ครูผู้เปลี่ยนชีวิตนักเรียน ด้วยการเปลี่ยนวิถีการสอน


โดย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 10 มกราคม 2558

ช่วงปีใหม่ ผมได้รับคำอวยพร บทกลอน คำคม เรื่องเล่าและเรื่องราวดีๆ มากมายจากเพื่อนๆ และลูกศิษย์ที่ส่งมาให้ มีอยู่ข้อความหนึ่งที่ผมอ่านแล้ว กระตุ้นให้ผมคิดโยงถึงเรื่องการศึกษาของไทยขึ้นมาทันที ข้อความนั้นคือ “อ่านหนังสือออก สำคัญ อ่านเหตุการณ์ออก สำคัญกว่า อ่านคนอื่นออก สำคัญยิ่ง อ่านตนเองออก สำคัญที่สุด”

ดูเหมือนการศึกษาของไทยจะเน้นเรื่องแรกเป็นหลัก เรื่องที่สองรองลงไป ส่วนเรื่องที่สามและสี่ไม่ได้เน้น เพราะการศึกษากระแสหลักของเราให้ความสำคัญกับการสอนหนังสือ/วิชา มากกว่าสอนคน/ชีวิตกับสังคมและสรรพสิ่ง


ผมลองขยายข้อความข้างบนออกให้ครอบคลุมเรื่องการศึกษาให้กว้างขวางขึ้น จำแนกได้เป็น ๑๒ ระดับคือ ๑. อ่านหนังสือออก สำคัญ ๒. เข้าใจสิ่งที่อ่าน สำคัญกว่า ๓. รู้เท่าทันสิ่งที่อ่าน สำคัญที่สุด ๔. อ่านสถานการณ์ออก สำคัญมาก ๕. เข้าใจสถานการณ์ สำคัญมากกว่า ๖. รู้เท่าทันสถานการณ์ สำคัญมากที่สุด ๗. อ่านคนอื่นออก สำคัญยิ่ง ๘. เข้าใจคนอื่น สำคัญยิ่งกว่า ๙. รู้เท่าทันคนอื่น สำคัญยิ่งยวด ๑๐. อ่านตนเองออก สำคัญยิ่ง ๑๑. เข้าใจและรู้เท่าทันตนเอง สำคัญยิ่งกว่า ๑๒. เข้าใจและมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของตนเองกับสรรพสิ่ง สำคัญที่สุด

ดูเหมือนการศึกษากระแสหลักของไทยให้ความสำคัญกับสองข้อแรก ข้ออื่นๆ ถัดไปให้ความสำคัญน้อยลงไปจนถึงไม่มีเลย ใช่หรือไม่? โดยเฉพาะข้อ ๓ ข้อ ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐, ๑๑ และที่สำคัญคือข้อ ๑๒

ถ้าครูทำหน้าที่เพียงสอนให้ผู้เรียนอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น เน้นเนื้อหา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วัดและประเมินผลผู้เรียนจากคะแนนสอบรายวิชา ครูจะสามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลง/เปลี่ยนผ่านขั้นพื้นฐานได้หรือไม่?

ลองอ่านเรื่องเล่าเกี่ยวกับครูทอมป์สัน ครูผู้เปลี่ยนชีวิตนักเรียน ที่เพื่อนในวงการศึกษาส่งมาให้ผม ผมเคยอ่านมาหลายครั้งแล้ว รู้สึกดีและประทับใจทุกครั้ง

คุณครูทอมป์สันโกหกนักเรียนชั้น ป.๕ ของเขาตั้งแต่วันแรกที่เริ่มสอนเลยว่า ครูรักนักเรียนเท่ากันหมดทุกคนเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ามีเด็กตัวเล็กๆ ท่าทางขี้เกียจคนหนึ่งชื่อ เท็ดดี้ สต๊อดดาร์ด

ครูทอมป์สันจับตาดูเท็ดดี้มาระยะหนึ่งและสังเกตว่า เขาไม่ค่อยเล่นดีๆ กับเด็กคนอื่นเท่าไหร่ เสื้อผ้าของเท็ดดี้สกปรกและตัวเหม็นหึ่งอยู่ตลอดเวลา บางทีก็เกเร

ครูทอมป์สันตรวจงานของเท็ดดี้ด้วยหมึกสีแดง กากบาทไปหนาๆ และใส่ตัว F ตัวใหญ่ๆ ลงไปบนหัวกระดาษ โรงเรียนที่คุณครูทอมป์สันสอน ครูต้องทบทวนประวัติของเด็กแต่ละคนด้วย แต่ครูทอมป์สันไม่ยอมตรวจประวัติของเท็ดดี้ จนกระทั่งเหลือแฟ้มสุดท้าย เมื่อครูตรวจแฟ้ม ครูทอมป์สันแปลกใจมากที่ พบว่าครูชั้น ป.๑ ของเท็ดดี้เขียนไว้ว่า "น้องเท็ดดี้เป็นเด็กที่ฉลาดและร่าเริง ทำงานเรียบร้อย มารยาทดี เป็นเด็กที่น่ารักมากทีเดียว" ส่วนคุณครูชั้น ป.๒ ของเท็ดดี้เขียนว่า “เท็ดดี้เป็นเด็กที่เรียนเก่งมาก เพื่อนๆ ชอบกันทุกคน แต่กำลังมีปัญหาเพราะแม่ของเท็ดดี้ป่วยหนัก และชีวิตทางบ้านต้องลำบากมากแน่ๆ” คุณครูที่สอนเท็ดดี้ตอน ป.๓ เขียนว่า “เขาเสียใจมากที่เสียแม่ไป เขาพยายามเต็มที่แล้ว แต่คุณพ่อก็ไม่ค่อยให้ความรักความสนใจเขาเท่าไหร่ และชีวิตที่บ้านต้องส่งผลกระทบต่อเขาแน่ๆ ถ้าไม่มีคนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ” ส่วนคุณครูที่สอนเท็ดดี้ตอน ป.๔ เขียนว่า “เท็ดดี้ไม่ยอมเข้าสังคมและไม่ค่อยสนใจการเรียนเท่าที่ควร ไม่ค่อยมีเพื่อนและหลบหนีจากห้องเรียน”

ตอนนี้ คุณครูทอมป์สัน รู้ถึงปัญหาแล้ว และอับอายในการกระทำของตนเองมาก ครูรู้สึกแย่ยิ่งกว่าเดิม เมื่อนักเรียนในห้องซื้อของขวัญวันคริสต์มาสมาให้ ห่อด้วยกระดาษสีสดๆ พร้อมผูกโบว์อย่างดี ยกเว้นแต่ของขวัญของเท็ดดี้ที่ถูกห่ออย่างหยาบๆ ในกระดาษลูกฟูกหนาๆ จากถุงใส่กับข้าว ครูทอมป์สันกัดฟันเปิดกล่องของเท็ดดี้ดูกลางกองของขวัญอื่นๆ เด็กบางคนเริ่มหัวเราะเมื่อเห็นว่า เท็ดดี้ให้กำไลลูกปัดที่ไม่ครบเส้น และขวดน้ำหอมที่เหลืออยู่ก้นขวดแก่ครู แต่ครูก็หยุดเสียงหัวเราะของเด็กๆ เมื่อเอ่ยขึ้นว่ากำไลเส้นนั้นสวยเพียงใด เขาสวมมันไว้ที่ข้อมือ และฉีดน้ำหอมไปบนข้อมือด้วย เท็ดดี้เฝ้ารออยู่จนเย็นให้นานพอที่จะพูดว่า “ครูทอมป์สันครับ วันนี้ครูตัวหอมเหมือนที่แม่ผมเคยหอมเลยครับ”

หลังจากที่นักเรียนทุกคนกลับบ้าน ครูทอมป์สันก็ร้องไห้เป็นชั่วโมง หลังจากวันนั้น คุณครูเลิกสอนหนังสือ เลิกสอนการเขียนและเลขคณิต แต่คุณครูเริ่มสอนเด็กๆ แทน คุณครูทอมป์สันเอาใจใส่เท็ดดี้เป็นพิเศษ เมื่อครูพยายามช่วยเขา จิตใจของเขาก็กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ยิ่งครูให้กำลังใจเท็ดดี้เท่าไหร่ เขายิ่งตอบรับเร็วขึ้นเท่านั้น ภายในสิ้นปีนั้นเอง เท็ดดี้กลายเป็นเด็กที่ฉลาดที่สุดในห้อง ถึงวันนี้แม้ว่าคุณครูจะบอกว่ารักเด็กทุกคนเท่ากัน แต่ความจริงเท็ดดี้ได้กลายไปเป็น "ศิษย์โปรด" ของครูไปแล้ว

หนึ่งปีต่อมา คุณครูพบจดหมายอยู่ใต้ประตู จดหมายนั้นมาจากเท็ดดี้ บอกครูว่า คุณครูเป็นครูที่ดีที่สุดที่เขาเคยมี หกปีต่อมา ครูได้จดหมายจากเท็ดดี้อีก บอกว่าเขาเรียนจบม.ปลายแล้ว ได้ที่สามของทั้งระดับ และคุณครูยังคงเป็นครูที่ดีที่สุดที่เขาเคยเจอมาในชีวิต สี่ปีหลังจากนั้น คุณครูได้จดหมายอีก บอกว่าแม้ว่าชีวิตเขาจะลำบากบ้าง เขาก็ไม่เลิกเรียนหนังสือ และจะจบปริญญาตรีในเร็วๆ นี้ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง และยังย้ำกับครูทอมป์สันว่า คุณครูเป็นครูที่ดีที่สุดและเป็นครูคนโปรดในชีวิตของเขา จากนั้นสี่ปีผ่านไป จดหมายอีกฉบับหนึ่งก็มาถึง ครั้งนี้เขาอธิบายว่าหลังจากที่เขาได้รับปริญญาตรีแล้ว เขาตัดสินใจที่จะเรียนต่ออีกนิด จดหมายนั้นอธิบายว่า คุณครูยังเป็นครูที่ดีที่สุดที่เขาเคยมี ครั้งนี้เขาลงชื่อในจดหมายของเขายาวขึ้นอีกหน่อยว่า นพ.ทีโอดอร์ เอฟ. สต๊อดดารด์

เรื่องยังไม่จบแค่นี้ ฤดูใบไม้ผลิในปีนั้น ยังมีจดหมายมาอีก เท็ดดี้บอกว่า เขาได้เจอสาวคนหนึ่งและจะแต่งงานกัน เขาบอกมาในจดหมายว่าพ่อของเขาได้เสียไปเมื่อสองสามปีก่อนและเขาสงสัยว่าคุณครูทอมป์สันจะมานั่งในที่นั่งสำหรับพ่อเจ้าบ่าวในงานแต่งงานหรือไม่ แน่นอนที่สุด ครูทอมป์สันมา และทายสิว่าเกิดอะไรขึ้น

คุณครูใส่กำไลข้อมือเส้นที่มีลูกปัดหายไปหลายลูก และฉีดน้ำหอมที่เท็ดดี้จำได้ว่าแม่เขาฉีดตอนที่ฉลองเทศกาลคริสต์มาสครั้งสุดท้ายด้วยกัน ครูกับศิษย์กอดกันกลม คุณหมอเท็ดดี้กระซิบในหูคุณครูทอมป์สันว่า “ขอบคุณมากนะครับคุณครูที่เชื่อในตัวผม ขอบคุณครูมากที่ทำให้ผมรู้สึกสำคัญและแสดงให้ผมเห็นว่า ผมสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้”

ครูทอมป์สันกระซิบตอบพร้อมน้ำตานองหน้าว่า “หมอเท็ดดี้ เธอเข้าใจผิดแล้วแหละ เธอต่างหากที่สอนครูว่า ครูสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้ ครูไม่รู้จักการสอนที่แท้จริงเลย จนกระทั่งครูได้พบได้รู้จักเธอนั่นแหละ”

เรื่องเล่าเร้าพลังนี้สอนให้รู้ว่า...ครูสามารถเปลี่ยนชีวิตนักเรียนได้ ด้วยการเปลี่ยนวิถีการสอนของครู

One Comment

blueboy กล่าวว่า...

"ครูผู้เปลี่ยนชีวิต" แบบไทย ๆ
จากเรื่องจริงเช่นกันครับ
ดูแล้วซาบซึ้งใจมากครับ

https://www.youtube.com/watch?v=Fc8CaO0LgXA&feature=youtu.be

Back to Top