ความเชื่อ ความคุ้นชิน หลักการ และแนวปฏิบัติ กับ ความเห็น ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ และปัญญา กับ ความสำเร็จและความพึงพอใจของคนในองค์กร



โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2554

บทความนี้ ตั้งชื่อไว้ยาวมาก และอาจเป็นชื่อบทความที่ยาวที่สุดในโลกก็เป็นได้ ด้วยเจตนาที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเกี่ยวกับคำ และวาทกรรมที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ ในการสื่อสารของมนุษย์ และโดยเฉพาะคนทำงานในองค์กร เพราะบางครั้งมีการโต้แย้งโต้เถียงกัน เพื่อจะสรุปว่าใครผิดใครถูก บนความสับสนและความไม่ชัดเจนของคำเหล่านั้น มีการแยกเน้นการโต้แย้งเป็นคำๆ เป็นเรื่องๆ แบบแยกส่วน ไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงแบบองค์รวม ด้วยการพยายามสร้างวาทกรรมขึ้นมาจากความสับสนและความไม่ชัดเจนของคำเหล่านั้น โดยขาดการพิจารณาอย่างถ่องแท้ และรอบด้านมากพอ ว่าที่โต้แย้งโต้เถียงกันอยู่นั้น เป็นเรื่องของความเชื่อ ความคุ้นชิน หลักการ หรือแนวปฏิบัติ เหตุผลที่ให้ประกอบการโต้แย้งนั้น เป็นความเห็น ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ หรือปัญญา และที่สำคัญไม่ได้พิจารณาอย่างมีสติว่า การโต้แย้งนั้น ตั้งอยู่บนความเชื่อ ความคุ้นชิน หลักการ หรือแนวปฏิบัติของใคร องค์กรใด ในสังคมใด และเป็นความเห็น ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ หรือปัญญาของใคร ขององค์กรใด ของสังคมใด

ในการโต้แย้งโต้เถียง ฝ่ายหนึ่งจะให้ความสำคัญกับความเชื่อ โดยเฉพาะความเชื่อ หรือความคุ้นชินของตนเอง โดยมีข้อมูลบางอย่างและความเห็นบางประการประกอบ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ให้ความสำคัญกับความเชื่อ โดยเฉพาะความเชื่อตามหลักการ และภาพพจน์ของหน่วยงาน โดยมีข้อมูลบางอย่างและความเห็นประกอบการโต้แย้งเช่นกัน

จึงมีฝ่ายผิด ฝ่ายถูกตามความเชื่อ ความคุ้นชิน ตามหลักการและแนวปฏิบัติของฝ่ายตน

นำไปสู่การแบ่งแยกทางความเชื่อ ความคุ้นชิน การแบ่งแยกทางหลักการ และแนวปฏิบัติ

ที่จริงเรื่องของความเชื่อ ความคุ้นชิน หลักการ และแนวปฏิบัติ เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะความเชื่อและความคุ้นชิน หากไม่พิจารณาอย่างมีสติพอ ก็จะเผลอใช้แทนกันไปเลยในหลายๆ กรณี หรือใช้ไปโดยไม่ได้เชื่อ แต่คุ้นชิน และบางครั้งก็พูดทีเล่นทีจริงในทำนอง “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” และ “ปลอดภัยไว้ก่อน” หรือ “ไม่เห็นจะมีอะไรเสียหาย ใครๆ ก็ทำกัน”

ลองพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้ดู...

ในการกรอกประวัติส่วนตัว เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา คนไทยส่วนใหญ่จะตอบว่านับถือศาสนาพุทธ แต่เราก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วผู้ตอบส่วนใหญ่เหล่านั้น มีความเชื่อ และปฏิบัติตามความเชื่อนั้นจริงหรือเปล่า

เพราะเราเห็นพวกเขาไหว้ผี ไหว้เจ้า ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก...

บันไดบ้านของ “คนไทย” ต้องเป็นเลขคี่ บันไดผี “คนไทย” เป็นเลขคู่?

ลองกลับไปนับบันไดบ้านดูนะครับ ยกเว้นที่บ้านใช้ลิฟท์ ไม่มีบันไดให้นับ

คนไทยบางคน อยู่เมืองไทยกลัวผีไทยมาก แต่ไปอยู่อเมริกา ไม่กลัวผีอเมริกา

โอ้มายก๊อด พระเจ้าช่วย กล้วยทอด

สังคมไทยและสังคนอื่นๆ ตามความเห็นของผม ต่างก็เป็นสังคมที่มีความผูกพันและคุ้นชินกับขนบธรรมเนียม รวมถึงจารึตประเพณีหลายอย่างที่แตกต่างกันออกไป

บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เช่นไมโครซอฟต์ ประสบความสำเร็จ โดยไม่มีศาลเจ้า ศาลพระภูมิ หรือพระพุทธรูปตั้งอยู่ในบริเวณบริษัท และมีคนต่างชาติ ต่างความเชื่อทางศาสนาทำงานอยู่กับบริษัทจำนวนมาก ในขณะเดียวกันบริษัทข้ามชาติที่ขยายสาขาเข้ามาในเมืองไทยก็ประสบความสำเร็จอย่างดีในการดำเนินกิจการของเขา โดยที่บางสาขามีการสร้างศาลพระพรหม และศาลพระภูมิ แต่บางแห่งก็ไม่มี

ในทางตรงกันข้าม บางบริษัทมีทุกอย่างตามความเชื่อ และความคุ้นชิน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องล้มเลิกกิจการไป

ตกลงความสำเร็จ หรือความล้มเหลวขององค์กรเกิดจากอะไร?

และความสุข ความพึงพอใจของคนทำงานเกิดจากอะไร?

งานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า คนทำงานที่ได้รับความสำเร็จในการทำงาน จะมีความพึงพอใจ แต่คนทำงานที่มีความพึงพอใจในงาน ไม่จำเป็นต้องได้รับความสำเร็จในการทำงาน

ถ้าเราเป็นบุคลากรขององค์กร เราควรจะมุ่งมั่นสร้างความสำเร็จในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามความเชื่อตามหลักการและแนวปฏิบัติขององค์กร หรือควรทำตามความเชื่อ หรือความคุ้นชินของตนเอง?

แน่นอนว่า ผู้ตอบส่วนใหญ่หรือทั้งหมด ถ้าถูกถามโดยผู้บริหารขององค์กร และมีแค่สองทางเลือก คงตอบตามทางเลือกแรก ยกเว้นผู้ที่ไม่คิดจะอยู่กับองค์กรต่อไป และจะมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ตอบว่าถ้าได้ตอบสนองความเชื่อส่วนตัวด้วย ก็จะมีโอกาสทำงานตามหน้าที่ได้รับความสำเร็จมากขึ้น ความสบายใจที่ได้ปฏิบัติตามความเชื่อหรือความคุ้นชิน ช่วยให้เกิดความพึงพอใจ นำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากขึ้น คือโดยส่วนตัวแล้วอยากได้ทั้งสองอย่าง แต่หากต้องตอบโดยยึดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ขององค์กรเป็นหลัก ก็คงต้องตอบตามทางเลือกแรก แต่ก็ยังมีความไม่สบายใจอยู่

ในทางจิตวิทยาการบริหาร เป้าหมายสูงสุดที่พึงประสงค์ของการบริหารทุกระดับคือการมีความสำเร็จในงานหรือการมีผลงาน และการมีความพึงพอใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่ของเราเพียงฝ่ายเดียว

การได้รับผลสำเร็จทั้งผลงานและความพึงพอใจเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะแต่ละคนมีความเชื่อ ความคุ้นชิน แต่ละองค์กรมีธรรมชาติ มีหลักการ และแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป

ผู้บริหาร และบุคลากรทุกคน ทุกระดับ จึงต้องทำความเข้าใจความเชื่อ ความคุ้นชิน หลักการ และแนวปฏิบัติของกันและกัน และขององค์กรที่ทำงานร่วนกันอย่างลุ่มลึกรอบด้าน

ที่จริงเรื่องเหล่านี้ หากมีการพูดคุยกันอย่างสุนทรีย์ มีการฟังกันอย่างลึกซึ้ง เพื่อเข้าใจกันและกันอย่างแท้จริง ไม่จ้องจับผิดระหว่างกัน ไม่ตัดสินกันและกัน แต่พยายามเข้าใจกัน บนฐานของการยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของทุกคน ยอมรับและเคารพในความแตกต่างของกันและกันอย่างแท้จริง ก็จะมีทางออกที่เป็นทางเลือกที่ยอมรับและเคารพร่วมกัน ภายใต้บริบท และวัตถุประสงค์เดียวกันได้

ในองค์กรจึงน่าจะมีสุนทรียสนทนา (Dialogue) กัน มากกว่าการเอาชนะคะคานกัน ไม่ว่าจะด้วยการเอาเสียง (ความเชื่อ) ของคนส่วนใหญ่ในองค์กร หรือการยึดหลักการขององค์กรโดยไม่คำนึงถึงความเชื่อของคนในองค์กร

ความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้า พุทธธรรม พระพรหม ศาลพระภูมิ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ตนเคารพนับถือ หรือแม้กระทั่งความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งหลาย เป็นสิ่งที่อยู่ในความคิด อยู่ในใจของคนแต่ละคน ไม่มีใครไปหักล้างหรือโต้แย้งได้ เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล เราควรให้การยอมรับและเคารพอย่างแท้จริง ตราบใดที่ไม่มีใครนำความเชื่อส่วนบุคคลไปก้าวล่วงความเชื่อส่วนบุคคลของผู้อื่น ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม และโดยเฉพาะไม่ก้าวล่วงความเป็นองค์กรที่คนต่างความเชื่อ ต่างความคุ้นชินมาทำงานร่วมกัน

หรือกล่าวอีกลักษณะหนึ่งก็คือ แต่ละคนควรจะต้องพยายามก้าวข้ามความเชื่อส่วนบุคคลสู่ส่วนรวมที่ใหญ่กว่า การพูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความให้แต่ละคนละทิ้งความเชื่อส่วนบุคคล แต่การมาทำงานร่วมกันภายใต้องค์กรเดียวกัน จำเป็นต้องมีความเป็นส่วนรวม ในขณะที่ยังคงให้การยอมรับและเคารพความเชื่อ และไม่ก้าวล่วงความเชื่อของกันและกัน ด้วยการมีส่วนร่วมในการสร้างส่วนรวม ไม่แบ่งแยกแตกพวกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อย แต่เป็นการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างส่วนรวม จึงควรต้องมีการสร้างจิตสำนึกใหม่ให้เกิดขึ้น ดังที่คุณหมอประเวศ วะสี เคยกล่าวไว้ว่า การสร้างจิตสำนึกใหม่คือการพัฒนาจากการมีจิตเล็กที่คับแคบ ยึดตัวเองเป็นหลัก ไปสู่การมีจิตใหญ่ หรือจิตสาธารณะที่คำนึงถึงส่วนรวมที่ใหญ่กว่า

ข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ หากไม่มีการนำมาร้อยเรียงสัมพันธ์เชื่อมโยง และเรียนรู้อย่างมีสติ ปัญญาก็คงเกิดยาก เพราะติดกับอยู่กับข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ที่เฉพาะ ไม่คงที่ และเปลี่ยนแปลงตลอด

ต้องมีสติ และรู้เท่าทันความเชื่อ ความคุ้นชินของตัวเอง ผู้อื่น และขององค์กร

มีการสื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันภายใต้บรรยากาศที่มั่นคงปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ ก็มีโอกาสจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญาร่วม (Collective Wisdom)” ภายในองค์กร และขยายออกไปสู่สังคมโดยรวม

Back to Top