สาธารณะ โดยไม่ผิดกฎหมาย โดยไม่ทุจริตคอรัปชั่น ก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องสู่ประโยชน์สุขของส่วนรวม ของสาธารณะ

นักการเมืองบางคน แทนที่จะทำตัวให้เป็นต้นแบบที่ดี มีจิตสำนึกสาธารณะ คิด ทำ และพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะ ก็หมกมุ่นอยู่กับการฉกฉวยผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง คอยจ้องแต่จะโกงกิน แย่งชิงอำนาจ เมื่อได้อำนาจมาก็คิดโครงการนี่ นั่น โน่น เพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก ทำโครงการโน่น นั่น นี่ ก็มีการคอรัปชั่นตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำแบบครบวงจร แล้วบิดเบือนพูดว่าทำเพื่อประชาชน เพื่อประโยชน์สาธารณะ ในขณะที่ตนเองและพรรคพวกต่างก็อิ่มหมีพีมันกับการโกงกินกันอย่างบูรนาการ

เมื่อไหร่นักการเมืองซึ่งเป็นผู้นำทางสังคม เป็นบุคคลสาธารณะ จึงจะมีจิตสำนึกสาธารณะเพิ่มมากขึ้น

คิดดี พูดดี ทำดี และคิดถูก ทำถูก พูดถูก มากขึ้น เมื่อไหร่ที่ผู้นำประเทศ ผู้นำสังคม ผู้นำชุมชนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มีจิตสำนึกสาธารณะ เป็นตัวแบบที่ดีให้กับประชาชนและเยาวชนของชาติ ชุมชน สังคมและประเทศชาติก็คงจะอยู่ดีมีสุข ไม่อยู่ร้อนนอนทุกข์เหมือนที่เป็นอยู่

คนดีควรต้องคิดดี ทำดี และพูดดี คนดีควรต้องคิดถูก ทำถูก และพูดถูกโดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำ เป็นบุคคลสาธารณะ

หากผู้นำมีจิตสำนึกสาธารณะ ก็มีโอกาสที่ผู้นำจะคิด พูดและทำในสิ่งที่ดีที่งาม ที่ถูกต้อง

ผู้นำควรทำในสิ่งที่ถูกต้อง (Doing the right things) ตั้งแต่เริ่มต้น มากกว่าการพยายามทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้ถูก (Doing things right)

เราได้ยิน ได้ฟัง และได้เห็นผู้นำ โดยเฉพาะผู้นำทางการเมืองจำนวนหนึ่งพูดดำให้เป็นขาว พูดขาวให้เป็นดำ พยายามพูดและทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยการออกนโยบายใหม่ แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงระเบียบ หรือกฎกติกาใหม่เพียงเพื่อให้ตนเองและพวกพ้องได้ผลประโยชน์ ทำนองไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ก็เอาด้วยคาถา ไม่ได้ด้วยวาจาก็ใช้บาทานำ หรือใช้กฎหมู่ข่มขู่ผู้อื่น เหตุการณ์เหล่านี้คงไม่เกิด ถ้าแต่ละคนมีจิตสำนึกที่ดีงามต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

โครงการประชานิยม ไม่ว่าจะของพรรคหรือรัฐบาลใด หากเบื้องหลังลึกๆ คือการหาเสียงเพียงเพื่อให้ได้ชัยชนะ โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายโดยรวมของประเทศไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และโดยเฉพาะการสร้างค่านิยมที่ผิดให้เกิดกับประชาชน เป็นสิ่งที่ไม่ดีงามต่อสาธารณะ เพราะเงินที่นำไปใช้ในโครงการต่างๆ คือเงินภาษีที่มาจากประชาชน เพราะเงินของรัฐไม่ใช่เงินของรัฐบาล และไม่ใช่เงินของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่จะนำไปใช้จ่ายโดยไม่คำนึงถึงความคุ้มค่า และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง

ผู้นำที่ดีและเก่งในทุกภาคส่วน และโดยเฉพาะผู้นำประเทศ จึงควรต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งคือการมีจิตสำนึกสาธารณะ จิตสำนึกแห่งความดีงามมุ่งมั่นที่จะคิดดีพูดดี และทำดีเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม

ผู้ที่มีจิตสำนึกสาธารณะ จะเข้าใจและสามารถแยกแยะเรื่องของความเป็นส่วนตัวกับเรื่องของสาธารณะได้ เรื่องส่วนตัวก็เป็นเรื่องเฉพาะของบุคคลหรือกลุ่มคน จะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยก็เป็นเรื่องส่วนตัวหรือส่วนกลุ่ม แต่หากเรื่องส่วนตัวนั้น ไม่ว่าจะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยหากมีผลกระทบ (Impact) ต่อประโยชน์สุขของสาธารณะโดยรวม ถือเป็นเรื่องสาธารณะ

ผู้นำที่ดีและเก่งควรต้องมีความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรม กล้าที่จะตัดสินใจทำในสิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อความสงบสันติของประเทศชาติ

เราอาจจะลองใช้วิจารณญาณพิจารณาดูว่า ผู้นำคนไหนคิดอย่างไร มีจิตสำนึกสาธารณะหรือไม่ ด้วยการสังเกตการพูดและการกระทำของผู้นำเหล่านั้นว่า พูดและทำเพื่อและปกป้องประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ หรือพูดและทำเพื่อและปกป้องผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง หากสังเกตลีลา สีหน้าท่าทางและน้ำเสียงประกอบคำพูดด้วย ก็จะยิ่งมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าผู้นำคนนั้นคิดดี คิดถูกหรือไม่ มีความจริงใจหรือเฉไฉด้วยการใช้วาทกรรมอำพราง

เราคงต้องมาช่วยกันสำรวจตรวจสอบพฤติกรรมของผู้นำ ในรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมกับแต่ละคนแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ผู้นำปฏิบัติหน้าที่ในทิศทางที่พึงประสงค์ได้ดียิ่งขึ้น ช่วยกันเตือนสติ ให้สติ และสร้างสติให้กับผู้นำ ช่วยกันส่งเสริม สนับสนุนและรักษาผู้นำที่เก่ง ดี มีจิตสำนึกสาธารณะไว้ ไม่ส่งเสริม ไม่สนับสนุน ไม่รักษาผู้นำที่เก่ง แต่ไม่ดี ไม่มีจิตสำนึกสาธารณะ อย่างน้อยที่สุดก็ส่งสัญญาณให้รู้ว่า “ตาวิเศษเห็นนะ”

Back to Top