กฤษณากับงาช้าง (Ebony and Ivory)



โดย ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 พฤษภาคม 2557

“Ebony and ivory live together in perfect harmony
Side by side on my piano keyboard, oh Lord, why don't we?

We all know that people are the same where ever we go
There is good and bad in ev'ryone,
We learn to live, we learn to give
Each other what we need to survive together alive.”

Paul McCartney and Stevie Wonder (1982)

ผมนึกถึงเพลงนี้ หลังจากได้อ่านงานของนักวิชาการที่พูดถึง “กับดักคู่ตรงข้าม” ซึ่งหมายถึงการคิดอะไรเป็นคู่ตรงข้าม เช่น ขาวย่อมตรงข้ามกับดำ กลางวันย่อมตรงข้ามกับกลางคืนเสมอ ฯลฯ คำว่า “เสมอ” นั้นเป็นเหมือนการฟันธง จะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เราจึงควรจะฝึกตัวเองให้ตั้งคำถามเสมอๆ เวลาได้ยินว่าใครพูดคำว่า “เสมอ”

ในระหว่างสีขาวกับสีดำ ย่อมมีเฉดสีเทา แม้แต่สีขาวเองก็ยังมีหลายเฉด ผู้อ่านคงจะเคยได้ยินสำนวนไทยว่า ขาวเหมือนหยวกกล้วย ขาวเหมือนงาช้าง ขาวเหมือนสำลี ดำเหมือนนิล หรือดำเป็นตอตะโก ฯลฯ​ คำสร้อยเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจว่าในธรรมชาติเองไม่ได้สร้างสีเช่นสีขาว ให้เป็นสีขาวในอุดมคติอย่างที่เปลโต้ต้องการ เมื่อธรรมชาติมีความหลากหลาย และเตือนให้เราเห็นความหลากหลายเสมอ สีขาวหรือสีดำอันบริสุทธิ์ไม่มีสิ่งใดเจือปนจึงสามารถดำรงอยู่ได้เพียงในอุดมคติ หรือในความคิดของมนุษย์เท่านั้น

มนุษย์สร้างอุดมคติขึ้นในความคิด แต่ความคิดไม่ใช่ความจริง (reality) และนี่เป็นถ้อยคำประกาศสัจจะ (truth) หมายถึงว่าเถียงไม่ได้ แต่หลายคนกลับไม่ตระหนักรู้ในสัจธรรมข้อนี้ เมื่อใครก็ตามพยายามทึกทักความคิดว่าเป็นความจริง สักวันหนึ่งโลกก็จะทำให้คนคนนั้นผิดหวัง หรือสับสนงุนงง นั่นหมายถึงใครคนนั้นได้ตกลงสู่ “กับดักของคู่ตรงข้าม” ไปเรียบร้อยแล้ว

ถึงแม้ “ความคิดไม่ใช่ความจริง” แต่ความคิดก็เป็นปัจจัยให้กับพฤติกรรมซึ่งส่งผลต่อความเป็นจริง โดยเฉพาะหากมันได้ผนวกกับ “เจตจำนง” ที่มุ่งมั่น เจตจำนงของบุคคลหนึ่งเมื่อผนวกรวมเข้ากับเจตจำนงของคนหลายๆ คน ทั้งหมดย่อมกลายเป็นพลังในการขับเคลื่อนของสังคม และประกอบสร้างประเทศชาติของเรา

เป็นธรรมดาที่ต่างคนต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป และต่างก็มีภาพอนาคตที่ต้องการจะเห็นจากประเทศของเราแตกต่างกันไป นี่เป็นเรื่องปกติ สิ่งที่ไม่ปกติก็คือการไม่ยอมแยกแยะระหว่าง “ความเห็น” ของเราซึ่งหมายถึงสิ่งที่เราเชื่อ กับ “กระบวนการทางความคิด” ซึ่งนำมาสู่ข้อสรุปซึ่งเป็นความเห็นที่เรายึดมั่นไว้ในใจ ผมได้กล่าวไปแล้วว่า กระบวนการทางความคิดของมนุษย์นั้นมีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในกับดักของคู่ตรงข้าม ซึ่งก็คือการสร้างอุดมคติขึ้นเอาไว้ในใจ โดยไม่คำนึงถึงว่าความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร

การยึดมั่นใน “ความคิดความเห็น” ของตน ก็ไม่ต่างอะไรกับการบอกว่าสีขาวจะต้องขาวเหมือนสำลีเท่านั้น จะเป็นสีขาวเหมือนก้อนเมฆไม่ได้ ส่วนสีดำก็ควรต้องดำเหมือนนิลจะไปดำเหมือนคีย์เปียโนไม่ได้ ซึ่งทุกคนย่อมทราบว่านั่นเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติ ดังนั้นความพยายามจะให้ผู้อื่นมาคิดเห็นเหมือนเราจึงเป็นไปได้ยาก ที่ง่ายกว่าคือการกลับมาแก้ไขตนเอง เมื่อเราแก้ไขตัวเองให้พ้นไปจากกับดักทางความคิดทั้งหลายได้ มายาคติต่างๆ จะถูกปลดเปลื้องออกไป เมื่อนั้นเราจึงจะมีอิสรภาพทางความคิดได้อย่างแท้จริง

เราจะไปถึงอิสรภาพทางความคิดได้อย่างไร? ส่วนตัวผมไม่เห็นอะไรจะดีไปกว่าการพัฒนาทักษะความคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ซึ่งไม่ได้หมายถึงการบริภาษด่าทอหรือวิจารณ์ผู้อื่นอย่างเสียๆ หายๆ แต่เป็นการพัฒนาความสามารถในการแยกแยะปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวเราด้วยปัญญา สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรทำให้เกิดมีขึ้นในระบบการศึกษาของเราตั้งแต่วันนี้

หลายคนไม่เห็นด้วย และเข้าใจผิดไปว่าการสนับสนุนการศึกษาที่จะปลูกฝังความคิดเชิงวิพากษ์นั้น สร้างความวุ่นวายให้กับโรงเรียนและสังคม และอาจจะแย้งว่าเรามีนักเรียน นักศึกษาที่ทำตัว “เกรียน” ลุกขึ้นมาสร้างความวุ่นวายให้กับสังคมมากเพียงพอแล้ว และไม่อยากจะมีเพิ่มอีก นั่นเป็นเพราะสังคมเรายังใหม่ต่อเรื่องนี้จนเกิดปฏิกิริยาโต้กลับที่รุนแรงเกินไป เราจึงขาดสิ่งที่นานาประเทศเรียกว่า Tolerant หรือความ “อดกลั้น” ต่อความแตกต่าง ถ้าเรายังรักที่จะส่งลูกหลานไปโรงเรียนอินเตอร์ รักที่จะส่งครูอาจารย์ไปศึกษาต่างประเทศ รักที่จะเปิดให้ต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทย เราก็จะปิดกั้นลูกหลานของเราให้รับวัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์ที่มาจากต่างประเทศไม่ได้

วิธีที่ถูกต้องก็คือจับเอาเรื่องนี้มาสอนและปลูกฝังอย่างจริงจังในสถาบันการศึกษาของเราตั้งแต่ยังเล็กๆ และให้ความรู้อย่างถูกต้องว่าความคิดเชิงวิพากษ์นั้นเป็นคนละเรื่องกับความรุนแรง และไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยความรุนแรงเลยแม้แต่น้อย ถ้าในห้องเรียนของเรามีเด็กคนหนึ่งคิดไม่เหมือนเด็กคนอื่น เด็กคนนั้นไม่สมควรจะต้องรู้สึกว่าเขาไม่เป็นที่ต้องการของเพื่อน แต่ถ้าเด็กคนใดทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด เด็กคนนั้นต่างหากที่ควรจะต้องถูกคุณครูตักเตือน ถูกเพื่อนตักเตือน แต่ไม่ควรมีเด็กคนไหนควรถูกต่อว่าถ้าหากเขาจะชอบสีขาว “งาช้าง” ในขณะที่ทั้งห้องชอบขาว “หยวกกล้วย”

ผมเห็นมิตรสหายหลายท่าน บางคนเป็นอาจารย์นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม มีความคิดเชิงวิพากษ์ที่น่าสนใจ แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถจะควบคุมอารมณ์ความรู้สึกในการสนทนาโต้ตอบเชิงความคิดได้ พวกเขาจึงเป็นผู้ที่มีอิสรภาพทางความคิด แต่กลับพลาดพลั้งตกลงใน “กับดักของความรู้สึก” การสนทนาแลกเปลี่ยนจึงกลายเป็นสงครามที่ปะทุในใจ เกิดความขุ่นข้องหมองใจทั้งสองฝ่าย (หรือหลายฝ่าย)

ด้วยเหตุนี้ ความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ ควรจะต้องมาควบคู่ไปกับการภาวนา หรือการเรียนรู้ที่จะสร้างสมดุลในจิตใจ ซึ่งไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล เพราะคำสอนในศาสนาต่างๆ ก็มุ่งสอนให้เกิดการขัดเกลาจิตใจและรู้จักธรรมชาติของจิตใจด้วยกันทั้งนั้น ผมยืนยันว่าสองอย่างนี้อยู่ด้วยกันได้ อยู่กันได้ในลักษณะ “ข้ามพ้นแต่ปนอยู่” หมายถึงเป็นการบูรณาการ ไม่ใช่ต้องเลือกขั้วเลือกข้าง เมื่อเอาด้านนี้ ด้านนั้นต้องไม่เอา อย่างที่เข้าใจผิดกัน

เพราะนักเปียโนย่อมรู้ดีว่าสีขาวบนคีย์เปียโนแต่ละตัวนั้นขาวมากน้อยแตกต่างกันไป ไม่เหมือนกัน คีย์สีดำก็เช่นเดียวกัน เปียโนแต่ละคีย์ก็ย่อมให้เสียงที่แตกต่างกัน คงไม่มีใครต้องการฟังเปียโนที่มีแต่คีย์สีขาว หรือสีดำเพียงอย่างเดียว ทุกคนทราบว่านักเปียโนที่ฝึกฝนตนมาอย่างดีจะสามารถสร้างเสียงดนตรีที่ไพเราะประทับใจผู้ฟังได้ เพราะคีย์สีดำและคีย์สีขาวบนเปียโนนั้นเป็นแค่เครื่องหมายที่ชี้ไปสู่เส้นสายที่ซ่อนอยู่ในตัวเปียโนซึ่งมีเอาไว้สร้างเสียงซึ่งมีความกลมกลืนในความแตกต่าง

Back to Top