เมื่อคุณธรรมไม่ใช่ “ไม้เท้าวิเศษ” และต้องการ “ความสร้างสรรค์ทางคุณธรรม



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2560

“คุณธรรมไม่ใช่ไม้เท้าวิเศษ” และต้องการ “ความสร้างสรรค์ทางคุณธรรม” ข้อเสนอสำคัญจากเวทีเสวนา “ปณิธานความดีจากการตั้งใจสู่การปฏิบัติ” ในงานประชุมวิชาการ “คุณธรรมในพื้นที่ทางสังคม: ความงอกงามผ่านประสบการณ์ตรง” ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)

ผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และคุณสิน สื่อสวน ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ดำเนินรายการโดย ดร.นฤมล อรุโณทัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเสวนาครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเรื่องคุณธรรมผ่านมุมมองของศาสตร์ต่างๆ และการปฏิบัติจริง เริ่มจาก ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ นำเสนอปมปัญหาคุณธรรม ว่าเป็นความยุ่งยากซับซ้อนที่ต้องใช้การพิจารณาไตร่ตรอง โดยได้ยกตัวอย่างการถกเถียงทางคุณธรรมจากวรรณกรรม สีดาราม เรื่องราวความรักของสีดาและพระรามร่างอวตารของนารายณ์ กรณีตัวอย่างเช่น นายภัทรช่างซักเสื้อ ที่ภรรยาไปดูแลแม่ที่ป่วย นายภัทรได้ไล่ภรรยาออกจากบ้าน เพราะคิดว่าไม่ซื่อสัตย์ ตามกฎสังคมสมัยนั้น นายภัทรจึงเป็นตัวแทนของคนที่ยึดกฎอย่างสมบูรณ์ โดยไม่สนใจเรื่องอะไรทั้งสิ้น ความดื้อด้าน คับแคบ ยึดมั่นกฎที่ดูเหมือนถูกต้อง ทำให้เกิดความล่มสลายของชีวิต ซึ่งเป็นการไตร่ตรองที่ขาดวิ่น ยึดกฎที่ไม่สามารถใช้ในพื้นที่ที่ครอบคลุม ไม่สนใจข้อเท็จจริง ตัดสินเด็ดขาดโดยไม่ไตร่ตรอง หรือกรณีพระรามที่ไล่นางสีดา สะท้อนความเจ็บปวดของการตัดสินใจทำตามกฎ ตามมติ ซึ่งเป็นความเจ็บปวดรวดร้าวของทั้งสองฝ่าย


ความดีจึงเป็นเรื่องละเอียดที่ต้องไตร่ตรอง และไม่ใช่ “ไม้เท้าวิเศษ” ที่แก้ไขได้ทุกปัญหาแบบเครื่องมือสำเร็จรูป แต่ต้องพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมของชีวิต วัฒนธรรม เศรษฐกิจการเมือง ดังนั้น คุณธรรมจึงเป็นเรื่องมีคุณค่า ซับซ้อน และสำคัญ ในการสร้างพลังของคุณธรรมได้จริง โจทย์ของคุณธรรมคือ ความซับซ้อนย้อนแย้ง และต้องมองกลับมาในชีวิตประจำวัน

ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด
เสนอให้พิจารณาเรื่องคุณธรรมโดยคำนึงถึง “ความสร้างสรรค์ทางคุณธรรม” (Moral creativity) ซึ่งเป็นภารกิจของคนทุกรุ่น และเป็นความหวังต่อคนรุ่นใหม่ในการตั้งคำถามเรื่องคุณธรรม

ในทางเศรษฐศาสตร์ คุณธรรมคือวิวัฒนาการสำคัญให้คนเกิดความร่วมมือ ดูแลรักษาเป็นสังคมที่ใหญ่ขึ้น การอยู่ร่วมกัน จะมีกลุ่มที่แสวงหาประโยชน์เฉพาะตน (Free rider) คุณธรรมจึงเป็นตัวกำกับ แต่ก็เกิดคำถามทางสองแพร่ง (Dilemma) ขึ้นมา เมื่อมนุษย์เกิดตั้งคำถามทั้งทางศาสนาและทางสังคม เช่น มาร์ติน ลูเทอร์ (Martin Luther) ที่ตั้งคำถามว่า คนสามารถสื่อสารกับพระเจ้าโดยตรงหรือต้องผ่านการเชื่อมต่อ ตามมาด้วย มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) ตั้งคำถามว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่พระเจ้ายอมรับได้หรือไม่ นำมาสู่การต่อสู้เพื่อมนุษยธรรม สิทธิ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของ “ความสร้างสรรค์ทางคุณธรรม”

แนวคิดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นคุณธรรม แบ่งเป็นหลายกลุ่ม ความแตกต่างทำให้ยากที่จะสร้างข้อตกลง เช่น เรื่องสวัสดิการสังคม ซึ่งกลุ่มคนจนมีแนวโน้มใช้สวัสดิการของรัฐมากกว่าคนรวย เมื่อให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็น พบว่ามีการแบ่งเป็นหลายกลุ่ม กลุ่มที่ ๑ คือ กลุ่มที่พอใจที่คนจนใช้ประโยชน์มากกว่าคนรวย เพราะแสดงว่ารัฐให้ความสำคัญกับการดูแล กลุ่มที่ ๒ ไม่พอใจ เนื่องจากคิดว่าสวัสดิการของรัฐที่คนรวยไม่ใช้ หมายความว่าเป็นสวัสดิการที่ไม่ดีจริง เพราะถ้าดีจริงทุกคนต้องใช้ กลุ่มที่ ๓ คือกลุ่มที่คิดว่าเหมาะสมที่ให้คนจนใช้ เพราะถ้าคนรวยแล้วจะมาใช้สวัสดิการของรัฐทำไม และกลุ่มที่ ๔ คือกลุ่มที่แสดงความเห็นว่า สวัสดิการของรัฐทำให้คนจนช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องการ “การถกแถลงทางคุณธรรม” (Moral dialogue) ต้องมีเวทีพูดคุยกันว่าอะไรคือสิ่งที่ยอมรับได้ อะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็น

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นำเสนอประเด็นคุณธรรมว่าจะเป็นตัวแปรในการเปลี่ยนประเทศได้อย่างไร โดยจากประสบการณ์ แนวคิดสำคัญที่ครูกับพระสอนเหมือนกันคือ เอาดีออกอวด แต่อย่าอวดดี ในการดำเนินงานโครงการสนองพระราชดำรินั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงคิดทฤษฎีใหม่ที่มีตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ที่แตกต่าง มีคุณธรรมที่แตกต่าง เน้นให้เกิดการเรียนรู้จากการลงมือทำ ซึ่งช่วงแรกอาจไม่มีคนเข้าใจ แนวคิดการทำกสิกรรมธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียงนั้นต้องทำด้วยความอดทน ทำแบบคนจนแล้วประเทศจะรวย ถ้าไม่พอก็ทำให้พอ พอมีมากแล้วก็รู้จักพอ และไม่ต้องแข่งขันแย่งชิง ให้แบ่งปัน หลักการของเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อสรุปเป็นสามคำสั้นๆ ได้แก่ ทำให้พอ รู้จักพอ และแบ่งปัน โดยสิ่งสำคัญในการดำเนินงาน คือความกล้าหาญทางจริยธรรม การเผชิญ และเรียนรู้จากปัญหา

นายสิน สื่อสวน นำเสนอผลการตั้งปณิธานความดีของคนในสังคมไทย ที่ประมวลผลโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) โดยจำแนกตามช่วงวัย (เจนเนอเรชั่น) ซึ่งพบว่าทุกช่วงวัยตั้งปณิธานเรื่องความพอเพียงมากที่สุด และผลการตั้งปณิธานสะท้อนว่าเมื่อวัยเพิ่มขึ้น พื้นที่ในการตั้งใจทำความดีจะขยับขยายมากขึ้นตามไปด้วย จากบุคคลสู่ครอบครัว กลุ่ม/องค์กร และสังคม

อย่างไรก็ตาม การลงมือทำตามปณิธานนั้นต้องเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์อีกหลายมิติ และขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง ซึ่งมีโจทย์ที่สังคมต้องพูดคุยกัน เช่น ความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ตัวตน ซึ่งทุกคนต้องร่วมกันหาคำตอบ เพื่อยกระดับเรื่องคุณธรรมและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางพฤติกรรมและจิตสำนึกต่อไป

ภาพรวมของเวทีเสวนานี้จึงมีความสำคัญในแง่ที่ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของเรื่องคุณธรรม ทั้งในเชิงประเด็น และกระบวนการส่งเสริม ที่ต้องให้ความสำคัญกับความซับซ้อนและความหลากหลายของกลุ่มคนในสังคม และเสนอถึงทิศทางของการขับเคลื่อนงานด้านคุณธรรมว่า ไม่มี “ไม้เท้าวิเศษ” ที่เป็นคำตอบสำเร็จรูปในการทำงานส่งเสริมคุณธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม แต่สิ่งสำคัญ คือการเปิดพื้นที่ของ “การถกแถลงทางคุณธรรม” (Moral dialogue) ผ่านเวทีพูดคุยสร้างข้อตกลงร่วมกัน และลงมือปฏิบัติ การขับเคลื่อนคุณธรรมในสังคมจึงจะเกิดขึ้นจริง และเป็นการขับเคลื่อนที่มีความสร้างสรรค์

Back to Top