ชีวิตคือพิธีกรรม



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 สิงหาคม 2560

เราหลายคนคงเคยสงสัยว่าจักรวาลหรือพระเจ้ามีประสงค์จะให้เราเกิดมาเพื่ออะไร ทำภารกิจอะไร หรือทำไมต้องพบกับอุปสรรคหรือวิกฤตบางอย่างของชีวิต ต้องเจอทุกข์ อิทธิพลของสิ่งต่างๆ ที่อยู่เหนือการควบคุมของเราทำให้ชีวิตแต่ละคนต้องประสบกับความสุข สมหวัง และความทุกข์​ ความเจ็บปวด ความพลัดพราก

ในทางจิตวิทยามีการศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ และทำให้เห็นว่าหลายเรื่องที่เป็นนามธรรมมากจนดูเหมือนไม่สามารถเข้าใจ สามารถแกะรอยหรือถอดรหัสเส้นทางจิตวิญญาณได้ ว่าทำไมเรื่องราวต่างๆ ที่มีผลกระทบทางอารมณ์อย่างรุนแรงจึงเกิดขึ้นกับเรา ธรรมชาติหรือจักรวาลมีแผนการอะไรให้เรา

ในจิตวิทยาเชิงลึก ​(Depth Psychology) ที่ศึกษาธรรมชาติของจิต (psyche) เชิงลึก ซึ่งหมายถึงการทำความเข้าใจจิตไร้สำนึกของมนุษย์ ความฝัน พฤติกรรมที่พึงและไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย เจมส์ ฮิลแมน (James Hillman) เป็นคนที่มีอิทธิพลและมีบทบาทสำคัญในการอธิบายปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาของผู้คนในสังคม เขาเป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดเมล็ดพันธุ์ทางจิต (Acorn Theory) ที่บอกว่า เราแต่ละคนมีเอกลักษณ์หรือธรรมชาติที่จำเพาะในตัวเองมาพร้อมกับการเกิด ไม่ต้องพัฒนา เพียงแค่อาศัยเงื่อนไขบางอย่างให้เมล็ดพันธุ์ได้กะเทาะเปลือกที่ห่อหุ้มอยู่อออกมา ซึ่งอาจจะหมายถึงเหตุการณ์หรือวิกฤตชีวิตที่เกิดกับเราอย่างไม่ทันตั้งตัวหรือคาดคิดมาก่อน


เขายังกล่าวถึงแนวคิด Archetype หรือแบบแผนต้นแบบของชีวิตที่มีอิทธิพลต่อเรา ซึ่งเป็นแรงดึงดูดหรือแรงขับที่ทำให้เรากระทำบางอย่าง เหมือนบทละครที่รอใครสักคนมาเล่น เพื่อความสมดุลและครบถ้วนของระบบนิเวศของชีวิต เช่น บางคนเล่นบทพ่อผู้คุมกฎและมีชีวิตตามเหตุผลหลักการในบ้าน (Rule keeper) มีบทแม่ที่ยินยอมผ่อนตามสามีและลูกๆ มีบทลูกที่ดีที่คอยตามใจพ่อแม่ (Good boy) แล้วมีบทลูกที่ดื้อที่คอยแหกกรอบของครอบครัว (Rebel) คนคนหนึ่งอาจเล่นหลากหลายบท บางบทไปไกลถึงกับติดยา สะท้อนความขาดพร่องในบ้าน เช่น ความใกล้ชิด ความอบอุ่น ความเข้าใจ เป็นต้น แนวคิดนี้มองว่าปัญหาอาจไม่ได้อยู่แค่ตัวคนเล่นบทเหล่านี้ แต่อยู่ที่ระบบนิเวศขาดสมดุล

ในแนวคิด Archetype เป้าหมายการพัฒนาทางจิตวิทยาของมนุษย์คือ การปลดตัวเองออกจากพันธนาการภายในที่ผูกกับความคาดหวังของสังคม (Individuation) ที่ไม่ใช่การต่อต้านหรือเป็นปฏิกิริยากับสังคม (ซึ่งหมายถึงยังไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง) แต่คือการยอมรับธรรมชาติ หรือเอกลักษณ์ หรือธาตุแท้ของตัวเอง แล้วใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมได้ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราเป็นอิสระจากเสียงของสังคมได้อย่างแท้จริงคือ การฟังและทำตามเสียงเพรียกของธรรมชาติภายในตัวเองทีละนิดๆ บางเรื่องเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น อยากเล่นดนตรี เต้นรำ หรือเดินทางไกล ที่อาจนำไปสู่การค้นพบที่มีความหมายและสำคัญต่อตัวเรา เป็นเส้นทางไปสู่สิ่งที่เดวิด ไวท์ กวีชาวไอริชเรียกว่า ความไม่รู้อันยิ่งใหญ่ (The Great Unknown) เขากล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตในวัยกลางคนว่า จะเป็นการเกิดใหม่ที่เป็นของจริง เป็นความสุขอันแท้จริง

โจเซฟ แคมป์เบล (Joseph Campbell) นักปกรณัมวิทยาที่ศึกษาและถอดรหัสเส้นทางชีวิตและจิตวิญญาณของมนุษย์ ผ่านประวัติศาสตร์และปกรณัมวิทยาของวัฒนธรรมหลากหลาย ค้นพบว่า “ชีวิตหามีความหมายใดไม่ เราต่างหากที่นำความหมายมาสู่ชีวิต การตั้งคำถามค้นหาความหมายของชีวิตเป็นการเสียเวลาเปล่า ในเมื่อเราคือคำตอบ...เราต้องพร้อมจะสละแผนการชีวิตที่คิดมาดีแล้ว ถ้าอยากจะค้นพบชีวิตที่รอคอยเราอยู่...ถ้ำที่เรากลัวและไม่กล้าเข้านั่นแหละมีขุมทรัพย์ที่เราค้นหาอยู่...ถ้าชีวิตมีเส้นทางเดินชัดเจนเป็นขั้นๆไป คุณรู้ไหมว่านั่นอาจไม่ใช่เส้นทางของคุณ เพราะเส้นทางของคุณจะเกิดขึ้นได้ทีละก้าวๆ ที่คุณย่ำไป มันถึงเป็นเส้นทางของคุณไง”

ในหนังสือ องค์รวมอันแฝงเร้น (The Hidden Wholeness) ปาร์กเกอร์ ปาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer) ชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนมีชีวิตแปลกแยกกับความปรารถนาลึกๆ และธรรมชาติของตัวเองด้วยเหตุผลที่ดีนานาประการ เช่น เพื่อความมั่นคง ครอบครัว สังคม เป็นต้น แต่แล้ว แต่ละคนจะมีจุดที่เริ่มเบื่อหน่าย ไร้ความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่ หรือสุขภาพเสื่อมถอย ผู้คนห่างหายไปจากชีวิต เป็นเหมือนสัญญาณเตือนให้เราพิจารณาชีวิตที่ผ่านมาว่าซื่อตรงกับธรรมชาติ เป้าหมายแท้จริง และจิตวิญญาณของเราแล้วหรือ บางสัญญาณเตือนอาจมาแบบเบาๆ บ้างก็แรงถึงกับเป็นวิกฤตชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการงานหรือความสัมพันธ์ แรงกระทบเหล่านี้อาจไม่ได้มาโดยบังเอิญ เพราะเชิญชวนให้เราออกนอกเส้นทางที่อาจกำลังไปได้ดีมาสู่การผจญภัยบนเส้นทางที่แท้จริงของเรา บางคนอยากเปลี่ยนงานเพราะบางอย่างเริ่มไม่ใช่ เมื่อลองเปลี่ยนแล้วพลังชีวิตก็ได้รับการเต็มเปี่ยม หรืออาจทำงานด้วยคุณภาพใหม่แบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือก็เป็นได้

ปาล์มเมอร์ยังเสนอว่า สิ่งที่เราจะปรึกษาและพึ่งพาได้ดีที่สุดสำหรับการค้นหาเส้นทางชีวิตที่แท้จริงของตัวเอง คือ หนึ่ง ครูภายใน หรือบางคนเรียกว่าจิตเดิมแท้ หรือจิตธรรมชาติ ที่เราต่างเข้าถึงได้ภายในตัวเรา ครูภายในจะบอกแนวทางได้น่าเชื่อถือที่สุดยิ่งกว่าตำราหรือแนวคิดสูงส่งใดๆ น่ารับฟังกว่าผู้นำหรือสถาบันที่อยู่นอกตัวเรา สอง เราต่างต้องการคนช่วยรับฟัง เชื้อเชิญ ขยายความ และช่วยให้เราแยกแยะเสียงครูภายในออกจากเสียงรบกวนอื่นๆ ด้วยเหตุผล ๓ ประการคือ

๑. การเดินทางสู่ความจริงแท้ภายในจะเรียกร้องเรามากเกินกว่าจะเดินไปลำพังได้ เพราะไม่นานเราจะเหนื่อยล้า หรือหวั่นกลัวแล้วเลิกล้มไปในที่สุด

๒. เส้นทางที่จะเดินก็ไม่ชัดเจน ซ่อนตัวลึกเกินกว่าที่เราจะค้นพบได้โดยลำพัง การพบเส้นทางของตัวเอง เราจำต้องอาศัยการสังเกตอย่างละเอียดเพื่อคลำหาสัญญาณทั้งหลาย และแยกแยะประเมินผ่านการสนทนาที่มีคุณภาพเท่านั้น

๓. ปลายทางอาจน่ากลัวมากเกินกว่าจะไปคนเดียวได้ เราต้องการชุมชนเพื่อช่วยค้นหาความกล้าหาญ แรงบันดาลใจในการฟันฝ่าอุปสรรคระหว่างเดินทางข้ามดินแดนอันแปลกถิ่น

เมื่อวันที่ ​๑๕ กรกฎาคมที่ผ่านมา วัชรสิทธา องค์กรการศึกษาใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นโดยวิจักขณ์ พานิช และคณะ ได้เชิญให้ผมมาสอนเรื่อง “พิธีกรรมแห่งชีวิต Life is a Ritual” ให้กับกลุ่มคนที่สนใจค้นหาความหมายของชีวิตและการเปลี่ยนผ่านเติบโตทางมิติด้านใน

ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้เกิดพลังมากที่สุดคือ การสร้างพื้นที่ให้คนรับฟัง “เสียงเพรียก” จากภายในของตัวเองที่มาในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก ความฝัน ความสนใจ หรือเหตุการณ์ภายนอกที่กระทบชีวิตจนทำให้เราเข้าสู่ “เส้นทาง” จิตวิญญาณ ค่อยๆ ค้นพบความหมายและสืบค้นแรงบันดาลใจที่แท้จริงในการทำงานหรือชีวิตด้วยตัวเอง ที่สำคัญคือ พิธีกรรมเฉลิมฉลองฤดูกาลชีวิตของตัวเอง เป็นการให้คุณค่าและให้เกียรติแก่ชีวิตของแต่ละคนตามที่เป็น ไม่ตัดสินถูกผิดหรือลดค่า แม้แต่ภาวะซึมเศร้าหรือหดหู่หม่นหมองก็เป็นพลังให้เราได้ใกล้ชิดกับความทุกข์และค้นหาสิ่งสำคัญที่อาจขาดหายไปในชีวิตอย่างจริงจัง ไม่หลงใหลไปกับบริโภคนิยมที่เป็นไปอย่างฉาบฉวย

ในแนวคิดวงล้อแห่งพลัง (Medicine Wheel) ทุกสิ่งมีคุณค่าและประโยชน์ในตัวเอง ไม่มีสิ่งใดเป็นส่วนเกินของชีวิต เปรียบดังฤดูกาลทั้งสี่ที่เกี่ยวโยงสนับสนุนกันและกันไปตามวัฏจักร สภาวะต่างๆ เช่น ภาวะสนุกสนาน ตื่นเต้น หดหู่ ซึมเศร้า นิ่งๆ มีแรงบันดาลใจ กระตือรือร้น มุ่งมั่น กล้าเผชิญ ความมืด ความสว่าง ล้วนมีข้อดีในตัวเองและเตรียมเราไปสู่อีกอย่าง หากเราเข้าใจกระบวนการเหล่านี้และดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม แม้ว่าสังคมจะเลือกรักมักชอบเพียงไม่กี่อารมณ์ที่ส่วนใหญ่เป็นด้านบวกมากกว่า เราก็ยังสามารถเลือกที่จะดูแลตัวเองได้อย่างเข้าใจ

การผลัดใบชีวิตในพิธีกรรมสุดท้าย เป็นการสร้างพลังให้กับการให้คุณค่าและรับรู้ฤดูกาลที่ชีวิตแต่ละคนกำลังเป็นไป และที่จะเปลี่ยนไป และเปิดโอกาสให้ทุกคนสละสิ่งมีค่าบางอย่างทิ้งไป เพื่อรับสิ่งใหม่เข้ามา ผมรู้สึกพอใจมากกับจุดเริ่มต้นในการกลั่นกรองความเข้าใจเกี่ยวกับการถอดรหัสเส้นทางจิตวิญญาณของชีวิต และเติบโตทางจิตวิญญาณในช่วงกลางของชีวิตที่อาศัยพื้นที่พิเศษ

อยากทิ้งท้ายด้วยคำกล่าวของแคมป์เบลว่า “พื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์คือที่ที่คุณจะค้นพบจิตวิญญาณอันแท้จริงของตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า”

Back to Top