ร่างแห่งเรา เงาแห่งตน



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 ธันวาคม 2553

มีคำกล่าวที่คุ้นหูว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” น่าตั้งคำถามว่า “จริงหรือ?”

เราอาจตีความคำกล่าวนี้ได้ว่า เราควบคุมร่างกายและอารมณ์ของเราเองได้หากเรา “ควบคุม” จิตใจหรือความคิดความรู้สึกเราได้ แต่เคยสังเกตไหมครับว่า ความคิดเห็นของเราได้รับอิทธิพลจากอารมณ์และสภาวะของร่างกายมากน้อยเพียงใด จริงๆ แล้วกายและจิตเป็นคู่แฝดที่พึ่งพาอาศัยกันอย่างเท่าเทียม และในทางประสบการณ์นั้น กายเป็นนายจิตเสียเป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่ว่า “เรา” หรือการรับรู้ถึงการมีอยู่ของ “ตัวเรา” นั้นดำรงอยู่ใน “จิต” ดังนั้น คำกล่าวนี้เป็น เสียงที่มาจากฝั่งของ “จิต” ที่อยากเป็นนายที่เป็นอิสระจาก “กาย” และอยากเป็นฝ่ายที่สามารถ ควบคุมทิศทางของชีวิตมากกว่า ทัศนะแบ่งแยกทางความคิดอย่างนี้มีมานานทั้งในโลกของศาสนาและวิทยาศาสตร์ที่ ประกาศอำนาจของฝั่งจิตเหนือกาย มนุษย์เหนือธรณีและธรรมชาติ บ้างก็ถึงกับมองร่างกายว่าเป็นความสกปรกและมีความเป็นสัตว์ที่เต็มไปด้วย ความต้องการอย่างไม่สิ้นสุด

ในบรรดาวิชาความรู้เพื่อการเข้าใจตัวเองและธรรมชาติของชีวิต (Contemplative Education) ที่บ้านเรามีคำเรียกว่าจิตตปัญญาศึกษานั้น การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงของร่างกายและอารมณ์นั้นกำลังเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง ด้วยสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเจ็บป่วยทางกายและจิตที่เป็นผลมาจากสภาพ ชีวิตที่เร่งรีบบีบคั้น และความไม่สามารถจัดการภาวะภายในของตนเองได้ แนวทางออกที่หลอมรวมวิถีแห่งสติและจิตวิทยาสมัยใหม่ หรือแม้แต่กระบวนการเยียวยากายจิตแบบดั้งเดิมของชนเผ่าก็ดูเหมือนจะกลับมาสม สมัยอีกครั้ง

สถาบันสตราสซี่ (Strazzi Institute) เพื่อการแปลงศักยภาพความเป็นผู้นำลงสู่ฐานกายจิต กล่าวไว้ว่า ทุกวันนี้วิธีการฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมภายนอกนั้น ยังขาดการบูรณาการทุกๆ มิติของความเป็นมนุษย์ในมุมมองของกายสำนึก (Somatic) ความคิด ความรู้สึก อารมณ์ และการแสดงออก รวมถึงเรื่องเล่า เรื่องราว และพลังภายในกายที่ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน แนวปฏิบัติหลายแนวอาจถือเอาร่างกายเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในการเรียนรู้ แต่ในแนวคิดของกายสำนึกถือว่าร่างกายของเราเป็นรากฐานสำคัญต่อการเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เพราะร่างกายเป็นที่ๆ เราสัมผัสถึงพลังแห่งความเชื่อ โลกทัศน์ เรื่องราว แบบแผนพฤติกรรม ชีพจร ปฏิกิริยาโต้ตอบอัตโนมัติทางกาย แรงขับดันภายใน แรงปรารถนาหรือความต้องการของชีวิต สิ่งเหล่านี้ ประกอบขึ้นมาเป็น “ตัวตน” ในแบบต่างๆ และแสดงออกผ่านรูปร่างและท่าทางที่หลากหลาย เราจะเห็นได้ชัดว่า แบบแผนพฤติกรรมที่เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบแบบอัตโนมัตินั้นมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ เนื้อรู้ตัว ซ้ำๆ และไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต่อเมื่อเราได้รู้ และเห็นสิ่งเหล่านี้ เราจึงจะเริ่มแยกแยะจากความยึดมั่นว่า "เป็นเรา" และทำความเข้าใจถึงเหตุปัจจัยเบื้องหลังการเกิดขึ้นของ "ร่าง"ต่างๆ เหล่านี้ที่เป็นดังเงาสะท้อนทางจิต เราจึงจะเริ่มเป็นอิสระจากการถูกยึดกุมของตัวตนเหล่านี้ได้

เดวิด เวนสต็อค ครูฝึกด้านกายสำนึก (Somatic Coach) ผู้สอนด้านการสื่อสารอย่างสันติ ทั้งยังเป็นผู้ดำรงวิถีชีวิตตามแนวทางปฏิบัติของไอคิโดที่หมายถึง วิถีแห่งรักและความเป็นหนึ่งเดียวกันของสรรพสิ่ง ซึ่งมาสอนเรื่อง “กายกรุณา” ในเมืองไทยเมื่อปีที่แล้ว ได้ชี้ให้เห็นถึงกลยุทธ์เดิม (Old Strategies) ที่ แสดงออกเพื่อรักษาและพิทักษ์ความมั่นคงปลอดภัยของตัวตนเอาไว้ โดยมักขัดแย้งกับความตั้งใจหรือความคิดของเจ้าตัว เช่น บางคนไม่รู้จะแสดงความรักทางกายอย่างไร เพราะไม่คุ้นเคยกับการแสดงออก การเรียนรู้ในแนวทางนี้ไม่ใช่การปรับกายให้แสดงออกอย่างสอดคล้องกับจิตใจ หากเป็นการเข้าถึงโลกแห่งจิตไร้สำนึกที่จะแสดงออกผ่านกายได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นการฝึกฝนเพื่อทำความเข้าใจกับทั้งกายและจิตและสร้างแนวทางของการหลอม รวมระหว่างสองฐานของชีวิตอย่างเป็นเอกฉันท์ (Somatic Consensus)

ผมเข้าใจว่าแนวทางดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับพัฒนาการล่าสุดทางจิตวิทยาของ อาร์โนล มินเดล นักจิตบำบัดสายคาร์ล จุง ที่มีกระบวนการทำงานภายใน เรียกว่างานกระบวนการ (Process Work) ที่ค้นพบว่าจิตไร้สำนึกที่ทรงอิทธิพลต่อชีวิตเรานั้น นอกจากไม่ได้น่ากลัวจนควบคุมไม่ได้ดังที่คิดแล้ว ยังแสดงออกมาผ่านทั้งความฝันและร่างกายของเราตลอดเวลา ร่างกายและพลังละเอียดของชีวิตเหล่านี้คือรูปปรากฏแห่งจิตนั่นเอง ดังนั้นในทางกลับกัน เราจึงสามารถมีปฏิสัมพันธ์ และจัดการกับจิตไร้สำนึกที่มักควบคุมได้ยาก เช่น ความกลัว ความโกรธ ได้อย่างเป็นมิตรและกรุณา

หรือแม้แต่ศาสตร์ที่มาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน แต่มีพัฒนาการที่แตกต่างอย่าง Voice Dialogue ที่ดอกเตอร์สโตน สามีภรรยาได้ใช้เวลาหลายสิบปีในการพัฒนาและทำความเข้าใจตัวตนต่างๆ ภายในตัวเราที่ดำรงอยู่ใน “เสียงภายใน”และใน “แบบแผนพลัง” ต่างๆ ในกาย ที่ต่างมีระบบคุณค่า มาตรฐาน การตัดสิน และศักยภาพของตัวเอง บางพวกได้รับความเป็นใหญ่ อีกหลายพวกถูกกดทับไว้ไม่ให้มีปากเสียง แต่ก็มิวายจะเล็ดลอดหาช่องออกอย่างไม่ให้เจ้าตัวควบคุมหรือรู้ตัวได้ ผมคิดว่าความหลากหลายในแนวทางเหล่านี้เป็นเรื่องดีที่จะช่วยให้เรามีทาง เลือกในการหลอมรวมเอาฐานสำคัญของชีวิต นั่นคือ “กาย” มาเป็นรากฐาน ของการเข้าใจตัวเองและชีวิตได้

Back to Top