มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2551
ระยะนี้มีการพูดเรื่องการเมืองใหม่กันมาก สื่อมวลชนกลายเป็นสภามหาชนที่ดีในการเปิดพื้นที่ให้มีการนำความคิดของแต่ละฝ่ายออกมานำเสนอและถกอภิปรายแลกเปลี่ยนกันอย่างเปิดเผยและในวงที่กว้างขวาง ลักษณะนี้แลที่เรียกว่า การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) และหากมีตัวละครมากกว่าผู้ชำนาญการในนามของนักวิชาการ ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy)
แต่การเปลี่ยนแปลงไปสู่อะไรใหม่-ใหม่นั้น ย่อมต้องการจิตใหม่-ใหม่เช่นกัน
การเมืองใหม่ไม่ได้หมายถึงรัฐธรรมนูญหรือกติกาใหม่ ภายใต้ตัวละครหรือผู้เล่นหน้าเก่า จิตเก่า-เก่า
การปฏิรูปศาสนาในยุโรป (ค.ศ. ๑๕๑๗ – ๑๖๔๘) ก็ดี การปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๗๘๙-๑๗๙๙) ก็ดี การปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ดี ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้จากจิตวิญญาณแบบเก่า การเรียกร้องอิสรภาพของประเทศอาณานิคมทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นที่อเมริกา อินโดนีเซีย (ค.ศ. ๑๙๔๕) อินเดีย (ค.ศ. ๑๙๔๗) ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้จากจิตวิญญาณแบบเก่า
และจะเห็นได้ว่า กระบวนการปฏิรูป/ปฏิวัติ/เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาด้วยกันทั้งสิ้น
การปฏิรูป/ปฏิวัติ/เปลี่ยนแปลงเมืองไทยจะใช้เวลากี่นาน?
เราต้องใช้จิตวิญญาณแบบไหนในการปฏิรูป/ปฏิวัติ/เปลี่ยนแปลงเมืองไทย?
หากเราจะตอบคำถามข้างต้นให้ได้ การนั่งคุยกันเรื่องการเมืองใหม่ในห้องเสวนาสองสามชั่วโมงคงจะไม่มีทางได้คำตอบที่สำเร็จรูป การเขียนบทความสองสามหน้ากระดาษเอสี่ก็คงจะไม่ได้คำตอบแบบมาม่าเช่นกัน เช่นเดียวกับการเชิญผู้ชำนาญการไปออกโทรทัศน์เพื่อให้คนรับรู้เรื่องการเมืองใหม่ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องของการนำเสนอเพื่อชักจูงมากกว่าการแลกเปลี่ยนความเห็น
เราอาจจะต้องให้เวลากับการแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องการเมืองใหม่มากกว่าปรกติธรรมดา – เรื่องของบ้านเมือง คิดหรือทำเพียงชั่วคืนได้ล่ะหรือ? แล้วเราจะพูดกันว่าเบื่อ เบื่อ เบื่อ กับความไม่คืบหน้าของการเมืองไปได้อย่างไร
นี่ยังไม่ผ่านช่วงชีวิตของเราไปด้วยซ้ำ คนรุ่นลูกหลานเราเขาจะพูดถึงเรากันอย่างไรบ้างหนอ?
ปัญหาของมนุษย์อีกร้อยปีข้างหน้าจะยังเหมือนเดิมไหม?
หากใครเคยดูภาพยนตร์วิทยาศาสตร์โลกอนาคตอย่าง สตาร์วอร์ส หรือ สตาร์เทร็ก ก็จะเห็นว่า แม้เสื้อผ้าจะเปลี่ยน แม้ที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยน แม้ยานพาหนะจะเปลี่ยน แต่ปัญหาของมนุษย์ก็ยังเป็นเรื่องเดิม-เดิม ยังรบกัน ขัดแย้งกัน และไม่ลงรอยกันในเรื่องเดิม-เดิม
นั่นคืออนาคตของเราล่ะหรือ?
เนลสัน แมนเดลา ถูกจำคุกนานถึง ๒๗ ปี แต่หากว่าจิตของเขาไม่มีการเปลี่ยนแปลง เขาจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่การเมืองในอาฟริกาใต้ได้ล่ะหรือ?
การเมืองใหม่และเดิมล้วนแล้วแต่ต้องยอมรับว่า (หนึ่ง) ในสังคมล้วนเต็มไปด้วยความแตกต่าง (สอง) หากปรารถนาความสุขสงบในสังคมจะต้องมีกระบวนการจัดการความแตกต่าง
จิตที่จะยอมรับความแตกต่างได้ต้องเป็นจิตอย่างไร? และทำอย่างไรจึงจะมีจิตเช่นนั้นได้?
การพูดยอมรับความแตกต่างนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่การยอมรับความเห็นทางการเมืองของ “อีกฝ่าย” นั้นเป็นเรื่องไม่ง่าย – นี่ว่าด้วยการเมืองภายในจิตใจของเราโดยเฉพาะ
ส่วนระบบ กระบวนการ หรือกระบวนวิธีที่นำไปสู่การจัดการความแตกต่างที่ได้รับการยอมรับร่วมกัน นักทฤษฎีทั้งหลายในโลกตะวันตกต่างมีความเห็นที่หลากหลาย - สิ่งที่เราต้องระวังมากที่สุดในยามนี้น่าจะเป็นการผูกขาดอธิบายความหมายของการเมืองและประชาธิปไตยโดยคนบางกลุ่มบางพวก
ธรรมาธิปไตยที่พระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) นำเสนอเมื่อหลายปีก่อนจะกลายเป็นเนื้อในของการเมืองการปกครองบ้านเราได้อย่างไร หากเราไม่มองเห็นเรื่องการพัฒนาคุณค่าของมนุษย์
วิทยาศาสตร์ใหม่ยืนยันว่าเซลล์สมองยังเจริญเติบโตอยู่ตลอดช่วงอายุขัยของมนุษย์ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้เป็นเครื่องกระตุ้น แต่อย่างที่เราเห็นว่า นักการเมืองหรือองค์กรการเมืองที่มีอำนาจมากมักจะไม่เรียนรู้ แล้วเราจะปฏิสัมพันธ์ให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างสังคมกับนักการเมืองหรือองค์กรการเมืองได้อย่างไร – นี่น่าจะเป็นโจทย์ให้ช่วยกันคิดมากกว่าการรื้อสร้างบ้านทั้งหลัง เพื่อให้คนหน้าเดิมๆ เข้าไปอยู่
หลายคนกล่าวว่าบ้านเมืองวิกฤติแล้ว – ใช่แล้ว แต่ว่าวิกฤติที่แท้อยู่ภายในใจมนุษย์ต่างหาก หากภายในของเราไม่เน่ากลวง ผู้คนเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีธรรมาธิปไตยเป็นที่ตั้ง วิกฤติคงไม่มานั่งอยู่กลางบ้านเราเช่นนี้
ในทางการแพทย์ หากแก้ที่สาเหตุของโรคได้เลย ก็ไม่ต้องไปพะวงกับอาการของโรค วิกฤติที่คน กลับไพล่ไปแก้ที่ระบบ โรคอันเกิดจากจิตแบบเดิม-เดิมย่อมไม่มีทางหายขาด
ระบบคุณค่าของสังคมกำลังประสบกับปัญหา หากมีงานวิจัยหรือแบบสอบถามเกี่ยวกับคุณค่าร่วมสมัย เราน่าจะมองเห็นปัญหาได้ชัดขึ้น หนุ่มสาวร่วมสมัยให้คุณค่ากับการมีเงินเสียยิ่งกว่าการเป็นผู้มีคุณธรรม หลายคนเข้าใจว่าเงินเป็นสิ่งเดียวกับความสุข ยกย่องและสยบยอมต่อผู้มีอำนาจมากกว่าผู้มีธรรม ไม่เข้าใจว่าชีวิตนี้เกิดมาทำไม และจะตายอย่างไร ครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นเพียงผู้ขายความรู้สำหรับไปต่อเงิน ไม่อาจจะเป็นผู้นำทางทางจิตวิญญาณได้เลย ผู้ชำนาญการทั้งหลายแหล่ก็ชำนาญอยู่เรื่องเดียว แต่โง่เขลาไปเสียทุกเรื่อง – เหล่านี้เป็นวิกฤติสำคัญที่นำไปสู่อาการระคายเคืองทางการเมืองทั้งหลายนั่นเอง
ถ้าเราจะพูดถึงเรื่องการเมืองใหม่ เราจำต้องลงรากลึกให้ถึงปัญหามากกว่านี้ เพราะเราจะหาทางออกได้อย่างไรในเมื่อเรายังเข้าใจปัญหาไม่ดีพอ
เรามักจะพูดถึงระบบระเบียบใหม่ แต่ในภาวะโกลาหลเช่นนี้ เรานิ่งพอที่จะตกผลึกทางความคิดแล้วล่ะหรือ การที่ทุกวันต้องคิดถึงวิธีการเอาตัวรอดในเวทีต่อสู้ทางการเมืองไปแบบวันต่อวัน คุณภาพของความคิดนั้นจะเป็นอย่างไร – เราอาจจะต้องยอมเจ็บปวดมากกว่านี้ ปอกเปลือกตัวเองให้มากกว่านี้ เพื่อยอมรับตัวเองตามความเป็นจริง
การเมืองใหม่ต้องการจิตแบบใหม่ หากไม่พูดเรื่องคุณภาพจิตแบบใหม่ คุณภาพแบบใหม่ ก็ยังเป็นการเมืองแบบเก่าอยู่นั่นเอง
แสดงความคิดเห็น