มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ื 28 สิงหาคม 2547
Theme หลักเรื่องหนึ่งของการพูดคุยในวงจิตวิวัฒน์ก็คือ ความเป็นวิทยาศาสตร์แบบเก่าและวิทยาศาสตร์แบบใหม่ แนวคิดหลักของความเป็นวิทยาศาสตร์แบบเก่าที่มีมาตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ถือว่ามี เซอร์ ไอแซค นิวตัน เป็นต้นแบบของความคิด ส่วนวิทยาศาสตร์ใหม่นั้นเริ่มตั้งแต่การค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ และทฤษฎีควอนตัมของ นีล บอห์ร ในช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๐
ที่เขียนแบบนี้ ผมไม่ได้หมายความว่าความคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่าจะเป็นเรื่องผิดพลาดหรือเลวร้ายที่สมควรจะถูกประณามอะไร ตรงกันข้าม วิทยาศาสตร์เก่าโดยเฉพาะนิวตันรวมไปถึงคนต้นคิดแรกๆ ได้แก่ นิโคลัส คอร์ปอนิคุส และกาลิเลโอ นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่มีคุณอนันต์ต่อมนุษยชาติทั้งสิ้น เพียงแต่แนวคิดแบบเก่านั้นอาจจะไม่เหมาะสมกับยุคสมัยในปัจจุบันซึ่งเข้ามาถึงศตวรรษที่ ๒๑ แล้ว
ในบทความนี้ ผมอยากจะขอลองลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น เพื่อความเข้าใจที่ผมคิดว่ามีความสำคัญ คือให้เราได้มองเห็น “ความเป็นมา” ของวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความสำคัญและจะช่วยให้เราได้พอมองเห็น “สิ่งที่ควรจะเป็นไป” ของวิทยาศาสตร์ด้วยเช่นกัน
ต้องถือว่า “การปฏิวัติทางความคิด” ของมนุษย์ตรงนี้เริ่มต้นมาจากคอร์ปอนิคุส ซึ่งเป็นคนแรกที่บอกว่าโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เด็กประถมในสมัยปัจจุบันก็ทราบว่าเป็นเรื่องจริง หากแต่ความจริงข้อนี้ท้าทายต่ออำนาจของกรอบคิดแบบเก่าในสมัยนั้น เขาจึงถูกลงโทษด้วยการถูกจองจำและทรมานจนตาย การค้นพบกล้องโทรทรรศน์ของกาลิเลโอก็ยิ่งช่วยพิสูจน์ให้มนุษย์เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่า นิโคลัส คอร์ปอนิคุส นั้นถูกต้อง แต่กาลิเลโอก็ไม่ค่อยกล้าพูดอะไรมากจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
น่าแปลกเหมือนกันที่กาลิเลโอเสียชีวิตในปี ค.ศ. ๑๖๔๒ และเซอร์ ไอแซค นิวตัน ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อต้นปี ค.ศ. ๑๖๔๓ พอดี นิวตันนั้นถือกำเนิดมาแบบผิดปกติคือคลอดก่อนกำหนด (Premature Baby) ดูเหมือนว่านิวตันจะรีบเกิดมา “เพื่อภารกิจ” อะไรบางอย่าง เพราะดูๆ แล้ว ด้วยการแพทย์ในสมัยนั้นเขาไม่น่าจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ แถมชีวิตในวัยเด็กก็ยังมีความยากลำบากเกือบจะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่เขาก็อยู่รอดจนกระทั่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่
นิวตันสร้างทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลกและทฤษฎีกลศาสตร์ ซึ่งสามารถอธิบายให้มนุษย์ได้ “เห็นจริง” ของความเป็นไปของวัตถุที่มองเห็นด้วยตาเปล่าแบบจะจะ ได้ช่วยดึงและถือว่าทำให้เกิดการ “ปฏิวัติทางความคิด” หรือกรอบคิดของมนุษย์ในยุคนั้น “ได้สำเร็จสมบูรณ์” คือออกมาจากแนวคิดเดิมที่ตั้งอยู่บนฐานของความคิดแบบศาสนาในยุคกลางตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๔
ทฤษฎีของนิวตันเป็นจุดเริ่มแรกที่ทำให้วิทยาศาสตร์เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ พร้อมๆ กับการก่อกำเนิดของแนวคิด ทฤษฎีทางสังคมและเศรษฐศาสตร์ ที่ทำให้เกิดยุคอุตสาหกรรมขึ้นมา มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มีอายุเฉลี่ยยืนยาวมากขึ้น จากการที่วิทยาศาสตร์สามารถเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นโรคระบาดหลายๆ อย่าง เช่น ไข้ทรพิษ กาฬโรค โปลิโอ อหิวาหตกโรค ฯลฯ มีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นเครื่องกลต่างๆ รถยนต์ เครื่องบิน อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในชีวิตต่างๆ มากมาย
แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้ทำให้มนุษย์ค่อยๆ “ฝังรากแห่งความอหังการ” ที่คิดว่าตัวเองสามารถ “เอาชนะธรรมชาติได้เสมอ” และเกิดความคิดขึ้นมาถึงการต้องการจะ “ควบคุม” ทุกสิ่งทุกอย่างให้อยู่ในอำนาจของตัวเองอย่างไม่รู้ตัว เรื่องต่างๆ อีกมากมายที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ ก็คิดว่าเป็นเพราะยังพยายามไม่มากพอ พัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยออกมามากมายจนปัจจุบันก้าวหน้าไปถึงขั้นไบโอเทคโนโลยีที่มุ่ง “ควบคุม” ระบบพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และนาโนเทคโนโลยีที่ลงรายละเอียดไปถึงสิ่งเล็กจิ๋วของวัตถุต่างๆ ที่พยายามจะนำมาประยุกต์กับทุกสิ่งทุกอย่างภายใต้ความคิดหลักๆ ของการควบคุมและอหังการอย่างไม่รู้ตัว เทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้โดยเฉพาะ ๒ เรื่องหลังก็คือไบโอเทคโนโลยีและนาโนเทคโนโลยี จึงยังเป็นเรื่องทันสมัยแต่อยู่ภายใต้กรอบคิดแบบเดิมๆ ที่แยกส่วนและมองสิ่งมีชีวิตเป็นกลไกแบบเครื่องจักรสไตล์นิวตันที่คิดจะควบคุมโลกให้ได้ ทำตัวเป็นพระเจ้า เหมือนกับที่นิวตันเคยพูดไว้ว่า ถ้าสามารถนำตัวเขาไปยังจุดๆ หนึ่งนอกโลกและสามารถหาไม้คานให้เขาหนึ่งอัน เขาจะสามารถงัดโลกให้กระเด็นไปได้
สิ่งต่างๆ เหล่านี้เริ่มทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายเกิดขึ้นมาในโลกใบนี้ เพราะความคิดอหังการแบบนั้นเป็นสิ่งที่ขัดกับความเป็นไปของธรรมชาติ เริ่มเลยออกจาก “จุดสมดุล” ของความพอดีไปสู่จุดที่ “เสียดุล” มนุษย์ลงทุนกับสิ่งที่เรียกว่าเทคโนโลยีในรูปแบบที่ “ผิดทาง” เพราะไปทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทำลายห่วงโซ่ของอาหาร สร้างสิ่งปนเปื้อนขึ้นมาในระบบนิเวศ และที่สำคัญที่สุดคือความอหังการที่มุ่ง “ควบคุมและจัดการ” กับโลกใบนี้ เหมือนกับที่นิวตันได้กล่าวไว้
ในขณะเดียวกัน คือช่วงประมาณต้นศตวรรษที่ ๒๐ นี้เอง มนุษย์ได้มีการค้นพบทฤษฎีใหม่ทางวิทยาศาสตร์ ๒ ทฤษฎีที่สำคัญมากๆ ก็คือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ และทฤษฎีควอนตัมของ นีล บอห์ร ทั้ง ๒ ทฤษฎีนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มมองเห็นว่า ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของเซอร์ ไอแซค นิวตัน นั้นเป็นจริงเฉพาะวัตถุที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น ไม่ได้เป็นจริงเสมอในกรณีอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ถ้านำวัตถุขึ้นยานอวกาศที่มีความเร็วเหนือแสง วัตถุจะไม่ได้แสดงตัวไปตามกฎของนิวตันเลย ขณะเดียวกันในระดับเล็กๆ ย่อยๆ จนถึงระดับอะตอมของวัตถุเดียวกันนั้น อิเลกตรอนก็ไม่ได้ทำตัวเป็น “ที่น่ารัก” ให้ควบคุมได้ แต่กลับชอบทำตัว “เป็นกบฏ” ไม่ได้เป็นไปตามกฎของนิวตันเช่นกัน ที่สำคัญคือมีความเชื่อมรวมเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ไม่สามารถแยกเป็นส่วนๆ แบบกลไกตามแนวคิดแบบเก่า
นักวิทยาศาสตร์หลายท่านที่ค้นพบทฤษฎีทางฟิสิกส์แบบใหม่นี้ ต่างก็งงงวยกับสิ่งที่ตัวเองค้นพบในห้องทดลอง หลายคนพูดว่า พระเจ้าเล่นตลกอะไร เพราะสิ่งที่เห็นที่พบในห้องทดลองนั้น “ขัดกับความรู้สึกที่เป็นมา” เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โดยตลอด ที่คิดว่ามนุษย์สามารถควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ วิทยาศาสตร์ใหม่นี้สามารถอธิบายได้ทั้งหมด แถมยังสามารถอธิบายปรากฏการณ์ของนิวตันในทางกลศาสตร์ได้ด้วย คือเป็นการ “ต่อยอดและหลอมรวมความคิดเก่า” (Transcend & Include)
วิทยาศาสตร์ใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ ถือได้ว่า “เป็นการปฏิวัติทางความคิด” “ครั้งใหม่” ของมนุษย์ ทำให้มนุษย์ส่วนหนึ่งมองเห็นทางออกของปัญหาได้ว่า ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันอย่างศานติกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้อย่างมีความสุข
ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใหม่นี้เริ่มทำให้มนุษย์ส่วนหนึ่งค่อยๆ เริ่มมองเห็น “ทางออก” ของปัญหาที่เกิดขึ้น เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ทำให้เกิดความนอบน้อมถ่อมตัวกับธรรมชาติมากขึ้น เริ่มเข้าใจว่ามนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตหนึ่งในโลกใบนี้เท่านั้น แม้ว่าเราจะมีสิ่งที่พวกเราตั้งกันเองว่า “ความฉลาด” มากกว่าสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เรากลับมีความทุกข์และทำลายกัน ทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากมายแบบที่ไม่เคยมีสิ่งมีชีวิตชนิดไหนทำมาก่อน
เซอร์ ไอแซค นิวตัน จะยังคงยิ่งใหญ่ไปตลอดกาล หากว่ามนุษย์ตีความหมาย เข้าใจสิ่งที่เขาบอกอย่างถูกต้องและสามารถ “มองเห็นข้อจำกัด” ในทฤษฎีของเขาอย่างเป็นจริง ไม่ใช่ “ตะบี้ตะบันเชื่อ” ถือว่าเป็นเรื่องถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์เสมอไปตลอดชั่วกาลนานแบบที่เป็นกันอยู่ในสังคม
แสดงความคิดเห็น