นิเวศภาวนา พิธีกรรมสู่การเดินทางทางจิตวิญญาณ



โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มกราคม 2558

เมื่อวันที่ ๒๒-๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ สถาบันขวัญแผ่นดินได้จัดกิจกรรมเรียนรู้ “นิเวศภาวนา” (Eco-Quest) ณ ป่าผลัดใบบ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ โดยการภาวนาอดอาหาร ๓ วันเต็ม เพื่อให้ร่างกายได้เผชิญกับสภาวะอดอย่างเต็มที่และข้ามผ่านไปสู่ภาวะของการสร้างใหม่หรือการเกิดใหม่ อาจเป็นเพราะว่าผู้เขียนเองทำแต่งานอบรมและพัฒนาคนในห้องแอร์ โรงแรม หรือรีสอร์ทต่างๆ แม้จะไกลจากความวุ่นวายของเมือง แต่ยังรู้สึกโหยหาความใกล้ชิดจากธรรมชาติที่มากกว่าพื้นที่จัดแต่งสีเขียวด้วยสายตา มุมมอง และน้ำมือของมนุษย์

ความปรารถนาที่ลึกซึ้งของตัวเขียนเองในการเดินทางสู่พื้นที่ป่า เป็นเหมือนกับการได้ไปภาวนาประจำปี แม้จะไม่ได้ไปในฐานะผู้ละวางภารกิจการงาน เพราะมีหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้เชิงลึกกับธรรมชาติ แต่รู้สึกได้ว่าป่ามีพลังการเยียวยาสูงอย่างน่าอัศจรรย์ เหมือนกับมีมนต์บางอย่างที่รอคอยให้เราค้นพบ ดังที่ บิล พล็อตคิน (Bill Plotkin) นักจิตวิทยาเชิงธรรมชาติ ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า “ความทุกข์ของลูกค้าของเขามักมีรากฐานมาจากชีวิตที่ขาดพร่องจากธรรมชาติ จากความลี้ลับ และการมีชีวิตในสังคมอย่างมีความหมาย อันเป็นความปรารถนาทางจิตวิญญาณขั้นพื้นฐาน แม้จิตบำบัดแบบดั้งเดิมที่ทำๆ กันมาในห้องหับ อาคารที่มั่นคงถาวร ก็ไม่สามารถตอบสนองความกระหายทางจิตวิญญาณที่ต้องการเดินทางไปยังพื้นที่ป่าที่ไม่มีอะไร “เชื่อง” กระแสน้ำที่กระโชกกระชากแรงตามจังหวะ ทางเดินอันเลาะเลี้ยววกวนในป่าใหญ่ และสัตว์ป่าที่อาจคึกคะนอง


เราโหยหาความลี้ลับด้วยหรือ อาจไม่ใช่ความต้องการของอัตตาตัวตน (ego) เราที่ควบคุมจัดการให้ชีวิตเรามั่นคงปลอดภัยและพร้อมด้วยทรัพยากร แต่เป็นต้องการที่จิตวิญญาณ (soul) ของเราปรารถนา

การมีชีวิตทางโลกที่พูนพร้อม ไม่ได้หมายความว่าจิตวิญญาณของเราจะรู้สึกสุขเกษมสันติไปด้วย หลายคนกลับรู้สึกว่างเปล่า มีชีวิตราวกับเดินไปข้างหน้าแต่ไม่รู้ว่าไปไหน หรือจะไปให้ถึงไหน ทำให้เกิดสับสน เบื่อหน่าย ไร้แรงบันดาลใจ ทางออกทางหนึ่งที่นิยมทำกันคือ การบริโภคและเสพสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อปลุกเร้าให้บันเทิงเพลิดเพลินไปวันๆ เพื่อทดแทนความเบื่อเซ็ง โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางใหม่ที่ทำให้ผู้คนมีชีวิตชีวาราวกับได้พบปะผู้คนจริงๆ หรือกลุ่มคนต่างๆ ทั้งนอกและในครอบครัว หรือที่ทำงานด้วยกันมากขึ้น จนไม่มีเวลาเผชิญหน้ากับความว่างอันหายนะ ซึ่งทั้งหมดมีทั้งแบบที่เป็นประโยชน์และเป็นภัยต่อสุขภาพและชีวิต แต่ล้วนช่วยพยุงชีวิตที่โดดเดี่ยว อ้างว้างให้ดำเนินต่อไปในสังคมได้อย่าง “คนปกติ” และทำภารกิจหน้าที่ในการดูแลครอบครัวหรือตัวเองอันดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตั้งแต่เกิด เราเลือกที่จะปรับตัวเข้ากับครอบครัวและสังคมด้วยการทำตัวให้เป็นพวกเดียวกับคนอื่นๆ สร้างความสำเร็จและปฏิบัติภารกิจที่พึงกระทำให้ดีที่สุด ทุ่มเทชีวิตเพื่อตอบสนองความคาดหวังของสังคมหรือครอบครัว หรือเหวี่ยงไปในทางบำรุงบำเรอตัวตนอันคับแคบที่ต้องการความสำเร็จบางอย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นชีวิตที่ดำเนินไปราวกับไม่ได้เป็นของเราเอง แต่เป็นของใครไม่รู้ในตัวเรา หรือเป็นของครอบครัวและสังคมที่เราอยู่ ยิ่งเราประสบความสำเร็จเท่าไร พันธนาการอันร้อยรัดจะยิ่งเหนียวแน่น เพื่อรับประกันว่าเราจะไม่สามารถดิ้นหลุดออกไปได้

โจเซฟ แคมพ์เบล (Joseph Campbell) นักมานุษยวิทยาและปกรณัมวิทยาชาวอเมริกัน ได้เปรียบตำนานการเดินทางของชีวิตไว้ว่า “เวลาเราเยาว์วัย เราเป็นเหมือนอูฐ ที่คอยหมอบตัวคุกเข่าลงแล้วบอกว่า “เอาสัมภาระวางบนหลังฉันได้เลย” นั่นคือการคอยรับคำสั่งและข้อมูลที่สังคมบอกว่าคุณควรจะมีชีวิตอย่างไร เมื่ออูฐได้สัมภาระ ลุกขึ้นยืน แล้ววิ่งไปในทะเลทราย จนกลายเป็นสิงโต ยิ่งของหนักเท่าไร ราชสีห์จะยิ่งแกร่งกล้าทรงพลัง เป้าหมายของสิงโตคือการสังหารมังกร ที่มีนามว่า “เธอควรจะ” โดยมีคำว่า “เธอควรจะ” สลักอยู่บนเกล็ดทั่วตัว กฎเกณฑ์หรือความคาดหวังเหล่านี้บางอันมีอายุมานาวกว่า ๔ พันปีมาแล้ว บางอันเพิ่งมาจากข่าวพาดหัวเมื่อวาน

เมื่อมังกรถูกสังหาร สิงโตจะกลายร่างเป็นเด็กน้อยที่มีจิตสดใสและมีชีวิตตามท่วงทำนองภายในของตัวเอง ในฐานะของปัจเจกที่มีวุฒิภาวะอันสุกงอม “ควรจะ” เป็นพลังที่สร้างสังคมมนุษย์ โดยเปลี่ยนความเป็นสัตว์ในตัวคนให้เป็นมนุษย์ที่มีจารีตประเพณี แต่หากผู้ใดโยน “ควรจะ” ทิ้งไปได้ เขาจะยังคงเป็นมนุษย์ผู้มีอารยธรรมที่สามารถเลือกใช้กฎเกณฑ์ตามความเหมาะสม แต่ไม่ถูกจองจำด้วยกฎเกณฑ์เหล่านี้”

นิเวศภาวนาเป็นกระบวนการสร้างพื้นที่เปิดในการสลัดภารกิจหน้าที่ในสังคมออกจากชีวิตในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อค้นหาว่า หากเราไม่เป็นคนที่เราเป็นมาแล้ว จิตวิญญาณภายในตัวเราปรารถนาจะให้เราเป็น “ใคร?” ทำอะไร มีวิถีชีวิตแบบไหน ซึ่งเป็นกระบวนการแสวงหาคำตอบให้กับชีวิตด้านในของเราเอง แล้วจึงนำเอาความกระจ่างชัดที่ธรรมชาติจะหยิบยื่นให้อย่างมีพลังกลับมาใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไป ราวกับตายแล้วเกิดใหม่เป็นชีวิตที่สอง

พิธีกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านและเติบโตของชีวิต แบ่งเป็น ๓ ช่วง
  • สลัดละ (Severance) เป็นช่วงที่เราจะเตรียมตัวเองให้พร้อมจะละจากโลกและชีวิตเดิมๆ ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง ทั้งความคาดหวัง ความกังวล หรือแม้แต่ความฝันในโลกมนุษย์ รวมทั้งการอยู่กินหรือบริโภคแบบสมัยใหม่ เพื่อเดินทางไปสู่ชีวิตดั้งเดิมที่เป็นธรรมชาติ
  • ข้ามผ่าน (Threshold) ลอง หลุด ลี้ลับ ลอกคราบ เป็นช่วงที่เราจะได้ข้ามผ่านข้อจำกัดเดิมๆ ทดลองสิ่งใหม่ ลองเป็นสิ่งที่เราไม่เคยเป็น หลุดออกจากกรอบเดิมที่จำกัดกักขังศักยภาพภายใน เป็นห้วงเวลาอันศักดิ์สิทธิ์ และลี้ลับ (unknown mysterious) และเป็นช่วงของการค้นพบสิ่งใหม่ๆ หรือได้รับของขวัญจากธรรมชาติ การกลายเป็นหนึ่งเดียวกับต้นกำเนิด นั่นคือธรรมชาติอันทรงพลัง ที่มีทั้งสงบรำงับ เยือกเย็น เร่าร้อน ปั่นป่วน และเป็นช่วงของการรับนิมิตหรือภารกิจของชีวิต (Life vision/mission) ที่ชัดเจนขึ้น โดยที่บางคนจะได้รับพลังและความเข้มแข็งจากสัตว์ป่าบางชนิดด้วย
  • หลอมรวม (Incorporation) คือการนำเอาพลังวิเศษหรือบทเรียนที่ได้รับกลับมาใช้เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว และสังคม


ปีนี้ สิ่งที่ทำให้นิเวศภาวนามีพลังคือ ผู้เข้าร่วม ๒๑ ชีวิตที่มาด้วยความตั้งใจจะให้เวลากับการดูแล ชีวิตด้านในของตัวเอง ตามวาระการค้นหาของแต่ละคนที่แตกต่างหลากหลาย บางคนอยากพักจากการดูแลครอบครัวและผู้ป่วย บางคนมาเพื่อเยียวยาตัวเองจากความเหนื่อยล้าและสิ้นแรงใจ บางคนต้องการค้นหาเป้าหมายและแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต บางคนมาเพื่อค้นหาความรักที่ไร้เงื่อนไข โดยมาจากหลากหลายวิชาชีพและเพศวัย มีทั้งครู แพทย์ พยาบาล นักบริหาร นักฝึกอบรม ผู้นำเยาวชน นักธุรกิจ นักพัฒนา นักวิชาการ และที่สำคัญ มีเยาวชนจากโรงเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า (โรงเรียนวิถีชีวิตของชาวปกาเกอญอ) มาเข้าร่วมด้วย ซึ่งหลังจากที่ได้เดินทางและพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องชีวิตและการแสวงหาของทุกคน ก่อให้เกิดมิตรภาพที่เกื้อกูลและความผูกพันแน่นแฟ้นอย่างรวดเร็ว

คืนแรก เราใช้เวลาอยู่ในหมู่บ้าน และเดินเท้าไปยังพื้นที่สำหรับการภาวนาปลีกวิเวกในเช้าวันต่อมา โดยอาศัยพื้นที่บริเวณต้นไทรใหญ่ที่มีความสง่างามและศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมและการพูดคุยแบ่งปันอย่างลึกซึ้ง โดยวันแรกของการอยู่ป่า เป็นการตระเตรียมที่ทางสำหรับการภาวนาและตระเตรียมโจทย์ของชีวิตที่แต่ละคนต้องการคำตอบ

การเดินเท้าเป็นพิธีกรรมในตัวเองที่ช่วยให้นักเดินทางได้กลับมาใกล้ชิดกับหยาดเหงื่อ ความร้อน ชีพจรที่เต้นแรงขึ้น ลมหายใจที่ค่อยๆ สอดคล้องพ้องจองกับลมหายใจของธรรมชาติ และเมื่อผู้แสวงหาแต่ละคนได้เดินทางออกไปจากฐานกลางเพื่อใช้เวลาในการร้องหา ปฏิสัมพันธ์ และสื่อสารกับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ทั้งภายนอกและภายในตัวเองเป็นเวลา ๓ วัน เมื่อกลับจากการภาวนา ก็นำเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ทั้งในชีวิตกลางวัน กลางคืน รวมทั้งความฝัน มาแบ่งปันและรับการสะท้อนจากวงสนทนาที่ช่วยทำให้เจ้าตัวได้มองเห็นสิ่งที่ได้รับจากโลกธรรมชาติ (ที่เรียกว่า medicine power) อย่างชัดเจน

การต้องเผชิญหน้ากับความหิว ความกลัว ความเบื่อหน่าย ความเหงา และอ้างว้างภายในตัวเอง ทำให้พวกเขาได้ดำรงชีวิตอย่าง “เปราะบาง” และเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ ทำให้โลกธรรมชาติได้หยิบยื่นความตระหนักรู้อันมีค่าและความสัมพันธ์ใหม่กับตัวเองอย่างนึกไม่ถึงมาก่อน เมื่อกลับมาสู่สังคม ทำให้พวกเขาได้ค้นพบเส้นทางใหม่ที่ธรรมชาติได้เปิดออกเพื่อหล่อเลี้ยงดูแลผู้นำคนต่อไปในที่ที่เราอยู่

บนเส้นทางอันเก่าแก่ เราได้ค้นพบจิตวิญญาณดั้งเดิม และมิตรภาพที่ไร้ถ้อยคำ ที่รอคอยเพียงการกลับมาเยือนอีกครั้งหนึ่ง นิเวศภาวนาคงเป็นอีกเส้นทางหนึ่งในการเดินทางไปสู่บ้านที่แท้จริงของจิตวิญญาณมนุษย์

Back to Top