โดย
ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2560
แม้ว่าการเสด็จเยือนพม่าและบังคลาเทศระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคมที่ผ่านมาของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขสูงสุดของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักสิทธิมนุษยชนและสื่อหลายสำนักว่า พระองค์ไม่กล่าวคำว่า “โรฮิงญา” เลยในที่สาธารณะในประเทศพม่า และกว่าที่พระองค์จะพูดชื่อเรียกชนกลุ่มน้อยนี้ ก็เป็นวันสุดท้ายของการเยือนบังคลาเทศแล้ว เมื่อพระองค์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบนเครื่องบินขากลับจากบังคลาเทศ คำอธิบายของพระองค์ว่าเพราะอะไรจึงไม่กล่าวคำว่า “โรฮิงญา” ในประเทศพม่า ยิ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ถึงขนาดมีการต่อว่าว่าพระองค์เป็น “กิ้งก่าเปลี่ยนสี”
ดิฉันรู้สึกสนใจในการมาเยือนพม่าและบังคลาเทศของโป๊ปในครั้งนี้เป็นอย่างมาก แน่นอนว่าในฐานะชาวคริสต์ ย่อมมีความใส่ใจในตัวประมุขด้านจิตวิญญาณของนิกายที่ตนเองนับถือ แต่ที่ทำให้สนใจยิ่งขึ้นก็เพราะนี่คือโป๊ปฟรานซิส กว่าห้าปีของการดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา พระองค์มักจะทำอะไรที่แหวกแนวจากจารีตโบราณของศาสนจักร จนบางครั้งดิฉันยังรู้สึกหวาดเสียวในความปลอดภัยของพระองค์ แต่สิ่งต่างๆ ที่พระองค์กล้าทำนั้นเรียกว่า “ได้ใจ” คนทำงานด้านความยุติธรรมและสันติภาพในสังคมเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อได้ยินว่าพระองค์จะมาเยือนพม่า ความคิดแรกก็คือ “ทำไมถึงเป็นพม่า” เพราะพม่าเป็นประเทศพุทธ มีชาวคริสต์เป็นจำนวนน้อยมาก ไม่เคยมีพระสันตะปาปาองค์ใดเสด็จเยือนมาก่อนหน้านี้เลย เพื่อนที่แจ้งข่าวช่วยไขข้อข้องใจว่า “โป๊ปจะมาเรื่องโรฮิงญา” คำถามต่อไปที่ตามมาทันทีก็คือ “ถ้ามาเรื่องโรฮิงญา แล้วพม่าจะให้โป๊ปเข้าประเทศหรือ” เป็นที่รับรู้ว่าแม้สหประชาชาติจะเห็นว่าโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกกดขี่มากที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก แต่รัฐบาลพม่าไม่แม้แต่จะนับว่าชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ หากถือว่าเป็นพวกเข้าเมืองผิดกฎหมายจากบังคลาเทศ และไม่ยอมใช้คำว่าโรฮิงญา เรียกเพียงแค่ว่าพวกเบงกาลี พระคาร์ดินัลและที่ประชุมพระสังฆราชคาทอลิกของพม่าเองคงมีความหวั่นใจอยู่ไม่น้อย ถึงขนาดออกมาให้คำแนะนำก่อนโป๊ปจะเสด็จว่า อย่าใช้คำเรียกว่าโรฮิงญา เพราะเป็นคำที่จะนำภัยมาสู่ชาวมุสลิมในพม่าเอง แต่ขอให้โป๊ปใช้ “วิธีที่ไม่ทำร้ายใคร”
ดิฉันคิดว่าหากโป๊ปใช้วิธีเผชิญหน้าด้วยการเรียกชื่อโรฮิงญาในพม่า ไม่ใช่แต่ชาวมุสลิมเท่านั้นที่จะเป็นอันตราย ชาวคริสต์ที่เป็นอีกชนกลุ่มน้อยในพม่า ก็อาจจะกลายเป็นเป้าหมายใหม่แห่งความเกลียดชังได้เช่นกัน ซึ่งนั่นคงไม่ใช่สิ่งที่องค์พระประมุขของศาสนจักรต้องการให้เกิดขึ้นเป็นแน่
ในที่สุดโป๊ปฟรานซิสก็เลือกทำตามคำแนะนำของพระคาร์ดินัลและที่ประชุมพระสังฆราช
แล้วเช่นนี้พระองค์ทำตัวเป็นกิ้งก่าเปลี่ยนสีอย่างที่มีคนวิจารณ์หรือไม่ ดิฉันคิดว่าถ้ามองกลับไปดูสิ่งที่โป๊ปทำแล้ว จะเห็นจุดยืนในการสร้างสันติของพระองค์ ในเดือนสิงหาคมปีนี้ โป๊ปกล่าวที่จตุรัสเซนต์ปีเตอร์เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ขอให้ทุกคนที่มีความตั้งใจดีร่วมกันช่วยพวกเขา โดยพระองค์ใช้คำเรียกชาวโรฮิงญาว่า “พี่น้องของเรา” ไม่ใช่แต่เรียกร้องผู้อื่น แต่ท่านทำเป็นตัวอย่างให้เห็น โดยเดินทางมาพบปะกับพี่น้องชาวโรฮิงญาด้วยตัวเอง ในกรุงธากาเมื่อพระองค์ได้พบกับผู้อพยพชาวโรฮิงญา ผู้จัดไม่ต้องการให้ผู้อพยพได้พูดคุยกับโป๊ป แต่พระองค์คิดว่า พระองค์จะกลับไม่ได้หากไม่ได้พูดอะไรกับพวกเขา พระองค์จึงแทรกแซงผู้จัดด้วยเข้าไปพูดคุยรับฟังเรื่องราวความทุกข์ของผู้อพยพและร้องไห้ไปกับพวกเขา ทรงขอไมโครโฟนมาพูดและขอโทษชาวโรฮิงญา “ในนามของทุกๆ คน คนที่กดขี่ข่มเหงพวกท่าน คนที่ทำร้ายพวกท่าน เหนืออื่นใดคือความเพิกเฉยของโลก ข้าพเจ้าขอโทษ” ในฐานะประมุขสูงสุดแห่งศาสนจักรแล้ว การขอโทษผู้อพยพชาวมุสลิมเป็นการกระทำที่ถ่อมตนอย่างยิ่ง อีกทั้งยังแหวกกรอบจารีตอย่างสิ้นเชิง
กรอบจารีตของศาสนจักรที่ผ่านมาในอดีต ขีดให้ศาสนจักรเชื่อว่าตนเองมีอำนาจและมี “ความศักดิ์สิทธิ์” เหนือกว่าศาสนาอื่นๆ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โป๊ปทำสิ่งที่แหวกกรอบเช่นนี้ ในขณะที่ในโลกกำลังเกิดกระแสเกลียดชังชาวมุสลิมและผูกโยงอิสลามเข้ากับการก่อการร้าย โป๊ปฟรานซิสกลับทำในสิ่งที่สวนกระแสนั้น พระองค์ทรงพยายามสร้างสันติและความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา ทรงบอกให้คนอย่าเชื่อมโยงศาสนาอิสลามเข้ากับความรุนแรง ทรงเปรียบเทียบว่าทุกวันทรงอ่านหนังสือพิมพ์ในอิตาลี แต่ละวันก็มีความรุนแรง มีการเข่นฆ่ากัน และคนเหล่านั้นก็เป็นคาทอลิก ทุกศาสนาต่างก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ความรุนแรงทั้งนั้น ดังนั้นการเชื่อมโยงอิสลามกับการก่อการร้ายจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่จริง
พระองค์ไม่เพียงพูดเท่านั้น แต่ทรงสร้างสัมพันธ์กับชาวมุสลิมด้วยการก้าวข้ามความแตกต่างและเข้าไปผูกมิตรด้วยพระองค์เองเสมอมา ตั้งแต่เป็นพระคาร์ดินัล ท่านเป็นอัครสังฆราชคนแรกที่ไปเยี่ยมศูนย์อิสลามในอาร์เจนตินา เมื่อดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาแล้ว พระองค์ก็ยังสานสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ บังคลาเทศเป็นประเทศมุสลิมประเทศที่ 8 แล้วที่ทรงเสด็จเยือน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พระองค์เดินทางไปเยือนอียิปต์ ไม่นานหลังจากที่โบสถ์คริสต์ในอียิปต์ถูกลอบวางระเบิดและมีผู้เสียชีวิตถึง 45 คน พระองค์ปฏิเสธที่จะนั่งในรถเกราะกันกระสุนและไปพบกับผู้นำของศาสนาอิสลามอย่างฉันมิตร สองปีก่อนในพิธีล้างเท้าที่กระทำเลียนแบบพระเยซูเมื่อทรงล้างเท้าสาวกของพระองค์ อันแสดงถึงการถ่อมตนเป็นผู้รับใช้อย่างถึงที่สุด ตามประเพณีแล้วพระสันตะปาปาจะล้างเท้าแต่ผู้ชายชาวคริสต์เท่านั้น แต่โป๊ปฟรานซิสทรงล้างเท้าผู้อพยพชาวมุสลิม รวมไปถึงผู้หญิงและศาสนิกศาสนาอื่นๆ ทรงกล่าวหลังพิธีล้างเท้าว่า ไม่ว่าจะเป็นชาวมุสลิม ชาวฮินดู หรือชาวคริสต์ในนิกายอื่นๆ ทุกคนล้วนเป็นบุตรของพระเจ้าเดียวกัน
สันติวิธีของพระองค์คือการเปิดใจพบปะและสานเสวนากับผู้คนที่แตกต่าง ในการเดินทางมาเอเชียครั้งนี้ นอกจากพระองค์จะพบปะกับชาวโรฮิงญาแล้ว ในกรุงเนปิดอร์ พระองค์ยังได้พบกับพลเอกอาวุโส มินอองหล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่า และเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาโรฮิงญา รวมทั้งได้พบกับพระสิตะกู สะยาดอว์ พระสงฆ์ชาวพม่าที่มีท่าทีสนับสนุนกองทัพในการกวาดล้างชาวโรฮิงญา
ดิฉันได้เรียนถามบาทหลวงชาวต่างชาติท่านหนึ่งที่ทำงานอยู่ในพม่าและได้มีโอกาสเข้าเฝ้าโป๊ปว่า ท่านคิดอย่างไรต่อการกระทำของโป๊ป ท่านตอบว่า “เราได้พบเห็นสถานการณ์ความแตกแยก ความไม่ไว้วางใจและบาดแผลด้านสังคมในประเทศ เราจำเป็นต้องมีการพูดคุยและความร่วมมือกันอย่างจริงใจ โดยเฉพาะกับบรรดาผู้นำศาสนาและการเมือง โป๊ปทรงรับทราบถึงสถานการณ์เช่นนี้ ดังนั้นพระองค์จึงพยายามเปิดใจและเข้าหาทุกคนที่ต้องการสนทนาอย่างจริงใจ และทรงกระทำโดยหลีกเลี่ยงสิ่งไม่จำเป็นต่างๆ ที่จะมาสกัดกั้นการสนทนาอย่างแท้จริง
แน่นอนว่าการพูดคำว่าโรฮิงญาในพม่าจะเป็นสิ่งที่กีดขวางการสนทนา โป๊ปใส่ใจทำตามคำแนะนำของพระคาร์ดินัลและที่ประชุมสังฆราชคาทอลิกของพม่าโดยไม่พูดคำว่าโรฮิงญา ซึ่งถ้าพระองค์ใช้คำว่าโรฮิงญาในที่สาธารณะในพม่า การพูดคุยคงล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทุกคำปราศรัยและคำเทศนาของพระองค์ ดึงดูดความสนใจและเข้าถึงใจผู้คนจริงๆ ทั้งกับผู้นำศาสนาและพลเรือน พระองค์ก็พูดในฐานะพระด้วยคำพูดที่บรรเทาใจและให้กำลังใจ
การกระทำอื่นที่ช่วยให้เกิดการสนทนา ก็คือพระองค์ต้อนรับคนทุกฝ่าย แม้แต่คนที่คนอื่นๆ จะเห็นว่าเป็น ‘หนามในเนื้อ’ สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันในพม่า โป๊ปได้พูดคุยเป็นการส่วนพระองค์กับผู้บัญชาการกองทัพพม่า พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย และพระสิตะกู สะยาดอว์ พระพม่าผู้มีชื่อเสียง
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อในที่สุดพระองค์ได้พบกับผู้อพยพในบังคลาเทศ ทรงกล่าวถึงโรฮิงญาว่าเป็นที่ที่พระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่ คำพูดนี้ส่งผลสะเทือนมากแม้ต่อชาวคาทอลิกเอง เพราะคำพูดนี้ย้ำเตือนชาวคาทอลิกและชาวคริสต์อื่นๆ ถึงคำพูดของพระเยซูที่ว่า พระจ้าทรงสถิตอยู่กับผู้ที่ประสบความทุกข์และความยากลำบากในชีวิต
การกระทำของโป๊ปไม่ได้แสดงว่าพระองค์แค่เพียงทำอะไรให้ง่ายๆ ให้ผู้คนพึงพอใจ หรือเพียงแค่หลีกเลี่ยงความยุ่งยาก แต่พระองค์เป็นผู้ที่ใช้ปัญญาแยกแยะอย่างเชี่ยวชาญ พระองค์เป็นผู้ที่มีความกรุณาเสมอมาและหัวใจของพระองค์อยู่กับผู้ที่ทุกข์ยาก
แสดงความคิดเห็น