ถอดชนวนมิคสัญญีกลียุค


โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2555

กระแสการแบ่งข้างแบ่งขั้วและกระพือความเกลียดชังระหว่างกันอย่างรุนแรง ได้สร้างความวิตกกังวลให้ผู้คนจำนวนมากว่าสังคมไทยอาจจะหลุดเข้าไปสู่สภาวะมิคสัญญีกลียุค ที่คนไทยจะฆ่ากันตายเป็นหมื่นเป็นแสน ดังที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่น เช่น สงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา คนตายกว่าห้าแสนคน การสู้รบระหว่างสิงหลกับทมิฬในศรีลังกา คนตายไปหลายหมื่นคน การปราบปรามคอมมูนิสต์ในอินโดนีเซีย สังหารผู้คนไปกว่าห้าแสนคน การปะทะกันระหว่างเผ่าฮูตูและทุตซีในรวันดาภายในสามเดือน คนตายไปกว่าแปดแสนคน

เมื่อวิตกกังวลแล้วเราควรทำอะไร ข้อเสนอแนะคือ

๑. คิดว่าผลทุกอย่างมีเหตุเป็นแดนเกิด เมื่อมีเหตุอย่างใดก็มีผลอย่างนั้น มันเป็นเช่นนั้นเอง หรือตถตา การวิตกกังวลไม่ช่วยให้เหตุการณ์ดีขึ้น แต่การคำนึงถึงเหตุจะช่วย

๒. ถ้าสังคมเป็นส่วนรวมไม่ปรารถนาให้เกิดความรุนแรง ก็จะเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งที่ช่วยระงับยับยั้งความรุนแรง

๓. เหตุใกล้ที่เป็นชนวนให้เกิดความรุนแรง คือการกระพือกระแสความเกลียดชังระหว่างกัน การกระพือความเกลียดชังกับการแสดงเหตุผลหรือเหตุปัจจัยของปัญหาไม่เหมือนกัน

พระพุทธองค์ตรัสว่า “การชมหรือการติเตียนไม่ใช่ธรรมะ ธรรมะคือการรู้ว่าอะไรทำให้เกิดอะไร” การชมหรือการติเตียนเป็นการตายตัว เช่นไอ้นี่ดีถ่ายเดียว ไอ้นี่เลวถ่ายเดียว ซึ่งไม่ใช่ความจริง ความจริงคืออะไรทำให้เกิดอะไร หรือความเป็นเหตุเป็นผล หรือกระแสของเหตุปัจจัย การกระพือความเกลียดชังทำให้เกิดอารมณ์และนำไปสู่ความรุนแรงได้ ขณะที่การแสดงความเป็นเหตุเป็นผลของปัญหาทำให้เกิดปัญญา ปัญญาร่วมของคนจำนวนมากจะนำไปสู่การแก้ปัญหายากๆ ได้

ปัจจุบันมีช่องทางสื่อสารมากมาย เรียกว่าเข้าถึงทุกคนได้ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ผู้สื่อสารทั้งหมดสามารถถอดชนวนมิคสัญญีกลียุคได้โดยงดเว้นการกระพือความเกลียดชังระหว่างกัน แต่สื่อความเป็นเหตุเป็นผลของเรื่องราวเหตุปัจจัยต่างๆ ถึงเวลาที่คนไทยเราจะต้องมีจิตใหญ่ รักเพื่อนมนุษย์ทั้งหมด ไม่มีใครสองคนเหมือนกันแม้แต่ลูกแฝดไข่ใบเดียวกัน แต่ละคนมีความชอบไม่ชอบอะไรแตกต่างกันไปตามฐานะและเหตุปัจจัย ฉะนั้นไม่ว่าใครจะรักทักษิณ จะเกลียดทักษิณ จะสีแดง สีเหลือง สีอื่น ไม่มีสี จะนิยมสถาบัน ไม่นิยมสถาบัน ไม่ถึงเป็นเหตุให้เราเกลียดเขา เพราะลึกที่สุดแล้ว เขาเป็นเพื่อนคนไทยของเรา เป็นเพื่อนมนุษย์ของเรา

การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเป็นศีลธรรมพื้นฐานของสังคม

วิกฤตใหญ่เป็นการทดสอบคนชาติไทย ถ้าเราสามารถใช้วิกฤตที่ปริ่มๆ มิคสัญญีกลียุค พลิกจิตเล็กให้เป็นจิตใหญ่ หลุดพ้นจากความเกลียดชังไปสู่ความรักเพื่อนมนุษย์ทั้งหมด ไม่สื่อสารความเกลียดชัง แต่สื่อสารความเป็นเหตุเป็นผล เราก็อยู่ในฐานะที่จะสร้างประเทศที่เป็นธรรมเป็นไทได้

๔. เหตุไกลที่พาสังคมไทยมาติดกับคือการคิดเชิงอำนาจ การคิดเชิงอำนาจนี้เป็นไปอย่างทั่วถึง ทั้งในครอบครัว ในโรงเรียน ในองค์กรต่างๆ และในสังคม คือคิดใช้อำนาจจากบนลงล่างี่เรียกว่าท็อปดาวน์ การใช้อำนาจกับการเรียนรู้จะเป็นปฏิภาคกัน คือที่ไหนใช้อำนาจมากจะมีการเรียนรู้น้อย การคิดเชิงอำนาจได้สร้างโครงสร้าง ทั้งโครงสร้างในสมอง และโครงสร้างทางสังคมและพฤติกรรม ที่ทำให้สังคมไทยมีสมรรถนะต่ำแต่มีความไม่เป็นธรรมสูง กล่าวคือสมองของมนุษย์ส่วนหลังนั้นมาจากสัตว์เลื้อยคลาน ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเอาตัวรอด เช่นหลบภัยและการต่อสู้ ส่วนสมองส่วนหน้านั้นเกี่ยวกับสติปัญญา วิจารณญาณ และศีลธรรม การใช้อำนาจจะไปกระตุ้นสมองส่วนหลัง การเรียนรู้จะกระตุ้นสมองส่วนหน้า สังคมที่ใช้อำนาจมากแต่เรียนรู้น้อย จึงมีสมรรถนะและศีลธรรมต่ำ

โครงสร้างของสถาบันต่างๆ ในสังคมล้วนเป็นโครงสร้างทางดิ่ง คือโครงสร้างอำนาจจากบนลงล่าง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางการเมือง ราชการ การศึกษา ธุรกิจ หรือศาสนา เมื่อเป็นโครงสร้างอำนาจก็มีการเรียนรู้น้อย สมรรถนะต่ำ และพฤติกรรมเบี่ยงเบน

สังคมที่คิดเชิงอำนาจและมีโครงสร้างเชิงอำนาจ เมื่อมีสมรรถนะต่ำและศีลธรรมไม่แข็งแรง จะไม่สามารถเผชิญกับความซับซ้อนของสังคมปัจจุบันได้ เป็นผลให้เกิดสังคมที่ไม่เป็นธรรม มีความเหลื่อมล้ำมากเกิน สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำมากเกินจะมีปัญหาต่างๆ ทางสุขภาพและทางสังคม เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาทางเพศ ปัญหาวัยรุ่น ความขัดแย้ง ความรุนแรง รวมทั้งปัญหาทางการเมือง ความรุนแรงทางการเมืองมีต้นตอมาจากสังคมที่ขาดความเป็นธรรม สังคมที่ขาดความเป็นธรรมเกิดจากคิดเชิงอำนาจและโครงสร้างอำนาจ อันเป็นเรื่องลึกและยาก ซึ่งต้องการการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน ถ้าเราจะถอดชนวนเบื้องลึกของการเกิดมิคสัญญีกลียุค

๕. การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานสามประการ วัตถุประสงค์ของจิตวิวัฒน์เพื่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) เมื่อเรื่องที่ติดขัดเป็นเรื่องระดับจิตสำนึกและโครงสร้างอำนาจ การพัฒนาเล็กๆ น้อยๆ แบบแต่งโน่นนิดนี่หน่อยจึงไม่เพียงพอ แต่ต้องการการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในสามระดับคือ

  • การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตน (Personal Transformation)
  • การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในองค์กร (Organizational Transformation)
  • การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในสังคม (Social Transformation)

การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานเป็นคุณสมบัติของมนุษย์เท่านั้น สัตว์อื่นไม่มี เพราะมนุษย์มีสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับสติปัญญาในเรื่องที่ซับซ้อน วิจารณญาณ ศีลธรรม ความเห็นใจผู้อื่น และการอยากทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งรวมเรียกว่าหัวใจของความเป็นมนุษย์

ถ้าจะพูดให้แรง การคิดเชิงอำนาจเป็นการใช้สมองขั้นต่ำหรือสมองของความเป็นสัตว์ การใช้สมองของความเป็นสัตว์ได้พาเรามาติดกับแล้ว ไปต่อไปโดยคิดแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว ต้องเปลี่ยนเกียร์สมองไปใช้สมองส่วนหน้าหรือสมองของความเป็นมนุษย์ นั่นคือถอนตัวจากการคิดเชิงอำนาจไปใช้สติปัญญาและหัวใจของความเป็นมนุษย์ เกิดความสัมพันธ์ใหม่ ทั้งในองค์กรและในสังคม

โดยสรุป ต้องมีการปฏิรูปจิตสำนึกและปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ (ขอดูรายละเอียดได้จากสำนักงานปฏิรูป) จึงจะไปพ้นวิกฤตได้

Back to Top