ผู้นำกับจิตสำนึกสาธารณะ



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 สิงหาคม 2556

ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น การทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ การสร้างมลภาวะทุกรูปแบบ ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และอีกหลายปัญหาที่กำลังบ่อนทำลายสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการชาดจิตสำนึกสาธารณะของคนในสังคม โดยเฉพาะผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการเมือง ผู้บริหาร และผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน

หรือสังคมไทยกำลังป่วยด้วยโรคจิตสำนึกสาธารณะบกพร่อง จำเป็นต้องรีบบำบัดรักษา?

ผู้นำที่พึงประสงค์ควรเป็นต้นแบบที่ดีงามให้กับคนในสังคม ด้วยการมีจิตสำนึกที่จะทำประโยชน์ให้สาธารณะ โดยไม่ผิดกฎหมาย โดยไม่ทุจริตคอรัปชั่น ก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องสู่ประโยชน์สุขของส่วนรวม ของสาธารณะ

นักการเมืองบางคน แทนที่จะทำตัวให้เป็นต้นแบบที่ดี มีจิตสำนึกสาธารณะ คิด ทำ และพูดเพื่อประโยชน์สาธารณะ ก็หมกมุ่นอยู่กับการฉกฉวยผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง คอยจ้องแต่จะโกงกิน แย่งชิงอำนาจ เมื่อได้อำนาจมาก็คิดโครงการนี่ นั่น โน่น เพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก ทำโครงการโน่น นั่น นี่ ก็มีการคอรัปชั่นตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำแบบครบวงจร แล้วบิดเบือนพูดว่าทำเพื่อประชาชน เพื่อประโยชน์สาธารณะ ในขณะที่ตนเองและพรรคพวกต่างก็อิ่มหมีพีมันกับการโกงกินกันอย่างบูรนาการ

เมื่อไหร่นักการเมืองซึ่งเป็นผู้นำทางสังคม เป็นบุคคลสาธารณะ จึงจะมีจิตสำนึกสาธารณะเพิ่มมากขึ้น

คิดดี พูดดี ทำดี และคิดถูก ทำถูก พูดถูก มากขึ้น เมื่อไหร่ที่ผู้นำประเทศ ผู้นำสังคม ผู้นำชุมชนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มีจิตสำนึกสาธารณะ เป็นตัวแบบที่ดีให้กับประชาชนและเยาวชนของชาติ ชุมชน สังคมและประเทศชาติก็คงจะอยู่ดีมีสุข ไม่อยู่ร้อนนอนทุกข์เหมือนที่เป็นอยู่

คนดีควรต้องคิดดี ทำดี และพูดดี คนดีควรต้องคิดถูก ทำถูก และพูดถูกโดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำ เป็นบุคคลสาธารณะ

หากผู้นำมีจิตสำนึกสาธารณะ ก็มีโอกาสที่ผู้นำจะคิด พูดและทำในสิ่งที่ดีที่งาม ที่ถูกต้อง

ผู้นำควรทำในสิ่งที่ถูกต้อง (Doing the right things) ตั้งแต่เริ่มต้น มากกว่าการพยายามทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้ถูก (Doing things right)

เราได้ยิน ได้ฟัง และได้เห็นผู้นำ โดยเฉพาะผู้นำทางการเมืองจำนวนหนึ่งพูดดำให้เป็นขาว พูดขาวให้เป็นดำ พยายามพูดและทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยการออกนโยบายใหม่ แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงระเบียบ หรือกฎกติกาใหม่เพียงเพื่อให้ตนเองและพวกพ้องได้ผลประโยชน์ ทำนองไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ก็เอาด้วยคาถา ไม่ได้ด้วยวาจาก็ใช้บาทานำ หรือใช้กฎหมู่ข่มขู่ผู้อื่น เหตุการณ์เหล่านี้คงไม่เกิด ถ้าแต่ละคนมีจิตสำนึกที่ดีงามต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง

โครงการประชานิยม ไม่ว่าจะของพรรคหรือรัฐบาลใด หากเบื้องหลังลึกๆ คือการหาเสียงเพียงเพื่อให้ได้ชัยชนะ โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายโดยรวมของประเทศไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และโดยเฉพาะการสร้างค่านิยมที่ผิดให้เกิดกับประชาชน เป็นสิ่งที่ไม่ดีงามต่อสาธารณะ เพราะเงินที่นำไปใช้ในโครงการต่างๆ คือเงินภาษีที่มาจากประชาชน เพราะเงินของรัฐไม่ใช่เงินของรัฐบาล และไม่ใช่เงินของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองที่จะนำไปใช้จ่ายโดยไม่คำนึงถึงความคุ้มค่า และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง

ผู้นำที่ดีและเก่งในทุกภาคส่วน และโดยเฉพาะผู้นำประเทศ จึงควรต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญประการหนึ่งคือการมีจิตสำนึกสาธารณะ จิตสำนึกแห่งความดีงามมุ่งมั่นที่จะคิดดีพูดดี และทำดีเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม

ผู้ที่มีจิตสำนึกสาธารณะ จะเข้าใจและสามารถแยกแยะเรื่องของความเป็นส่วนตัวกับเรื่องของสาธารณะได้ เรื่องส่วนตัวก็เป็นเรื่องเฉพาะของบุคคลหรือกลุ่มคน จะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยก็เป็นเรื่องส่วนตัวหรือส่วนกลุ่ม แต่หากเรื่องส่วนตัวนั้น ไม่ว่าจะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยหากมีผลกระทบ (Impact) ต่อประโยชน์สุขของสาธารณะโดยรวม ถือเป็นเรื่องสาธารณะ

ผู้นำที่ดีและเก่งควรต้องมีความกล้าหาญทางคุณธรรมจริยธรรม กล้าที่จะตัดสินใจทำในสิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เพื่อความสงบสันติของประเทศชาติ

เราอาจจะลองใช้วิจารณญาณพิจารณาดูว่า ผู้นำคนไหนคิดอย่างไร มีจิตสำนึกสาธารณะหรือไม่ ด้วยการสังเกตการพูดและการกระทำของผู้นำเหล่านั้นว่า พูดและทำเพื่อและปกป้องประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ หรือพูดและทำเพื่อและปกป้องผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง หากสังเกตลีลา สีหน้าท่าทางและน้ำเสียงประกอบคำพูดด้วย ก็จะยิ่งมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าผู้นำคนนั้นคิดดี คิดถูกหรือไม่ มีความจริงใจหรือเฉไฉด้วยการใช้วาทกรรมอำพราง

เราคงต้องมาช่วยกันสำรวจตรวจสอบพฤติกรรมของผู้นำ ในรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมกับแต่ละคนแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ผู้นำปฏิบัติหน้าที่ในทิศทางที่พึงประสงค์ได้ดียิ่งขึ้น ช่วยกันเตือนสติ ให้สติ และสร้างสติให้กับผู้นำ ช่วยกันส่งเสริม สนับสนุนและรักษาผู้นำที่เก่ง ดี มีจิตสำนึกสาธารณะไว้ ไม่ส่งเสริม ไม่สนับสนุน ไม่รักษาผู้นำที่เก่ง แต่ไม่ดี ไม่มีจิตสำนึกสาธารณะ อย่างน้อยที่สุดก็ส่งสัญญาณให้รู้ว่า “ตาวิเศษเห็นนะ”

Back to Top