ติดยา เยียวยาได้จริงล่ะหรือ?



โดย ภัทร กิตติมานนท์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 31 มกราคม 2558

หลายครั้ง เวลาไปทำเวิร์คช็อป คนส่วนใหญ่เมื่อได้ฟังประสบการณ์การเลิกยาของผม จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ หลายคนชื่นชมว่าผมเก่ง ผมใจแข็งที่สามารถเลิกได้ บางคนบอกว่าเป็นเพราะผมมีพื้นฐานดีอยู่แล้ว ถ้อยคำที่ผมบอกว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่เพราะผมเป็นคนพิเศษ ดูจะไม่เข้าหูพวกเขา สิ่งที่ผมตั้งใจจะบอกคือ ผมเลิกติดยาได้เพราะผมได้รับการดูแลที่ดี ผมพูดเสมอว่าที่ผมเป็นตัวเป็นตนทุกวันนี้ก็เพราะลุงใหญ่ (อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู) และลุงเองก็ไม่ใช่ผู้วิเศษที่ใช้คาถาเสกให้ผมเลิก แต่เป็นเพียงคนที่ชอบการเรียนรู้ ศึกษาลงลึกในเรื่องที่ตนสนใจ นั่นคือ “การเปลี่ยนแปลงของมนุษย์” และนำมาปฏิบัติจริงทดลองจริงเท่านั้น

ตอนนั้น พอเลิกยาได้แล้ว ผมก็เรียนกับลุงต่อในเรื่องที่แกใช้เยียวยาผมนั่นแหละ เริ่มทำงานกับผู้คนจนเห็นว่าคนทั่วไปในสังคมก็ป่วยแทบไม่แตกต่างจากคนเสพติดเลย เพียงแต่การเสพติดคืออาการป่วยที่สังคมไม่ยอมรับ เวลาผ่านไปทำให้คิดว่า “เมื่อเราสามารถช่วยคน (ป่วย) ทั่วไปให้เปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เมื่อเราเองก็ได้รับการดูแลจนเปลี่ยนตัวเองได้ แล้วเราจะเอาเรื่องพวกนี้กลับไปช่วยผู้เสพติดและครอบครัวของพวกเขาบ้างไม่ได้หรือ?”


ล่าสุด เหมือนมีบางสิ่งบางอย่างจัดสรรโอกาสมาให้ ทางเทศบาลเมืองขอนแก่นได้ชวนผมไปดูแลเด็กติดยาในชุมชน นี่คือความท้าทายที่เราจะได้พิสูจน์ข้อสงสัยของตัวเอง จากจุดนั้น ทำให้ผมเริ่มศึกษาลงลึก แม้ตอนนี้จะยังไม่มีประสบการณ์ตรงในฐานะผู้ดูแล แต่จากสิ่งที่เรียนมาบวกกับการค้นคว้าใหม่ๆ ทำให้ผมเริ่มเห็นประเด็นบางอย่างชัดขึ้น ดังนี้

๑. สถานบำบัดไม่ใช่คำตอบเดียว

มีการสำรวจ ๓ ชุดที่อาจช่วยให้มุมมองใหม่ๆ แก่เรา คือ หนึ่ง มีคนจำนวนมากที่สามารถพาตัวเองหลุดออกมาจากวังวนยาเสพติดได้โดยไม่ต้องเข้าไปพึ่งพิงระบบใหญ่ สอง การเปิดโอกาสให้ผู้เสพติดได้เข้ามาร่วมเลือกวิธีการบำบัดจากตัวเลือกที่หลากหลาย ส่งผลดีกว่าการยื่นคำขาด ผลักดันให้เดินไปในทางเดียว สาม ยิ่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแทรกแซงน้อยเท่าไหร่ กระบวนการฟื้นฟูจะดีขึ้นเท่านั้น

สำหรับผม สามข้อนี้คือความหวังที่บอกว่า พวกเราไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของครอบครัว บุคคลใกล้ชิด หรือมือสมัครเล่นที่มีความปรารถนาดี หากตั้งใจเรียนรู้จนถึงแก่นจริงๆ เราก็สามารถทวงคืนสิทธิอำนาจในการช่วยเหลือกลับมาไว้ในมือเราได้ ไม่ต้องรอพึ่งผู้เชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียว แต่สามารถทำเรื่องนี้ผ่านวิถีบ้านๆ และหากเราค่อยๆ ศึกษาทดลองไป ในที่สุดปัญญาปฏิบัติที่ได้ก็อาจพัฒนาเป็นวิถีใหม่ เป็นทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นสำหรับผู้เสพติดและครอบครัวที่กำลังทนทุกข์ ผมคิดว่าคุ้มค่ามากๆ ที่จะทำ

๒. มิติทางจิตวิทยามีผลเป็นอย่างมากต่ออาการเสพติด

อาการเสพติดเกือบทั้งหมดล้วนเป็นผลมาจากการขาดพร่องบางอย่างที่เชื่อมโยงกับแง่มุมทางจิตวิทยา ที่สิ่งเสพติดมีความเย้ายวนก็เพราะมันเป็นทางลัดช่วยให้เราได้มาซึ่งคุณลักษณะบางอย่างที่เราไม่สามารถปลุกขึ้นมาใช้ได้ในชีวิตปกติ เช่น สำหรับคนบางคน สิ่งเสพติดได้เข้ามาชดเชยความมั่นใจในตัวเอง บางคนชดเชยความผ่อนคลาย เป็นต้น ซึ่งในกระบวนการเยียวยา เมื่อผู้เสพติดเริ่มสืบค้นเข้าไปในตัวเองจนพบกับสิ่งที่ขาดหายไป และสามารถหาลู่ทางใหม่ในการได้มาซึ่งคุณลักษณะนั้นๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งเสพติด สิ่งเสพติดก็จะหมดความจำเป็นไป การเปลี่ยนแปลงและกระบวนการเยียวยาอย่างสมบูรณ์ก็สามารถเกิดขึ้นได้

ประสบการณ์ของผมเป็นหลักฐานหนึ่งที่ชัดเจนที่สุด จากที่ยาไอซ์ได้เข้ามาชดเชยความสามารถในการสนิทสนมกับผู้คนที่เคยขาดหายไปตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก เมื่อผมค้นพบวิถีใหม่ในการเปิดหัวใจออกมาเชื่อมต่อกับผู้คน ได้ค้นพบความรักบริสุทธิ์ในความสัมพันธ์ที่มีกับลุงใหญ่ เมื่อนั้น การเลิกยาก็ไม่มีความทรมานเลย ไม่มีอาการลงแดง และแทบไม่หลงเหลือผลข้างเคียงใดๆ ไว้ ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะไม่ใช่แค่ผมคนเดียวที่เกิดประสบการณ์เช่นนี้ จากการค้นคว้า ทำให้เห็นว่าประสบการณ์นี้เกิดกับหลายๆ คน คือ เมื่อพวกเขาสามารถตอบโจทย์ลึกๆ ในสิ่งที่ตนโหยหาได้ พลังการเยียวยาตัวเองที่ยิ่งใหญ่ก็จะถูกปลดปล่อยออกมา

การเลิกยาโดยปราศจากความรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ประสบการณ์ของผมไม่ใช่เรื่องปาฏิหาริย์ที่ลี้ลับ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากความบังเอิญหรือโชค หากค้นลึกลงไปในวิทยาการเกี่ยวกับสมองล่าสุดหรือจิตวิทยาเชิงลึกแขนงต่างๆ เราจะพบว่าล้วนมีคำอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวที่ชัดเจน ตั้งแต่สาเหตุ สภาพภายในขณะเสพติด ไปจนถึงกระบวนการเยียวยา นี่คือวิทยาศาสตร์ที่สามารถทำซ้ำได้ ผมเชื่อว่าหากสังคมมีผู้ดูแลที่มีคุณภาพมากพอ ศึกษาวิทยาการดังกล่าวอย่างแตกฉาน คนเสพติดอีกมากจะสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้โดยไม่ต้องใช้หรือประสบกับความรุนแรง

๓. ต้องเริ่มจากความไว้ใจ และการเอื้อให้ผู้เสพติดค้นพบ “ความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง”

ป้าคนหนึ่งมีอาการติดเหล้าหลังจากสามีเสียชีวิตไป ในตอนที่สามียังอยู่ ป้ากับสามีจะดื่มด้วยกันเล็กน้อยระหว่างมื้ออาหาร มันเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่ทั้งคู่จะได้ปฏิสัมพันธ์กัน เมื่อสามีจากไปแล้ว เธอก็ยังคงดื่มอยู่ และเริ่มดื่มหนักขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดอาการหลงลืม เมื่อลูกสาวรู้ก็เป็นกังวล เธอจะโทรมาเช็คแม่อยู่เรื่อยๆ และแสดงความห่วงใยต่ออาการเสพติดดังกล่าว ไม่ใช่แค่ไม่ได้ผล แต่กลับยิ่งทำให้ป้าหงุดหงิดและดื่มมากขึ้นไปอีก

แม้ในใจป้าเองจะมีความกังวลเกี่ยวกับอาการหลงลืมของตน แต่เมื่อถูกจี้ในจุดของการเสพติด เธอก็จะปิดประตูทันที ในด้านของลูกสาว เมื่อเธอตระหนักว่าวิธีนี้ไม่ได้ผล ก็เริ่มเรียนรู้และเปลี่ยนวิธีใหม่ เธอค้นพบว่า ที่แม่ยังดื่มเหล้าอยู่เป็นเพราะเหล้าคือสิ่งเชื่อมโยงไปยังความทรงจำเกี่ยวกับพ่อ เธอจึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากเพื่อนเก่าแก่ของครอบครัว ให้โทรไปคุยกับแม่ โดยตกลงกันไว้ก่อนว่าจะไม่เซ้าซี้เกี่ยวกับการดื่ม แต่จะถามคำถามปลายเปิด เช่น “ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง?” แทน ความไว้วางใจที่มีต่อเพื่อนเก่าทำให้ป้าเริ่มพูดถึงความกังวลเกี่ยวกับอาการหลงลืมออกมาเอง ป้าเริ่มให้น้ำหนักกับปัญหาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความปรารถนาที่จะเลิก ในระหว่างนั้น ตัวลูกสาวก็ยังโทรหาแม่อย่างสม่ำเสมอ แต่เธอไม่พูดด้วยความกังวลแล้ว เธอชวนแม่คุยเรื่องอื่น และที่สำคัญคือการพูดคุยเกี่ยวกับพ่อที่จากไป ซึ่งเป็นจุดที่มีนัยยะสำคัญอย่างแท้จริง

ด้วยการสนับสนุนเช่นนี้ ป้าก็เริ่มค้นพบหนทางที่จะเชื่อมต่อกับความทรงจำเกี่ยวกับสามีโดยไม่ต้องอาศัยเหล้า เธอยังคงติดต่อกับเพื่อนเก่า และเมื่อลูกเลิกคาดคั้น ป้าก็กล้าที่จะเล่าความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตนให้ลูกฟัง และเปลี่ยนจากการดื่มก่อนมื้ออาหาร มาเป็นการโทรคุยกับลูกก่อนมื้ออาหารแทน

ตัวอย่างนี้ นอกจากจะช่วยให้ภาพของวิถีใหม่ในการเยียวยาแล้ว ยังแสดงให้เห็นประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งอย่างชัดเจน คือ “เราไม่ต้องรอผู้เสพติดพร้อมก่อนจึงจะช่วยได้ กลับกัน การช่วยเหลือของเราสามารถทำได้เลยโดยการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้เสพติดค้นพบความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง” แล้วเมื่อใดก็ตามที่ผู้เสพติดค้นพบความปรารถนา กระบวนการที่เหลือจะไม่ยากเย็นอีกต่อไป ที่สำคัญ การจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้นั้น ผู้ดูแลต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนตัวเองก่อน ต้องออกจากความวิตกกังวล ออกจากการคาดคั้น และเฝ้าสังเกตหาวิถีที่จะเข้าไปอยู่ในหัวใจของผู้เสพติดให้ได้จริงๆ

Back to Top