พฤศจิกายน 2004

สู่การปรับวิธีคิดในการดับไฟใต้

โดย ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 พฤศจิกายน 2547

เหตุการณ์บ้านเมืองทุกวันนี้มีแต่เรื่องที่ทำให้เป็นทุกข์ เศร้าหมองและวิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กลายเป็นวิกฤตการณ์ระดับชาติแล้ว ร้อนถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินท่านต้องเสด็จออกมาทรงให้สติให้คำแนะนำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ช่วยกันดับความทุกข์ร้อนของพสกนิกรที่ท่านทรงรักและห่วงใย หากแต่ภารกิจหนักหนาสาหัสและซับซ้อนที่มีเหตุปัจจัยสั่งสมมานานก็ยังจะต้องสะสางกันต่อไป เพื่อให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ในการนี้ ผู้มีอำนาจหน้าที่ทุกระดับทุกฝ่ายจำเป็นจะต้องคิดและทำงานด้วยจิตใจที่สูง สะอาด ฉลาด และเฉลียวเป็นอันมาก

ในฐานะประชาชนที่เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งที่ถือกำเนิดเป็นคนใต้ ได้รู้เห็นและสัมผัสทุกข์สุขของคนใต้มามากพอสมควร และด้วยสำนึกในบุญคุณแผ่นดินเกิด ผมขอเสนอความเห็นเพื่อท่านผู้มีอำนาจหน้าที่ได้โปรดรับไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดผลในการดับไฟใต้ ดังนี้

๑. ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในบริบทของความไม่เข้าใจกันเป็นพื้นฐานครั้งนี้ ก่อนอื่นผู้ใช้อำนาจรัฐทุกระดับจะต้องยกใจไว้ให้อยู่เหนือความโกรธ ความแค้นเคือง และความหลงผิดว่าท่านเป็นผู้มีอำนาจเหนือประชาชน รวมทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ในประชาคมมุสลิมก็ต้องยกระดับจิตใจไว้เหนืออารมณ์ดังกล่าวเช่นกัน ในประเด็นนี้ โต๊ะครูท่านหนึ่งจากอำเภอรือเสาะเคยพูดในที่ประชุมแห่งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ฟังแล้วจับใจผมมาก ท่านบอกว่า “ความจริงชาวพุทธที่ดีกับพี่น้องมุสลิมที่ดีเขาเข้าใจกัน เขาอยู่กันได้ดีเป็นปกติ เขาพึ่งพาอาศัยและร่วมมือกันทำสิ่งดีงามได้เสมอมา” ยิ่งกว่านั้นผมออกจะทึ่งมากที่ท่านรอบรู้พุทธธรรมหลายข้ออย่างถูกต้อง ทำให้ผมได้คิดต่อมาว่า ถ้าเช่นนี้ก็สมควรที่ชาวพุทธจะศึกษาหาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมะของทางอิสลามให้มากกว่านี้ จะได้ปฏิบัติต่อกันได้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่ออะไร? ก็เพื่อเราจะได้ช่วยกันแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และหากทำได้เราก็จะสามารถเข้าใจปัญหาเข้าถึงความจริงได้อย่างผู้ใหญ่ที่ปลอดอคติ

๒. ถ้ายอมรับต่อกันอย่างกล้าหาญว่าความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจ ที่นำไปสู่การทำร้ายต่อกันหลายหลากวิธี มิใช่ความผิด ความเลวร้ายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นความผิดความเลวร้ายของทั้งสองฝ่าย ต่างกรรมต่างวาระกัน ก็ชอบที่จะหันหน้าเข้าหากัน ใช้ธรรมะแห่งศาสนาของเราแต่ละฝ่ายเป็นพื้นฐาน พร้อมใจกัน ขอโทษและอโหสิกัน ให้เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชน เพราะเราเป็นคนของแผ่นดินเดียวกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานานหลายชั่วคน ถ้าทำได้ดังนี้ก็จะได้รับการแซ่ซ้องสาธุการไปทั่ว จะทำได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพร้อมใจกันยกระดับมโนธรรมสำนึกของเป็นผู้ใหญ่ที่มีน้ำใจที่สงบ ใสสะอาดและสว่างด้วยปัญญา ยิ่งเมื่อรู้ตรงกันแล้วว่า มิใช่พี่น้องมุสลิมที่อยู่ในศีลในธรรมเป็นผู้ก่อการ แต่เป็นคนที่หลงผิด เข้าใจผิดต่างหาก เช่นเดียวกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ลุแก่อำนาจทำไปเกินกว่าเหตุในบางครั้ง ก็น่าที่จะร่วมใจร่วมมือกันระงับเหตุระงับภัยที่จะมาได้ดียิ่งขึ้น

๓. พื้นฐานทางจิตที่จะนำไปสู่ความเข้าใจ การให้อภัยและการอโหสิกันดังเสนอข้างต้น จักต้องประกอบด้วย ความเมตตากรุณา รวมทั้งอุเบกขา และขันติธรรมที่พึงมีต่อความแตกต่างทาง ความเชื่อ
และวัฒนธรรม จะว่าไปถ้าเราถือหลัก “แลหลังรู้ที่มา แลหน้ารู้ที่ไป” ตรงกัน และลองสืบสาวสาแหรกความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ทางศาสนาต่างวัฒนธรรม ถึงที่สุดแล้วเราจะพบว่าไม่ว่าจะนับถือพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู หรือศาสนาใดๆ เราทั้งหมดก็เป็นมนุษย์ด้วยกันดังที่ท่านมหาตมะ คานธี ได้กล่าวไว้ว่า “โลกทั้งผองพี่น้องกัน” ยิ่งเมื่อดูให้ใกล้แคบเข้ามา พวกเราในแว่นแคว้นสุวรรณภูมิล้วนมีสายสัมพันธ์กันมานาน พึ่งพาอาศัยกันมาหลายชั่วคน เราทะเลาะกันบ้าง ดีกันบ้าง เป็นธรรมดา ความเข้าใจเห็นอกเห็นใจน่าจะนำไปสู่การให้อภัยและการอโหสิกันได้มิใช่หรือ

๔. ว่าจำเพาะผู้มีอำนาจหน้าที่ของรัฐ ต้องขอร้องตรงไปตรงมาว่า ท่านต้องปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นว่าท่านเป็นนายของชาวบ้าน และท่านกำลังทำหน้าที่ขจัด “เสี้ยนหนาม” ของแผ่นดิน ทำไมต้องปล่อยวาง? ต้องขอให้ปล่อยวางก็เพราะอีกฝ่ายหนึ่งเขาไม่แคร์เลยว่าท่านใหญ่แค่ไหน เขาแคร์ว่าเขาได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ต่างหาก การวางตัวว่าเสมอกันพูดกันได้ น่าจะมีผลดีกว่าในทางจิตวิทยา จะว่าไปก็คงคล้ายๆ กับผู้ใหญ่ที่ย่อตัวลงไปหาผู้น้อยและจริงใจที่รับฟังปัญหาข้อโต้แย้งจากมุมมองของการฟังด้วยเมตตาธรรมและขันติธรรม ถ้าทำได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้มากขึ้นบนฐานความเสมอภาค และความยอมรับนับถือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายหนึ่ง อะไรๆ ก็น่าจะพูดกันได้ดีขึ้น

๕. เราได้อ้างถึงกันมาก ถึงคำสั่ง นรม.ที่ ๖๖/๒๕๒๓ ของรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ต่อเนื่องกับรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่มีผลให้ยุติการต่อสู้กันด้วยความรุนแรง ระหว่างคนของรัฐกับผู้ที่สังคมไทยเรียกเขาว่าคอมมิวนิสต์ ซึ่งในแก่นแท้ของคำสั่งดังกล่าวเป็นการแสดงออกถึงวุฒิภาวะระดับสูงและจิตใจที่ถึงธรรมของระดับผู้ใหญ่ที่กุมอำนาจรัฐ ยังผลให้การเข่นฆ่ากันยุติลงโดยสิ้นเชิง บ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบสุข นานาอารยะประเทศเมื่อได้ทราบทั่วกันต่างก็แซ่ซ้องสรรเสริญรัฐประศาสนศาสตร์ของไทยไปทั่วโลก ก็ในเมื่อเราทำสำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่ง เหตุไฉนเราจะทำให้สำเร็จอีกครั้งหนึ่งไม่ได้? ผมเชื่อมั่นว่าเราน่าจะทำได้ โดยความสนับสนุนของประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมผู้ใฝ่สันติ สำหรับการแทรกแซงจากภายนอกก็เป็นเรื่องที่เราจะประมาทมิได้ แต่ในเมื่อเรามีทั้งความฉลาดและเฉลียวอย่างเพียงพอ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องวิตกจนเกินไป (ถ้าการข่าวและดุลยพินิจของเราดีพอไวพอ) โดยสรุปก็คือ เป็นการสมควรยิ่งที่รัฐบาลจะออกประกาศนิรโทษกรรมให้กับทุกคนทุกฝ่ายดังที่ได้มีผู้เสนอหนาแน่นขึ้นทุกที

๖. เพื่อให้บรรลุผลดังเสนอข้างต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้รับผิดชอบของบ้านเมืองทุกระดับทุกฝ่ายด้วยความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องมุสลิมทั้งในและนอกพื้นที่จะต้อง เจริญสติ และระดมปัญญาในการคิด พูดและทำทุกอย่างด้วยความสุขุม เพื่อให้สันติสุขของพี่น้องประชาชนกลับคืนมา เลิกเสียเถิด สำหรับคำว่า “ผมขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว” หรือ “ไอ้คนพวกนั้นผมไม่เอามาทำพ่อ” มันเป็นการแสดงความโอ้อวด แสดงสีสันที่เป็นการยั่วยุซึ่งไม่เกิดประโยชน์ใดเลย ให้โอกาสให้กำลังใจคนทำงานทุกฝ่ายช่วยกันคิด และทำให้ดีที่สุด เพื่อช่วยกันดับไฟใต้ให้สำเร็จดีกว่า

ด้วยข้อเสนอข้างต้น (และข้อเสนอดีๆ อีกมากมาย อาทิเช่น ของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี , ศ.ดร.เขียน ธีรวิทย์ ฯลฯ) ผมมั่นใจว่าอะไรๆ กำลังจะดีขึ้น ประชาชนผู้ใฝ่สันติและมีใจเป็นธรรมทั่วประเทศ รู้กันทั่วแล้วว่าอะไรเป็นอะไร เรากำลังพร้อมใจกันตั้งจิตอธิษฐานให้ความสุขสงบร่มเย็นของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้กลับคืนมาโดยเร็ว

การพับนกให้ได้ ๖๓ ล้านตัว เป็น “อภิมหาสัญลักษณ์” เพื่อส่งไปโปรยลงไปที่สามจังหวัดภาคใต้ แม้ดูจะฮือฮาและไร้เดียงสาไปบ้าง แต่ก็เป็นเสรีภาพในการแสดงออกถึงพลังมหาชนที่ได้ถูกจุดประกายขึ้นแล้ว ซึ่งจะว่าไปก็อาจทำได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ควรโหมกระพืออารมณ์ชาตินิยมรุนแรง จนเกิดผลเสียทางจิตวิทยาขึ้นมาอีกจนได้ เอาเป็นว่าได้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่มีขอบเขตพอดีพองาม มิให้เกิด “ผลพลอยเสีย” จากการแสดงออกแบบสุดโต่ง อย่างไรก็ตาม ในเบื้องลึกของมโนธรรมสำนึกของคนไทยทั้งประเทศ ขอให้น้อมจิตแสดงออกให้ทั่วกันว่าเราต้องการความสงบร่มเย็นให้แก่พี่น้องทุกชีวิตกลับคืนมา เราต้องการให้อภัยกัน อโหสิกัน และประกาศนิรโทษกรรมถ้วนหน้า

ผมเชื่อมั่นว่า พลังจิตของเราทั้งหมด หากแสดงออกพอเหมาะพองาม จะสัมฤทธิ์ผลในที่สุดในเวลาไม่นานเกินรอ

สุดท้ายนี้ ขอให้ผู้ใช้อำนาจเพื่อการทำงานครั้งนี้ทุกท่านจงเจริญรอยตามพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชดำรัสไว้เป็นพระราชปณิธาน เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ มีใจความว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” โปรดถือว่า นี่คือ คาถาในการดับไฟใต้ให้สำเร็จ

การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ

โดย วิจักขณ์ พานิช
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2547

มีคำภาษาอังกฤษคำหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่ท้าทายของนักการศึกษาในวงการศึกษากระแสหลักและขณะเดียวกันก็เป็นที่ดึงดูดใจต่อนักการศึกษาทางเลือกในโลกตะวันตก คือคำว่า Contemplative Education ซึ่งประกอบด้วยคำสองคำที่มีความหมายกำกวม ตีความไปได้หลายทิศหลายทาง ถูกนำมารวมกันเพื่ออธิบายความคิดหนึ่งที่ฉีกออกไปจากความหมายเดิมๆ ของการศึกษาที่คนทั่วไปเข้าใจกัน...

contemplative แปลเป็นไทยในการทึกทักเอาเองของผู้เขียนว่า “ที่ใคร่ครวญครุ่นคิดคำนึงด้วยใจโดยแยบคาย” พอตีความไปในทำนองนั้น ทำให้นึกถึงคำบาลีในพุทธศาสนาที่ว่า “โยนิโสมนสิการ” (การพิจารณาโดยแยบคาย) ที่ดูแล้วสองคำจากสองภาษาต่างให้ความหมายอันเดียวกันนั่นเอง

education เป็นคำที่เราคุ้นเคยกันดี แปลเป็นไทยได้ว่า “การศึกษา” เราใช้คำว่าการศึกษากันจนลืมความหมายที่แท้จริงของคำๆ นี้ไป การศึกษากลายเป็นภาพของรั้วโรงเรียน ห้องเรียน ครู นักเรียน เครื่องแบบ ปริญญา อะไรต่างๆ ซึ่งเป็นภาพที่เรารับเอาระบบการศึกษาจากทางตะวันตกมา ด้วยความเชื่อที่ว่าการศึกษาแบบนั้นจะพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อการพาประเทศไปสู่ความเป็นอารยะ ทัดเทียมเท่าทันประเทศมหาอำนาจทางตะวันตก แต่ในทางพุทธของเรา คำว่าศึกษาหรือสิกขาหมายถึงกระบวนการเรียนรู้ที่กอปรด้วยความพร้อมพรั่งใน ศีล สมาธิ และปัญญา ไม่แยกขาดออกจากกัน

contemplative education จึงหมายถึง การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ นัยที่ซ่อนอยู่ของคำๆ นี้ มิใช่แสดงถึงรูปแบบของการศึกษา หรือ ระบบการศึกษา แต่เน้นไปที่ “กระบวนการ” คำๆ นี้เหมือนเป็นการจุดประกายความหมายใหม่ ให้เราย้อนกลับไปหาราก คุณค่า และความหมายที่แท้จริงของการเรียนรู้ ที่มีผลระยะยาวต่อชีวิตของคนๆ หนึ่งทั้งชีวิต contemplative education สะท้อนให้เห็นกระบวนการ ความเป็นพลวัตไม่หยุดนิ่ง ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ...นำไปสู่การตั้งคำถามอย่างถึงราก ต่อการศึกษาในระบบ ที่ได้จำกัดการเรียนรู้ให้แน่นิ่ง อยู่ในกรอบในขั้นตอน ที่ถูกจัดวางไว้แล้วอย่างตายตัว

มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพของการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนจน คนรวย คนบ้านนอก คนกรุง คนต่างชาติต่างวัฒนธรรม คนทุกคนต่างมีธรรมชาติของจิตแบบเดียวกัน เป็นจิตใจที่สามารถเป็นอิสระจากภาพลวงตาของอัตตาตัวตน ก้าวพ้นสู่การสัมผัสความดี ความงาม และความจริง จนก่อให้เกิดความสุขสงบเย็นอย่างยั่งยืนภายใน

ปัญหาของการศึกษาก็คือ เรากลับไปเอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง พยายามจะผลิตคนเก่งและคนฉลาด ขณะเดียวกันก็ได้ตีตราคนอีกกลุ่มว่าเป็นคนโง่ไม่เอาไหน เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งกันเป็นผู้ชนะ และเหยียบย่ำผู้แพ้ราวกับเขาไม่มีเลือดเนื้อจิตใจ

ทางที่ถูก เราต้องไม่เอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง แต่ต้องเป็นความรู้ทางปัญญาที่จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการเชื่อมโยงกันในสามภาค คือ ภาคความรู้ ภาควิชาชีพ และภาคจิตวิญญาณ ทั้งนี้ลักษณะของการเชื่อมโยงหาได้เป็นการสร้างสะพานเชื่อมโดยที่ยังมองสามเรื่องแยกขาดออกจากกัน

หากเราเข้าใจและได้สัมผัสกับกระบวนการการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เราจะเห็นได้ชัดเจนถึงความเชื่อมโยงของการเรียนรู้ เพราะความรู้ที่แท้จริงนั้น คือประสบการณ์ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นการได้รู้จักเพื่อนใหม่ การเดินทางท่องเที่ยวไปยังที่ที่เราไม่เคยไป การอ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม การได้คุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรอบข้าง และเมื่อเราเพิ่มมิติของการใคร่ครวญด้วยใจ เราจะสัมผัสได้ถึงคุณค่าและความงามที่ทำให้จิตใจของเราขยายขึ้น เรียนรู้ที่จะรัก เรียนรู้ที่จะให้ เรียนรู้ที่จะยอมรับความหลากหลายทางความคิดมากขึ้น อันเป็นผลมาจากอัตตาตัวตนที่ลดลง กระบวนการการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ จึงนำไปสู่ความตั้งใจที่จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ดำรงชีวิตเพื่อให้เกิดคุณค่าแก่คนรอบข้างอย่างแท้จริง

ในขณะที่กระบวนการเรียนรู้ในภาคความรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา...เป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์และกระบวนการมากกว่าการท่องจำจากตำรา เมื่อความรู้ได้แตกยอดงอกงามขึ้นภายในใจจนถึงจุดหนึ่ง เสียงข้างในจะบอกเราให้เข้าใจถึงความหมายของการเรียนรู้ในภาควิชาชีพในแง่มุมที่ต่างออกไป นั่นคือ...งานหรือการประกอบอาชีพ แท้จริงคือ ผลที่สุกงอมจากการเรียนรู้ เสียงข้างในที่ไม่ถูกทำให้พร่าเลือนด้วยอำนาจของอัตตาจะนำมาซึ่งความตั้งใจที่จะทำประโยชน์ต่อผู้อื่น ก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์ในด้านที่ตนถนัด เป็นการทำงานด้วยความสนุก ด้วยความรัก ด้วยความดีไปพร้อมๆ กัน เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ซึ่งก็คือการผุดบังเกิดของความร่ำรวยทางความรู้ของจิตที่ขยายกว้าง

การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยสิ่งแวดล้อมที่สบาย สถาบันการศึกษาในปัจจุบันโดยมากกลายเป็นที่อบายมิใช่สบาย เพราะเต็มไปด้วยความฟุ้งเฟ้อทางวัตถุ เป็นที่บ่มเพาะอัตตา สภาวะความคับแคบของจิต สบายในที่นี้มาจาก สัปปายะ คือสภาพที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การเรียนรู้จะเกิดได้ในสิ่งแวดล้อมที่เห็นคุณค่าของการเรียนรู้ด้านใน ผู้คนรู้จักรดน้ำใจให้คนรอบข้าง ให้ความสำคัญและเอาใจใส่จิตใจของผู้เรียนรู้ในทุกขณะ

การเอาใจใส่จิตใจในกระบวนการการเรียนรู้นั้น สามารถทำได้ใน ๓ ลักษณะ คือ

๑. การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) หมายถึง ฟังด้วยหัวใจ ด้วยความตั้งใจ อย่างสัมผัสได้ถึงรายละเอียดของสิ่งที่เราฟังอย่างลึกซึ้งด้วยจิตที่ตั้งมั่น ในที่นี้ยังหมายถึงการรับรู้ในทางอื่นๆ ด้วย เช่น การมอง การอ่าน การสัมผัส ฯลฯ

๒. การน้อมสู่ใจอย่างใคร่ครวญ (Contemplation) เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการฟังอย่างลึกซึ้ง กอปรกับประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตในทางอื่นๆ เมื่อเข้ามาสู่ใจแล้ว มีการน้อมนำมาคิดใคร่ครวญดูอย่างลึกซึ้ง ซึ่งต้องอาศัยความสงบเย็นของจิตใจเป็นพื้นฐาน จากนั้นก็ลองนำไปปฏิบัติเพื่อให้เห็นผลจริง ก็จะเป็นการพอกพูนความรู้เพิ่มขึ้นในอีกระดับหนึ่ง

๓. การเฝ้ามองเห็นตามที่เป็นจริง (Meditation) การปฏิบัติธรรมหรือการภาวนา คือการเฝ้าดูธรรมชาติที่แท้จริงของจิต นั่นคือการเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ ความบีบคั้นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง และสภาวะของการเป็นกระแสแห่งเหตุปัจจัยที่เลื่อนไหลต่อเนื่อง การปฏิบัติภาวนาฝึกสังเกตธรรมชาติของจิต จะทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงจากภายในสู่ภายนอก เห็นความเป็นจริงที่พ้นไปจากอำนาจแห่งตัวตนของตน ที่หาได้มีอยู่จริงตามธรรมชาติ เป็นเพียงการเห็นผิดไปของจิตเพียงเท่านั้น

การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่พรั่งพร้อมด้วยศีล สมาธิ อันเป็นบาทฐานของการก่อกำเนิดความรู้ที่ถึงพร้อม นั่นคือปัญญา ที่สามารถมองเห็นสรรพสิ่งตามที่เป็นจริง เห็นถึงความสัมพันธ์ เชื่อมโยง การเปลี่ยนแปลงไหลเลื่อนไม่หยุดนิ่ง เห็นถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ที่จะทำให้เรากลับมาเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะ ด้วยสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ ...เป็นการศึกษาด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยสายตาแห่งความสดใหม่อยู่เสมอ ผลที่งอกงามภายในจะสุกงอมหอมหวาน ก่อเกิดผลเป็นการงานอันสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์อันกว้างขวางต่อสังคมและผู้คนรอบข้าง

อนาคตศึกษา

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 พฤศจิกายน 2547

อนาคตศึกษาเป็นคำที่แปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Futures Studies ซึ่งหมายถึงวิชาสาขาใหม่ที่ศึกษาถึงแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการศึกษาอนาคต ตลอดจนระเบียบวิธีที่ใช้ในการศึกษาแนวโน้ม และทางเลือกต่าง ๆ ที่มีความเป็นไปได้ในอนาคต

โดยนัยนี้อนาคตศึกษา จะประกอบไปด้วยเนื้อหาอย่างน้อย ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ

๑. ส่วนที่เป็นแนวคิด (Perspectives) และทฤษฎี (Theories) ซึ่งอาจใช้คำรวมว่าอนาคตนิยม (Futurism)

๒. ส่วนที่เป็นระเบียบวิธี (Methodologies) ซึ่งอาจเรียกว่าการวิจัยอนาคต (Futures Research)

ความหมายที่ให้ไว้ข้างบนนี้ เป็นความหมายที่ผู้เขียนสรุปไว้เพื่อให้ผู้อ่านที่ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับสาขาวิชานี้ได้เข้าใจเป็นเบื้องต้นเท่านั้น ผู้อ่านอาจจะพบความหมายของคำนี้ในลักษณะที่แตกต่างไปจากที่ผู้เขียนให้ไว้ได้ในตำราหรือบทความอื่น ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาในวงวิชาการ ยิ่งไปกว่านั้นผู้อ่านอาจจะพบคำอื่น ๆ ที่มีความหมายเหมือนหรือใกล้เคียงกับคำ ๆ นี้อีกหลายคำ เช่น Futurics, Futurology, Futuribles, Prognostics, และ Anticipatory Science เป็นต้น แต่ละคำก็มีความหมายและลักษณะพิเศษเฉพาะตัวตามแนวคิดของคนที่คิดขึ้น แต่สิ่งที่เหมือนกัน ก็คือการเน้นเรื่องอนาคต ผู้ที่ทำการศึกษาอนาคตอย่างเป็นระบบโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยอนาคตแบบต่าง ๆ เรียกว่า นักอนาคตนิยม

การศึกษาหรือการทำนายอนาคตของนักอนาคตนิยมแตกต่างไปจากการทำนายของหมอดูโดยทั่ว ๆ ไป ถึงแม้ว่าคนทั้งสองกลุ่มจะทำนายเรื่องที่เกี่ยวกับอนาคตเหมือนกัน แต่ความเชื่อและวิธีการของทั้งสองกลุ่มแตกต่างกัน โดยจะเปรียบเทียบให้เห็นพอสังเขปดังนี้




นักอนาคตนิยม หมอดู
๑. เชื่อว่าอนาคตเป็นสิ่งที่ควบคุมได้และเปลี่ยนแปลงไปตามการตัดสินใจ และการกระทำของมนุษย์ มนุษย์เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย มนุษย์เป็นผู้กำหนดและให้ความหมายแก่สรรพสิ่ง๑. อนาคตเป็นไปตามโชคชะตาราศี ดวงดาว หรือพรหมลิขิต นั่นคือเชื่อว่า มีผู้อื่น หรือสิ่งอื่นเป็นผู้กำหนดอนาคต ไม่ใช่มนุษย์
๒. ใช้เหตุผล และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาความเป็นไปได้ของอนาคตในรูปแบบต่าง ๆ๒. ใช้ไพ่ ลายมือ วันเกิด เวลาตกฟาก ดูโหงวเฮ้ง ... ในการทำนายอนาคต
๓. เน้นการศึกษาถึงอนาคตของมนุษย์ โดยส่วนรวม เช่น ลักษณะของ ครอบครัวไทยใน ๒๐ ปีข้างหน้า๓. เน้นอนาคตของแต่ละบุคคลเป็นส่วนใหญ่ เช่น นาย ก. จะพบเนื้อคู่เมื่อไหร่เป็นคนอย่างไร เป็นต้น
๔. ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้แนวโน้ม ๔. หมอดูเป็นผู้ให้ข้อมูล


จะเห็นได้ว่านักอนาคตนิยมและหมอดูมีความเชื่อและวิธีการ “ทำนาย” อนาคตที่แตกต่างกัน

การศึกษาและการวิจัยอนาคตมีประโยชน์หลายประการดังต่อไปนี้

๑. การศึกษาและการวิจัยอนาคตช่วยให้ได้ข้อมูลที่สำคัญ และจำเป็นเกี่ยวกับอนาคตที่จะนำมาใช้ใน
กระบวนการตัดสินใจ การกำหนดนโยบาย และการวางแผน เพราะการศึกษาและการวิจัยอนาคตมักจะให้หรือนำไปสู่สิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

๑.๑ ให้กรอบสำหรับการตัดสินใจหลายรูปแบบ

๑.๒ บ่งชี้ถึงอันตรายและโอกาสต่าง ๆ

๑.๓ แนะวิธีแก้ปัญหาแบบต่าง ๆ

๑.๔ ช่วยประเมินนโยบายและการปฏิบัติต่าง ๆ

๑.๕ ช่วยให้มองเห็น และเข้าใจปัจจุบันและอดีตดีขึ้น

๑.๖ ช่วยเพิ่มทางเลือก

๑.๗ กำหนดจุดหมายและแสวงหาวิธีที่จะบรรลุจุดหมาย

๒. ช่วยเตรียมมนุษย์ให้มีความพร้อมที่จะเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องโดยการ

๒.๑ ให้ประสบการณ์ล่วงหน้า (Pre-experience) แก่มนุษย์ว่าอนาคตอาจจะเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เตรียมพร้อมว่าควรจะทำตัวอย่างไร จะได้ไม่เกิดหรือลดอาการ Future Shock

๒.๒ ให้การรับรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตบนโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและสับสน การรับรู้หรือมโนทัศน์ดังกล่าว ได้แก่

- การเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการปกติตามธรรมชาติ

- การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอาจจะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต่อมา

- การเลือก (Choice) เป็นสิ่งจำเป็น การปฏิเสธที่จะเลือกก็คือการเลือก

- โลกในอนาคตน่าจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในหลาย ๆ ด้านจากโลกปัจจุบัน

- มนุษย์มีความรับผิดชอบต่ออนาคตของเขา อนาคตมิใช่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏขึ้นต่อหน้าเขาเท่านั้น

- วิธีการที่ได้ผลในอดีต อาจจะไม่ได้ผลในอนาคต เพราะสภาพการณ์มันเปลี่ยนไป

๒.๓ กระตุ้นให้มนุษย์ทำการศึกษาอนาคตอย่างมี “สติ”

๓. ช่วยให้มนุษย์เห็นถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ของระบบต่าง ๆ ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น

๔. ช่วยชี้นำและเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และความคิด

๕. ช่วยให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพราะไม่ติดอยู่กับปัญหาในอดีตและปัจจุบัน

๖. ช่วยกระตุ้นให้มนุษย์ (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) ใฝ่หาความรู้โดยการเป็นผู้สร้างความรู้มากกว่าเรียนสิ่งที่ผู้อื่นบอกหรือทำมาแล้วแต่เพียงอย่างเดียว

๗. ให้แนวคิดในการพัฒนาปรัชญาชีวิตที่ผสมกลมกลืน

๘. ให้สันทนาการและความสนุกเพลิดเพลิน

เป้าหมายหลักของการศึกษาและการวิจัยอนาคต มิใช่อยู่ที่การทำนายที่ถูกต้องแม่นยำ เพราะเรื่องของอนาคตเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราไม่มีข้อเท็จจริง (Facts) เกี่ยวกับอนาคต มีแต่เพียงการคาดการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มที่เป็นทางเลือกที่คาดว่าจะมีความเป็นไปได้ (Possible Alternative Trends) เท่านั้น

แต่เป้าหมายหลักของการศึกษาและการวิจัยอนาคต อยู่ที่การสำรวจและศึกษาแนวโน้มที่เป็นไปได้ หรือน่าจะเป็นของเรื่องที่ศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์เพื่อหาทางทำให้แนวโน้มที่พึงประสงค์เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็หาทางป้องกันหรือขจัดแนวโน้มที่ไม่พึงประสงค์ด้วยการกระทำในปัจจุบัน

The Future is NOW.

หลักการสำคัญของอนาคตนิยม อยู่ที่การสร้างอนาคตที่พึงประสงค์มากกว่าการตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ความท้าทายของมนุษยชาติ อยู่ที่การร่วมกันคิดร่วมกันสร้างสังคมที่พึงประสงค์ในอนาคต บนการยอมรับและเคารพความแตกต่างที่หลากหลายอย่างแท้จริง

Unity Through Diversity.

ดับไฟในใจก่อนลามไหม้ทั้งประเทศ

โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2547

ความตายของผู้ชุมนุมประท้วง ๘๕ คนในกรณีตากใบ มิใช่เป็นเพียงความสูญเสียของครอบครัวและญาติพี่น้องเท่านั้น หากยังเป็นความสูญเสียของชาติไทยอีกด้วย

ใช่หรือไม่ว่าผู้ตายล้วนเป็นคนไทย ครอบครัวและญาติพี่น้องของเขาเหล่านั้นก็เป็นคนไทยเช่นเดียวกับเรา หากเขาเหล่านั้นตายเพราะน้ำท่วม แผ่นดินไหว ก็นับเป็นความสูญเสียที่มากพออยู่แล้ว ยิ่งเขาเหล่านั้นต้องมาตายในเหตุการณ์ที่คนไทยจับอาวุธทำร้ายกันเอง ยิ่งเป็นความสูญเสียที่มหาศาลเกินจะกล่าว

สิ่งที่ชาติสูญเสียมิใช่ชีวิตผู้คนเท่านั้น หากยังรวมถึงความไว้เนื้อเชื่อใจและสมานฉันท์ระหว่างคนในชาติ และระหว่างประชาชนจำนวนไม่น้อยกับรัฐ ชาตินั้นอยู่ได้ด้วยสายใยแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจและสมานฉันท์ เมื่อสูญเสียสิ่งนี้ไปความเป็นชาติก็สั่นคลอน และนี้คือความสูญเสียที่ร้ายแรงกว่าภาพลักษณ์ของชาติที่เสื่อมโทรมไปในสายตาของนานาชาติเสียอีก

ความตายของบุคคลเหล่านี้อาจทำให้หลายคน “สะใจ” แต่ก็พึงระลึกว่านี้คือความสะใจที่แลกมาด้วยราคาที่แพงอย่างยิ่ง ลองตั้งสติ ทำใจให้เป็นกลาง และพิจารณาถึงผลเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างถี่ถ้วน เราคงสะใจไม่ออกเพราะผลเสียนั้นมหาศาลนัก ชนิดที่อาจส่งผลไปถึงลูกหลานของเราในอนาคต

ไม่ว่าเราจะโกรธแค้นผู้ที่ลอบสังหารพระ ตำรวจ ทหาร ผู้พิพากษา ครู และผู้บริสุทธิ์จำนวนมากมายเพียงใดก็ตาม เราไม่ควรที่จะโกรธแค้นคนมุสลิมทั้งภาคใต้หรือทั้งประเทศ ความคิดแบบเหวี่ยงแหเหมารวมนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ใช่หรือไม่ว่าเป็นเพราะความคิดเช่นนี้ นักเรียนอาชีวะจึงฆ่าและทำร้ายคนบริสุทธิ์เพียงเพราะว่าอยู่สถาบันเดียวกับคู่อริ หากเราไม่เห็นด้วยที่นักเรียนอาชีวะเหมารวมนักเรียนต่างสถาบันว่าเป็นศัตรูที่ต้องขจัด เหตุใดเราผู้เป็นชาวพุทธจึงเหมารวมคนมุสลิมทั้งหลายว่าเป็นปฏิปักษ์ที่ควรได้รับโทษทัณฑ์ให้สาสมใจ

เราไม่ควรเอาการกระทำของคนส่วนน้อยมาเป็นเหตุให้โกรธแค้นคนส่วนใหญ่ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรเอาการกระทำของอาชญากรที่ฆ่าผู้บริสุทธิ์มาเป็นเหตุผลสำหรับกระทำทารุณกรรม(หรือสะใจในการทำทารุณกรรม) กับผู้ชุมนุมประท้วง ถึงแม้การกระทำของผู้ชุมนุมที่ตากใบ (หรือที่อื่นๆ ) จะไม่ถูกใจเรา แต่ก็ไม่ควรลืมว่าเขาไม่ใช่อาชญากร เขามีสิทธิที่จะชุมนุมประท้วงตามรัฐธรรมนูญตราบใดที่เป็นไปโดยสันติวิธี หากเขาก่อความวุ่นวาย เขาสมควรได้รับโทษทัณฑ์ แต่นั่นไม่ใช่หมายถึงการทำให้เขาตายหรือพิการ หากเขาตาย (ไม่ว่าด้วยสาเหตุอะไร) เพียงเพราะว่าร่วมชุมนุมประท้วง นั่นคือเรื่องที่เราควรเสียใจ มิใช่ดีใจหรือสะใจ หากเราไม่อยากให้ลูกหลานของเรากลายเป็นศพเพียงเพราะประท้วงรัฐบาล เราก็ไม่ควรยินดีที่คนทั้ง ๘๕ คนเป็นศพเพียงเพราะประท้วงเจ้าหน้าที่รัฐ (แม้เราอาจไม่เห็นด้วยกับการประท้วงของเขาก็ตาม)

เรามีสิทธิไม่เห็นด้วยกับใครต่อใคร แต่ไม่ควรกล่าวหาว่าเขา “ไม่ใช่ไทย” เพียงเพราะเขาทำสิ่งที่ไม่ถูกใจเรา หรือทำสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย และที่ต้องหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งก็คือการหาว่าเขาไม่ใช่ไทยเพียงเพราะเขานับถือศาสนาหรือพูดภาษาต่างจากเรา เป็นมุสลิมและพูดยาวีก็มีสิทธิเป็นไทย เขาเหล่านี้ต้องการตายที่เมืองไทยและรักแผ่นดินไทยไม่น้อยไปกว่าบรรพบุรุษของพวกเราหลายคนที่เป็นเจ๊กมาจากจีนและพูดไทยไม่ได้

สำหรับผู้ที่เป็นชาวพุทธ พึงตระหนักว่าเวรมิอาจระงับได้ด้วยการจองเวร ความรุนแรงมีแต่จะก่อเวรกรรมมิรู้จบ การใช้กำลังนั้นถึงที่สุดแล้วย่อมมิอาจแก้ปัญหาได้ มันทำได้อย่างมากก็แค่ขจัดคนชั่วร้ายออกไป แต่ไม่สามารถขจัดความชั่วร้ายไปได้ ความชั่วร้ายนั้นมิได้หายไปไหนหากเติบโตและฟูฟ่องในใจของผู้ที่ใช้ความรุนแรง ปาณาติบาตเป็นสิ่งที่พุทธศาสนาปฏิเสธในทุกกรณีก็เพราะมันทำลายความดีงามในใจของผู้กระทำ ทำให้ความเป็นมนุษย์เสื่อมถอย และเข้าใกล้ความเป็นดิรัจฉาน

บาปกรรมนั้นมิได้เกิดขึ้นแก่ผู้ฆ่าเท่านั้น ผู้ที่สนับสนุนหรือยินดีในการฆ่าก็ถือว่าทำบาปเช่นกัน ดังมีพุทธพจน์ว่า ผู้ฆ่า ผู้สรรเสริญการฆ่า และผู้ยินดีการฆ่า ย่อมมีนรกเป็นที่สุด ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงพึงดูแลจิตใจของตนเองให้ดี อย่าได้ยินดีกับการตายของผู้ใด จะทำเช่นนั้นได้ต้องระมัดระวังอย่าให้ความโกรธครองใจ พึงระลึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า ผู้ใดโกรธตอบผู้โกรธ ผู้นั้นย่อมโง่และเลวร้ายกว่าเขา เพราะได้ทำลายทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน

ชาวพุทธนั้นต้องมีขันติธรรมและเมตตาธรรมเป็นพื้นฐาน นอกจากอดกลั้นต่ออารมณ์แล้ว ยังควรอดกลั้นต่อความแตกต่างโดยเฉพาะในทางความเชื่อ คนเรานั้นแม้จะเห็นต่างกัน ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ถ้าขาดขันติธรรมและเมตตาธรรมแล้ว เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

สถานการณ์บ้านเมืองยามนี้กำลังทดสอบความเป็นไทยและความเป็นพุทธของเราว่ามีความเข้มแข็งและสามารถพาเราฟันฝ่าวิกฤตไปได้หรือไม่ หรือว่าอ่อนแอและคับแคบจนพาประเทศชาติสู่หายนะ ถึงที่สุดแล้วมันกำลังทดสอบความเป็นมนุษย์ของเราด้วยว่าเรามีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์มากน้อยเพียงใด หรือเรากำลังปล่อยให้ความพยาบาทครอบงำจนปรารถนาเห็นความพินาศเกิดขึ้นแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ในยามนี้เชื้อแห่งความรุนแรงกำลังแพร่หลายไปทั่ว ความโกรธเกลียดกำลังแผ่ซ่านและพร้อมจะปะทุเป็นไฟไหม้ลามทั้งประเทศ สิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งคือประกายไฟจากผู้นำประเทศ จากกลไกรัฐ และจากประชาชนทั่วไป เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจะต้องช่วยกันป้องกันมิให้ผู้นำประเทศและกลไกรัฐจุดประกายไฟขึ้นมาอีก นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้เลยวันนี้ก็คือช่วยกันป้องกันมิให้ประกายไฟเกิดจากประชาชน ทั้งนี้โดยเริ่มต้นที่ตัวเราและคนใกล้ตัว พยายามยับยั้งชั่งใจ อดกลั้นต่อความโกรธเกลียด อย่ายินดีในความตายของผู้ใด และอย่าเห็นคนที่ต่างศาสนาต่างความเชื่อจากเราเป็นศัตรู ศัตรูของเราแต่ละคนมีมากอยู่แล้ว อย่าพยายามผลักไสคนอื่นให้เป็นศัตรู ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักชื่อหรือเห็นหน้ากันด้วยซ้ำ

ประเทศชาตินั้นอยู่ได้ด้วยสมานฉันท์และความปรองดองของคนในชาติ หากผู้คนแบ่งฝักฝ่ายและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน บ้านเมืองก็ย่อมลุกเป็นไฟ เมืองไทยกำลังเสี่ยงต่อการลุกเป็นไฟเหมือนที่ศรีลังกาประสบ หากไฟจะลุกไหม้ทั้งประเทศนั่นก็มิใช่เพราะใครคนใดคนหนึ่ง หากเป็นเพราะประชาชนต่างช่วยกันจุดไฟเผานั่นเอง ไฟนั้นมิได้มาจากไหนหากมาจากกลางใจนี้เอง

วันนี้ถามตัวเราเองว่าไฟกำลังลุกไหม้กลางใจเราหรือไม่ วันนี้การช่วยชาติและช่วยลูกหลานของเราอย่างหนึ่งก็คือการพยายามดับไฟในใจของตนเอง และช่วยให้คนอื่นดับไฟในใจของเขาด้วย หากวันนี้เราไม่ทำ พรุ่งนี้เราอาจเสียใจที่มีส่วนทำให้ไฟไหม้ลามทั้งประเทศ

Back to Top