สิงหาคม 2004

วิทยาศาสตร์เก่าไม่ได้ผิด … แต่

โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 28 สิงหาคม 2547

Theme หลักเรื่องหนึ่งของการพูดคุยในวงจิตวิวัฒน์ก็คือ ความเป็นวิทยาศาสตร์แบบเก่าและวิทยาศาสตร์แบบใหม่ แนวคิดหลักของความเป็นวิทยาศาสตร์แบบเก่าที่มีมาตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ถือว่ามี เซอร์ ไอแซค นิวตัน เป็นต้นแบบของความคิด ส่วนวิทยาศาสตร์ใหม่นั้นเริ่มตั้งแต่การค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ และทฤษฎีควอนตัมของ นีล บอห์ร ในช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๐

ที่เขียนแบบนี้ ผมไม่ได้หมายความว่าความคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าจะเป็นเรื่องผิดพลาดหรือเลวร้ายที่สมควรจะถูกประณามอะไร ตรงกันข้าม วิทยาศาสตร์เก่าโดยเฉพาะนิวตันรวมไปถึงคนต้นคิดแรกๆ ได้แก่ นิโคลัส คอร์ปอนิคุส และกาลิเลโอ นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีคุณอนันต์ต่อมนุษยชาติทั้งสิ้น เพียงแต่แนวคิดแบบเก่านั้นอาจจะไม่เหมาะสมกับยุคสมัยในปัจจุบันซึ่งเข้ามาถึงศตวรรษที่ ๒๑ แล้ว

ในบทความนี้ ผมอยากจะขอลองลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น เพื่อความเข้าใจที่ผมคิดว่ามีความสำคัญ คือให้เราได้มองเห็น “ความเป็นมา” ของวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความสำคัญและจะช่วยให้เราได้พอมองเห็น “สิ่งที่ควรจะเป็นไป” ของวิทยาศาสตร์ด้วยเช่นกัน

ต้องถือว่า “การปฏิวัติทางความคิด” ของมนุษย์ตรงนี้เริ่มต้นมาจากคอร์ปอนิคุส ซึ่งเป็นคนแรกที่บอกว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เด็กประถมในสมัยปัจจุบันก็ทราบว่าเป็นเรื่องจริง หากแต่ความจริงข้อนี้ท้าทายต่ออำนาจของกรอบคิดแบบเก่าในสมัยนั้น เขาจึงถูกลงโทษด้วยการถูกจองจำและทรมานจนตาย การค้นพบกล้องโทรทรรศน์ของกาลิเลโอก็ยิ่งช่วยพิสูจน์ให้มนุษย์เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า นิโคลัส คอร์ปอนิคุส นั้นถูกต้อง แต่กาลิเลโอก็ไม่ค่อยกล้าพูดอะไรมากจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

น่าแปลกเหมือนกันที่กาลิเลโอเสียชีวิตในปี ค.ศ. ๑๖๔๒ และเซอร์ ไอแซค นิวตัน ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อต้นปี ค.ศ. ๑๖๔๓ พอดี นิวตันนั้นถือกำเนิดมาแบบผิดปกติคือคลอดก่อนกำหนด (Premature Baby) ดูเหมือนว่านิวตันจะรีบเกิดมา “เพื่อภารกิจ” อะไรบางอย่าง เพราะดูๆ แล้ว ด้วยการแพทย์ในสมัยนั้นเขาไม่น่าจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ แถมชีวิตในวัยเด็กก็ยังมีความยากลำบากเกือบจะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่เขาก็อยู่รอดจนกระทั่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่

นิวตันสร้างทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลกและทฤษฎีกลศาสตร์ ซึ่งสามารถอธิบายให้มนุษย์ได้ “เห็นจริง” ของความเป็นไปของวัตถุที่มองเห็นด้วยตาเปล่าแบบจะจะ ได้ช่วยดึงและถือว่าทำให้เกิดการ “ปฏิวัติทางความคิด” หรือกรอบคิดของมนุษย์ในยุคนั้น “ได้สำเร็จสมบูรณ์” คือออกมาจากแนวคิดเดิมที่ตั้งอยู่บนฐานของความคิดแบบศาสนาในยุคกลางตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๔

ทฤษฎีของนิวตันเป็นจุดเริ่มแรกที่ทำให้วิทยาศาสตร์เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ พร้อมๆ กับการก่อกำเนิดของแนวคิด ทฤษฎีทางสังคมและเศรษฐศาสตร์ ที่ทำให้เกิดยุคอุตสาหกรรมขึ้นมา มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มีอายุเฉลี่ยยืนยาวมากขึ้น จากการที่วิทยาศาสตร์สามารถเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นโรคระบาดหลายๆ อย่าง เช่น ไข้ทรพิษ กาฬโรค โปลิโอ อหิวาหตกโรค ฯลฯ มีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นเครื่องกลต่างๆ รถยนต์ เครื่องบิน อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในชีวิตต่างๆ มากมาย

แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้ทำให้มนุษย์ค่อยๆ “ฝังรากแห่งความอหังการ” ที่คิดว่าตัวเองสามารถ “เอาชนะธรรมชาติได้เสมอ” และเกิดความคิดขึ้นมาถึงการต้องการจะ “ควบคุม” ทุกสิ่งทุกอย่างให้อยู่ในอำนาจของตัวเองอย่างไม่รู้ตัว เรื่องต่างๆ อีกมากมายที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ก็คิดว่าเป็นเพราะยังพยายามไม่มากพอ พัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยออกมามากมายจนปัจจุบันก้าวหน้าไปถึงขั้นไบโอเทคโนโลยีที่มุ่ง “ควบคุม” ระบบพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และนาโนเทคโนโลยีที่ลงรายละเอียดไปถึงสิ่งเล็กจิ๋วของวัตถุต่างๆ ที่พยายามจะนำมาประยุกต์กับทุกสิ่งทุกอย่างภายใต้ความคิดหลักๆ ของการควบคุมและอหังการอย่างไม่รู้ตัว เทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้โดยเฉพาะ ๒ เรื่องหลังก็คือไบโอเทคโนโลยีและนาโนเทคโนโลยี จึงยังเป็นเรื่องทันสมัยแต่อยู่ภายใต้กรอบคิดแบบเดิมๆ ที่แยกส่วนและมองสิ่งมีชีวิตเป็นกลไกแบบเครื่องจักรสไตล์นิวตันที่คิดจะควบคุมโลกให้ได้ ทำตัวเป็นพระเจ้า เหมือนกับที่นิวตันเคยพูดไว้ว่า ถ้าสามารถนำตัวเขาไปยังจุดๆ หนึ่งนอกโลกและสามารถหาไม้คานให้เขาหนึ่งอัน เขาจะสามารถงัดโลกให้กระเด็นไปได้

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เริ่มทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายเกิดขึ้นมาในโลกใบนี้ เพราะความคิดอหังการแบบนั้นเป็นสิ่งที่ขัดกับความเป็นไปของธรรมชาติ เริ่มเลยออกจาก “จุดสมดุล” ของความพอดีไปสู่จุดที่ “เสียดุล” มนุษย์ลงทุนกับสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีในรูปแบบที่ “ผิดทาง” เพราะไปทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทำลายห่วงโซ่ของอาหาร สร้างสิ่งปนเปื้อนขึ้นมาในระบบนิเวศ และที่สำคัญที่สุดคือความอหังการที่มุ่ง “ควบคุมและจัดการ” กับโลกใบนี้ เหมือนกับที่นิวตันได้กล่าวไว้

ในขณะเดียวกัน คือช่วงประมาณต้นศตวรรษที่ ๒๐ นี้เอง มนุษย์ได้มีการค้นพบทฤษฎีใหม่ทางวิทยาศาสตร์ ๒ ทฤษฎีที่สำคัญมากๆ ก็คือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ และทฤษฎีควอนตัมของ นีล บอห์ร ทั้ง ๒ ทฤษฎีนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มมองเห็นว่า ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของเซอร์ ไอแซค นิวตัน นั้นเป็นจริงเฉพาะวัตถุที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น ไม่ได้เป็นจริงเสมอในกรณีอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ถ้านำวัตถุขึ้นยานอวกาศที่มีความเร็วเหนือแสง วัตถุจะไม่ได้แสดงตัวไปตามกฎของนิวตันเลย ขณะเดียวกันในระดับเล็กๆ ย่อยๆ จนถึงระดับอะตอมของวัตถุเดียวกันนั้น อิเลกตรอนก็ไม่ได้ทำตัวเป็น “ที่น่ารัก” ให้ควบคุมได้ แต่กลับชอบทำตัว “เป็นกบฏ” ไม่ได้เป็นไปตามกฎของนิวตันเช่นกัน ที่สำคัญคือมีความเชื่อมรวมเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ไม่สามารถแยกเป็นส่วนๆ แบบกลไกตามแนวคิดแบบเก่า

นักวิทยาศาสตร์หลายท่านที่ค้นพบทฤษฎีทางฟิสิกส์แบบใหม่นี้ ต่างก็งงงวยกับสิ่งที่ตัวเองค้นพบในห้องทดลอง หลายคนพูดว่า พระเจ้าเล่นตลกอะไร เพราะสิ่งที่เห็นที่พบในห้องทดลองนั้น “ขัดกับความรู้สึกที่เป็นมา” เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โดยตลอด ที่คิดว่ามนุษย์สามารถควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ วิทยาศาสตร์ใหม่นี้สามารถอธิบายได้ทั้งหมด แถมยังสามารถอธิบายปรากฏการณ์ของนิวตันในทางกลศาสตร์ได้ด้วย คือเป็นการ “ต่อยอดและหลอมรวมความคิดเก่า” (Transcend & Include)

วิทยาศาสตร์ใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ ถือได้ว่า “เป็นการปฏิวัติทางความคิด” “ครั้งใหม่” ของมนุษย์ ทำให้มนุษย์ส่วนหนึ่งมองเห็นทางออกของปัญหาได้ว่า ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันอย่างศานติกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้อย่างมีความสุข

ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใหม่นี้เริ่มทำให้มนุษย์ส่วนหนึ่งค่อยๆ เริ่มมองเห็น “ทางออก” ของปัญหาที่เกิดขึ้น เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ทำให้เกิดความนอบน้อมถ่อมตัวกับธรรมชาติมากขึ้น เริ่มเข้าใจว่ามนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตหนึ่งในโลกใบนี้เท่านั้น แม้ว่าเราจะมีสิ่งที่พวกเราตั้งกันเองว่า “ความฉลาด” มากกว่าสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เรากลับมีความทุกข์และทำลายกัน ทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากมายแบบที่ไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตชนิดไหนทำมาก่อน

เซอร์ ไอแซค นิวตัน จะยังคงยิ่งใหญ่ไปตลอดกาล หากว่ามนุษย์ตีความหมาย เข้าใจสิ่งที่เขาบอกอย่างถูกต้องและสามารถ “มองเห็นข้อจำกัด” ในทฤษฎีของเขาอย่างเป็นจริง ไม่ใช่ “ตะบี้ตะบันเชื่อ” ถือว่าเป็นเรื่องถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์เสมอไปตลอดชั่วกาลนานแบบที่เป็นกันอยู่ในสังคม

สุขภาวะที่ทุกคนเข้าถึงได้

โดย ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 21 สิงหาคม 2547

ท่านผู้อ่านเคยรู้สึกอย่างผมไหมว่า เราแต่ละคนทุกวันนี้ นอกจากทำงานหนักและมีปัญหาคาใจกันแทบทุกคนแล้ว ไม่ว่าอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังข่าว หรือพูดคุยเมื่อพบหน้ากัน ดูจะมีแต่เรื่องรกหู รกตา รกใจเต็มไปหมด เหนื่อยกับงาน ยุ่งกับการทำมาหากินและสู้กับปัญหาไม่พอ ยังต้องรับรู้และหวั่นไหวระทึกใจไปกับปัญหา ข้อขัดแย้งและกระแสความเป็นไปต่างๆ ที่ยุ่งเหยิงซับซ้อนทั้งใกล้และไกลตัว

ในภาวะเช่นนี้ เราจะทำอย่างไรดี จึงจะทำให้สุขภาพจิต สุขภาพกาย “อยู่เย็นเป็นสุข” ท่ามกลางทุกอย่างที่แปรปรวน

บางคนบอกว่า ต้องมีอารมณ์ขันไว้ บางคนธรรมะธัมโมหน่อยบอกให้อ่านหนังสือธรรมะ ทำสมาธิ วิปัสสนา บางคนบอกให้ปลงเสียเถิด ฯลฯ ก็สุดแต่พื้นฐานและนิสัยปัจจัยของแต่ละคนจะเกื้อหนุนให้เป็นไป

ทว่า ... สำหรับผม ขอทำอย่างนี้ครับ

  • นั่งพักเงียบๆ ดูแมกไม้สีเขียว ดูฟ้า ดูน้ำ และดูนก
  • หลับตา หายใจเข้ายาวๆ หายใจออกยาวๆ ทำซ้ำหลายๆ ครั้ง
  • ดื่มน้ำเย็นจืดสนิทใสสะอาด
  • ออกกำลังกายตามอัธยาศัย เช่น ทำสวน รดน้ำต้นไม้ เดินเล่น
  • เล่นกับสัตว์เลี้ยง
  • หยุดหมดทุกอย่าง หยุดพูด หยุดฟัง หยุดดู หยุดอ่าน หยุดเคลื่อนไหว
  • ฝึกใจปล่อยวางให้หมดทุกอย่าง


ถ้าทำได้เช่นนี้ ไม่ต้องมาก วันละ ๑๕-๒๐ นาที จะรู้สึกเบากาย เบาใจ สบายขึ้นทุกครั้งไป

จะว่าไป คนทั้งหลายจำนวนมากก็ทำเช่นนี้อยู่บ้างแล้ว มากบ้าง น้อยบ้าง เราจึงอยู่กันมาได้เป็นปรกติ

ก็ความเป็นปรกตินี่แหละคือชีวิตที่น่าเป็น ความเป็นปรกติแบบง่ายๆ ดังยกตัวอย่างมาข้างต้น เป็นวิธีเรียกกำลังใจกำลังกายของเรากลับคืนมา เสียแต่ว่าทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ เข้าใจ เห็นด้วย แต่ไม่ค่อยทำกัน ทั้งนี้คงเพราะ “จิตไม่ว่าง” มีความยึดถือ คือมีมายาคติ มีอารมณ์หลายอย่างครอบงำเราอยู่มากเป็นสำคัญ

นอกเหนือจากพฤติกรรมตามปรกติวิสัยดังกล่าวแล้ว การเลือกรับรู้หรือเลือกทำเฉพาะเรื่องที่ดีงาม สร้างสรรค์ก็น่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่เหมาะสมและเป็นผลดีแก่จิตใจเรา เช่น เลือกฟังเพลงเพราะๆ เลือกอ่านหนังสือดีๆ เลือกเล่นกีฬาที่ถนัด เลือกสนทนากับคนที่รักนับถือกันเป็นครั้งคราว หรือแม้แต่เลือกอาหารจานโปรดที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงมากนัก เป็นต้น

โดยนัยนี้ ผมขอยกตัวอย่างสิ่งที่ผมเลือกรับรู้เมื่อเร็วๆ นี้มาเล่าสู่กันฟังสักเรื่องหนึ่ง กล่าวคือเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผมได้อ่านหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ลงข่าวและภาพพระภิกษุอายุมากแล้วรูปหนึ่งออกบิณฑบาตยามเช้าตรู่ ท่วงทีอันสง่างามและสงบเย็นของท่านดูน่าประทับใจมาก พระภิกษุรูปนั้นมิใช่ใครอื่น แต่เป็นผู้ที่คนทั่วบ้านทั่วเมืองรู้จักดี ท่านคืออดีต พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์

ผมคงไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากความเกี่ยวกับเกียรติภูมิของผู้ใหญ่ท่านนี้ อาการสงบเย็น สำรวม เรียบง่ายของท่านท่ามกลางเขตคามชนบท นำปีติสุขมาสู่ผม ผู้ได้อ่านข่าวได้ลึกเอาการ

ผมเชื่อว่าหลายท่านที่ได้อ่านเรื่องเดียวกันนี้คงรู้สึกคล้ายๆ กัน สำหรับผมแล้ว ขณะดูภาพท่านในหน้าหนังสือพิมพ์ ผมเข้าในโดยพลันว่า “นี่ไง ที่เรียกว่าเนื้อนาบุญอันไพศาล” ที่เราอาจเข้าถึงได้ในยุคสมัยนี้ ที่สื่ออย่างหนังสือพิมพ์ (และสื่ออื่นๆ) ช่วยให้เป็นไปได้

นี่คือปีติสุขเงียบๆ ลึกๆ ที่เราหยิบฉวยเข้ามาสู่ใจเราได้จากอะไรๆ ที่เรียกว่ามีอยู่กลาดเกลื่อนธรรมดาๆ เสียอย่างเดียวคือ ข่าวและภาพดีๆ เช่นนี้มีน้อยเกินไปในยุคสมัยของเรา

เขียนมาได้ถึงตรงนี้ ผมได้ความรู้ ความเข้าใจผุดเกิดขึ้นประการหนึ่ง นั่นคือธรรมชาติเดิมแท้ที่เป็นศักยภาพแฝงเร้นอยู่ในตัวเราทุกคนคือ “สุขภาวะ” ที่รอการเปิดตัวออกมาทุกขณะที่มีการกระตุ้นอันเหมาะสม ปัญหาอยู่ที่ว่า ใครจะสามารถเตรียมพื้นที่ทางใจและมีความอ่อนไหวเพียงพอที่จะจุดประกายให้สุขภาวะนั้นเบ่งบานออกมาจากภายใจตัวเรา เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับความสามารถที่จะรู้ตัวทั่วพร้อมในการเข้าถึงสุขภาวะของแต่ละคน

ในภาวะปรกติของชีวิต ถ้าเราไม่เผลอตัว หมกมุ่นอยู่กับการงาน ภาระหน้าที่ หรือหัวชนฝาอยู่กับปัญหาที่ต้องผจญมากเกินไป รู้จักคลายเครียด หรือปล่อยวางเป็น เราก็น่าจะให้รางวัลชีวิตเราได้จากการรับรู้หรือการเปิดใจสัมผัสของธรรมดาๆ ที่อาจพบเห็นทั่วไป ได้แก่ ดูดอกไม้บานรับแสงตะวันยามเช้า (หรือดอกไม้ในแจกันก็ยังดี) ฟังเสียงหัวเราะหัวไห้ของเด็กๆ ดูต้นไม้ใบหญ้าเขียวชอุ่มหน้าฝน ดูน้ำใสไหลเย็น (ถ้ามีหรือเดินทางผ่าน) แม้แต่เช้าได้สูดกลิ่นกาแฟหอมกรุ่น ตอบรับยิ้มของลูกหลานหรือเพื่อนฝูงเมื่อพบกัน สุดแต่ว่าจะมีใคร อะไรผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวัน หากแต่เรารู้จักรับรู้ด้วยใจอันงาม ไม่อมทุกข์เกินไป เราก็จะพบมากขึ้นว่า ดีๆ ชั่วๆ ชีวิตนี้น่าจะพออยู่ได้

ข้อสรุปของผมในที่นี้คือ เราสามารถจะหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ แต่บ่อยๆ และหลายหลากได้จากของธรรมดาๆ นี่แหละ อะไรๆ เล็กๆ ไม่สลักสำคัญนี่แหละที่รวมกันแล้ว สามารถหล่อเลี้ยงจิตใจเราให้สมดุลเข้มแข็ง ความเป็นปรกติธรรมดาดังนี้แหละที่ช่วยให้เราอยู่ได้ ดำเนินชีวิตได้เป็นปรกติ สำคัญอยู่ที่เราทำใจเป็นด้วยสติและปัญญาของเรา

หลายปีมาแล้ว เพื่อนๆ ของผมกลุ่มหนึ่ง สี่ห้าคน มีความเชื่อที่นำมาทักมายหยอกล้อกันบ่อยๆ คือเชื่อตรงกันว่า ชีวิตเราทุกวันนี้ อย่าไปมุ่งแสวงหาความสำเร็จยิ่งใหญ่อะไรนักเลย วางเฉยเสียบ้าง แล้วหันมาสนใจ “เก็บตก” รางวัลชีวิตเล็กๆ น้อยๆ จากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราได้คิด ได้ทำโดยสุจริตใจ แล้วบังเอิญมันถูกต้อง ดีงาม เท่านี้ก็เพียงพอที่เราจะมีความสุข ความพอใจได้แล้ว เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “ชัยชนะเล็กๆ” ที่ดูแล้วไม่สลักสำคัญ แต่เรารู้ดีว่าทำให้เราสบายใจก็แล้วกัน (ในกลุ่มนี้มีเพื่อนฝรั่งที่น่ารักรวมอยู่ด้วย คือ ลู เซตตี้ เราจึงเรียกชัยชนะหรือความสุขน้อยๆ นี้ว่า “small victories” ส่วนอีก ๔ คน ได้แก่ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์, คุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์, คุณหญิง ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา และผม)

ครับ ผมจงใจหยิบเอาเรื่องเล็กๆ สิ่งปรกติธรรมดามาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ด้วยความตั้งใจเป็น “ฐาน” ของการพิจารณาเพื่อนำไปสู่ “สุขภาวะ” ที่เราแต่ละคนสามารถสร้างให้ตัวเราเองและให้ซึ่งกันและกันได้ไม่รู้จบ จนสามารถพัฒนาต่อเนื่องให้วิวัฒน์งอกงาม ยกระดับขึ้นเป็นจิตและกายที่เจริญมาก กอปรด้วยมโนธรรมสำนึกและความอ่อนไหวที่งดงามสร้างสรรค์ไม่สิ้นสุด

จิตที่ระแวงย่อมหวั่นไหว

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2547

โฆษณาเรื่องหนึ่ง ชาวผิวดำท่าทางน่ากลัวปีนเสาขึ้นไปเก็บลูกโป่งสีสวยลงมาให้เด็กน้อย แม่ของเด็กเห็นเข้าก็รีบมาคว้าลูกสาวไปด้วยความหวาดกลัว

แม่ระแวงว่าลูกจะถูกชายผู้นั้นหลอกจับเอาไป เพราะเขามีรูปลักษณ์ที่น่าเกลียด ไม่น่าไว้ใจ

คู่รักระแวงกันและกันว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะไม่จริงใจ

นายจ้างระแวงลูกจ้างจะขโมยของ จึงใส่กุญแจห้องทุกห้อง คอยสอดส่องดูว่าลูกจ้างจะแอบหยิบฉวยอะไรออกไป

ครูระแวงว่าลูกศิษย์จะโกงการสอบ แม้ในระดับมหาวิทยาลัยก็ต้องมีผู้คุมสอบทั้งหน้าห้อง หลังห้อง นั่งจ้องดูพฤติกรรมตาไม่กระพริบ

ตัวอย่างที่ยกมา ๓-๔ เรื่องนี้แสดงว่า คนในสังคมปัจจุบันขาดความสุข ชีวิตแต่ละคน แต่ละวันต้องคอยป้องกันตัว หลบหลีก ควบคุม เข้มงวดกวดขัน ในที่สุดก็มีแต่ความเครียดอยู่ทุกเวลาทุกแห่งหน ความระแวงเช่นนี้ ถ้ามีระดับรุนแรง ก็จำเป็นต้องพึ่งจิตแพทย์

ความระแวงเกิดจากอะไร

เมื่อวิเคราะห์สภาวะของจิต ความระแวงเกิดจากการรับรู้ ประสบการณ์ ความรู้สึกรวมถึงวิธีคิดที่ใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง

  • การรับรู้ว่าตนเองถูกต้อง คนรอบข้างไม่ถูกต้อง มีท่าทีไม่พึงประสงค์
  • ความเข้าใจว่าตนเองและคนอื่นในองค์กรไม่ใช่ฝ่ายเดียวกัน
  • ประสบการณ์สอนให้ตนเองไม่ไว้วางใจผู้อื่น และตนเองก็ไม่เป็นที่ไว้วางใจของผู้อื่น
  • ความไม่มั่นใจในสถานภาพ ความสามารถและอำนาจของตนเอง


ยังมีสาเหตุอื่นอีกมากมายที่ทำให้คนในครอบครัว ในองค์กร และในสังคม ขาดศรัทธาต่อกัน ระแวงว่าตนเองจะถูกหักหลัง ถูกลอบทำร้าย ความคิดของคนช่างระแวงจึงวนเวียนอยู่กับตนเอง

คนเราเมื่อจิตมีสภาวะหวั่นไหว ฟุ้งซ่านเช่นนี้ ย่อมต้องหาเวลาที่จะหยุดนิ่ง สงบ แสวงหากัลยาณมิตรเพื่อคิดไตร่ตรอง ซึ่งตามพุทธธรรมเรียกว่าการฝึกสติและเจริญปัญญา

การฝึกจิตให้นิ่งและใช้ปัญญาหาเหตุผล เป็นหนทางนำไปสู่การค้นพบความจริง ซึ่งช่วยลดความถือตัวลงได้

เราจะทำอย่างไรจึงรู้ว่าความจริงอยู่ที่ไหน เราจะเข้าใจกันได้ด้วยวิธีใด

ขอให้เราพบกัน หันหน้าเข้าหากัน เมื่อได้มองเห็นหน้าตาท่าทางของกันและกัน เราจะรับรู้อารมณ์กันได้

พบกัน แล้วพูดจากัน ใช้เหตุผล และถือหลักวจีสุจริต ๔ ประการ คือ พูดความจริงโดยไม่หวังประโยชน์เฉพาะตน พูดสร้างสามัคคี พูดสุภาพ และพูดมีสาระประโยชน์แท้จริง ถูกกาละเทศะ

พูดกันแล้วอาจมีประเด็นขัดแย้งและขัดใจกันบ้าง ก็ต้องขัดใจตนเอง ลบความขุ่นมัวในหัวใจ ขัดเอาความมานะถือตัวออกไปจากใจเสียก่อน ทำใจให้เป็นกลาง ถ้าสามารถขัดเกลาเอากิเลสที่จับเขรอะออกจากใจเสียบ้าง คู่ครองจะคิดเอาแต่ใจตัวน้อยลง หัวหน้าก็จะลดการวางอำนาจข่มลูกน้อง เพื่อนก็จะเห็นใจเพื่อน

ครอบครัวมีสุข ทุกคนก็เป็นสุข องค์กรเป็นหนึ่งเดียว ทุกคนในองค์กรก็มีกำลังใจ สังคมที่มุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ความขัดแย้งส่วนตัวลดลง สังคมก็เข้มแข็ง

ที่สาธยายโทษของความหวาดระแวงมาทั้งหมดนี้ มิได้หมายความว่าจะจูงใจให้เราดำเนินชีวิตอย่างหละหลวม ขาดความรอบคอบระมัดระวัง มิได้ชักชวนให้หลงเชื่อคนง่าย และมิได้ทำลายกฎเกณฑ์กติกาที่กำหนดไว้เป็นปทัสถาน

แท้จริงแล้ว ชีวิตส่วนตัวและการทำงานในสังคมมีแง่มุมต่างๆ ที่เราต้องปรับตัว เรียนรู้ และก้าวไปแต่ละย่างก้าวอย่างไม่ประมาท คำนึงถึงระเบียบชีวิต ระเบียบสังคม และระเบียบขององค์กร

ฝึกจิตฝึกตนให้เดินสายกลางระหว่างความเป็นเจ้าระเบียบกับความไร้ระเบียบ รู้จักผ่อนคลายจนใจปลอดโปร่งโล่งเบา

มีกัลยาณมิตร เกิดศรัทธาต่อกันและใช้ปัญญาร่วมกัน

ขั้นแรกของการฝึกจิตที่ระแวงหวั่นไหว คือการทำตนให้นิ่ง สงบ อยู่กับความเงียบ เพราะว่าท่ามกลางความเงียบ เราจะได้ยินเสียงภายในของตนเอง

เสียงแห่งจิตสำนึก แสวงหาความจริงที่ประจักษ์ในตน ซึ่งเป็นเสียงก้องอยู่ในใจ ต่อจากนั้นจงฟังอย่างตั้งใจ ฟังตนเอง ฟังความเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่ส่งเสียงอยู่ล้อมรอบ

เราจะได้ยินเสียงของสรรพสิ่งทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เริ่มตระหนักว่า แท้จริงแล้ว โลกนี้ช่างกว้างใหญ่หลากหลาย มีความแตกต่างเปลี่ยนแปลงไปไม่รู้จบ ตัวเรานี้ช่างเล็กนิดเดียว เป็นเพียงอณูน้อยนิดในจักรวาล

ถึงจุดนี้ เมื่อตัวตนเล็กลง จิตสำนึกใหม่ก็เกิดขึ้นจากความรู้ ประสบการณ์ที่ได้ผ่านพบมา เป็นความรู้ภายในตนที่มีคุณค่า เพราะกลั่นกรองจากกรณีตัวอย่างทั้งสุขทั้งทุกข์ที่ได้พบได้เผชิญ เราเคยคิดถูกคิดผิด ทำได้สำเร็จและหลายครั้งก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า

ความรู้ภายในตน ช่วยชี้แนวทางเราว่าจะมัวระแวงกันอยู่ทำไม ตัวเราเองก็ใช่จะอยู่ค้ำฟ้า ทุกคนทุกฝ่ายต่างก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น

เมื่อเกิดความรู้ภายในตน จิตของเราหนักแน่นขึ้น พร้อมกันนั้นเริ่มรู้สึกผ่อนคลาย

นิ่ง ฟัง คิด และรู้ เช่นนี้ ศรัทธา และความเป็นกัลยาณมิตรต่อกันก็ผุดบังเกิด ความระแวงต่อกันลดลง ความหวั่นไหวก็ลบเลือน ครอบครัวที่เครียดจะเริ่มมีรอยยิ้ม องค์กรที่ร้อนเริ่มเย็นลง สังคมที่ขัดแย้งก็จะมองเห็นทางประนีประนอมเพื่อนำไปสู่สันติภาพ

ไม่มีใครวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วยาวนานโดยไม่เคยพลาดล้ม ไม่มีใครยิ่งใหญ่อย่างยั่งยืนจนลืมวันตกต่ำ ทุกชีวิตไม่ได้เกิดมาเพื่อแพ้หรือชนะ หากแต่เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่ก่อประโยชน์หรือโทษต่อโลกตามพืชพันธุ์และเผ่าพันธุ์ที่เราเป็น

รู้เช่นนี้แล้ว ยังไม่รู้จักรักกันอีกหรือ ?

ปุจฉา: ทำดี "ได้ดี" มีที่ไหน?
วิสัชนา: การทำดี นั้น "ดี" ทุกทีไป

โดย ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2547

ผมขอไม่แสดงความเห็นเรื่องว่า "ใครผิดใครถูก" ระหว่างคุณปุระชัย และคุณหมอประกิต กับกรณีโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

กรณีดังกล่าวการทำความจริงโดยรอบด้านให้ปรากฏนั้นมีความสำคัญ โดยทุกฝ่ายรวมถึงสังคมโดยรวมด้วย จะต้องข้ามความคิดแบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกไป ก้าวให้พ้นแนวคิดแบบ "You are either with us, or against us" (หากคุณไม่อยู่ข้างเรา ก็ต้องเป็นศัตรูของเรา) เพราะความคิดเช่นนี้บีบคั้น อยู่ในข้อจำกัดว่าหากมีผู้ชนะก็ต้องมีผู้แพ้ ลดทอนความจริงที่มีหลายมิติหลายด้านให้เหลือเพียงถูก-ผิด ขาว-ดำ หรือ ดี-เลว

ควรกลับมาพิจารณาว่า การตั้งคำถามเช่นว่านี้เหมาะสมหรือไม่? ช่วยให้อะไรดีขึ้นอย่างไร? การตั้งคำถามอย่างไรจึงจะเป็นการสร้างสรรค์ ทำให้ทุกฝ่ายได้หันหน้าเข้าหากัน และเอางาน เอาการทำความดีเพื่อสังคมเป็นตัวตั้ง? คำถามและคำตอบประเภทใดที่จะช่วยกันสร้าง "ระบบ" ที่เอื้อต่อการทำความดีของทุกฝ่ายได้?

แต่ประเด็นที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญมาก ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องพึงพิจารณาใคร่ครวญให้ดี คือ เรื่อง จุดมุ่งหมายของการทำความดี คำถามที่เวลานี้เราได้ยินมากที่สุดคำถามหนึ่งคือ "ทำดีได้ดีมีที่ไหน?" (บางทีมีสร้อยต่ออีกว่า "ทำชั่วได้ดีมีถมไป")

คำถามดังกล่าวนี้สำคัญ เพราะบอกถึงบรรยากาศการทำความดีของสังคม เป็นตัวชี้วัดวุฒิภาวะหรือพัฒนาการของสังคมต่อการทำความดี ซึ่งเป็นหัวใจของความเป็นมนุษย์และสังคมที่สงบร่มเย็น จึงควรที่จะมีการเปิดเป็นประเด็นสาธารณธ ให้มีการพินิจพิเคราะห์ให้ดี เชิญชวนผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ของแผ่นดินออกมาแสดงความคิดเห็น เชื่อมโยงให้เกิดเป็น "ปัญญาใหญ่" ของสังคม ให้เกิดช่องทางปัญญาแก่สังคม เพราะสังคมไทย สังคมโลก ในมนุษยชาติจะอยู่รอดหรือไม่ มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำความดีของมนุษย์

ผมเองไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิและยิ่งไม่ใช่ปราชญ์ แต่เห็นว่าคำถามนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงขอลองเริ่มเปิดประเด็นเพื่อชักชวนให้มีการพูดคุยกัน

หากเป็นผมก็จะตอบแบบกวนๆนิดๆ (แต่จริงจัง) โดยเริ่มจากนิทานเซ็นที่ผมชอบมาก เป็นบทสนทนาระหว่างตันซาน พระเซ็นชื่อดังของญี่ปุ่นและสีกาท่านหนึ่ง

"หลวงพ่อคะ คนตายแล้วไปไหน?" สีกาปุจฉา พระตันซานเงียบไปครู่หนึ่ง แล้วหยิบเทียนที่ติดอยู่มาเป่าให้ดับ แต่ไม่กล่าวตอบอะไร หลังจากเงียบไปอีกพักใหญ่ สีกาผู้นั้นรู้สึกอึดอัดกระสับกระส่าย ตันซานจึงเอ่ยถามว่า "เธอพอใจกับคำตอบของเราหรือไม่?" สีกาตอบ "ไม่ค่ะ" ตันซานยิ้มแล้วบอกว่า "เราก็ไม่พอใจกับคำถามของเธอเหมือนกัน"

การทำความดีนั้น "ดี" โดยตัวมันเอง ไม่ต้องการการลงทะเบียน เทียบค่า ยอมรับ หรือประทับตราจากใคร หรือแม้กระทั่งการได้ทำความดีแล้วมีผู้เข้าใจผิด เห็นเป็นอื่น ก็ใช่ว่าจะทำให้การทำความดีนั้นมัวหมองไปได้ เป็นเช่นนั้นเอง เป็นธรรมดาของการทำความดี

คนที่ทำดีแล้วมีความสุข สุขเพราะรู้แจ้งว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องและดีงาม (ไม่ว่าสังคมจะเห็นว่าเป็นอย่างไร เข้าใจถูกหรือผิด) นี่เรียกว่า เป็นคนที่มีสุขภาวะทางปัญญา คือมีสุขภาวะที่เกิดจากการมีจิตใจสูง

องค์กรที่ทำความดีแล้วมีความสุข สุขเพราะรู้แจ้งว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องและดีงาม (ไม่ว่าสังคมจะเห็นว่าเป็นอย่างไร เข้าใจถูกหรือผิด) นี่เรียกว่า เป็นองค์กรที่มีสุขภาวะทางปัญญา คือมีสุขภาวะที่เกิดจากการมีจิตใจสูง

หน้าที่ของสังคมโดยรวม และโดยเฉพาะ สสส. ในการส่งเสริมสุขภาวะทางปัญญา หากกล่าวอย่างง่ายก็คือ ส่งเสริมให้คนได้ทำความดี และให้คนได้มีความสุขจากการทำความดีนั้นด้วย

ถ้าให้ดียิ่งขึ้นก็แสดงให้เห็นด้วยว่า ทำได้อย่างไร?

หากส่งเสริมให้คนได้ทำความดีแล้ว คนนั้นยังไม่มีความสุข (ไม่ว่าจะเกิดจากไม่มีใครไปรับรู้ ไปยกย่อง หรือเกิดจากมีคนเข้าใจผิด หรือเหตุอื่นๆ)นี่แสดงว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะยัง "ติดดี" แสดงว่ายังขาดปัญญา ต้องช่วยกันทำให้เกิดปัญญา ให้เห็นว่าการทำดีนั้น ควรทำเพราะว่ามัน "ดี" โดยตัวมันเอง และเมื่อได้ทำดีแล้ว "ดี" เลย ไม่ว่าจะมีใครเห็น ไม่เห็น หรือเข้าใจเป็นอย่างอื่น

สสส. มีแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ที่ส่งเสริมให้สังคมมีสุขภาวะจากการมีจิตใจสูงทั้งประเทศ โดยการสร้างช่องทางที่ให้สมาชิกทุกคนได้มีประสบการณ์ตรง เข้าถึงความสุขอันประณีต ผ่านช่องทางที่มากมาย หลากหลาย และทั่วถึง

ความสุขอันประณีตนั้นอาจหมายถึง ความสุขที่ไม่ได้เกิดจากการเสพอย่างหยาบๆ จากการได้ จากการมีแบบโลกๆ แต่หมายถึง ความสุขจากการขัดเกลาตนเอง ทำให้เกิดปัญญา สงบเย็น เป็นประโยชน์ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพส่งเสริมให้ผู้คนรู้จัก เข้าใจ มีประสบการณ์ตรงถึงการมีสุขภาวะทางปัญญา (เหมือนนิพพานชิมลองที่ท่านพุทธทาสว่า) อีกทั้งยังบอกเล่าได้ และสร้างโอกาสให้คนอื่นๆมีสุขภาวะจากการทำความดีกันให้มากๆได้ด้วย

การส่งเสริมสุขภาวะในมิตินี้ไม่เพียงแต่มีรูปธรรมชัดเจน ทำได้จริง ทั้งยังทำได้ง่ายด้วย เพราะทำได้ทุกคน ทุกเวลา ไม่จำกัดเพศ ชนชั้น อายุ สถานะทางสังคม เศรษฐกิจ และอื่นๆใดๆทั้งสิ้น ทำคนเดียวก็ได้ ทำเป็นกลุ่ม เป็นครอบครัว เป็นองค์กรก็ได้ เป็นสิ่งที่ทำได้และให้ผลได้ไม่จำกัดเวลา เป็นสุขภาวะประเภทที่ลงได้ทำแล้วก็ "ดี" ทุกครั้งไป แถมยังได้ผลทันทีด้วย จึงเป็นสิ่งที่ควรชวนผู้ที่ยังสงสัยให้มาพิสูจน์

ในวาระที่ "สุขภาวะทางปัญญา" กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคม นี่เป็นโอกาสอันดีที่สุดโอกาสหนึ่งที่ สสส. จะได้สร้างความเข้าใจ และแสดงให้เห็นว่า ความสุขอันประณีต สุขภาวะจากการทำความดี สุขภาวะจากการมีจิตใจสูงนั้นเป็นอย่างไร และเข้าถึงได้อย่างไร

Back to Top