เอาผู้นำออกจากกล่อง



โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 มีนาคม 2558

ผู้นำที่ไม่สามารถออกจากกล่อง

แล้วเขาจะออกจากกล่องได้อย่างไร?

ทำอย่างไรผู้นำจึงจะสามารถออกจากกล่อง โดยสามารถทะลุกรอบคิดอันคับแคบออกไปได้

นี่คือประสบการณ์ของผมกับการทำงานกับผู้นำหรือผู้บริหารองค์กรต่างรูปแบบมานับครั้งไม่ถ้วน ผมค้นพบว่าผู้นำจะติดอยู่ในกรอบของอะไรบ้างดังนี้

สิ่งที่ผู้นำทำได้ยากคือ

หนึ่ง การเปิดโอกาสให้คนอื่นตัดสินใจ ได้เป็นองค์กรจัดการตัวเอง ในระดับเจตจำนง (Willing) คือการปล่อยให้เกิดการเรียนรู้ โดยเปิดให้คนคนนั้นไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ให้เป็นองค์กรจัดการตัวเอง ในวิวัฒนาการขององค์กร เมื่อกลายเป็นวิวัฒนาการระดับสูงสุดเท่าที่เป็นได้ องค์กรจะเปิดให้คนทำงานได้มีโอกาสตัดสินใจในการทำงานของตัวเอง ในระบบการศึกษาคือการเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้เอง


สอง ในกระบวนทัศน์เก่า ผู้นำจะติดอยู่ในฐานคิดและตัดอารมณ์ความรู้สึกออกไป ไม่สามารถเชื่อมโยงกับผู้อื่นในฐานของอารมณ์ความรู้สึกได้ ที่จริงแล้วผู้นำเองก็ยังป่วยอยู่ มีความปั่นป่วนอันที่เป็นความทรงจำแฝงเร้น (implicit memory) ที่เป็นอุปสรรคอยู่อย่างไม่รู้ตัว หรืออีกนัยหนึ่งคือ ยังหลงติดอยู่ในอัตตาตัวเอง ไม่สามารถเข้าถึงในระดับอยู่ร่วมได้

ปัจจุบัน สาขาวิทยาการใหม่ที่เรียกตัวเองว่า Interpersonal Neurobiology ได้นำเรื่องทฤษฎีความผูกพัน (Attachment Theory) มาให้ความสำคัญใหม่ โดยย่อคือ เด็กทุกคนต้องการความผูกพันแบบมั่นคง (secure attachment) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ เด็กต้องมีใครสักคนที่เชื่อมโยงกับเขาและสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยมั่นคงให้กับเขาได้ การเชื่อมโยงนี้ต้องสัมผัสได้ในระดับอารมณ์ความรู้สึก เราต้องเชื่อมโยงกับเด็กด้วยสมองซีกขวา ด้วยภาษาท่าทางและสุ้มเสียง กล่าวง่ายๆ คือต้องเข้าไปแตะหัวใจของเด็กให้ได้

แต่ในสังคมปัจจุบัน ในกระบวนทัศน์ของระบบอุตสาหกรรมและทุน เราเน้นความสำเร็จทางวัตถุ เราเน้นการเติบโตเชิงเส้นที่เป็นรูปแบบการเติบโตแบบเซลล์มะเร็ง อุปไมยอุปมาขององค์กรและสังคมคือเครื่องจักร ตัดอารมณ์ความรู้สึกออกไปจากการรับรู้ เวลาเข้าไปในที่ทำงาน เราต่างบอกตัวเองและคนอื่นว่า อย่าเอาอารมณ์ความรู้สึกเข้ามา ทุกอย่างต้องเป็นเหตุและผลเท่านั้น เราจึงเป็นพ่อแม่ที่มีรูปแบบความผูกพันแบบหลีกหนี (avoidance attachment) ซึ่งแปลว่า เราจะไม่เชื่อมโยงกันและกัน เวลาเลี้ยงลูก ลูกจะเป็นแบบเดียวกับเรา คือตัดอารมณ์ความรู้สึกออกไป เอาแต่ความคิดอันแห้งแล้ง แท้ที่จริงแล้วนี่คือรูปแบบหนึ่งของการไม่มีความมั่นคงในใจ (insecure attachment) และไม่อาจมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับคนอื่นๆ ได้ ความเอียงกระเท่เร่ของอารยธรรมมนุษย์ ก่อให้เกิดความป่วยทางจิตของมนุษย์ในระดับมหภาคเลยทีเดียว

แม้กระทั่งผู้ใหญ่เอง พวกเขาจะมีเด็กน้อยในตัวที่ยังไม่รู้สึกมั่นคงปลอดภัย ตราบใดที่ฐานอารมณ์ความรู้สึกยังคงถูกละเลย ผู้ใหญ่ก็จะต้องได้รับการดูแลเด็กน้อยที่ยังไม่มั่นคงในตนเอง หากผู้นำยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับเด็กน้อยในตัวเอง เขาก็ยังป่วยอยู่ แต่หากเขาเชื่อมโยงกับเด็กน้อยในตัวเองได้ เขาก็จะสามารถเชื่อมโยงกับเด็กน้อยในตัวคนอื่นๆ ได้ เป็นการอยู่ร่วมอย่างมีคุณภาพที่แท้จริง

เราต้องยอมรับก่อนว่าสังคมนั้นป่วย ตัวเราเองก็ป่วย เด็กน้อยในตัวเรายังไม่ได้รับการดูแล เมื่อเราเริ่มได้เช่นนี้ เราอาจเยียวยาตัวเอง เยียวยากันและกัน และสามารถเยียวยาองค์กรและสังคมได้ในที่สุด

สาม ในระดับความคิด เนื่องด้วยผู้นำยังยึดในตัวตน ในกรอบคิดอันคับแคบของอัตโนมัติที่หลับใหล เขาจะกอดรัด “สิ่งที่เขารู้” หรือกรอบคิดเดิมๆ ความคิดเดิมๆ อันคร่ำครึไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่สามารถรื้อสร้างความคิดของตัวเองได้ ไม่สามารถรับความคิดคนอื่นได้อย่างเป็นภววิสัย (objective) เมื่อเป็นเช่นนี้ การปล่อยใจให้เกิด ปิ๊งแว้บ หรือญาณทัศนะ (intuitions) ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย

ผมจึงหลอมรวมองค์ความรู้ออกมาเล่นๆ ว่า

ผมนึกถึงนกตัวหนึ่ง อุปมาให้เป็นสัญลักษณ์ของกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ให้ตัวนกเป็นองค์กรจัดการตัวเอง ปีกสองข้างเป็นอารมณ์ความรู้สึกคือความรัก และปีกอีกข้างหนึ่งเป็นความคิดคือปัญญา เท่านี้เราก็พอจะมองเห็นภาพแล้ว คำสามคำ องค์กรจัดการตัวเอง ความรัก และปัญญา จะเป็นตัวนำพาเรา บรรดาผู้นำออกจากกล่องได้

มันคือปัญญาสามฐาน1 อยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย ทางรูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) ใช้คำว่า เจตจำนง (Willing) ความรู้สึก (Feeling) และ ความคิด (Thinking)

การพัฒนาเริ่มแรกของเจตจำนง (Willing) เริ่มจากคำว่าลงมือทำ สำหรับคนที่ติดอยู่ในฐานคิดที่ยังหาสมดุลให้ชีวิตไม่ได้ สิ่งที่ช่วยได้คือการลงมือทำ เป็นขั้นแรกของการเยียวยาผู้นำที่มีแนวโน้มจะคิดมากกว่าทำ

หากพัฒนาระดับสูงขึ้นไปอีก คือการทำสิ่งต่างๆ อย่างตื่นตัวตื่นรู้ ซึ่งได้แก่ สติสัมปชัญญะ การกระทำจะงดงาม สง่างาม เป็นการสร้างสรรค์อย่างพอดิบพอดีที่เราเรียกว่า “ศิลปะ”

การพัฒนาเริ่มแรกของความรู้สึก (Feeling) คือการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น การพัฒนาระดับสูงคือ อุเบกขา

มีผู้ฝึกเป็นกระบวนกรท่านหนึ่งมาเรียนกับผม เธอสามารถรับรู้อารมณ์คนอื่นได้ดีมาก แต่เธอจะจมลง ไปในห้วงอารมณ์ร่วมกับคนทุกข์เหล่านั้น เธอเลยพยายามไม่รับอารมณ์คนอื่นเข้ามา แต่ทำไม่ได้ มันจะคาราคาซัง เหมือนคอมพิวเตอร์คือสมองของเธอค้างเติ่ง ทำงานไม่ได้ ผมแนะนำไปว่า ให้ทดลองไปต่อคือ ไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัวการเข้าไปในอารมณ์ของผู้อื่น แท้ที่จริงแล้ว เธอต้องกลับมาดูความปั่นป่วน (trauma) ในตัวเอง เรียนรู้ที่จะเยียวยาตัวเอง แล้วลงไปรับรู้ ลงไปร่วมอยู่ในความทุกข์ของคนอื่นโดยไม่จมลงไป จึงจะเป็นอุเบกขาที่แท้จริง

ส่วนการพัฒนาเริ่มแรกของความคิด (Thinking) คือการจับประเด็นได้ ระดับสูงคือปัญญาญาณ หรือ ญาณทัศนะ แต่การจะพัฒนาให้เป็นไปตามปกติได้ หากดูในทฤษฎีตัวยู ถ้าเราหลุดออกไปจาก I in Me ได้ หลุดออกไปจากกรอบคิด (mindsets) ของตัวเองได้ ขั้นแรกเราจะเปิดความคิด (open mind) เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจะจับประเด็นได้ หากเรายังหมกมุ่นอยู่ในความคิดของตัวเอง หลงยึดกับความวิเศษของความคิดตัวเอง เราไม่มีทางจับประเด็นได้

ต่อมา เมื่อฝึกฝนดีแล้ว เราจะเห็นความคิดเป็นเครื่องมือ เป็นนิ้วชี้ไปสู่ดวงจันทร์ สิ่งที่ต้องการให้คนเห็นคือดวงจันทร์ แต่แล้วคนกลับไปติดอยู่ที่นิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ คนเราหลงเครื่องมือ ติดเครื่องมือ ไม่อาจปล่อย ไม่อาจละจากความคิดของตัวเองได้ หากปล่อยได้ ละได้ เราจะสามารถรื้อสร้างความคิดได้ตลอดเวลา เพื่อให้เหมาะกับงานเหมาะกับกาล ยิ่งเราฝึกฝนที่จะแนบตัวเองเข้ากับโลกภายใน ทำงานกับจิตไร้สำนึกบ้าง เราก็จะเข้าถึง “ญาณทัศนะ” หรือ “ปัญญาญาณ” ที่จะมีให้เราฟรีๆ ได้ตลอดเวลา



1 ทฤษฎีเรื่องการเจริญเติบโตของสมองในแต่ละช่วงวัยของมนุษย์ของรูดอล์ฟ สไตเนอร์
ในช่วงวัย ๐-๗ ปี สมองชั้นต้นจะทำงาน เป็นช่วงเวลาแห่งเจตจำนงและความมุ่งมั่น (Willing) และวินัยหรือช่วงเวลาแห่งการอยู่รอด
ในช่วงวัย ๗-๑๔ ปี สมองชั้นกลางจะทำงาน เป็นช่วงแห่งอารมณ์ความรู้สึก (Feeling) หรือช่วงเวลาแห่งการอยู่ร่วม
ในช่วงวัย ๑๔-๒๑ ปี สมองชั้นนอกจะทำงาน เป็นช่วงเวลาแห่งความคิด (Thinking) หรือช่วงเวลาแห่งการอยู่อย่างมีความหมาย

Back to Top