โดย
ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 ธันวาคม 2560
ทุกปีองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) จะมีการรายงานดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index: CPI) ของแต่ละประเทศ โดยในปี 2559 ประเทศไทยได้ที่ 101 จาก 176 ประเทศ มีคะแนน 35 จาก 100 คะแนน ลดลงจากปี 2558 ที่ได้อันดับที่ 76 มี 38 คะแนน
ผลรายงานแต่ละปีส่งผลให้สังคมตั้งคำถามกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทยที่ทวีความรุนแรงและมีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่กลไกการแก้ปัญหาที่มักพูดถึงหรือเรียกร้องให้มี คือมาตรการทางกฎหมายและบทลงโทษ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วอาจแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ขณะที่การแก้ปัญหาการทุจริตในอีกมิติหนึ่งที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึง คือการพัฒนาจิตสำนึกในเรื่องคุณธรรม ซึ่งเกิดขึ้นผ่านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในแต่ละชุมชน
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนและวิถีวัฒนธรรมที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสร้างสังคมคุณธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่มีความยั่งยืน ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินโครงการส่งเสริมเครือข่ายประชาสังคมต่อต้านการทุจริตด้วยวิถีวัฒนธรรม ซึ่งเป็นโครงการที่เชิญชวนให้ชุมชนมาร่วมเป็นพลังสำคัญในการสร้างสังคมคุณธรรมด้วยทุนความดีที่มีอยู่ในพื้นที่ของตนเอง
โครงการเริ่มจากการเปิดรับสมัครชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ในเดือนตุลาคม 2560 และเชิญชุมชนที่เข้าร่วมโครงการเข้าร่วมงานรวมพลังเครือข่ายประชาสังคมต่อต้านการทุจริตด้วยวิถีวัฒนธรรม เมื่อ 22-23 พฤศจิกายน 2560 ณ จังหวัดนครนายก มีผู้แทนจาก 43 ชุมชน ใน 14 จังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วมงาน
งานครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการระดมความคิดเห็น เริ่มจากการสำรวจต้นทุนของชุมชน โดยให้แต่ละชุมชนทบทวนใน 4 ประเด็น คือ 1. ของดีในชุมชน 2. ภาพของชุมชนที่อยากเห็นในอนาคต 3. ปัญหาที่อยากแก้ 4. ความดีที่อยากทำ ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้เห็นว่าของดีในชุมชนมีทั้งสิ่งที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น น้ำตาลโตนด มะยงชิด ทุเรียนภูเขาไฟ (ทุเรียนปลูกในดินภูเขาไฟเก่า) นาบัว สถานที่สำคัญในชุมชน เช่น วัด ศาลปู่ตา รวมไปถึงภูมิปัญญา เช่น หมอพื้นบ้าน การแสดงมโนราห์ หนังตะลุง วิถีชีวิตกลุ่ม ชาติพันธุ์ไทพวน มันนิ (หรือที่คนทั่วไปเรียกว่าซาไก)
ภาพของชุมชนที่อยากเห็นในอนาคต ผู้เข้าร่วมส่วนมากให้ความสำคัญกับการการพัฒนาชุมชนทั้งในแง่คุณภาพชีวิตคนในชุมชน และพื้นที่ในชุมชน ส่วนปัญหาที่อยากแก้ พบว่าเป็นปัญหาที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในชุมชน เช่น ยาเสพติด ความขัดแย้งในครอบครัว ในชุมชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สำหรับความดีที่อยากทำ เป็นที่น่าสังเกตว่าให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนา และแก้ปัญหาต่างๆในชุมชน เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์ ธนาคารขยะ
หลังจากสำรวจทุนชุมชนแล้ว ได้มีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาชุมชนในมิติคุณธรรม ประกอบไปด้วย คุณเสรี ศรีหะไตร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การขับเคลื่อนสังคมคุณธรรมว่าประกอบไปด้วยกระบวนการที่สำคัญ 5 ขั้นตอน คือ 1. กำหนดเป้าหมายสูงสุด 2. ค้นหาปัจจัยสำคัญความสำเร็จ 3. กำหนดกฎกติกา 4. การแปลงกฎกติกาเป็นแผน และ 5. ติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผน
ช่วงเสวนาประเด็น “อนาคตชุมชนไทยในยุค 4.0” คุณศิวโรฒ จิตนิยม ประธานธนาคารความดี ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดกาญจนบุรี ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตำบลหนองสาหร่าย ที่ใช้ความสุขเป็นเป้าหมายการพัฒนา เริ่มจากปรับเป้าหมายวิถีชีวิตของตนเอง และรวมตัวกันทำงานร่วมกันในรูปแบบสภาผู้นำตำบลหนองสาหร่าย ซึ่งประกอบไปด้วยผู้นำชุมชนจาก 9 หมู่บ้านที่มาจากแต่ละภาคส่วน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มอาชีพ อสม. สมาชิกท้องถิ่น พระ ครู รวม 79 คน
สภาชุดนี้จะกำหนดทุกเรื่องของชุมชน และส่งแผนพัฒนาให้กับทาง อบต. ซึ่งการทำงานในรูปแบบนี้มีการจัดการมาก ที่สำคัญคือการกำหนดเป้าหมายร่วมด้านความสุขที่เกิดจากการระดมความคิดเห็นของคนในชุมชน ผู้นำชุมชน ร่วมกันพัฒนาและประกาศเป็นธรรมนูญตำบลหนองสาหร่าย รวมทั้งการกำหนดปฏิทินชุมชนด้วยตนเอง หน่วยงานหรือองค์กรภายนอกที่เข้ามาทำงานต้องปรับให้สอดคล้องกับเงื่อนไขเวลาของชุมชน
ในประเด็นการปรับตัวของชุมชนในยุค 4.0 คุณอัมพร แก้วหนู ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ชวนคิดเรื่องประเทศไทย 4.0 ว่าให้ความสำคัญในระดับประเทศ ขณะที่ชุมชน 4.0 ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงมากนัก และได้เสนอภาพชุมชนในอนาคตว่า ต้องออกแบบใหม่ทุกมิติ ใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร การหาช่องทางค้าขายผ่านระบบออนไลน์ ขณะที่คุณศิวโรฒ เสนอการปรับตัวของชุมชนยุค 4.0 ว่าต้องประกอบไปด้วย 1. ปรับวิธีคิดใหม่ ฝึกการคิดร่วมกัน 2. ปรับวิธีการสื่อสาร เลือกสื่อสารเรื่องที่เป็นประโยชน์ 3. ปรับวิธีการกระทำ 4. วิถีชุมชนต้องปรับเป้าหมายใหม่ เปลี่ยนจากเงินมาเป็นความสุข 5. วิถีชุมชนท้องถิ่นต้องเพิ่มความรู้ และ 6. สร้างพลังทางสังคม
ทิศทางของชุมชนในอนาคตจึงเป็นการปรับตัวตั้งรับความเปลี่ยนแปลงบนฐานของความรู้ ควบคู่กับเทคโนโลยีและการสื่อสาร
หลังจากนั้นทีมศูนย์คุณธรรมได้จัดกระบวนการให้ชุมชนเห็นถึงความสำคัญของการกำหนดข้อตกลงร่วมหรือธรรมนูญชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างชุมชนคุณธรรม ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงกับทุนเดิมของชุมชนที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ชวนให้แต่ละชุมชนทบทวนกฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรม หรือกติกาในชุมชนที่ส่งเสริมให้เกิดคุณธรรม
กระบวนการนี้ทำให้เห็นว่าแต่ละพื้นที่มีกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการกำกับพฤติกรรมทางสังคมของคนในชุมชนที่หลากหลาย ตั้งแต่ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การแขวน “โจ” ไว้ตามต้นไม้ของชุมชนในภาคใต้ เพื่อป้องกันการลักขโมยผลไม้ในสวน โดยเชื่อว่าถ้าคนมาขโมยผลไม้จะไม่สบาย ไปจนถึงการประยุกต์กับกลไกการจัดการชุมชนแบบใหม่ เช่น กิจกรรมแยกขยะในชุมชน การออกกติกาชุมชนในรูปแบบต่างๆ เช่น การเปิดเพลงเสียงดังหลังสี่ทุ่ม ขี่รถมอเตอร์ไซค์เสียงดัง ทะเลาะวิวาทในชุมชน จะปรับเงินเข้ากองทุนกลางพัฒนาหมู่บ้าน
กฏเกณฑ์ทางวัฒนธรรม และกติกาต่างๆที่อยู่ในชุมชนจึงไม่ได้เป็นภาพที่หยุดนิ่งตายตัว แต่มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบททางสังคม และที่สำคัญคือเกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน ด้วยเหตุนี้กระบวนการสร้างชุมชนคุณธรรมจึงต้องให้ความสำคัญกับการนิยาม “ความดี” ที่มาจากฐานราก และสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของชุมชนในแต่ละพื้นที่ โดยที่ภาพของความเป็น “ชุมชน” ก็ต้องเปิดให้มีการตีความที่หลากหลายจากสมาชิกในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของช่วงวัย เพศ สถานะทางสังคม กลุ่มชาติพันธุ์
หลังจากการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ผู้แทนแต่ละชุมชนจะกลับไปจัดทำข้อตกลงร่วมหรือธรรมนูญชุมชน พร้อมทั้งทดลองสร้างปฏิบัติการตามที่กำหนดร่วมกัน ซึ่งทีมทำงานจากศูนย์คุณธรรม จะไปจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละภูมิภาค และประมวลการขับเคลื่อนในแต่ละพื้นที่มานำเสนอต่อไป
แสดงความคิดเห็น