จิตเปลี่ยน เมื่อเลิกทึกทักไปเอง


โดย ดร.พงษธร ตันติฤทธิศักดิ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2555

ในสังคมที่เร่งด่วน มนุษย์ต้องตัดสินใจเร็ว

หากใครได้มีโอกาสดูภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Home จะเห็นอัตราเร่งของวิวัฒนาการของ “บ้าน” คือดาวโลกดวงนี้ จากยุคที่มีแต่แร่ธาตุ จนถึงยุคที่มนุษย์ได้ถือกำเนิดมา ยิ่งเมื่อมนุษย์เปลี่ยนวิถีการผลิตจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม ความเร็วในการเปลี่ยนแปลงยิ่งทวีคูณ

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิตอลที่มีคอมพิวเตอร์เป็นเทคโนโลยีในการผลิต ความเร่งด่วนปรากฎชัดในระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ที่เอื้อให้เกิดการส่งข่าวสารข้อมูลอย่างรวดเร็ว และการตอบสนองทันทีในแบบจอสัมผัส ความรวดเร็วเช่นนี้ส่งผลทั้งแง่ดีและแง่ลบต่อจิตมนุษย์

แง่ดีคือมนุษย์ที่เกิดมาในยุคนี้มีสมองที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว เพราะได้รับการกระตุ้นให้ทำงานอยู่เสมอ จิตมนุษย์จึงมีความคล่องแคล่วและปราดเปรียว หากเปรียบสมองเหมือนรถ และจิตเหมือนคนขับ เมื่อรถมีเครื่องแรง คนขับก็เร่งได้เต็มที่ เช่นกันเมื่อสมองมนุษย์มีพัฒนาการมาก จิตมนุษย์ก็ทะยานไปทำงานได้อย่างเต็มที่ แง่ลบคือ ยิ่งจิตมนุษย์ทำงานเร็วเท่าไร มนุษย์ยิ่งมีโอกาสตัดสินใจผิดพลาดมากขึ้นเท่าๆ กัน

มนุษย์ใช้ “การทึกทัก” (Assumptions) เป็นระบบประมวลผลอัตโนมัติของจิต ประสบการณ์เป็นตัวป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบ และส่งผลลัพธ์ออกมาเป็นการตีความ คำพูด และพฤติกรรมตอบโต้ ด้วยความเร่งด่วนของสังคมยุคดิจิตอล การทึกทักจึงจำเป็นต่อการตัดสินประสบการณ์ต่างๆ ให้รวดเร็วทันต่อความเร่งด่วน

เราทึกทักไปเองว่าใครเร็วใครได้

เราทึกทักไปเองว่าเงิน อำนาจ เซ็กส์ คือสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสุข

เราทึกทักไปเองว่าเราเป็นคนแบบนี้ ยังไงก็เปลี่ยนไม่ได้

ยิ่งทึกทักบ่อย มนุษย์ก็ยิ่งปักใจเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทึกทักไปเอง (Big Assumptions) ด้วยเหตุนี้จิตมนุษย์จึงเริ่มติดอยู่กับที่ และทำงานโต้ตอบอัตโนมัติ คิดไปเอง รู้สึกไปเอง ตัดสินไปเอง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมเร่งด่วน ผ่านไปได้ในแต่ละวัน

การตัดสินใจที่ผ่านการใคร่ครวญและบ่มข้อมูลมาก่อน จึงค่อยๆ เลือนหายไปจากมนุษย์

การใคร่ครวญและบ่มข้อมูล ช่วยยกระดับการตัดสินใจขึ้นสู่ระดับใหม่ที่มีความรอบคอบและรอบด้านมากขึ้น ทำให้ระบบประมวลผลทำงานได้อย่างมีคุณภาพ แตกต่างจากการเร่งรีบให้ได้ผลลัพธ์แต่ขาดคุณภาพ

แต่การไปถึงจุดของการใคร่ครวญและบ่มข้อมูลได้ มนุษย์ต้องรู้ตัวและรู้จักการทึกทักของตัวเองให้ได้ก่อน ซึ่งต้องการคุณภาพภายในที่สำคัญสองประการคือ “สติ” และ “ความกล้า”

เมื่อเรามีสติ เราจะเริ่มเท่าทันการทึกทักไปเอง เมื่อเรามีความกล้า เราจะรับผิดชอบในการก้าวข้ามการทึกทักนี้ด้วยตัวเราเอง เช่น เมื่อเราเริ่มเท่าทันว่า เรากำลังทึกทักไปเองว่า ถ้าเราไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตและการงาน แล้วพ่อแม่จะไม่รัก เราก็กล้าที่จะเข้าไปถามท่านว่า “ถ้าผมไม่ประสบความสำเร็จ แล้วแม่จะยังรักผมอยู่หรือเปล่า” “ถ้าหนูไม่ได้ร่ำรวย แล้วพ่อจะยังภูมิใจในตัวหนูหรือเปล่า” “ถ้าผมไม่ได้เป็นคนรักเพศตรงข้าม พ่อกับแม่จะยังนับผมเป็นลูกหรือเปล่า” ลองถามตัวเองดูว่า เรากลัวคำตอบเกินกว่าที่จะถามมันออกมาหรือเปล่า

ความกล้ากับความบ้าบิ่นต่างกันนิดเดียว ความกล้าอยู่ตรงที่รู้ว่าเราคิดไปเอง แล้วกล้าทำต่าง คิดต่าง เพื่อทดสอบสิ่งที่เราทึกทักไปเอง แต่ความบ้าบิ่น อยู่ตรงที่ฉันเชื่อในสิ่งที่ฉันทึกทักอย่างสนิทใจ ต่อให้มีอะไรหรือใครแสดงสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อ ฉันก็จะหาคำอธิบายมายืนยันความเชื่อนี้ให้ได้ และฉันไม่อยากรับรู้อะไรที่ต่างไปจากนี้อีกแล้ว

เมื่อเราก้าวข้ามการทึกทักไปเอง การเรียนรู้ที่แท้จริงก็จะเริ่มเกิดขึ้น การทำต่าง คิดต่าง จะนำมาซึ่งประสบการณ์ต่าง เปิดโอกาสให้เราได้ใคร่ครวญและบ่มข้อมูลชุดใหม่ เพื่อตกผลึกเป็นความเข้าใจโลกและชีวิตอีกระดับหนึ่ง ณ จุดนี้เองคือ จิตเปลี่ยนสู่ระดับใหม่เมื่อเราเลิกทึกทักไปเอง ขณะนั้นเรากำลังก้าวย่างบนเส้นทางแห่งการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เราจะเรียนรู้อยู่กับโลกแห่งความจริง ไม่ใช่โลกที่ทึกทักไปเอง เปิดความเป็นไปได้ให้กับทั้งตัวเองและคนอื่น ที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ร่วมกัน

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดำรงอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเป็นองค์กร การทึกทักไปเองของสมาชิกแต่ละคนในองค์กร สามารถสร้างภาระส่วนเกินให้กับระบบองค์กร เช่นลูกน้องทึกทักไปว่าหัวหน้าจะต้องเปลี่ยนก่อน ในขณะที่หัวหน้าก็ทึกทักไปว่าลูกน้องต้องเปลี่ยน งานท้าทายที่น่ารวมพลังฝ่าฟันไปด้วยกันได้ กลับต้องมาเสียเวลาและพลังไปกับความขัดแย้ง อันเกิดจากการทึกทักกันไปต่างๆ นานา

ถ้าเราปรารถนาให้องค์กรอยู่รอด และทำงานได้อย่างรัดกุม ประหยัดเวลาและพลังงาน สมาชิกทุกคนต้องก้าวข้ามการทึกทักกันและกันไปให้ได้ เมื่อสมาชิกทุกคนต่างมีสติเท่าทันการทึกทักไปเองของตัวเอง และกล้าที่จะก้าวข้ามการทึกทักของตนเองไปพร้อมกัน องค์กรของมนุษย์จะอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจซึ่งกันและกัน การเปลี่ยนแปลงทั้งองค์กรเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว องค์กรธุรกิจ ชุมชน ประเทศ กลุ่มเศรษฐกิจ หรือประชาคมโลก ทั้งหมดจะเริ่มขยับขึ้นสู่วิถีใหม่

จากการทำงานเรื่องเปลี่ยนจิตในองค์กรที่ผ่านมา ผมเริ่มเห็นประจักษ์พยานที่ทุกคนในองค์กรเริ่มเปลี่ยน เมื่อคนหนึ่งเริ่มกล้าเปลี่ยนตนเองให้เห็น จะสร้างผลสะเทือนเชิงบวก ส่งต่อให้คนที่เหลือในองค์กรกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองบ้าง เรื่องเปลี่ยนไม่เกี่ยวกับตำแหน่ง เป็นเรื่องของจิตใจ ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นได้กับคนทุกระดับในองค์กร

ผมเริ่มเชื่อมั่นว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะแปรเปลี่ยนโลกนี้จาก “คุก” จองจำจิต ให้กลายเป็น “บ้าน” ที่ทำให้มนุษย์ได้พักผ่อนและเติมพลังสร้างสรรค์ให้กับพี่น้องผองมนุษย์ที่อาศัยในบ้านเดียวกัน

Back to Top