ธันวาคม 2017

สมานแผลในใจด้วยสติ



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2560

นักธุรกิจผู้หนึ่ง ระยะหลังหันมาสนใจทำสมาธิ แล้วก็ทำได้ดีด้วย ทำแล้วใจสงบ แต่มีอยู่คราวหนึ่ง พอจิตสงบมาก ก็จะเห็นภาพ เรียกว่านิมิต เป็นภาพมือข้างหนึ่งที่ยื่นออกมา พอเขาเห็นภาพนี้ในก็รู้สึกกลัวขึ้นมาทันที เพราะมือนั้นคือมือของพ่อ เป็นมือที่เคยตบตีเขาสมัยที่ยังเป็นเด็ก เขากลัวมาก แล้วก็โกรธด้วย ความรู้สึกนี้รบกวนจิตใจมากจนกระทั่งนั่งสมาธิต่อไม่ได้ ต้องเลิก

หลังจากนั้นเมื่อนั่งสมาธิทีไร พอจิตสงบนิ่ง ก็จะเห็นภาพนี้ เกิดความรู้สึกทั้งกลัวและโกรธ จนกระทั่งต้องเลิกนั่ง เพราะว่ามันทำให้เขาย้อนระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่พ่อเคยทุบตีเขาตอนเป็นเด็กครั้งแล้วครั้งเล่า มันเป็นเหตุการณ์ที่ฝังใจเขามาก และไม่อยากระลึกนึกถึง เมื่อเห็นภาพดังกล่าวในสมาธิบ่อยเข้า เขาก็เลยตัดสินใจเลิกนั่งสมาธิ

แต่หลังจากที่เลิกนั่งสมาธิไปได้พักหนึ่ง เขาได้คิดว่านี้ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เขาเห็นว่าการนั่งสมาธิเป็นของดี ถ้าจะเลิกนั่งเพราะเหตุนี้ก็ไม่ควร เขาตัดสินใจว่าจะต้องก้าวข้ามจุดนี้ไปให้ได้ ไม่อย่างนั้นชาตินี้คงทำสมาธิไม่ได้เลย

อ่านต่อ »

เคล็ดวิชาที่เรียนจากหลักสูตรสายอาร์โนลด์ มินเดล



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2560

ผมไปเรียนหลักสูตร "พลานุภาพแห่งการรู้เท่าทัน: ประชาธิปไตยเชิงลึกสำหรับการนำกระบวนการกลุ่มใหญ่และการโค้ช" (Deep Democracy Leadership, Large Group Facilitation & Coaching) มาครับ โดย แมกซ์และเอเลน ชูปัค เซียนอันดับต้นๆ ศิษย์ก้นกุฏิของอาร์โนล์ด มินเดล ผู้ก่อตั้ง Process Work ซึ่งมาสอนเมืองไทยเป็นครั้งแรกที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ข้อความด้านล่างเป็นกิจกรรมบางอย่างที่อาจใช้ในงานโค้ชแบบมินเดลได้

ผมเคยเข้าเรียนเรื่อง Process Work กับจิล เอมสลี มาแล้วอย่างน้อยสองรอบ รวมกับช่วงหนึ่งที่ได้อ่านหนังสือของอาร์โนลด์ มินเดล อย่างเมามัน เพราะผมมีนิสัยอ่านหนังสืออย่างดื่มด่ำเป็นคนคนไป เมื่อเห่อมินเดลก็จะอ่านงานของมินเดลเหมือนไปดำรงอยู่ในโลกของเขาเลย จึงอาจกล่าวได้ว่าผมมีโอกาสชุบตัวอยู่ในโลกของมินเดลพอสมควร

แต่การเข้าอบรมกับแมกซ์และเอเลน ทำให้ผมได้เรียนสิ่งที่แตกต่างจากที่เคยเรียนรู้มาบ้างเหมือนกัน โดยงานอบรมจะแบ่งออกเป็นสองช่วงในหนึ่งวัน ช่วงเช้ามักจะเป็นการโค้ชและช่วงบ่ายจะเป็นการนำกระบวนการในกลุ่มใหญ่ (large group facilitation) หรือการเรียนรู้เรื่องกระบวนการกลุ่ม (group process)

อ่านต่อ »

สร้างสันติแบบโป๊ปฟรานซิส



โดย ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2560

แม้ว่าการเสด็จเยือนพม่าและบังคลาเทศระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคมที่ผ่านมาของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขสูงสุดของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักสิทธิมนุษยชนและสื่อหลายสำนักว่า พระองค์ไม่กล่าวคำว่า “โรฮิงญา” เลยในที่สาธารณะในประเทศพม่า และกว่าที่พระองค์จะพูดชื่อเรียกชนกลุ่มน้อยนี้ ก็เป็นวันสุดท้ายของการเยือนบังคลาเทศแล้ว เมื่อพระองค์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบนเครื่องบินขากลับจากบังคลาเทศ คำอธิบายของพระองค์ว่าเพราะอะไรจึงไม่กล่าวคำว่า “โรฮิงญา” ในประเทศพม่า ยิ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ถึงขนาดมีการต่อว่าว่าพระองค์เป็น “กิ้งก่าเปลี่ยนสี”

ดิฉันรู้สึกสนใจในการมาเยือนพม่าและบังคลาเทศของโป๊ปในครั้งนี้เป็นอย่างมาก แน่นอนว่าในฐานะชาวคริสต์ ย่อมมีความใส่ใจในตัวประมุขด้านจิตวิญญาณของนิกายที่ตนเองนับถือ แต่ที่ทำให้สนใจยิ่งขึ้นก็เพราะนี่คือโป๊ปฟรานซิส กว่าห้าปีของการดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา พระองค์มักจะทำอะไรที่แหวกแนวจากจารีตโบราณของศาสนจักร จนบางครั้งดิฉันยังรู้สึกหวาดเสียวในความปลอดภัยของพระองค์ แต่สิ่งต่างๆ ที่พระองค์กล้าทำนั้นเรียกว่า “ได้ใจ” คนทำงานด้านความยุติธรรมและสันติภาพในสังคมเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อได้ยินว่าพระองค์จะมาเยือนพม่า ความคิดแรกก็คือ “ทำไมถึงเป็นพม่า” เพราะพม่าเป็นประเทศพุทธ มีชาวคริสต์เป็นจำนวนน้อยมาก ไม่เคยมีพระสันตะปาปาองค์ใดเสด็จเยือนมาก่อนหน้านี้เลย เพื่อนที่แจ้งข่าวช่วยไขข้อข้องใจว่า “โป๊ปจะมาเรื่องโรฮิงญา” คำถามต่อไปที่ตามมาทันทีก็คือ “ถ้ามาเรื่องโรฮิงญา แล้วพม่าจะให้โป๊ปเข้าประเทศหรือ” เป็นที่รับรู้ว่าแม้สหประชาชาติจะเห็นว่าโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่มากที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก แต่รัฐบาลพม่าไม่แม้แต่จะนับว่าชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ หากถือว่าเป็นพวกเข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังคลาเทศ และไม่ยอมใช้คำว่าโรฮิงญา เรียกเพียงแค่ว่าพวกเบงกาลี พระคาร์ดินัลและที่ประชุมพระสังฆราชคาทอลิกของพม่าเองคงมีความหวั่นใจอยู่ไม่น้อย ถึงขนาดออกมาให้คำแนะนำก่อนโป๊ปจะเสด็จว่า อย่าใช้คำเรียกว่าโรฮิงญา เพราะเป็นคำที่จะนำภัยมาสู่ชาวมุสลิมในพม่าเอง แต่ขอให้โป๊ปใช้ “วิธีที่ไม่ทำร้ายใคร”

อ่านต่อ »

การตั้งแกน (Centering)



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
เก็บความและแปลจาก About Aikido, Centering, Conflict and Communication by Judy Ringer
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 ธันวาคม 2560

การตั้งแกนเป็นคำเรียกในวิชาไอคิโด้ หมายถึงการเตรียมความพร้อมให้กับร่างกายและจิตใจในการรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในความไม่รู้และการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เพื่อให้สามารถนำพาชีวิตไปได้อย่างสอดคล้องกับความท้าทายที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างไม่ต่อต้าน เสียดทานหรือสงบยอม แต่เป็นการหลอมรวมเอาอุปสรรคเข้ามาแล้วแปรเปลี่ยนเป็นความสร้างสรรค์ได้อีก โดยมองเห็นทรัพยากรที่มั่งคั่งหลากหลายทั้งภายในและภายนอกตัวเอง

ความเชื่อพื้นฐานของไอคิโด้คือ เราสามารถจัดการ ใช้งาน และเปลี่ยนทิศทางพลังงานของการโจมตีได้ด้วยการหลอมรวมเข้ากับพลังงานที่พุ่งใส่เราเพื่อจัดการมัน แทนที่จะปกป้องหรือกระแทกกลับไป เราอาศัยการเข้าไปสังสรรค์เกี่ยวพันแทนการต่อต้าน นักเรียนไอคิโด้ฝึกฝนตนเองให้สามารถจับการกระทำของคู่ต่อสู้แล้วเปลี่ยนทิศทางมันด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพและทรงพลัง ในขณะเดียวกัน เราก็เริ่มตระหนักถึงแนวโน้มของตัวเองที่จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบฝ่ายตรงข้ามและเรียนรู้ที่จะตั้งแกนให้มั่นคงในทุกๆ สถานการณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะ หลักการ และวิธีมองโลกที่สามารถนำมาใช้นอกโรงฝึกได้ เช่นในที่ทำงานหรือในชีวิตประจำวัน

ถาม: ในเวิร์กช็อปของคุณและในสิ่งที่คุณเขียน คุณใช้คำว่า แกนบ่อยทีเดียว แกนคืออะไร คุณเลือกที่จะมีแกนอย่างไร และอยู่กับมันอย่างไร

ตอบ: เวลาฉันพูดถึงแกนหรือสภาวะมีแกน ฉันกำลังพูดถึงสภาวะของทั้งจิตใจ ร่างกาย จิตวิญญาณที่มีผลต่อความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนระหว่างเรากับสิ่งที่แวดล้อมตรงหน้า มันเป็นวิถีทางของการดำรงอยู่ในโลก และการเปิดรับประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา บางคนอาจเรียกว่ามันเป็นทัศนคติที่เรามีต่อชีวิต เวลาเรามีแกน เราจะสามารถควบคุมการรับพลังงานที่คนอื่นส่งถึงเราได้ เราควบคุมตัวเองได้และไม่ได้ควบคุมอะไรอื่นนอกเหนือจากตัวเอง แต่เราสามารถควบคุมวิธีการที่เราปฏิสัมพันธ์กับสิ่งอื่นทั้งหมด

อ่านต่อ »

“ความดี” จากฐานราก: สร้างชุมชนคุณธรรมด้วยวิถีวัฒนธรรม



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 ธันวาคม 2560

ทุกปีองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) จะมีการรายงานดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index: CPI) ของแต่ละประเทศ โดยในปี 2559 ประเทศไทยได้ที่ 101 จาก 176 ประเทศ มีคะแนน 35 จาก 100 คะแนน ลดลงจากปี 2558 ที่ได้อันดับที่ 76 มี 38 คะแนน

ผลรายงานแต่ละปีส่งผลให้สังคมตั้งคำถามกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทยที่ทวีความรุนแรงและมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่กลไกการแก้ปัญหาที่มักพูดถึงหรือเรียกร้องให้มี คือมาตรการทางกฎหมายและบทลงโทษ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วอาจแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ขณะที่การแก้ปัญหาการทุจริตในอีกมิติหนึ่งที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึง คือการพัฒนาจิตสำนึกในเรื่องคุณธรรม ซึ่งเกิดขึ้นผ่านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในแต่ละชุมชน

ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนและวิถีวัฒนธรรมที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างสังคมคุณธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่มีความยั่งยืน ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินโครงการส่งเสริมเครือข่ายประชาสังคมต่อต้านการทุจริตด้วยวิถีวัฒนธรรม ซึ่งเป็นโครงการที่เชิญชวนให้ชุมชนมาร่วมเป็นพลังสำคัญในการสร้างสังคมคุณธรรมด้วยทุนความดีที่มีอยู่ในพื้นที่ของตนเอง

โครงการเริ่มจากการเปิดรับสมัครชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ในเดือนตุลาคม 2560 และเชิญชุมชนที่เข้าร่วมโครงการเข้าร่วมงานรวมพลังเครือข่ายประชาสังคมต่อต้านการทุจริตด้วยวิถีวัฒนธรรม เมื่อ 22-23 พฤศจิกายน 2560 ณ จังหวัดนครนายก มีผู้แทนจาก 43 ชุมชน ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมงาน

อ่านต่อ »

Back to Top