มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 เมษายน 2547
ได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มที่ท่านนายกทักษิณแนะนำให้อ่าน คือ As The Future Catches You เขียนโดย Juan Enriquez แห่ง Harvard Business School มานานพอควร คือได้อ่านก่อนที่นายกจะแนะนำ เพราะผมสอนด้านการศึกษาและการวิจัยอนาคตที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ต้องติดตามแนวโน้มด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ในหนังสือเล่มนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจหลายเรื่องที่ผู้นำประเทศและผู้บริหารองค์กรควรนำไปพิจารณา ถ้าหากจะก้าวให้ทันตามแนวทางเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมภายใต้วิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในเรื่องพันธุศาสตร์ (Genomic) เทคโนโลยีการสื่อสาร (Information Technology) และนาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) ตัวเลขทางสถิติที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้น่าสนใจมาก และหลายเรื่องก็น่าตกใจมากจริงๆ ด้วย ถ้าจะมองในมุมอื่น ในมุมที่ไม่ถือตัวเลขทางเศรษฐกิจเป็นพระเจ้า เป็นเครื่องนำทางการพัฒนาประเทศ ในมุมที่ไม่เน้นการแข่งขันแบบเสรีที่ไม่เสรีจริงตามที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น คุณ Juan Enriquez ระบุว่า ปัจจุบัน (ปี ๑๙๙๘) ช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนอยู่ที่ ๓๙๐ : ๑ เท่า และจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเพราะเทคโนโลยีการสื่อสารและการปฏิวัติทางพันธุกรรม (Genetic Revolution) โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐๐๐ : ๑ เท่าในอนาคตอันใกล้ ถ้าเป็นจริงตามนี้ คำถามก็คือ นี่เป็นทิศทางที่ควรเป็นของมวลมนุษยชาติหรือ ยิ่งมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางการบริหารธุรกิจและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีการสื่อสารมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งขยายช่องว่างระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและประเทศที่ยากจนมากขึ้น
ความรู้ด้วยตัวของมันเองไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่คนที่สร้างและใช้ความรู้ในทางที่ผิดต่างหากที่เป็นพิษเป็นภัย
ความรู้ที่ขาดสติ ความรู้ที่ขาดปัญญา กลายเป็นศาสตร์ที่นำมาใช้เป็นศาสตราไล่ล่าความได้เปรียบ ภายใต้กติกา "การค้าเสรี" ที่ไม่มีความยุติธรรมและศีลธรรมเป็นฐาน
การผลิตและการใช้ความรู้ในลักษณะนี้มีคุณค่าต่อเรา ต่อประเทศ ต่อมวลมนุษยชาติและต่อสรรพสิ่งจริงหรือ
อีกตัวอย่างหนึ่งที่คุณ Juan Enriquez ให้ข้อมูลไว้ คือจำนวนประชากรต่อการจดสิทธิบัตร ๑ ชิ้น เขาระบุว่าสหรัฐอเมริกามีประชากร ๒,๙๕๕ คน ต่อ หนึ่งสิทธิบัตร สิงคโปร์ ๒๕,๗๓๕ และอินโดนีเซีย ๒๑,๖๑๐,๓๔๕ คนต่อหนึ่งสิทธิบัตร (เสียดายที่ไม่มีข้อมูลของประเทศไทย) ไม่ว่าข้อมูลนี้ต้องการจะสื่ออะไรก็ตาม คำถามอีกมุมหนึ่งก็คือ สัดส่วนจำนวนประชากรต่อปริมาณการจดสิทธิบัตร มันเป็นสัดส่วนผกผันกับความเมตตากรุณาหรือไม่ หรือมันมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเห็นแก่ตัว และการเอารัดเอาเปรียบบนคำพูดที่ฟังไพเราะว่า "ทรัพย์สินทางปัญญา"
ในตอนท้ายของข้อมูลนี้เขาเขียนสรุปว่า "สิ่งที่สำคัญในเศรษฐกิจยุคใหม่ คือ ความรู้" (What matters
in modern economic is knowledge) สิ่งที่น่าคิดก็คือ ความรู้ที่มุ่งสร้างความแบ่งแยก (ผู้ชนะ- ผู้แพ้, ผู้สำเร็จ-ผู้ล้มเหลว, คนรวย-คนจน…) เป็นความรู้ที่มีคุณค่ากับมวลมนุษย์และสรรพสิ่งจริงหรือ
ที่เขียนมาทั้งหมดไม่ใช่เป็นการปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง แต่เขียนเพื่อร่วมสร้างจิตสำนึกใหม่ที่ควรเป็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ไหลเลื่อนเคลื่อนไปไม่สิ้นสุด ถ้าเราคิดถูกคิดดี ทำถูกทำดี สิ่งดีๆ ก็จะเกิดเพิ่มขึ้น ไหลเลื่อนเคลื่อนไปไม่สิ้นสุด
อนาคตยังไม่เกิด อนาคตจึงไม่สามารถไล่ล่าเราได้ อนาคตเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างขึ้น เราจึงต้องรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ด้วยการมีสติ มีปัญญา มีจิตสำนึกที่ถูกต้องว่า ไม่ว่าเราจะคิด จะทำอะไร มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอนาคต โดยนัยนี้เราจึงเป็นส่วนหนึ่งของอดีตและเป็นผลของอดีต และเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบันซึ่งจะเป็นเหตุของอนาคต เพราะฉะนั้นมาร่วมกันสร้างเหตุที่ดีเพื่อให้เกิดผลดีในอนาคตอย่างมีสติ โดยใช้ปัญญา (ไม่ใช่แค่ความรู้) เป็นเครื่องนำทาง
บางทีเราอาจจะต้องหยุดคิดอย่างจริงจัง อย่างมีสติและมีปัญญาว่า เราควรจะพัฒนาประเทศตามแนวทางทุนนิยมของตะวันตกหรือไม่ และที่สำคัญต้องตอบให้ชัดว่า ทำตามเขาเพื่ออะไร และเพื่อใคร
จะคิดจะทำอะไรก็ขอให้มีสติ ใช้ปัญญา คิดแบบองค์รวม มองอย่างรอบด้าน คำนึงถึงผลกระทบที่ต่อเนื่อง คำนึงถึงคนส่วนใหญ่ คำนึงถึงมวลมนุษยชาติและสรรพสิ่งที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันหมด อย่าคิดด้านเดียวและเป็นเส้นตรงทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจไม่ใช่ศูนย์กลางของทุกเรื่อง เพราะเศรษฐกิจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของส่วนรวมที่ใหญ่กว่ามาก ผู้นำที่ดีและเก่งจึงต้องมองเห็นและเข้าใจความสัมพันธ์และความสำคัญขององค์รวม ไม่ใช่เห็นแค่จุดเด่นของส่วนย่อยหรือจุดด้อยของส่วนเล็ก
คนที่คิดและทำเช่นนี้ได้ต้องเป็นคนที่มีจิตใหญ่ดังที่คุณหมอประเวศเคยเขียนไว้ โดยเฉพาะผู้นำองค์กรและผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ นักการศึกษา…จะต้องมีจิตสำนึกใหม่ เป็นจิตใหญ่ มีจิตสาธารณะ คิดและทำเพื่อส่วนรวม ทำด้วยใจ ทำด้วยจิตสำนึกที่ดี มีเมตตากรุณา มีความรักในเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง
CEO ต้นแบบจึงควรมีจิตใหญ่ ไม่ใช่จิตเล็กคับแคบ CEO จึงไม่ใช่ลดทอนจาก Chief Executive Officer มาเป็นแค่ Chief Economic Officer แต่ควรเป็นทั้ง Chief Educational Officer, Chief Ethical Officer , Chief Environmental Officer…เพราะถ้าผู้นำเก่งเฉพาะด้านเศรษฐกิจ และโดยเฉพาะเศรษฐกิจการเมืองที่มีผลประโยชน์แอบแฝง ในท้ายที่สุดเขาก็จะกลายเป็น CCO (Criminal Capitalist Officer-อาชญากรทุนนิยม) ขององค์กร ของประเทศ และอาจติดอันดับ Top Ten CCO ของโลกได้ในเวลาต่อมา เมื่ออนาคตไล่ล่าคุณ…
แสดงความคิดเห็น