มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2553
คุณเป็นคนหนึ่งใช่ไหมที่เคยทำกระเป๋าเงินหาย จำได้หรือไม่ว่ากี่ครั้งที่คุณได้กระเป๋าเงินคืน สำหรับคนที่อยากได้คืนมาก ๆ มีวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณมีโอกาสได้คืนมากกว่าเดิม นั่นคือใส่ภาพทารกกำลังยิ้มน่ารักไว้ในกระเป๋านั้นด้วย เห็นชัดมากเท่าไรก็ยิ่งดีมากเท่านั้น ในบางประเทศพบว่า หากทำเช่นนั้น เจ้าของมีโอกาสได้กระเป๋าคืนเพิ่มขึ้นถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ดูเหมือนว่ายังไม่เคยมีการทดลองดังกล่าวในประเทศไทย แต่ก็เชื่อว่าภาพทารกยิ้มหวานจะช่วยให้คุณมีโอกาสได้คืนมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน (แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อติดต่อหรือส่งคืนได้ด้วย)
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าคนที่เก็บกระเป๋าเงินได้ เมื่อเห็นภาพเด็กทารกน่ารัก ก็อดคิดไม่ได้ว่า เจ้าของกระเป๋าเป็นคนรักลูกรักครอบครัว ดังนั้นจึงเกิดความรู้สึกดีต่อเจ้าของกระเป๋า ทำให้เกิดความเห็นใจ และอยากช่วยเหลือเจ้าของกระเป๋า แม้จะต้องเสียเวลาหาทางส่งกระเป๋าคืนให้แก่เจ้าของก็ยอมทำ
แต่เหตุผลที่สำคัญกว่าน่าจะเป็นเพราะว่า ภาพนั้นมีผลโดยตรงต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้พบกระเป๋า โดยไม่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของเจ้าของกระเป๋าเลย ภาพทารกน่ารักและยิ้มหวานนั้น ใครเห็นก็รู้สึกดี เพราะมันได้กระตุ้นหรือดึงเอาความรู้สึกเอื้ออาทรออกมาจากจิตใจของเขา สำหรับหลายคน ความรู้สึกดีที่เกิดขึ้นนั้นมีพลังมากพอที่จะบดบังหรือเอาชนะความเห็นแก่ตัวในใจเขาได้ ความคิดที่จะเก็บเป็นสมบัติของตัว จึงเปลี่ยนเป็นความปรารถนาที่จะส่งคืนเจ้าของ
คนเรานั้นไม่ได้มีแต่ความเห็นแก่ตัวเท่านั้น หากยังมีความเอื้ออาทร ปรารถนาดี และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นด้วย จะเรียกว่าเรามีทั้งความเห็นแก่ตัวและคุณธรรมอยู่เคียงคู่กันก็ได้ การที่ใครสักคนทำความดีนั้น ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความเห็นแก่ตัว แต่เป็นเพราะคุณธรรมในใจเขามีพลังมากกว่า ในทางตรงข้ามคนที่ทำความชั่ว ก็ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความดีอยู่ในตัวเลย หากเป็นเพราะความดีนั้นไม่มีพลังมากจึงถูกความเห็นแก่ตัวหรืออารมณ์อกุศลครอบงำ อย่างน้อยก็ในชั่วขณะนั้น มองในแง่นี้เราทุกคนจึงมีโอกาสที่จะทำสิ่งดีงามหรือความเลวร้ายได้เสมอ อยู่ที่ว่าขณะนั้นอะไรมีพลังมากกว่ากันระหว่างความเห็นแก่ตัวกับคุณธรรม
ความเห็นแก่ตัว กับ คุณธรรม อะไรมีพลังมากกว่ากัน ขึ้นอยู่กับว่า เราบ่มเพาะหรือหล่อเลี้ยงอะไรมากกว่า หากเรานึกถึงแต่ตัวเอง จะทำอะไรก็คิดแต่ว่า “ทำแล้วฉันจะได้อะไร” ความเห็นแก่ตัวย่อมเติบใหญ่และครอบงำจิตจนกลายเป็นนิสัย แต่หากนึกถึงผู้อื่นหรือส่วนรวมอยู่เป็นนิจ จะทำอะไรก็ใคร่ครวญก่อนว่า “ทำแล้วจะเกิดผลอย่างไรต่อส่วนรวม” คุณธรรมโดยเฉพาะความเสียสละและความรับผิดชอบส่วนรวมก็เจริญงอกงามในใจ
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยแวดล้อมก็มีส่วนไม่น้อยในการกระตุ้นเร้าความเห็นแก่ตัวและคุณธรรม ในบางขณะแม้เราจะถูกความเห็นแก่ตัวหรืออารมณ์อกุศลครอบงำ แต่การกระทำของผู้อื่นก็สามารถปลุกเร้าคุณธรรมในใจเราจนสามารถเอาชนะความเห็นแก่ตัว หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางดีงามได้
นักศึกษาไทยผู้หนึ่งเล่าว่า เธอเคยถูกคนผิวดำล็อกคอขณะรอสัญญาณไฟเขียวบนเกาะกลางถนนในเมืองบอสตัน เขาเอามีดจี้เอวและสั่งให้เธอส่งกระเป๋าเงินให้ วันนั้นเป็นเช้าวันเสาร์จึงมีคนเดินถนนไม่มากทั้ง ๆ ที่เหตุเกิดหน้ามหาวิทยาลัย
โจรไม่พอใจเมื่อพบว่าในกระเป๋าของเธอมีเงินแค่ ๒๐ ดอลลาร์ ไม่มีบัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็มเลย เขาจึงถามหานาฬิกาและสร้อยคอ เธอก็ไม่มีสักอย่าง เนื่องจากช่วงนั้นจนกรอบมาก
โจรถามเธอว่าเป็นนักเรียนไม่ใช่หรือ คนเอเชียมาเรียนที่นี่ได้ต้องรวย เธอตอบว่า เธอไม่ได้ร่ำรวย แต่มาเรียนได้เพราะได้ทุน
เขาถามเธอว่าจะไปไหน เมื่อได้คำตอบว่า กำลังจะไปซื้ออาหาร เขาแปลกใจ ถามว่าเงิน ๒๐ ดอลลาร์พอหรือ เธอตอบว่าเหลือเฟือเพราะตั้งใจซื้อไข่อย่างเดียว โหลละ ๒ ดอลลาร์เท่านั้น
เขาถามต่อว่า เอาไข่ไปทำอะไร เธอตอบว่า เอาไปต้มกินได้ทั้งอาทิตย์
ระหว่างนั้นเอง เธอสังเกตเห็นยามมหาวิทยาลัยกำลังเรียกตำรวจ เธอจึงรีบโบกมือ พร้อมกับบอกว่า ไม่ต้องเพราะเราเป็นเพื่อนกัน
โจรพอได้ยินเช่นนั้นก็ทำท่างง แล้วถามเธอว่า รู้จักกับเขาตั้งแต่เมื่อไหร่ เธอตอบว่าเมื่อกี้ไง
จากนั้นเธอก็แนะนำตัวว่ามาจากประเทศไทย ซึ่งกำลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก จนต้องยอมเป็นเบี้ยล่างให้ไอเอ็มเอฟ สภาพของเธอจึงย่ำแย่กว่าเขาเสียอีก
หลังจากสนทนาพักหนึ่ง เหตุการณ์นี้ก็ลงเอยแบบกลับตาลปัตร โจรแทนที่จะปล้นเอาเงินเธอ กลับพาเธอไปร้านค้า แล้วซื้ออาหารกับขนมให้เธอ ๓ ถุงใหญ่ พร้อมกับหิ้วมาส่งที่หน้ามหาวิทยาลัย อีกทั้งยังแถมเงินให้อีก ๕๐ ดอลลาร์
คนผิวดำคิดจะปล้นเอาเงินจากนักศึกษาไทย แต่เปลี่ยนใจเมื่อได้เห็นน้ำใจของเธอที่นอกจากห้ามยามไม่ให้เรียกตำรวจแล้ว ยังเห็นเขาเป็นเพื่อน ยิ่งมารู้ว่าเธอมีฐานะการเงินไม่สู้ดีนัก ก็รู้สึกเห็นใจ และยอมควักเงินช่วยเหลือเธอแทน
เวลานึกถึงโจรหรือขโมย เรามักคิดว่าเขาเป็นคนเลวที่เห็นแก่ตัวสถานเดียว แต่เขาก็เช่นเดียวกับเรา คือมีคุณธรรมอยู่ในจิตใจ แต่บางขณะความเห็นแก่ตัวได้ครอบงำจิตใจของเขา จึงลงมือทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้กระนั้นความดีในใจของเขาก็สามารถมีพลังเหนือความเห็นแก่ตัว และทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามแทน ในกรณีของคนผิวดำคนนี้ ความดีในใจของเขาไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่ได้รับการกระตุ้นจากน้ำใจไมตรีของนักศึกษาไทย
ความดีนั้นมีพลัง มันสามารถเชิญชวนหรือดึงดูดความดีที่ซุกซ่อนในใจของอีกฝ่ายหนึ่งให้แสดงตัวออกมา จนสามารถเอาชนะความเห็นแก่ตัวหรืออารมณ์อกุศลในใจของเขาได้ ใครก็ตามที่ได้รับการปฏิบัติด้วยดี อย่างมีน้ำใจไมตรี พลังแห่งความดีในใจเขาจะถูกกระตุ้นจนอยากทำดีกับอีกฝ่ายด้วย
บ่อยครั้งเพียงแค่แสดงความชื่นชมในตัวเขาหรือในการกระทำของเขา ก็สามารถปลุกพลังแห่งความดีขึ้นได้ในใจเขา วัยรุ่นซึ่งเป็นหัวหน้าแก๊งมอเตอร์ไซค์ป่วนเมืองกลุ่มหนึ่งถูกรุ่นพี่ชวนให้ไปเข้าค่าย “สุขแท้ด้วยปัญญา” เขาไม่อยากไปแต่เกรงใจรุ่นพี่ ในค่ายนั้นเขาพกพาระเบิดและปืนไปด้วยเพราะรู้ว่าจะต้องเจอแก๊งคู่อริที่นั่น ห้าวันในค่ายเกือบจะเหตุปะทะกันหลายครั้ง แต่ผู้นำค่ายสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ค่ายนั้นจึงสำเร็จด้วยดี ชาวบ้านซึ่งรู้จักวัยรุ่นกลุ่มนี้ประหลาดใจที่ไม่เกิดเหตุร้ายขึ้น ต่างออกปากชมเขาและเพื่อน ๆ ทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจมาก เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่เขารู้สึกอยากทำความดี ดังนั้นเมื่อถึงวันปีใหม่ เขากับเพื่อน ๆ จึงอาสาไปช่วยตำรวจตั้งด่านป้องกันอุบัติเหตุ ผู้คนต่างชื่นชมการกระทำดังกล่าว เขาจึงรู้สึกประทับใจมาก เกิดความเชื่อมั่นว่าเขาเองก็สามารถทำความดีได้ หลังจากนั้นเขาได้เปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ก่อกวนชาวบ้านอีกต่อไป
ในช่วงใกล้ ๆ กัน นักเรียนมัธยมกลุ่มหนึ่งอยากจัดงานวันเด็กให้แก่โรงเรียนบนดอยที่ห่างไกล แต่เนื่องจากมีทุนจำกัด ทุกคนจึงไปเล่นดนตรีเปิดหมวก หาเงินได้ถึงสามหมื่นบาท ช่วงที่ไปสำรวจพื้นที่นั้น เป็นช่วงหน้าฝน ทางลื่นไถลลำบากมาก อีกทั้งอันตราย นักเรียนกลุ่มนี้จึงไปขอความช่วยเหลือจากนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นเด็กเกเรประจำโรงเรียน ขอให้ช่วยขี่มอเตอร์ไซค์วิบากพาไปส่งที่โรงเรียน ฝ่าย “เด็กแว๊ง” นั้นก็ให้ความช่วยเหลือเต็มที่ จนทุกคนถึงที่หมายโดยปลอดภัย ทุกคนชื่นชมนักเรียนกลุ่มนี้มาก ยกย่องให้เป็น “พระเอก” ทำให้พวกเขาเกิดกำลังใจที่จะทำความดี หลังจากนั้นพวกเขาได้เป็นกำลังหลักในการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่น ๆ แม้จะเรียนจบแล้ว
สองกรณีข้างต้นยังชี้ว่า นอกจากคำชื่นชมจากผู้อื่นแล้ว การมีโอกาสได้ทำความดี สร้างสรรค์ประโยชน์ ล้วนมีผลในการหนุนเสริมพลังแห่งความดีในใจเราให้งอกงาม จนอยากทำความดีเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะปรารถนาคำชื่นชมเท่านั้น หากยังเพราะมีความสุขที่ได้ทำความดี เป็นความสุขที่เกิดจากความภาคภูมิใจและรู้สึกว่าตนมีคุณค่า รวมทั้งมีความสุขที่เห็นผู้อื่นได้รับความสุขจากการกระทำของตน
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนนั้น ที่ผ่านมามักเน้นมาตรการเชิงลบ เช่น ตำหนิ เพ่งโทษ หรือใช้อำนาจ แต่สิ่งที่มักถูกมองข้ามไปก็คือการใช้มาตรการเชิงบวก ซึ่งไม่ได้หมายความเฉพาะการให้รางวัลเป็นแรงจูงใจเท่านั้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การเสริมสร้างพลังแห่งความดีในใจของผู้คน ด้วยการมีน้ำใจไมตรี ปฏิบัติต่อกันด้วยความปรารถนาดี มองเห็นด้านดีของเขา รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้เขามีโอกาสทำความดีได้มากขึ้น
การใช้มาตรการเชิงลบนั้นแม้จะมีประโยชน์ แต่บ่อยครั้งก็กลับกระตุ้นความรู้สึกฝ่ายลบขึ้นมาในใจของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น เมื่อตำหนิว่ากล่าวเขา ก็ทำให้เขาโกรธและตอบโต้กลับคืน ซึ่งก็เท่ากับกระตุ้นให้อีกฝ่ายว่ากล่าวรุนแรงขึ้น หาไม่ก็ทำให้เขาปกป้องตนเองจนไม่คิดที่จะปรับปรุงตนเอง ส่วนการใช้อำนาจนั้นแม้ทำให้อีกฝ่ายกลัว แต่ก็เกิดความรู้สึกต่อต้านเป็นปฏิปักษ์ จนคิดแต่จะทำสิ่งที่เป็นการบั่นทอนบ่อนทำลายมากกว่าที่จะทำสิ่งสร้างสรรค์
พลังฝ่ายลบนั้นย่อมดึงพลังฝ่ายลบของอีกฝ่ายออกมา ในทำนองเดียวกัน พลังฝ่ายบวกย่อมกระตุ้นพลังฝ่ายบวกของอีกฝ่ายให้แสดงตัวออกมา หากเราปรารถนาที่จะสัมผัสหรือได้รับความดีงามจากอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่มีทางอื่นนอกจากเราต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นทำดีกับเขาก่อน
One Comment
เรื่องเด็กแว้น นี่ ผมมองว่าไม่เฉพาะเด็กแว้นนะครับ
ทุกกลุ่ม ทุกคน ต่างก็ต้องการ การยอมรับในตัวเอง
ทุกคนอยากเป็นคนที่มีคุณค่า ทั้งรู้สึกจากภายใน
และเสียงจากภายนอก ...
ผมเชื่อในเรื่องการดึงพลังด้านบวกออกมาจากตัว
แต่ละคนนะครับ และผมว่าเราน่าจะรู้จักหรือได้ลอง
ดึงพลังด้านบวกของเราออกมาใช้ให้เป็นด้วย
ไม่เช่นนั้น ไปดึงพลังคนอื่นๆ แล้ว เค้าไม่ยอมนี่สิ
เราจะพลอย โมโหปล่อยพลังลบๆ ออกไปแทน :)
แสดงความคิดเห็น