อนาคตศึกษา

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 13 พฤศจิกายน 2547

อนาคตศึกษาเป็นคำที่แปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Futures Studies ซึ่งหมายถึงวิชาสาขาใหม่ที่ศึกษาถึงแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการศึกษาอนาคต ตลอดจนระเบียบวิธีที่ใช้ในการศึกษาแนวโน้ม และทางเลือกต่าง ๆ ที่มีความเป็นไปได้ในอนาคต

โดยนัยนี้อนาคตศึกษา จะประกอบไปด้วยเนื้อหาอย่างน้อย ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คือ

๑. ส่วนที่เป็นแนวคิด (Perspectives) และทฤษฎี (Theories) ซึ่งอาจใช้คำรวมว่าอนาคตนิยม (Futurism)

๒. ส่วนที่เป็นระเบียบวิธี (Methodologies) ซึ่งอาจเรียกว่าการวิจัยอนาคต (Futures Research)

ความหมายที่ให้ไว้ข้างบนนี้ เป็นความหมายที่ผู้เขียนสรุปไว้เพื่อให้ผู้อ่านที่ยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับสาขาวิชานี้ได้เข้าใจเป็นเบื้องต้นเท่านั้น ผู้อ่านอาจจะพบความหมายของคำนี้ในลักษณะที่แตกต่างไปจากที่ผู้เขียนให้ไว้ได้ในตำราหรือบทความอื่น ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาในวงวิชาการ ยิ่งไปกว่านั้นผู้อ่านอาจจะพบคำอื่น ๆ ที่มีความหมายเหมือนหรือใกล้เคียงกับคำ ๆ นี้อีกหลายคำ เช่น Futurics, Futurology, Futuribles, Prognostics, และ Anticipatory Science เป็นต้น แต่ละคำก็มีความหมายและลักษณะพิเศษเฉพาะตัวตามแนวคิดของคนที่คิดขึ้น แต่สิ่งที่เหมือนกัน ก็คือการเน้นเรื่องอนาคต ผู้ที่ทำการศึกษาอนาคตอย่างเป็นระบบโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยอนาคตแบบต่าง ๆ เรียกว่า นักอนาคตนิยม

การศึกษาหรือการทำนายอนาคตของนักอนาคตนิยมแตกต่างไปจากการทำนายของหมอดูโดยทั่ว ๆ ไป ถึงแม้ว่าคนทั้งสองกลุ่มจะทำนายเรื่องที่เกี่ยวกับอนาคตเหมือนกัน แต่ความเชื่อและวิธีการของทั้งสองกลุ่มแตกต่างกัน โดยจะเปรียบเทียบให้เห็นพอสังเขปดังนี้




นักอนาคตนิยม หมอดู
๑. เชื่อว่าอนาคตเป็นสิ่งที่ควบคุมได้และเปลี่ยนแปลงไปตามการตัดสินใจ และการกระทำของมนุษย์ มนุษย์เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย มนุษย์เป็นผู้กำหนดและให้ความหมายแก่สรรพสิ่ง๑. อนาคตเป็นไปตามโชคชะตาราศี ดวงดาว หรือพรหมลิขิต นั่นคือเชื่อว่า มีผู้อื่น หรือสิ่งอื่นเป็นผู้กำหนดอนาคต ไม่ใช่มนุษย์
๒. ใช้เหตุผล และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาความเป็นไปได้ของอนาคตในรูปแบบต่าง ๆ๒. ใช้ไพ่ ลายมือ วันเกิด เวลาตกฟาก ดูโหงวเฮ้ง ... ในการทำนายอนาคต
๓. เน้นการศึกษาถึงอนาคตของมนุษย์ โดยส่วนรวม เช่น ลักษณะของ ครอบครัวไทยใน ๒๐ ปีข้างหน้า๓. เน้นอนาคตของแต่ละบุคคลเป็นส่วนใหญ่ เช่น นาย ก. จะพบเนื้อคู่เมื่อไหร่เป็นคนอย่างไร เป็นต้น
๔. ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้แนวโน้ม ๔. หมอดูเป็นผู้ให้ข้อมูล


จะเห็นได้ว่านักอนาคตนิยมและหมอดูมีความเชื่อและวิธีการ “ทำนาย” อนาคตที่แตกต่างกัน

การศึกษาและการวิจัยอนาคตมีประโยชน์หลายประการดังต่อไปนี้

๑. การศึกษาและการวิจัยอนาคตช่วยให้ได้ข้อมูลที่สำคัญ และจำเป็นเกี่ยวกับอนาคตที่จะนำมาใช้ใน
กระบวนการตัดสินใจ การกำหนดนโยบาย และการวางแผน เพราะการศึกษาและการวิจัยอนาคตมักจะให้หรือนำไปสู่สิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

๑.๑ ให้กรอบสำหรับการตัดสินใจหลายรูปแบบ

๑.๒ บ่งชี้ถึงอันตรายและโอกาสต่าง ๆ

๑.๓ แนะวิธีแก้ปัญหาแบบต่าง ๆ

๑.๔ ช่วยประเมินนโยบายและการปฏิบัติต่าง ๆ

๑.๕ ช่วยให้มองเห็น และเข้าใจปัจจุบันและอดีตดีขึ้น

๑.๖ ช่วยเพิ่มทางเลือก

๑.๗ กำหนดจุดหมายและแสวงหาวิธีที่จะบรรลุจุดหมาย

๒. ช่วยเตรียมมนุษย์ให้มีความพร้อมที่จะเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องโดยการ

๒.๑ ให้ประสบการณ์ล่วงหน้า (Pre-experience) แก่มนุษย์ว่าอนาคตอาจจะเป็นอย่างไร เพื่อจะได้เตรียมพร้อมว่าควรจะทำตัวอย่างไร จะได้ไม่เกิดหรือลดอาการ Future Shock

๒.๒ ให้การรับรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตบนโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและสับสน การรับรู้หรือมโนทัศน์ดังกล่าว ได้แก่

- การเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการปกติตามธรรมชาติ

- การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยอาจจะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต่อมา

- การเลือก (Choice) เป็นสิ่งจำเป็น การปฏิเสธที่จะเลือกก็คือการเลือก

- โลกในอนาคตน่าจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในหลาย ๆ ด้านจากโลกปัจจุบัน

- มนุษย์มีความรับผิดชอบต่ออนาคตของเขา อนาคตมิใช่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏขึ้นต่อหน้าเขาเท่านั้น

- วิธีการที่ได้ผลในอดีต อาจจะไม่ได้ผลในอนาคต เพราะสภาพการณ์มันเปลี่ยนไป

๒.๓ กระตุ้นให้มนุษย์ทำการศึกษาอนาคตอย่างมี “สติ”

๓. ช่วยให้มนุษย์เห็นถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ของระบบต่าง ๆ ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น

๔. ช่วยชี้นำและเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และความคิด

๕. ช่วยให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพราะไม่ติดอยู่กับปัญหาในอดีตและปัจจุบัน

๖. ช่วยกระตุ้นให้มนุษย์ (ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) ใฝ่หาความรู้โดยการเป็นผู้สร้างความรู้มากกว่าเรียนสิ่งที่ผู้อื่นบอกหรือทำมาแล้วแต่เพียงอย่างเดียว

๗. ให้แนวคิดในการพัฒนาปรัชญาชีวิตที่ผสมกลมกลืน

๘. ให้สันทนาการและความสนุกเพลิดเพลิน

เป้าหมายหลักของการศึกษาและการวิจัยอนาคต มิใช่อยู่ที่การทำนายที่ถูกต้องแม่นยำ เพราะเรื่องของอนาคตเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราไม่มีข้อเท็จจริง (Facts) เกี่ยวกับอนาคต มีแต่เพียงการคาดการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มที่เป็นทางเลือกที่คาดว่าจะมีความเป็นไปได้ (Possible Alternative Trends) เท่านั้น

แต่เป้าหมายหลักของการศึกษาและการวิจัยอนาคต อยู่ที่การสำรวจและศึกษาแนวโน้มที่เป็นไปได้ หรือน่าจะเป็นของเรื่องที่ศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์เพื่อหาทางทำให้แนวโน้มที่พึงประสงค์เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็หาทางป้องกันหรือขจัดแนวโน้มที่ไม่พึงประสงค์ด้วยการกระทำในปัจจุบัน

The Future is NOW.

หลักการสำคัญของอนาคตนิยม อยู่ที่การสร้างอนาคตที่พึงประสงค์มากกว่าการตามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

ความท้าทายของมนุษยชาติ อยู่ที่การร่วมกันคิดร่วมกันสร้างสังคมที่พึงประสงค์ในอนาคต บนการยอมรับและเคารพความแตกต่างที่หลากหลายอย่างแท้จริง

Unity Through Diversity.

Back to Top