กรกฎาคม 2012

พื้นที่ฝึกเพื่อการตื่นรู้



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2555

โครงสร้างองค์กรที่แบ่งหน้าที่การทำงานและความรับผิดชอบเป็นฝ่ายต่างๆ มักทำให้เกิดปัญหาการ “แบ่งแยก” ที่ทำให้เกิดภาวะต่างฝ่ายต่างทำแบบเอาตัวรอดและปกป้องตัวเอง ปิดกั้น ไม่เปิดเผยข้อมูลรอบด้าน มองเฉพาะมุมของตัวเอง ขาดการช่วยกันคิด ทำให้ปัญหาแบบเดิมๆ เกิดขึ้นซ้ำๆ ภาวะการแบ่งพรรคแบ่งพวกยิ่งทำให้บรรยากาศการทำงานเต็มไปด้วยความขัดแย้งและหวาดระแวง โดยต่างฝ่ายต่างตีความและตัดสินตามมุมมองของตัวเอง หัวหน้าก็ไม่รับรู้มุมมองและปัญหาที่แท้จริงของลูกน้อง ด้วยอำนาจที่กดข่มและทำให้เกรงกลัว ภาวะต่างคนต่างเอาตัวรอด ใช้พลังชีวิตและทรัพยากรขององค์กรอย่างสิ้นเปลือง และมีผลกระทบในวงกว้างถึงผู้ได้รับบริการจากองค์กรนั้นๆ ด้วย

องค์กรส่วนใหญ่พยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อลดช่องว่างระหว่างทีม และเชื่อมส่วนย่อยต่างๆ ให้เข้ามาหากัน มีตั้งแต่การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์เพื่อเชื่อมสัมพันธ์กันเป็นครั้งคราว ไปจนถึงการจัดกิจกรรมเสริมสร้างวิสัยทัศน์ร่วมและเพิ่มความสามัคคีในทีม ทั้งในและนอกสถานที่ เป็นเวลานานบ้างสั้นบ้างตามแต่โอกาสและทรัพยากรจะเอื้ออำนวย นี่ยังไม่รวมถึงการจัดกิจกรรมพัฒนาจิตในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การปฏิบัติธรรมเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ดีต่อชีวิตและต่อกันและกัน รวมถึงการจัดฝึกอบรมผู้นำในระดับต่างๆ นับตั้งแต่ผู้อำนวยการ ผู้จัดการ และหัวหน้างาน ให้มีทักษะและวิธีการในการเป็นโค้ชในการพัฒนาทีมงานให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาไปข้างหน้า

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นวิธีที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรทั้งสิ้น เพราะอย่างน้อยก็ช่วยให้เกิด “ความสามัคคีชั่วคราว” ที่ช่วยยืดอายุและต่อชะตากรรมของทีมให้ผ่านพ้นไปได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพราะหลายๆ คนเมื่อได้กิจกรรมเหล่านี้จะเกิด “ความรู้สึกที่ดีต่อกัน” และมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง แต่โจทย์ระยะยาวคือการธำรงรักษาทัศนคติที่ดี และทักษะการสื่อสารและการทำงานร่วมกันให้ดำเนินไปอย่างยั่งยืนในเวทีของการทำงานจริง ท่ามกลางภาระงานที่เพิ่มขึ้น เงื่อนไขงานที่รุมเร้าและบีบคั้นมากขึ้นเรื่อยๆ การสร้างความเป็นทีมจำต้องเกิดขึ้น ณ จุดกระทบหน้างาน ดังคำถามของกระบวนกรด้านการสร้างองค์กรเรียนรู้ระดับนานาชาติ แดน โฮแกน กล่าวว่า “ในการสร้างความเป็นทีม นักฟุตบอลมืออาชีพจะใช้วิธีการไปกินเลี้ยงหรือเล่นเกมสนุกกันหรือไม่? คำตอบคือ ไม่ พวกเขาฝึกซ้อมกันในพื้นที่จริง”

สิ่งที่สำคัญคือการสร้าง “พื้นที่ฝึก” ให้กับผู้นำระดับต่างๆ ขององค์กรให้ได้มีโอกาสมาฟื้นพลัง และความสัมพันธ์ของตัวเองและคนในทีมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถปรับเปลี่ยนทั้งมุมมองและการกระทำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้จริง พื้นที่ฝึกเช่นนี้มีอยู่ในธรรมเนียมปฏิบัติของกีฬาและศิลปะการป้องกันตัวทุกชนิดที่มองเห็นความสำคัญอันยิ่งยวดของการพัฒนาที่ต่อเนื่องเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่แน่นอน แม้แต่ชุมชนทางศาสนาเองก็ยังเห็นความสำคัญของการพัฒนา “ทักษะและความสัมพันธ์” ในการอยู่ร่วมแบบสังฆะด้วยการลงอุโบสถเพื่อร่วมกันตรวจสอบศีลและวินัยให้หมดจดและเปิดเผย การขัดเกลาตัวเองให้เจริญในสมาธิและปัญญายิ่งๆ ขึ้นไป นี่ขนาดนักบวชที่ไม่มีเป้าหมายทางโลก ยังสามารถพลาดพลั้งกันได้และจำต้องมีการขอขมา ให้อภัยและตักเตือนกันได้เดือนละครั้ง ชาวเราท่านที่เป็นปุถุชนและมีภารกิจทางโลกมากมาย มิจำต้องมีการชำระใจและปรึกษาหารือในกิจที่พึงกระทำร่วมกันให้บ่อยกว่าหรือ

ในศิลปะการต่อสู้แบบไอคิโด เรียก “พื้นที่ฝึก” ในภาษาญี่ปุ่นนี้ว่า “โดโจ” หมายถึง “พื้นที่เพื่อการตื่นรู้” ด้วยเชื่อว่าพฤติกรรมเดิมๆ ที่เป็นอัตโนมัตินั้นยากที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข นอกเสียจากมีความตั้งใจและความหมั่นเพียรในการฝึกฝน และที่สำคัญมี “พื้นที่ฝึก” และมี “ชุมชนปฏิบัติ” ที่จะช่วยเหลือให้เกิดการพัฒนาและความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง ผ่านการลงมือและเผชิญกับความขัดแย้งอย่างอย่างแท้จริง

ในช่วงระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา การที่ผมได้มีโอกาสในการจัดหลักสูตรพัฒนาองค์กรและภาวะผู้นำ ร่วมผ่านกระบวนการไดอะล็อก (Dialogue) ให้กับหน่วยงานต่างๆ ทำให้เรียนรู้และมองเห็นองค์ประกอบที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาองค์กรคือมนุษย์ ที่จำต้องพัฒนามิติดังต่อไปนี้ ๑) ความรู้และทักษะในงานที่ทำ ๒) ความรู้จักตนและความสามารถในการจัดการตัวเอง ๓) ความรู้และทักษะใน การสื่อสารเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

โดยสองประการสำคัญหลังนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีการพัฒนาที่ต่อเนื่องและลงลึก จึงต้องมีการสร้าง “พื้นที่” หรือ “โดโจ” ภายในองค์กรเองเพื่อสนับสนุน บ่มเพาะ เกื้อกูลผู้นำองค์กรให้ได้มีโอกาสพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่องจนเกิดความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม

กล่าวโดยสรุปคือ ปัญหางานส่วนใหญ่ในองค์กรนอกจากเป็นปัญหาเชิงระบบ และการขาดทรัพยากร ความรู้ความสามารถที่เหมาะสม ยังเป็นปัญหาในมิติของ “คน” ไม่ว่าจะเป็นการขาดความสัมพันธ์ที่ดี และกระบวนการในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่สร้างความเข้าใจที่ดี รวมถึงการประชุมอย่างมีส่วนร่วมและการประสานงานที่ดีอีกด้วย

สิ่งที่หลายๆ องค์กรต้องการอาจจะไม่ใช่การนำเข้า“ความรู้ใหม่” หรือ “ผู้เชี่ยวชาญ” จากภายนอก หากเป็นการค้นหาและกู้คืนสายสัมพันธ์ที่ขาดหายไปพร้อมๆ กับจิตร่วมที่จะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ โดยอาศัยต้นทุนสะสมเดิมที่มีอยู่แล้วในประสบการณ์การทำงาน บนพื้นฐานของสติและปัญญาของคนภายในองค์กรเอง และเมื่อนั้นความขัดแย้งก็จะแปรเปลี่ยนไปสู่ความเข้าใจ ปัญหาทั้งหลายก็จะกลายเกิดเป็นปัญญา

ถอดชนวนมิคสัญญีกลียุค


โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2555

กระแสการแบ่งข้างแบ่งขั้วและกระพือความเกลียดชังระหว่างกันอย่างรุนแรง ได้สร้างความวิตกกังวลให้ผู้คนจำนวนมากว่าสังคมไทยอาจจะหลุดเข้าไปสู่สภาวะมิคสัญญีกลียุค ที่คนไทยจะฆ่ากันตายเป็นหมื่นเป็นแสน ดังที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่น เช่น สงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา คนตายกว่าห้าแสนคน การสู้รบระหว่างสิงหลกับทมิฬในศรีลังกา คนตายไปหลายหมื่นคน การปราบปรามคอมมูนิสต์ในอินโดนีเซีย สังหารผู้คนไปกว่าห้าแสนคน การปะทะกันระหว่างเผ่าฮูตูและทุตซีในรวันดาภายในสามเดือน คนตายไปกว่าแปดแสนคน

เมื่อวิตกกังวลแล้วเราควรทำอะไร ข้อเสนอแนะคือ

๑. คิดว่าผลทุกอย่างมีเหตุเป็นแดนเกิด เมื่อมีเหตุอย่างใดก็มีผลอย่างนั้น มันเป็นเช่นนั้นเอง หรือตถตา การวิตกกังวลไม่ช่วยให้เหตุการณ์ดีขึ้น แต่การคำนึงถึงเหตุจะช่วย

๒. ถ้าสังคมเป็นส่วนรวมไม่ปรารถนาให้เกิดความรุนแรง ก็จะเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งที่ช่วยระงับยับยั้งความรุนแรง

๓. เหตุใกล้ที่เป็นชนวนให้เกิดความรุนแรง คือการกระพือกระแสความเกลียดชังระหว่างกัน การกระพือความเกลียดชังกับการแสดงเหตุผลหรือเหตุปัจจัยของปัญหาไม่เหมือนกัน

พระพุทธองค์ตรัสว่า “การชมหรือการติเตียนไม่ใช่ธรรมะ ธรรมะคือการรู้ว่าอะไรทำให้เกิดอะไร” การชมหรือการติเตียนเป็นการตายตัว เช่นไอ้นี่ดีถ่ายเดียว ไอ้นี่เลวถ่ายเดียว ซึ่งไม่ใช่ความจริง ความจริงคืออะไรทำให้เกิดอะไร หรือความเป็นเหตุเป็นผล หรือกระแสของเหตุปัจจัย การกระพือความเกลียดชังทำให้เกิดอารมณ์และนำไปสู่ความรุนแรงได้ ขณะที่การแสดงความเป็นเหตุเป็นผลของปัญหาทำให้เกิดปัญญา ปัญญาร่วมของคนจำนวนมากจะนำไปสู่การแก้ปัญหายากๆ ได้

ปัจจุบันมีช่องทางสื่อสารมากมาย เรียกว่าเข้าถึงทุกคนได้ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ผู้สื่อสารทั้งหมดสามารถถอดชนวนมิคสัญญีกลียุคได้โดยงดเว้นการกระพือความเกลียดชังระหว่างกัน แต่สื่อความเป็นเหตุเป็นผลของเรื่องราวเหตุปัจจัยต่างๆ ถึงเวลาที่คนไทยเราจะต้องมีจิตใหญ่ รักเพื่อนมนุษย์ทั้งหมด ไม่มีใครสองคนเหมือนกันแม้แต่ลูกแฝดไข่ใบเดียวกัน แต่ละคนมีความชอบไม่ชอบอะไรแตกต่างกันไปตามฐานะและเหตุปัจจัย ฉะนั้นไม่ว่าใครจะรักทักษิณ จะเกลียดทักษิณ จะสีแดง สีเหลือง สีอื่น ไม่มีสี จะนิยมสถาบัน ไม่นิยมสถาบัน ไม่ถึงเป็นเหตุให้เราเกลียดเขา เพราะลึกที่สุดแล้ว เขาเป็นเพื่อนคนไทยของเรา เป็นเพื่อนมนุษย์ของเรา

การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเป็นศีลธรรมพื้นฐานของสังคม

วิกฤตใหญ่เป็นการทดสอบคนชาติไทย ถ้าเราสามารถใช้วิกฤตที่ปริ่มๆ มิคสัญญีกลียุค พลิกจิตเล็กให้เป็นจิตใหญ่ หลุดพ้นจากความเกลียดชังไปสู่ความรักเพื่อนมนุษย์ทั้งหมด ไม่สื่อสารความเกลียดชัง แต่สื่อสารความเป็นเหตุเป็นผล เราก็อยู่ในฐานะที่จะสร้างประเทศที่เป็นธรรมเป็นไทได้

๔. เหตุไกลที่พาสังคมไทยมาติดกับคือการคิดเชิงอำนาจ การคิดเชิงอำนาจนี้เป็นไปอย่างทั่วถึง ทั้งในครอบครัว ในโรงเรียน ในองค์กรต่างๆ และในสังคม คือคิดใช้อำนาจจากบนลงล่างี่เรียกว่าท็อปดาวน์ การใช้อำนาจกับการเรียนรู้จะเป็นปฏิภาคกัน คือที่ไหนใช้อำนาจมากจะมีการเรียนรู้น้อย การคิดเชิงอำนาจได้สร้างโครงสร้าง ทั้งโครงสร้างในสมอง และโครงสร้างทางสังคมและพฤติกรรม ที่ทำให้สังคมไทยมีสมรรถนะต่ำแต่มีความไม่เป็นธรรมสูง กล่าวคือสมองของมนุษย์ส่วนหลังนั้นมาจากสัตว์เลื้อยคลาน ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเอาตัวรอด เช่นหลบภัยและการต่อสู้ ส่วนสมองส่วนหน้านั้นเกี่ยวกับสติปัญญา วิจารณญาณ และศีลธรรม การใช้อำนาจจะไปกระตุ้นสมองส่วนหลัง การเรียนรู้จะกระตุ้นสมองส่วนหน้า สังคมที่ใช้อำนาจมากแต่เรียนรู้น้อย จึงมีสมรรถนะและศีลธรรมต่ำ

โครงสร้างของสถาบันต่างๆ ในสังคมล้วนเป็นโครงสร้างทางดิ่ง คือโครงสร้างอำนาจจากบนลงล่าง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางการเมือง ราชการ การศึกษา ธุรกิจ หรือศาสนา เมื่อเป็นโครงสร้างอำนาจก็มีการเรียนรู้น้อย สมรรถนะต่ำ และพฤติกรรมเบี่ยงเบน

สังคมที่คิดเชิงอำนาจและมีโครงสร้างเชิงอำนาจ เมื่อมีสมรรถนะต่ำและศีลธรรมไม่แข็งแรง จะไม่สามารถเผชิญกับความซับซ้อนของสังคมปัจจุบันได้ เป็นผลให้เกิดสังคมที่ไม่เป็นธรรม มีความเหลื่อมล้ำมากเกิน สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมากเกินจะมีปัญหาต่างๆ ทางสุขภาพและทางสังคม เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาทางเพศ ปัญหาวัยรุ่น ความขัดแย้ง ความรุนแรง รวมทั้งปัญหาทางการเมือง ความรุนแรงทางการเมืองมีต้นตอมาจากสังคมที่ขาดความเป็นธรรม สังคมที่ขาดความเป็นธรรมเกิดจากคิดเชิงอำนาจและโครงสร้างอำนาจ อันเป็นเรื่องลึกและยาก ซึ่งต้องการการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน ถ้าเราจะถอดชนวนเบื้องลึกของการเกิดมิคสัญญีกลียุค

๕. การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานสามประการ วัตถุประสงค์ของจิตวิวัฒน์เพื่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) เมื่อเรื่องที่ติดขัดเป็นเรื่องระดับจิตสำนึกและโครงสร้างอำนาจ การพัฒนาเล็กๆ น้อยๆ แบบแต่งโน่นนิดนี่หน่อยจึงไม่เพียงพอ แต่ต้องการการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในสามระดับคือ

  • การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตน (Personal Transformation)
  • การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในองค์กร (Organizational Transformation)
  • การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในสังคม (Social Transformation)

การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานเป็นคุณสมบัติของมนุษย์เท่านั้น สัตว์อื่นไม่มี เพราะมนุษย์มีสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับสติปัญญาในเรื่องที่ซับซ้อน วิจารณญาณ ศีลธรรม ความเห็นใจผู้อื่น และการอยากทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งรวมเรียกว่าหัวใจของความเป็นมนุษย์

ถ้าจะพูดให้แรง การคิดเชิงอำนาจเป็นการใช้สมองขั้นต่ำหรือสมองของความเป็นสัตว์ การใช้สมองของความเป็นสัตว์ได้พาเรามาติดกับแล้ว ไปต่อไปโดยคิดแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว ต้องเปลี่ยนเกียร์สมองไปใช้สมองส่วนหน้าหรือสมองของความเป็นมนุษย์ นั่นคือถอนตัวจากการคิดเชิงอำนาจไปใช้สติปัญญาและหัวใจของความเป็นมนุษย์ เกิดความสัมพันธ์ใหม่ ทั้งในองค์กรและในสังคม

โดยสรุป ต้องมีการปฏิรูปจิตสำนึกและปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ (ขอดูรายละเอียดได้จากสำนักงานปฏิรูป) จึงจะไปพ้นวิกฤตได้

เรื่องธรรมดา?



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2555





ระหว่างเดินไปที่ทำงาน ข้าราชการท่านหนึ่งก็มีเหตุที่ทำให้ขวัญเสียแต่เช้า เมื่อเด็กนักเรียนที่เดินอยู่ด้านข้างถูกทุบด้วยท่อนไม้เข้าที่ศีรษะ ก่อนจะถูกชกซ้ำด้วยสนับมือเข้าที่หน้าอีกหลายครั้ง

ช่วงเย็น หลังเลิกเรียน ในรถโดยสารประจำทาง นักศึกษาคนหนึ่งกำลังเดินทางกลับบ้าน นั่งไปได้สักพักก็ประสบเหตุที่ทำให้ตกใจจนมือไม้อ่อน เมื่อนักเรียนกลุ่มหนึ่งวิ่งขึ้นมาบนรถ วางมีดและไม้ในมือกองไว้ระเกะระกะ ก่อนชะโงกหน้ามองคู่อริที่วิ่งตามรถมาอย่างไม่ลดละ จนถึงป้ายจอดรถอีกแห่ง พอรถหยุดก็คว้ามีดไม้โดดลงจากรถลงไปตีรันฟันแทงกันอีกรอบ

ช่วงหัวค่ำ ในร้านอาหารสำหรับครอบครัวบริเวณเขตพื้นที่ใจกลางเมือง ลูกค้านั่งประจำโต๊ะเกือบเต็มร้าน เมื่อเสียงปืนดังขึ้น ๒ นัด วัยรุ่นชายคนหนึ่งวิ่งกุมท้องมาที่หน้าร้านบอกว่าถูกยิง มีคนชี้ให้ไปหลบในที่จอดรถติดกับข้างร้าน ลูกค้าทั้งหมดทั้งเด็ก ผู้หญิง และคนแก่ ต้องก้มตัวลงหลบอยู่ด้านล่าง เพราะไม่รู้ว่าลูกกระสุนปืนจะหลงทางเข้ามาจากทางไหน มีเสียงคนวิ่งเข้ามาทางหลังร้าน และได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีกนัด

เหตุการณ์เหล่านี้คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง กับลูกหลาน กับคนที่เรารู้จัก แม้แต่กับคนที่เราไม่รู้จัก เราก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อเหตุ หรือเหยื่อจากเหตุการณ์ และที่สำคัญเราไม่อยากให้เด็กและเยาวชน – อนาคตของสังคม – เข้ามาเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ความรุนแรง เพราะความสูญเสียนั้นย่อมทวีคูณขึ้น ไม่ว่าจะมองจากมุมมองของผู้ก่อเหตุ และมุมมองของเหยื่อ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราไม่อยากให้เกิด แต่ได้เกิดขึ้นก็คือ เด็กและเยาวชนของเราที่กระทำความผิดและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมีจำนวนสูงถึง ๓๕,๐๔๙ คดี ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ จากสถิติของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งหมายถึง เฉลี่ยวันละ ๙๖ คดี หรือเฉลี่ยทุกชั่วโมงจะมีคดีเด็กและเยาวชนเกิดขึ้น ๔ ครั้ง อาจจะเรียกได้ว่าทุก ๑๕ นาทีก็ว่าได้ – สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา?





เด็กหรือวัยรุ่นชายอายุราว ๑๕ – ๑๘ ปี จบและหรือไม่จบมัธยมศึกษาตอนต้น ทั้งที่พ่อแม่อยู่ด้วยกันหรือแยกกันอยู่ ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะกระทำความผิดมากที่สุด โดยลักษณะฐานความผิดจากสถิติช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๕๔ สามอันดับแรกเรียงจากมากไปน้อยคือ ยาเสพติด เกี่ยวกับทรัพย์ และเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ทั้งนี้ มีลักษณะของการใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปี

มนุษย์เด็กเหล่านี้คงไม่ได้เกิดมาด้วยดีเอ็นเอหรือเจตนาที่จะกระทำความผิด การทำความเข้าใจต่อเหตุปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนย่อมมีความสำคัญอย่างมาก ไม่เช่นนั้น เราอาจจะด่วนสรุปไปว่าลูกหลานของเราผิดพลาดเพราะคบเพื่อนไม่ดี แล้วเราก็จะไปจัดการเหตุของความเสี่ยงด้วยการเลือกเพื่อนให้ลูก ด้วยการวิ่งเต้นหาโรงเรียนดี-ดีให้ลูกเรียน ไม่ว่าจะด้วยวิธีการต่างๆ นานาที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาใหม่ เช่น การจ่ายแป๊ะเจี๊ยะ ที่ทำให้ลูกเราได้ที่เรียน ทำให้ลูกคนอื่นต้องกระเด็นออกไป เป็นต้น

น่าสนใจที่ว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งหนึ่ง ซึ่งขอให้เด็กและเยาวชนช่วยกันระบุพื้นที่ปลอดภัยบนแผนที่ชุมชน ปรากฏว่า บ้านและโรงเรียนไม่ได้ถูกระบุให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กและเยาวชนเลย – เกิดอะไรขึ้นกับสถาบันทางสังคมทั้ง ๒ แห่ง ซึ่งถูกคาดหวังให้เป็นกลไกในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคตของเรา?

หากมองในแง่ของความสัมพันธ์ บ้านและโรงเรียนถือว่าเป็นพื้นที่ของการใช้อำนาจ แต่เป็นอำนาจของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู และส่งผ่านเป็นความรุนแรงในระดับจิตใต้สำนึกให้กับลูกหลานของเรา ไม่น่าแปลกใจเลยสำหรับเด็กและเยาวชนในวัยที่ต้องการแสดงตัวตน ต้องการการยอมรับ จึงต้องแสวงหาการยอมรับจากเพื่อน-ในฐานะของคนที่มีอำนาจเสมอหรือใกล้เคียงกัน แสวงหาพื้นที่ของการแสดงตัวตนบนท้องถนน และปรากฏตัวออกมาในรูปของการใช้ความรุนแรงทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ด้วยการใช้สุรา ยาเสพติด ลักทรัพย์ มีเพศสัมพันธ์อย่างไร้ความหมายและปราศจากความเคารพต่อกัน ซิ่งรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ยกพวกตีกันหรือไล่ยิงฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่บาทวิถีไปจนถึงบนรถเมล์ ฯลฯ

การตีหรือลงโทษลูกหลานด้วยเหตุเล็กน้อยถือเป็นการแสดงความรุนแรงทางกาย การดุด่าว่ากล่าวหรือลงโทษด้วยการเมินเฉยไม่พูดจากับเด็กถือเป็นการแสดงความรุนแรงทางจิตใจ การเพิกเฉยต่อการตำหนิติเตียนอย่างเหมาะสมเมื่อลูกของตนกระทำผิดถือเป็นการแสดงความรุนแรงทางปัญญา การปล่อยให้คุณภาพสังคมเลวร้ายเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบแม้จะเป็นไปเพื่อลูกของตน แท้จริงแล้วเป็นการเบียดเบียนลูกคนอื่น – อนาคตของสังคมร่วมกัน – นี้ถือเป็นเรื่องธรรมดา?





ความรุนแรงในเด็กและเยาวชน และหรือความผิดปรกติในสังคม หลายครั้งคือการมองสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาของความวิปริตบิดเบี้ยว มองเห็นความรุนแรงหรือความผิดปรกติเป็นเรื่องปรกติธรรมดา นั่นหมายความว่า เราอาจจะต้องตรวจสอบความเป็นปรกติธรรมดาทั้งหลายให้มากขึ้น ก็เพราะความปรกติธรรมดาเหล่านี้มิใช่หรือ เราจึงดำรงอยู่ในโลกและสังคมที่ไม่พร้อมรับความขัดแย้งแต่พร้อมจะใช้ความรุนแรงกระทำต่อกันทุกเมื่อเชื่อวัน

จำเป็นเหลือเกินที่เราจำต้องทบทวนตรวจสอบคุณค่าหรือค่านิยมที่ดำรงอยู่ด้วยความพินิจใคร่ครวญมากขึ้น ชะงักงันมากขึ้น คิดให้มากขึ้น สัมผัสความรู้สึกอย่างลึกซึ้งมากขึ้น หากจะกล่าวว่า “มันเป็นเรื่องธรรมดา”

จิตเปลี่ยน เมื่อเลิกทึกทักไปเอง


โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2555

ในสังคมที่เร่งด่วน มนุษย์ต้องตัดสินใจเร็ว

หากใครได้มีโอกาสดูภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Home จะเห็นอัตราเร่งของวิวัฒนาการของ “บ้าน” คือดาวโลกดวงนี้ จากยุคที่มีแต่แร่ธาตุ จนถึงยุคที่มนุษย์ได้ถือกำเนิดมา ยิ่งเมื่อมนุษย์เปลี่ยนวิถีการผลิตจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม ความเร็วในการเปลี่ยนแปลงยิ่งทวีคูณ

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิตอลที่มีคอมพิวเตอร์เป็นเทคโนโลยีในการผลิต ความเร่งด่วนปรากฎชัดในระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ที่เอื้อให้เกิดการส่งข่าวสารข้อมูลอย่างรวดเร็ว และการตอบสนองทันทีในแบบจอสัมผัส ความรวดเร็วเช่นนี้ส่งผลทั้งแง่ดีและแง่ลบต่อจิตมนุษย์

แง่ดีคือมนุษย์ที่เกิดมาในยุคนี้มีสมองที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว เพราะได้รับการกระตุ้นให้ทำงานอยู่เสมอ จิตมนุษย์จึงมีความคล่องแคล่วและปราดเปรียว หากเปรียบสมองเหมือนรถ และจิตเหมือนคนขับ เมื่อรถมีเครื่องแรง คนขับก็เร่งได้เต็มที่ เช่นกันเมื่อสมองมนุษย์มีพัฒนาการมาก จิตมนุษย์ก็ทะยานไปทำงานได้อย่างเต็มที่ แง่ลบคือ ยิ่งจิตมนุษย์ทำงานเร็วเท่าไร มนุษย์ยิ่งมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดมากขึ้นเท่าๆ กัน

มนุษย์ใช้ “การทึกทัก” (Assumptions) เป็นระบบประมวลผลอัตโนมัติของจิต ประสบการณ์เป็นตัวป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบ และส่งผลลัพธ์ออกมาเป็นการตีความ คำพูด และพฤติกรรมตอบโต้ ด้วยความเร่งด่วนของสังคมยุคดิจิตอล การทึกทักจึงจำเป็นต่อการตัดสินประสบการณ์ต่างๆ ให้รวดเร็วทันต่อความเร่งด่วน

เราทึกทักไปเองว่าใครเร็วใครได้

เราทึกทักไปเองว่าเงิน อำนาจ เซ็กส์ คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสุข

เราทึกทักไปเองว่าเราเป็นคนแบบนี้ ยังไงก็เปลี่ยนไม่ได้

ยิ่งทึกทักบ่อย มนุษย์ก็ยิ่งปักใจเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทึกทักไปเอง (Big Assumptions) ด้วยเหตุนี้จิตมนุษย์จึงเริ่มติดอยู่กับที่ และทำงานโต้ตอบอัตโนมัติ คิดไปเอง รู้สึกไปเอง ตัดสินไปเอง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมเร่งด่วน ผ่านไปได้ในแต่ละวัน

การตัดสินใจที่ผ่านการใคร่ครวญและบ่มข้อมูลมาก่อน จึงค่อยๆ เลือนหายไปจากมนุษย์

การใคร่ครวญและบ่มข้อมูล ช่วยยกระดับการตัดสินใจขึ้นสู่ระดับใหม่ที่มีความรอบคอบและรอบด้านมากขึ้น ทำให้ระบบประมวลผลทำงานได้อย่างมีคุณภาพ แตกต่างจากการเร่งรีบให้ได้ผลลัพธ์แต่ขาดคุณภาพ

แต่การไปถึงจุดของการใคร่ครวญและบ่มข้อมูลได้ มนุษย์ต้องรู้ตัวและรู้จักการทึกทักของตัวเองให้ได้ก่อน ซึ่งต้องการคุณภาพภายในที่สำคัญสองประการคือ “สติ” และ “ความกล้า”

เมื่อเรามีสติ เราจะเริ่มเท่าทันการทึกทักไปเอง เมื่อเรามีความกล้า เราจะรับผิดชอบในการก้าวข้ามการทึกทักนี้ด้วยตัวเราเอง เช่น เมื่อเราเริ่มเท่าทันว่า เรากำลังทึกทักไปเองว่า ถ้าเราไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตและการงาน แล้วพ่อแม่จะไม่รัก เราก็กล้าที่จะเข้าไปถามท่านว่า “ถ้าผมไม่ประสบความสำเร็จ แล้วแม่จะยังรักผมอยู่หรือเปล่า” “ถ้าหนูไม่ได้ร่ำรวย แล้วพ่อจะยังภูมิใจในตัวหนูหรือเปล่า” “ถ้าผมไม่ได้เป็นคนรักเพศตรงข้าม พ่อกับแม่จะยังนับผมเป็นลูกหรือเปล่า” ลองถามตัวเองดูว่า เรากลัวคำตอบเกินกว่าที่จะถามมันออกมาหรือเปล่า

ความกล้ากับความบ้าบิ่นต่างกันนิดเดียว ความกล้าอยู่ตรงที่รู้ว่าเราคิดไปเอง แล้วกล้าทำต่าง คิดต่าง เพื่อทดสอบสิ่งที่เราทึกทักไปเอง แต่ความบ้าบิ่น อยู่ตรงที่ฉันเชื่อในสิ่งที่ฉันทึกทักอย่างสนิทใจ ต่อให้มีอะไรหรือใครแสดงสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อ ฉันก็จะหาคำอธิบายมายืนยันความเชื่อนี้ให้ได้ และฉันไม่อยากรับรู้อะไรที่ต่างไปจากนี้อีกแล้ว

เมื่อเราก้าวข้ามการทึกทักไปเอง การเรียนรู้ที่แท้จริงก็จะเริ่มเกิดขึ้น การทำต่าง คิดต่าง จะนำมาซึ่งประสบการณ์ต่าง เปิดโอกาสให้เราได้ใคร่ครวญและบ่มข้อมูลชุดใหม่ เพื่อตกผลึกเป็นความเข้าใจโลกและชีวิตอีกระดับหนึ่ง ณ จุดนี้เองคือ จิตเปลี่ยนสู่ระดับใหม่เมื่อเราเลิกทึกทักไปเอง ขณะนั้นเรากำลังก้าวย่างบนเส้นทางแห่งการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เราจะเรียนรู้อยู่กับโลกแห่งความจริง ไม่ใช่โลกที่ทึกทักไปเอง เปิดความเป็นไปได้ให้กับทั้งตัวเองและคนอื่น ที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ร่วมกัน

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดำรงอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นองค์กร การทึกทักไปเองของสมาชิกแต่ละคนในองค์กร สามารถสร้างภาระส่วนเกินให้กับระบบองค์กร เช่นลูกน้องทึกทักไปว่าหัวหน้าจะต้องเปลี่ยนก่อน ในขณะที่หัวหน้าก็ทึกทักไปว่าลูกน้องต้องเปลี่ยน งานท้าทายที่น่ารวมพลังฝ่าฟันไปด้วยกันได้ กลับต้องมาเสียเวลาและพลังไปกับความขัดแย้ง อันเกิดจากการทึกทักกันไปต่างๆ นานา

ถ้าเราปรารถนาให้องค์กรอยู่รอด และทำงานได้อย่างรัดกุม ประหยัดเวลาและพลังงาน สมาชิกทุกคนต้องก้าวข้ามการทึกทักกันและกันไปให้ได้ เมื่อสมาชิกทุกคนต่างมีสติเท่าทันการทึกทักไปเองของตัวเอง และกล้าที่จะก้าวข้ามการทึกทักของตนเองไปพร้อมกัน องค์กรของมนุษย์จะอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน การเปลี่ยนแปลงทั้งองค์กรเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว องค์กรธุรกิจ ชุมชน ประเทศ กลุ่มเศรษฐกิจ หรือประชาคมโลก ทั้งหมดจะเริ่มขยับขึ้นสู่วิถีใหม่

จากการทำงานเรื่องเปลี่ยนจิตในองค์กรที่ผ่านมา ผมเริ่มเห็นประจักษ์พยานที่ทุกคนในองค์กรเริ่มเปลี่ยน เมื่อคนหนึ่งเริ่มกล้าเปลี่ยนตนเองให้เห็น จะสร้างผลสะเทือนเชิงบวก ส่งต่อให้คนที่เหลือในองค์กรกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองบ้าง เรื่องเปลี่ยนไม่เกี่ยวกับตำแหน่ง เป็นเรื่องของจิตใจ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นได้กับคนทุกระดับในองค์กร

ผมเริ่มเชื่อมั่นว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะแปรเปลี่ยนโลกนี้จาก “คุก” จองจำจิต ให้กลายเป็น “บ้าน” ที่ทำให้มนุษย์ได้พักผ่อนและเติมพลังสร้างสรรค์ให้กับพี่น้องผองมนุษย์ที่อาศัยในบ้านเดียวกัน

Back to Top