ความยุ่ง คือความขี้เกียจ
(Busy-ness is Laziness)

โดย เรจินัลด์ เรย์ เขียน
วิจักขณ์ พานิช แปลและเรียบเรียง
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 กันยายน 2548

ชีวิตที่แท้ผุดบังเกิดจากความเงียบอันเป็นพื้นฐานของการรับฟังด้านใน ส่วนชีวิตในแบบทั่วไปที่เราเข้าใจกัน มันเป็นเพียงแค่ภาพมายา สะท้อนแผนการที่ปรุงแต่งขึ้นจากส่วนเสี้ยวของเหตุปัจจัยภายนอก เสียงบอกจากคนรอบกาย หรือสิ่งที่เราเลียนเอาอย่างจากชีวิตคนอื่น อันภาพมายานั้นหาใช่ความเป็นตัวเราที่แท้จริงไม่ ชีวิตที่เต็มไปด้วยแผนล่วงหน้าเหล่านั้นเป็นชีวิตปลอมๆ อันแข็งทื่อ ไร้การเรียนรู้ตอบสนอง มันไม่ได้สะท้อนถึงชีวิตตามแบบที่มนุษย์ควรจะเป็นเลยแม้แต่น้อย

ผู้คนมากมายผ่านเข้ามาในชีวิตผม บอกผมว่า “ฉันไม่มีเวลาพอที่จะฝึกสมาธิภาวนาหรอก ชีวิตฉันยุ่งเหลือเกิน ตารางเวลาประจำวันแทบจะต้องวางแผนกันล่วงหน้าสามสี่เดือน ชีวิตฉันมันเต็มจริงๆ ยุ่งขนาดที่ว่าเช้าจรดเย็นแทบไม่มีช่องว่างให้คิดเรื่องอื่นเลยนอกจากงาน” ดูเหมือนว่าทิศทางของผู้คนในโลกสมัยใหม่ทั่วทุกมุมโลกต่างมุ่งเป็นไปในรูปแบบนี้กันทั้งนั้น

ลองหยุดคิดกันดูสักนิดว่า สิ่งนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” จริงน่ะหรือ “ชีวิต”ในแบบที่ว่านั้นมีคุณค่าพอ ที่จะมีชีวิตอยู่กันจริงๆ หรืออย่างไร ในฐานะมนุษย์แห่งโลกสมัยใหม่ เรากำลังวิ่งหนีตัวเราเอง เรากำลังใช้ความยุ่งของชีวิตเป็นข้อแก้ตัว เพื่อการหลีกเลี่ยงที่จะรู้จัก และสัมผัสชีวิตมนุษย์ที่แท้ ...พื้นที่ด้านในอันเป็นอิสรภาพของการรับรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ กลับกลายเป็นพื้นที่ที่เราไม่เคยรู้จัก และเราต่างก็หวาดกลัวกับการเข้าไปรู้จักพื้นที่อันนั้น เป็นความจริงที่น่าเศร้า...เรากลัวที่จะเรียนรู้ เรากลัวที่จะรู้จักตัวเอง...

ผู้คนในโลกสมัยใหม่ไม่สามารถทนอยู่คนเดียวได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในงานอะไรก็ตามที่ต้องอาศัยความเงียบแห่งพื้นที่ภายในของความเป็นตัวเอง และปราศจากสิ่งบันเทิงภายนอก วิถีชีวิตที่ผู้คนสมัยนี้คุ้นเคยกลับเป็นชีวิตที่ไม่มีแม้แต่เพียงวินาทีเดียว ที่คุณจะต้องอยู่คนเดียว คุณต้องมีทีวีหรือคอมพิวเตอร์อยู่หน้าตัวตลอดเวลา เรากำลังใส่ข้อมูลแห่ง “ความยุ่ง” ให้กับชีวิตจนเกือบจะถึงจุดที่มันพร้อมจะระเบิด และเมื่อใดที่คุณบอกตัวคุณเองให้นั่งลง เพื่ออยู่กับตัวเองบ้าง ก็จะมีเสียงต้านขึ้นมาทันทีว่า “ฉันทำไม่ได้ ฉันไม่มีเวลามากพอที่จะทำอย่างนั้นหรอก” คนส่วนใหญ่ต่างก็เคยชินกับความคิดเช่นนี้จนมองว่ามันไม่ใช่ปัญหาอะไร เราไม่เคยหยุดที่จะเฝ้ามองชีวิตในความหมายที่แท้จริงเอาเสียเลย

จากพ่อแม่สู่ลูก วิถีชีวิตที่ไม่ถูกตั้งคำถามกำลังถูกถ่ายทอดสู่ลูกๆ ของเรา และมันกำลังทำลายพวกเขาอย่างเลวร้ายที่สุด ตารางชีวิตที่อัดแน่น ซ้อมกีฬา ซ้อมดนตรี การบ้าน สามชั่วโมงหน้าทีวี สามชั่วโมงหน้าคอมพิวเตอร์ ตารางเต็มเอี้ยดตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน พวกเขาแทบจะไม่ได้รู้จักเรียนรู้การอยู่กับความเงียบ ซึ่งหมายถึงการให้พื้นที่กับตัวเอง อยู่กับตัวเองเพื่อการค้นหา และค้นพบ

นอกจากนั้น ปัญหาเดียวกันยังพบได้ในระบบการศึกษา ที่ทั่วโลกกำลังเอาตะวันตกเป็นแม่แบบ ระบบการศึกษาที่ตั้งอยู่บนความอัดแน่นของข้อมูลที่เรากำลังยัดเยียดเข้าสู่ชีวิตของเด็ก บวกกับค่านิยมของสังคมที่ไม่เหลือช่องว่างให้กับการค้นหาความหมายอันหลากหลายของชีวิต กำลังผลักดันให้เกิดภาพของชีวิตที่ยุ่ง เป็นการประเมินค่าความมีประสิทธิภาพและความเต็มอย่างผิวเผินจากภายนอก อีกทั้งพ่อแม่ยังผลักเอาความคาดหวังส่วนตัวอันเกิดจากการใช้ชีวิตอย่างยุ่งๆ ที่ไม่เคยตั้งคำถามใดๆ ไปให้ลูก วัฏจักรอันเลวร้ายจึงถือกำเนิดขึ้น เกิดเป็นวงจรอุบาทว์บนพื้นฐานของความกลัว ...ความกลัวที่ว่า คือความกลัวความว่าง ความกลัวพื้นที่ว่างของการเรียนรู้ชีวิต (Fear of Space)

การฝึกฝนสมาธิภาวนา นั่งลงเงียบๆ กับตัวเอง โดยปราศจากกิจกรรมอื่นใด นอกจากการเฝ้ามองชีวิตด้านในของเรานั้น เป็นเสมือนการถอดปลั๊กของวงจรชีวิต มันเป็นกระบวนการง่ายๆ ที่ส่งผลย้อนกลับ ทำให้ชีวิตของเราเปิดกว้าง ด้วยพื้นที่ว่างของการเรียนรู้ที่แท้ได้ก่อกำเนิดขึ้นอีกครั้ง เราจะต้องเข้าใจความมหัศจรรย์ของการฝึกฝนที่ว่านี้ และยินดีที่จะบอกตัวเองว่า การนั่งเฉยๆ อยู่กับตัวเอง ก็ถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของชีวิต กิจกรรมนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการเติบโตทางจิตวิญญาณของวัฒนธรรมแห่งโลกสมัยใหม่ คุณจะต้องตระหนักถึงความจริงที่ว่า คุณมีชีวิตนี้เพียงชีวิตเดียว เมื่อคุณไม่ใส่ใจกับชีวิตที่ว่านั้น ไม่สามารถให้เวลากับมันแม้เพียงสั้นๆ ๑๕ นาที ในการสร้างความสัมพันธ์ ทำความเข้าใจชีวิต เมื่อนั้นคุณกำลังทำให้ทุกคนรอบข้างเป็นทุกข์ คุณต้องตระหนักเสียทีว่าชีวิตที่ไม่เข้าใจตัวเอง เป็นชีวิตที่ไม่มีทางเข้าใจเพื่อนมนุษย์คนอื่น คุณกำลังทำร้ายคนอื่นอย่างไม่รู้ตัว ด้วยการเอาความยุ่งเป็นข้อแก้ตัวที่นำไปสู่การเพิกเฉย ต่อการเรียนรู้จักตนเองและผู้อื่น

ความยุ่งบ่งบอกถึงจิตที่วุ่น เมื่อจิตวุ่นเสียแล้ว คุณก็แทบจะไม่มีความรู้สึกของการดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้อย่างแท้จริง การละเลิกความคิดที่ว่า “ชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่ยุ่ง” “ชีวิตว่างเป็นชีวิตที่ไร้ประโยชน์” ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการเปิดใจเพื่อความเข้าใจชีวิตที่แท้ ชีวิตคือพื้นที่ว่างของการเรียนรู้ เมื่อเราพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความไม่รู้ในทุกขณะของชีวิต เราก็จะตื่นที่จะรู้ การปล่อยวางความยุ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องกลายเป็นคนเฉยๆ เฉื่อยๆ ไม่กระตือรือร้น ไร้ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ แต่มันหมายถึงการละเลิกความคิดปรุงแต่งที่กีดขวางการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ในชีวิตอย่างตรงไปตรงมา เราต้องปล่อยวางความกลัว ปล่อยวางการยึดมั่นในแผนการทั้งหลายทั้งปวง เพื่อที่จะได้สัมผัสชีวิตที่แท้จริงกันกันเสียที

การปล่อยวางความคิด เพื่อสัมผัสชีวิตในแง่มุมที่ลึกซึ้ง คือเป้าหมายของการฝึกจิตภาวนา การปฏิบัติภาวนาไม่ใช่เรื่องนอกตัว ไม่ใช่พิธีกรรมทางศาสนา ไม่ใช่กิจกรรมของการตัดขาดจากโลก แต่มันคือกระบวนการพื้นฐานของการมองด้านใน และเข้าใจกระบวนการการรับรู้ของชีวิต เราได้เห็นจุดที่เราไม่เคยมองเห็นมาก่อนในตัวเรา แล้วพยายามที่จะเข้าใจมันอย่างถูกต้องมากขึ้น การภาวนาคือการที่ทำให้เราเข้าใจชีวิตตัวเองในแง่มุมที่ลึกซึ้ง อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างภายในของชีวิต อันเป็นบ่อเกิดแห่งการเรียนรู้อันศักดิ์สิทธิ์

ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต แท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่แสนจะธรรมดาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อาจจะเรียกว่า ordinary magic ก็ได้ มันเกิดขึ้นในทุกขณะที่เราได้สัมผัสถึงความธรรมดาและง่ายงามของชีวิต ได้สร้างความสัมพันธ์กับความว่างที่เป็นบ่อเกิดของปัญญาและความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น ผมขอให้ทุกคนได้ให้โอกาสกับตัวเอง ในการเรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเองให้มากขึ้น ลองให้โอกาสกับการฝึกจิตภาวนาเป็นลำดับต้นๆ ในลิสต์ ให้คุณค่าของการเรียนรู้ที่จะเชื้อเชิญพื้นที่ว่าง ให้กับสิ่งใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ผุดบังเกิดขึ้นในชีวิตของคุณ เมื่อนั้นเราก็จะได้สัมผัสถึงความมหัศจรรย์เหนือกรอบของความคับแคบแห่งตัวตนที่เราพยายามสร้างขึ้น สู่ความหมายใหม่ของชีวิตและอิสรภาพของมนุษย์ที่แท้จริง

Back to Top