สู่ความเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิญญาณ (Spirituality)

โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 กันยายน 2548

ต้องขอยอมรับด้วยความบริสุทธิ์ใจเป็นเบื้องต้นว่า ไม่ง่ายเลยที่จะเขียนอธิบาย หรือแม้กระทั่งจะนั่งพูดคุยกัน เพื่อทำความเข้าใจว่าจิตวิญญาณคืออะไร เพราะ “จิตวิญญาณ” ไม่ใช่ “ข้อมูล” ไม่ใช่ “ทฤษฎี” และโดยเฉพาะไม่ใช่ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ที่เราจะเข้าไปศึกษาและค้นคว้าหรือแม้กระทั่งวิจัย ด้วยระเบียบวิธีวิจัยอย่างเป็นระบบตามรูปแบบทางวิชาการที่เราเรียนรู้กันมา

ถึงแม้จะมีข้อมูลหรือทฤษฎี “เกี่ยวกับ” จิตวิญญาณ ที่เราสามารถจะค้นคว้า ศึกษาได้อย่างเป็นระบบพอควร มันก็เป็นเพียงข้อมูลหรือทฤษฎี “เกี่ยวกับ” จิตวิญญาณ ไม่ใช่จิตวิญญาณโดยตรง

ถึงแม้จะมีแนวทาง (Approaches) หรือวิธีปฏิบัติ (Practices) หรือแบบฝึกหัด (Exercises) เพื่อจะเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า “สุขภาวะทางจิตวิญญาณ” (Spiritual well- being) มันก็เป็นเพียงแนวทางหรือวิธีซึ่งเปรียบเสมือนถนนหรือสะพานไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “จิตวิญญาณ” หรือไปสู่สภาวะที่เรียกว่าสุขภาวะทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่จิตวิญญาณหรือสุขภาวะทางจิตวิญญาณด้วยตัวของมันเอง

มีหลายคนที่กำลังเดินทางไปบนถนน “สายจิตวิญญาณ” หรือเดินไปบนสะพานเพื่อจะข้ามจากมิติของโลกวัตถุไปสู่อีกมิติหนึ่งที่เรียกว่ามิติของจิตวิญญาณ แต่ก็ไปไม่ถึง เพราะยึดติดหรือเกาะเกี่ยวอยู่กับสะพาน (แนวทาง วิธีปฏิบัติ แบบฝึกหัด) เลยไม่ได้ก้าวข้ามสู่มิติของจิตวิญญาณ

เพียงอยู่ระหว่างทางของสองโลก (ทวิภพ – Dualism) หันกลับไปข้างหลังก็มองเห็นโลกที่เดินจากมา มองไปข้างหน้าก็คล้ายจะแลเห็นโลกที่กำลังจะก้าวไปถึง

บนสะพานหรือถนนสายนี้ บางคนมองเห็นโลกสองโลกเป็นคู่ขนาน (Parallelism) บางคนเห็นโลกสองโลกเสมือนเหรียญสองด้าน (Dualism)

บางคนตัดสินใจด้วยความมุ่งมั่นแล้วก้าวเดินต่อไปข้างหน้า บางคนตัดสินใจถอยกลับไปสู่โลกเดิม

และมีบางคนที่ใช้เคล็ดลับวิชา “ตัวเบา” สะบัดปลายเท้า (สลัดความไม่รู้) ด้วยกำลังภายในขั้นสุดยอด (ปัญญา) เข้าสู่มิติจิตวิญญาณ

มิติ
ที่ไม่มีการแบ่งแยก (Non-Seperative) หรือแบ่งฝ่าย (แบ่งพรรค แบ่งพวก แบ่งเพศ แบ่งประเภท แบ่งความเชื่อ . . .) มิติที่ปราศจากรอยตะเข็บ (Seamless) ไม่ลดทอน (Non – Reductionist)

จิตวิญญาณเป็นมิติที่มีลักษณะเป็นองค์รวม (Holistic) ที่มีธรรมชาติของการรวม (Inclusiveness) ความหลากหลาย (Diversity) ผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน (The Same Oneness) ที่มากกว่าความหลากหลายของแต่ละส่วนย่อย เพราะความเป็นองค์รวม (Holism) เป็นการก้าวข้ามหรือก้าวพ้น (Transcend) สิ่งเก่า แล้ววิวัฒน์ (Evolve) หรือผุดบังเกิด (Emerge) เป็นสิ่งใหม่ อันเป็นผลมาจากการผนวกหรือควบรวม (Include) สิ่งเก่าที่มีอยู่

มาถึงตรงนี้ขออนุญาตอุปมาอุปไมยด้วยการยกตัวอย่าง และมีข้อเสนอแนะในการนำไปใช้พอสังเขป เพราะโลกยุคใหม่มักจะเรียกร้อง (แต่เลี่ยงที่จะทำ) ความชัดเจน (Clarity) ความโปร่งใส (Transparency) โดยเฉพาะความโปร่งใสทางกฎหมาย (เอาผิดไม่ได้ทางกฎหมาย) และการนำไปใช้ได้จริง (Practicality)

ขอยกตัวอย่างเป็นเชิงอุปมาอาหารไทยชนิดหนึ่งที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกคือ “ต้มยำกุ้ง”

“ต้มยำกุ้ง” มีความเป็นองค์รวมที่ใหม่และใหญ่กว่าเครื่องปรุงแต่ละชนิด และเทคนิคหรือวิธีในการปรุง เพราะต้มยำกุ้งเป็น “องค์รวม” ของทั้งเครื่องปรุง วิธีปรุง และอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบในการปรุง

หากเรานำความเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิญญาณในลักษณะดังกล่าวเป็นหลักคิด ในการสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ เราน่าจะได้แนวทาง (Approaches) และวิธีการปฏิบัติ (Practices) ที่แตกต่างไปจากปัจจุบัน และน่าจะเป็นที่พึงประสงค์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยสมานฉันท์จะเป็นทั้งวิธี (Means) และจุดหมาย (End) ที่ต้องการ

ไม่ใช่ไม่อยากได้สมานฉันท์ แต่ใช้วิธีแบ่งแยก สกัดออกหรือทำลาย

ไม่ใช่อยากได้สันติภาพ แต่ใช้วิธีทำสงคราม

เราน่าจะลองพิจารณาแนวทางจิตวิญญาณ (Spiritual Approach) เป็นอีกแนวทางหนึ่งนอกเหนือไปจากแนวทางรัฐศาสตร์ (Political Approach) แนวทางกฎหมาย (Legal Approach) และ/หรือแนวทางเศรษฐกิจ (Economic Approach)

ลองตั้งสติ และใช้ปัญญาในการ “เข้าถึง” “เข้าใจ” และ “พัฒนา” มิติทางจิตวิญญาณของตนเอง ของคนอื่นที่แตกต่างทางความเชื่อ (Belief) ถิ่นที่อยู่ (Space) และอายุ (Time) หรือก้าวไกลไปกว่านั้น ของมนุษยชาติ และสรรพสิ่งดูบ้าง เราอาจจะเข้าใจถึง “ความพอเพียง” ที่พอดี ไม่สุดโต่ง ไม่แบ่งแยก เราอาจจะเห็น “ความสมดุล” อย่างเป็นองค์รวมที่เกิดจากการความหลากหลาย เราอาจจะเห็น “ความดี” และ “ความงาม” ของ “ความจริง” ที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลง

ถ้าเริ่มต้นด้วยความคิดที่ถูก (Right Thought) ก็มีโอกาสจะกระทำในสิ่งที่ถูก (Right Action)

ถ้าเริ่มต้นด้วยความคิดที่ดี (Good Thought) ก็มีโอกาสจะกระทำในสิ่งที่ดี (Good Action)

ถ้าเริ่มต้นด้วยความคิดที่งาม (Beautiful Thought) ก็มีโอกาสจะกระทำในสิ่งที่งาม (Beautiful Action)

การกระทำที่ถูก ที่ดี ที่งาม ที่มีฐานมาจากความคิดที่ถูก ที่ดี ที่งาม เปรียบเหมือนสะพานสู่โลกใหม่ที่เป็นองค์รวมของโลกแห่งความจริง (The True) โลกแห่งความดี (The Good) และโลกแห่งความงาม (The Beautiful) ที่ไม่มีรอยตะเข็บหรือเส้นแดนแบ่งกั้นระหว่างสามโลกนั้น

นี่คือความหมายกว้างๆ หลวมๆ และยืดหยุ่นไม่แข็งตัวของจิตวิญญาณที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่องจิตวิญญาณ แต่ไม่สามารถให้ความจำกัดความ (Definition) ตายตัวลงไปได้ และโดยธรรมชาติของจิตวิญญาณตามลักษณะที่เสนอไว้ ไม่ควรจะ “จำกัด” ความ (Define) เพราะไม่สามารถจำกัดความได้

เพราะธรรมชาติของจิตวิญญาณเป็นเรื่องที่ไม่จำกัด (Unlimited) ทั้งในแง่ของพื้นที่ (Space, Non- Local) หรือเวลา (Time)

มิติของจิตวิญญาณไม่มีการแบ่งแยก (Non- Seperative) ไม่เป็นสอง (Non-Dual) แต่เป็นองค์รวม (Inclusive/Holistic) โดยธรรมชาติ

โดยนัยนี้ คุณธรรม (Morality) จริยธรรม (Ethics) จึงไม่ใช่จิตวิญญาณ (Spirituality) ถ้าคุณธรรมและจริยธรรมหมายถึงเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนก แยกคนหนึ่งออกจากอีกคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง ว่าใครเป็นคนดีมีคุณธรรม ใครเป็นคนไม่ดีไม่มีคุณธรรม ใครควรทำหรือไม่ควรทำอะไร

โดยนัยนี้ ศาสนาก็ไม่ใช่จิตวิญญาณ ถ้าศาสนาหมายถึงหรือเป็นกลุ่มความเชื่อ (A Set of Beliefs) และกลุ่มของการปฏิบัติ (A Set of Practices) ที่เกิดขึ้นหรือพัฒนามาจากลุ่มความเชื่อนั้น เพราะในโลกนี้มีศาสนาที่หลากหลาย จึงมีความเชื่อและการปฏิบัติที่หลากหลาย บางศาสนาก็มีความเชื่อและการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ทั้งที่ต่างก็เชื่อว่าความเชื่อและวิธีปฏิบัติของตน จะนำไปสู่ความสุขสงบทางจิตวิญญาณ

โดยนัยนี้ ศาสนา ศิลปะ ดนตรี กีฬา การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ . . . ก็ไม่ใช่จิตวิญญาณ แต่เป็นวิธีหรือสะพานไปสู่จิตวิญญาณ เพราะจิตวิญญาณเป็นองค์รวมไม่แยก จิตวิญญาณจึงอยู่เหนือ (Beyond) หรือก้าวพ้น (Transcend) แต่ได้ผนวกรวม (Include) ศาสนา ศิลปะ ดนตรี . . . รวมไปถึงวิธีปรุงต้มยำกุ้ง
จิตวิญญาณเปรียบได้ดั่ง “ความเป็นครอบครัว” ซึ่งมีความหมายมากกว่าสามี+ภรรยา+ลูก+หลาน. . .

ความเป็นครอบครัวมีความหมายมากกว่าการที่มีคนมาอยู่รวมกัน การเพิ่มขึ้นของจำนวนคนในบ้านอาจจะไม่ทำให้ความเป็นครอบครัวเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันการลดลงของคนในครอบครัวเช่นการจากไปของคนหนึ่งคนใดในครอบครัวก็อาจจะทำให้ความเป็นครอบครัวของคนที่เหลืออยู่ผูกพันกันมากขึ้นก็ได้ ความเป็นครอบครัวจึงเป็นองค์รวมที่มีคุณสมบัติใหม่เกิดขึ้น

บทกลอนหรือเพลง ไม่ใช่เป็นเพียงการเอาคำหรือตัวโน้ตมารวมกัน แต่การร้อยเรียงคำหรือตัวโน้ตที่สัมพันธ์เชื่อมโยงลักษณะหนึ่งลักษณะใดอย่างมีเป้าหมาย ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ความหมายใหม่ที่งดงามแตกต่างไปจากเดิม

กำลังเพลินอยู่กับการคิดและการเขียน ภรรยาก็เดินเข้ามาแล้วถามว่า

“จะทานอาหารกลางวันหรือยังคะ กำลังเขียนบทความอยู่เหรอ เออ มีเพื่อนบางคนเขาบอกว่า เขาติดตามอ่านบทความของพี่ เขาชอบอ่าน เขาบอกว่าเขียนได้ดีมาก แต่บางทีก็อ่านไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ เพราะเข้าใจยาก ต้องอ่านหลายรอบ เดี๋ยวจะเอาอาหารกลางวันมาให้นะคะ”

ผู้เขียนยิ้มแล้วพูดแบบติดตลกอยู่ในใจว่า

“ถ้างั้นบทความนี้ สงสัยจะอ่านแล้วไม่รู้เรื่องเลย”

เพราะบทความนี้เป็นองค์รวมที่เป็นผลจากการฟัง อ่าน พูด เขียน พบปะผู้คุยกับผู้รู้ทางจิตวิญญาณตลอดช่วงสองสามปีที่ผ่านมาของผู้เขียน แล้วพยายามจะสื่อความเข้าใจของผู้เขียนในเรื่องของจิตวิญญาณผ่านตัวหนังสือและคำศัพท์เฉพาะหลายคำที่ไม่ง่ายที่จะเข้าใจ

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ภรรยาพูด เตือนสติผู้เขียนว่ากำลังจะสุดโต่ง (ทางวิชาการ) เกินไปหรือไม่ นี่เรากำลังเขียน เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการเขียน ในสิ่งที่ตนเองคิดว่ารู้ คิดว่าเข้าใจ หรือเราควรจะเขียนเพื่อให้คนอื่นทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจง่ายๆ หรือควรจะหาแนวทางการเขียนใหม่ที่ผนวกควบรวมความต้องการของตนเอง และประโยชน์ของผู้อ่านทั่วไป

ก็หวังว่าการเขียนครั้งต่อๆ ไปจะวิวัฒน์ความสามารถทางการเขียนไปสู่รูปแบบใหม่

แต่ตอนนี้ต้องขออภัย ทำได้แค่นี้จริงๆ และอาหารกลางวันมารออยู่บนโต๊ะแล้ว

Back to Top