สิงหาคม 2017

ตาที่ดี หูที่ดี – ได้เห็น ได้ยินอะไร?



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2560

การอ่านออกเขียนได้ถือว่าเป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนไม่ได้เรียนหนังสือ คงได้คำตอบว่าใช่

การได้เรียนจบมหาวิทยาลัยเป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนจบ ปวช. คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

การรู้ภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศเป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนที่พูดหรือเขียนภาษาต่างประเทศไม่ได้หรือไม่คล่องแคล่ว คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

การได้ทำงานที่มั่นคง มีรายได้แน่นอน มีเงินเดือน มีสวัสดิการ มีวันลาพักผ่อน เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

การมีหน้าที่การงานอันมีเกียรติ ผู้คนให้ความเคารพนับถือ เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถาม รปภ. หรือพนักงานเก็บขยะ คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

การมีบ้านเป็นของตัวเอง อยู่ใกล้ที่ทำงาน หรือโรงเรียนของลูก เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนชุมชนป้อมมหากาฬที่กำลังถูกไล่ที่ คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

หากเจ็บป่วย แล้วสามารถเลือกรักษาในสถานพยาบาลได้ทุกแห่ง ไม่เกี่ยงว่าเป็นรัฐหรือเอกชน ไม่กังวลว่าจะไม่มีเงินค่ารักษา หรือหาหมอที่ดีที่สุดไม่ได้ เป็นความได้เปรียบไหม? – ถ้าไปถามคนใช้สิทธิบัตรทองหรือประกันสังคม คำตอบก็คงเป็นคำว่าใช่

อ่านต่อ »

เมื่อคุณธรรมไม่ใช่ “ไม้เท้าวิเศษ” และต้องการ “ความสร้างสรรค์ทางคุณธรรม



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2560

“คุณธรรมไม่ใช่ไม้เท้าวิเศษ” และต้องการ “ความสร้างสรรค์ทางคุณธรรม” ข้อเสนอสำคัญจากเวทีเสวนา “ปณิธานความดีจากการตั้งใจสู่การปฏิบัติ” ในงานประชุมวิชาการ “คุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม: ความงอกงามผ่านประสบการณ์ตรง” ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

ผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และคุณสิน สื่อสวน ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ดำเนินรายการโดย ดร.นฤมล อรุโณทัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเสวนาครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรื่องคุณธรรมผ่านมุมมองของศาสตร์ต่างๆ และการปฏิบัติจริง เริ่มจาก ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ นำเสนอปมปัญหาคุณธรรม ว่าเป็นความยุ่งยากซับซ้อนที่ต้องใช้การพิจารณาไตร่ตรอง โดยได้ยกตัวอย่างการถกเถียงทางคุณธรรมจากวรรณกรรม สีดาราม เรื่องราวความรักของสีดาและพระรามร่างอวตารของนารายณ์ กรณีตัวอย่างเช่น นายภัทรช่างซักเสื้อ ที่ภรรยาไปดูแลแม่ที่ป่วย นายภัทรได้ไล่ภรรยาออกจากบ้าน เพราะคิดว่าไม่ซื่อสัตย์ ตามกฎสังคมสมัยนั้น นายภัทรจึงเป็นตัวแทนของคนที่ยึดกฎอย่างสมบูรณ์ โดยไม่สนใจเรื่องอะไรทั้งสิ้น ความดื้อด้าน คับแคบ ยึดมั่นกฎที่ดูเหมือนถูกต้อง ทำให้เกิดความล่มสลายของชีวิต ซึ่งเป็นการไตร่ตรองที่ขาดวิ่น ยึดกฎที่ไม่สามารถใช้ในพื้นที่ที่ครอบคลุม ไม่สนใจข้อเท็จจริง ตัดสินเด็ดขาดโดยไม่ไตร่ตรอง หรือกรณีพระรามที่ไล่นางสีดา สะท้อนความเจ็บปวดของการตัดสินใจทำตามกฎ ตามมติ ซึ่งเป็นความเจ็บปวดรวดร้าวของทั้งสองฝ่าย

อ่านต่อ »

ชีวิตคือพิธีกรรม



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 สิงหาคม 2560

เราหลายคนคงเคยสงสัยว่าจักรวาลหรือพระเจ้ามีประสงค์จะให้เราเกิดมาเพื่ออะไร ทำภารกิจอะไร หรือทำไมต้องพบกับอุปสรรคหรือวิกฤตบางอย่างของชีวิต ต้องเจอทุกข์ อิทธิพลของสิ่งต่างๆ ที่อยู่เหนือการควบคุมของเราทำให้ชีวิตแต่ละคนต้องประสบกับความสุข สมหวัง และความทุกข์​ ความเจ็บปวด ความพลัดพราก

ในทางจิตวิทยามีการศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ และทำให้เห็นว่าหลายเรื่องที่เป็นนามธรรมมากจนดูเหมือนไม่สามารถเข้าใจ สามารถแกะรอยหรือถอดรหัสเส้นทางจิตวิญญาณได้ ว่าทำไมเรื่องราวต่างๆ ที่มีผลกระทบทางอารมณ์อย่างรุนแรงจึงเกิดขึ้นกับเรา ธรรมชาติหรือจักรวาลมีแผนการอะไรให้เรา

ในจิตวิทยาเชิงลึก ​(Depth Psychology) ที่ศึกษาธรรมชาติของจิต (psyche) เชิงลึก ซึ่งหมายถึงการทำความเข้าใจจิตไร้สำนึกของมนุษย์ ความฝัน พฤติกรรมที่พึงและไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย เจมส์ ฮิลแมน (James Hillman) เป็นคนที่มีอิทธิพลและมีบทบาทสำคัญในการอธิบายปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาของผู้คนในสังคม เขาเป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดเมล็ดพันธุ์ทางจิต (Acorn Theory) ที่บอกว่า เราแต่ละคนมีเอกลักษณ์หรือธรรมชาติที่จำเพาะในตัวเองมาพร้อมกับการเกิด ไม่ต้องพัฒนา เพียงแค่อาศัยเงื่อนไขบางอย่างให้เมล็ดพันธุ์ได้กะเทาะเปลือกที่ห่อหุ้มอยู่อออกมา ซึ่งอาจจะหมายถึงเหตุการณ์หรือวิกฤตชีวิตที่เกิดกับเราอย่างไม่ทันตั้งตัวหรือคาดคิดมาก่อน

อ่านต่อ »

แม่มดในโลกสมัยใหม่



โดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2560

เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคมที่ผ่านมา ดิฉันได้ไปร่วมการเสวนาวิชาการเรื่อง “การยกระดับภูมิปัญญาพิธีงานปีผีมดสู่มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ในวงเสวนา คุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว นักเขียนผู้มีความรู้ลึกซึ้งในภูมิปัญญาโบราณ ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของแม่มดในสังคมไทย โดยยกหลักฐานอ้างอิงจากเอกสารโบราณมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจากกฎหมาย ตำนาน วรรณกรรม และตำราดาวในสมุดใบลาน สรุปได้ว่าแม่มดหรือที่เรียกตามคำโบราณเพียงสั้นๆ ว่า “มด” อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ไม่เพียงแต่มีในบ้านเราเท่านั้น ในโลกตะวันตก แม่มดก็ปรากฏมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คุณนิพัทธ์พรได้ฉายภาพสไลด์ทิ้งท้ายการบรรยาย เป็นภาพแกะสลักหินโบราณในประเทศฝรั่งเศส อายุกว่าสองหมื่นปี ภาพนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของ Goddess of Laussel (ดูภาพประกอบ) และบอกว่านี่แหละคือภาพของแม่มดในโลกโบราณ พร้อมกับส่งต่อให้ดิฉันเล่าถึงเรื่องราวของแม่มดในโลกตะวันตก

การเสวนาวันนั้น ทำให้ดิฉันได้ทบทวนประสบการณ์ที่มีกับแม่มด ขณะที่ไปศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาวิชาจิตวิญญาณผู้หญิง ที่ California Institute of Integral Studies ในซานฟรานซิสโก ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหัวก้าวหน้าทั้งทางด้านไอทีและด้านการเมืองนี้ ในอีกด้านหนึ่งนับได้ว่าเป็นเมืองหลวงของแม่มดเลยทีเดียว มีแม่มดและพ่อมดจากหลากหลายสายมารวมตัว ใช้ชีวิตเรียนรู้วิถีการปฏิบัติแบบดั้งเดิมร่วมกัน มีกิจกรรมและพิธีกรรมต่างๆ อย่างคึกคักตลอดทั้งปี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสาขาวิชาที่ดิฉันศึกษาก็คือ Starhawk แม่มดสำคัญคนหนึ่งของโลกตะวันตก ผู้ก่อตั้ง Reclaiming ชุมชนของผู้ปฏิบัติสายแม่มดที่ผนวกวิถีการปฏิบัติเข้ากับการทำงานเปลี่ยนแปลงสังคม ดิฉันยังได้เช่าบ้านอยู่ร่วมกับเจ้าของบ้านซึ่งเป็นแม่มดในกลุ่มของ Reclaiming จึงทำให้มีโอกาสได้รู้จักและเรียนรู้วิถีปฏิบัติของแม่มดในโลกยุคใหม่อย่างใกล้ชิด

อ่านต่อ »

Back to Top