ประชาธิปไตยในวิถีไทย


โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 7 มีนาคม 2558

ผมได้รับเชิญจากลูกศิษย์ให้ไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเสวนาเรื่อง “ประชาธิปไตยในวิถีไทย” ในวันศุกร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๘ ผมตอบรับเพราะความเป็นครูกับลูกศิษย์ และหัวข้อน่าสนใจดี แต่เมื่อกลับมานั่งพิจารณาว่าจะพูดอะไรให้ตรงกับหัวข้อ และจะมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจไม่เหมือนกับคนอื่น จะเชื่อมโยงความเป็นพลเมืองไทยกับความเป็นพลเมืองโลกดีหรือไม่ เพราะสำหรับผม ความเป็นพลเมืองไทยมีมิติของวัฒนธรรมไทยที่เป็นวิถีไทยอยู่ แตกต่างจากความเป็นพลเมืองโลกที่ให้ความสำคัญกับสิทธิและการมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองตามวิถีตะวันตกภายใต้ระบอบที่เรียกว่าประชาธิปไตย

ที่สำคัญ ผมไม่อยากจะพูดเรื่องประชาธิปไตยในวิถีไทย ในลักษณะ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ” ที่เรามักได้ยินนักการเมืองหรือนักวิชาการพูดกันโดยทั่วไป เพราะมีความหมายไปในทางลบ มีลักษณะของการเสียดสีอยู่ในที


ผมอยากพูดถึงความดี ความงามของประชาธิปไตยในความหมายที่แท้ ไม่อยากพูดถึงประชาธิปไตยตามจริงที่ปฏิบัติกันแบบฉาบฉวยผิวเผิน แถมอ้างความเป็นประชาธิปไตยเป็นเกราะปกป้องการกระทำของตนเอง โดยที่ส่วนลึกภายในมิได้มีความเชื่อความศรัทธาในความดีความงามที่แท้จริงของประชาธิปไตยอยู่ในหัวใจ มีแต่ยึดติดและอ้างรูปแบบภายนอกของประชาธิปไตยที่ตัวเองเลือกใช้ตามสถานการณ์ เพียงเพื่อหวังให้เกิดประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง มากกว่าประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวมและประเทศชาติ

เมื่อกลับมาพิจารณาหัวข้ออย่างใคร่ครวญ ประชาธิปไตยในวิถีไทยอาจตีความและพูดได้ในหลายลักษณะเช่น

๑. ประชาธิปไตยในเมืองไทยตามที่เป็นอยู่ คล้ายคำกล่าวเสียดสีที่ว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

๒. ประชาธิปไตยตามหลักการ รูปแบบ และวิถีปฏิบัติสากลที่นำมาใช้ในสังคมไทย

๓. ประชาธิปไตยในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรมไทย (วิถีไทย)

๔. ประชาธิปไตยตาม/ในวิถีไทย หรือประชาธิปไตยไทยซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของไทย

แบบแรกเป็นแบบที่ผมไม่อยากพูดมากที่สุด เพราะพูดไปก็เหมือนบ่นให้ฟัง ติฉินนินทาผู้อื่น แล้วมีแนวโน้มที่จะมองคนไทยและประเทศไทยในแง่ลบถึงแม้จะมีความจริงอยู่ แบบที่สองก็ต้องมีความรู้อย่างมากเกี่ยวกับประชาธิปไตยในสากล แม้นักวิชาการด้วยกันยังหาข้อสรุปร่วมกันยากว่าอะไรคือแก่นแท้ของประชาธิปไตย อังกฤษก็แบบหนึ่ง อเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่นก็แตกต่างกันออกไป แต่ต่างก็บอกว่าตนเองเป็นประชาธิปไตย แบบที่สองพูดไม่ยากแต่ต้องอ่าน ค้นคว้าและเตรียมตัวมากพอควร แต่ผมไม่อยากพูดเพราะมีแนวโน้มจะเน้นทฤษฏี และพูดตามตำราที่เขาว่าไว้เป็นหลัก ไม่รู้สึกท้าทายที่จะมาพูดว่าใครรู้มากกว่าใคร ใครถูกหรือผิดมากกว่าใครตามความเข้าใจของตนเอง และตามทฤษฏีที่ตัวเองอ้างอิงถึง แล้วมาพิจารณาว่าประเทศไทยเป็นหรือยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับสากล แต่การพูดแบบที่สองยังน่าสนใจมากกว่าแบบแรก ถึงแม้การพูดลักษณะดังกล่าวจะทึกทักอยู่ในทีว่าเอาประชาธิปไตยตามวิถีสากลมาจับหรือมาครอบ หรือใหญ่กว่าวิถีไทย

ส่วนแบบที่สามชัดเจนว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมหรือวิถีไทย อาจไม่จำเป็นต้องเอามาใช้ทั้งหมด แต่ถ้าพูดเพลินอาจจะไปพูดทำนองเดียวกับแบบแรก เช่นมีการเลือกตั้งโดยใช้เสียงส่วนใหญ่แล้วเรียกว่าเป็นประชาธิปไตย ห้ามพูดถึงวิธีที่ได้มาซึ่งเสียงส่วนใหญ่ว่าถูกต้องตามทำนองคลองธรรมจริงๆ หรือไม่ และในบางกรณีก็มีพฤติกรรมในลักษณะเผด็จการประชาธิปไตย เมื่อถูกวิจารณ์ก็จะพูดว่าอย่ามาทำตัวเป็นขี้แพ้ชวนตีเป็นต้น แบบที่สามนี้สังคมไทยหรือวิถีไทยใหญ่กว่าประชาธิปไตยวิถีตะวันตก

ในสามแบบแรกมีลักษณะของการพิจารณาแบบแยกส่วนระหว่างประชาธิปไตยตามที่เข้าใจกับวิถีไทยตามที่รู้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าตัวเองรู้และเข้าใจทั้งสองเรื่องจริงหรือเปล่า เลยไม่ค่อยอยากพูดทั้งสามแบบแรก

โดยส่วนตัวผมสนใจที่จะพูดในแนวทางสุดท้ายมากที่สุด ถึงแม้จะไม่แน่ใจว่ารู้จริงและเข้าใจจริงเรื่องประชาธิปไตยในวิถีสากลและวิถีไทยหรือเปล่า แต่ผมรู้สึกว่ามีความตื่นเต้นและท้าทายกว่า เพราะช่วยเปิดทางให้ผมเสนอมุมมองใหม่ของตัวเองที่พยายามจะมองประชาธิปไตยไทยหรือในวิถีไทยที่มีอยู่เป็นวัฒนธรรมของเราเอง เป็นประชาธิปไตยแบบไทย ของคนไทย ในความหมายแบบไทย ซึ่งอาจจะแตกต่างออกไปจากประชาธิปไตยแบบตะวันตก

ในเบื้องต้น ตามความเข้าใจของผม ประชาธิปไตยตะวันตกให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล แต่ละคนมีสิทธิ์และใช้สิทธิ์อย่างเสรีตามความต้องการและเป้าหมายของตนเองตามที่กฎหมายกำหนด แต่ของไทยเราให้ความสำคัญกับการใช้สิทธิ์ในลักษณะการให้สิทธิ์ หรือมอบสิทธิ์ส่วนตนเพื่อส่วนรวม เพื่อความสามัคคี เพื่อความเป็นชุมชนมากกว่า เช่นประเพณีการลงแขก สหกรณ์หมู่บ้าน หรือชุมชนพึ่งตนเอง การมอบหรือยอมยกสิทธิ์ของตนเองในลักษณะของการ “ให้” สิทธิ์เพื่อความปรองดอง เพื่อความสงบสุข เพื่อความสามัคคีของส่วนรวมจึงมีสูง ซึ่งในกระบวนการดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ เป้าหมาย วิถีและวิธีปฏิบัติ เป็นชุมชนปฏิบัติการเรียนรู้จนกลายเป็นวัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิต

ประชาธิปไตยแบบไทยให้ความสำคัญกับความสามัคคีปรองดอง กับผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าสิทธิและประโยชน์ส่วนตน มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยแบบใช้สิทธิ์ส่วนตนเพื่อให้เกิดความรักและสามัคคี จึงเน้นเรื่องของการให้ความร่วมมือ มากกว่าการใช้สิทธิ์เพื่อการแข่งขันหรือการเอาแพ้เอาชนะกันตามที่เราเห็นในสังคมการเมืองไทยและทั่วโลกที่มีลักษณะของการแบ่งขั้ว แบ่งข้าง แบ่งอุดมการณ์ มีการระดมและใช้เงิน ใช้เสียงข้างมากเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงกันข้าม และหารูปแบบวิธีบริหารจัดการ รวมไปถึงความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการตลาดและการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างฐาน สร้างความมั่นคงให้กับตนเอง พรรค และพรรคพวก มากกว่าประโยชน์สุขโดยรวมของประชาชนและประเทศชาติ

น่าจะมีการศึกษาและพัฒนาประชาธิปไตยวิถีไทย เพื่อเผยแพร่และเป็นตัวแบบที่พึงประสงค์สำหรับโลก เพราะประชาธิปไตยวิถีไทยเป็นประชาธิปไตยของการใช้สิทธิ์ส่วนตนในลักษณะของการแบ่งปัน หรือแม้กระทั่งการให้สิทธิ์ ซึ่งไม่เหมือนหรือไม่ใช่การขายสิทธิ์ จึงไม่ต้องมีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง แต่มีเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตน

ผมอยากเห็นและอยากได้ผู้นำประเทศ นักการเมือง และพรรคการเมืองตามรูปแบบและวิธีการ (มิติภายนอก) ที่อ้างกันว่าเป็นประชาธิปไตยในปัจจุบัน มีจิตสำนึกและจิตวิญญาณ (มิติภายใน) ประชาธิปไตยวิถีไทยอย่างที่ผมพูดถึง ซึ่งเริ่มมีตัวอย่างที่ได้รับความสำเร็จให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วในหลายชุมชนในประเทศของเรา

อย่ามัวหลงใหลไปกับการนำเข้ารูปแบบและวิธีการของประชาธิปไตยที่เป็นแค่เปลือกภายนอกของตะวันตกมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่ดีงามของนักการเมืองบางคนบางพรรคแต่เพียงอย่างเดียว

ลองก้าวลงจากที่สูงและแคบ แล้วออกไปเรียนรู้ประชาธิปไตยวิถีไทย ในหลายชุมชนรากหญ้าดู แล้วจะรู้ว่ามีต้นแบบประชาธิปไตยวิถีไทยที่หลากหลายที่มี “จิตวิญญาณประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม” อย่างแท้จริง กลุ่มคนและชุมชนรากหญ้าเหล่านี้มีสติและปัญญา รู้เท่าทันประชาธิปไตยเปลือกนอกที่นักการเมืองบางคนใช้เป็นหนทางสู่การเข้ามาแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ จึงรวมตัวกันสร้างสรรค์ประชาธิปไตยวิถีไทยขึ้นมา โดยไม่ต้องใส่สูทผูกเนกไทไปไถนา

Back to Top