ปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ด้วยคุณครู ไม่ใช่คนอื่น



โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2558

ผู้เขียนได้พบคุณครูในชนบท ๔๕ โรงเรียนจากสามเขตการศึกษาแล้วทำให้มีกำลังใจ มีความหวัง และเชื่อมั่นในเรื่องที่เคยเชื่อเสมอมาว่า การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จได้ก็ด้วยครูธรรมดาๆ ในโรงเรียนธรรมดาๆ ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

มีเรื่องบางเรื่องเท่านั้นที่ครูควรรู้ และเป็นเรื่องง่ายๆ

บางที เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการประชุมครู ให้ครูรู้วิธีการประชุมโดยเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เท่านี้ก็เพียงพอ

อธิบาย

การประชุมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เป็นอย่างไร?

การประชุมครูไทยทั่วประเทศในภาคราชการคงไม่ต่างจากที่หลายกระทรวงกำลังเผชิญอยู่ กล่าวคือประชุมเรื่องงานอีเวนต์เสียมาก ไม่เกี่ยวอะไรกับงานในภารกิจที่ทำ

เพื่อความยุติธรรม ควรกล่าวด้วยว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เต็มไปด้วยการประชุมจัดอีเวนต์ ต้อนรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ชี้แจงและเร่งรัดเอาผลงานและตัวชี้วัดที่ไม่เป็นจริง แต่ไม่ค่อยได้ประชุมกันเรื่องประโยชน์ของผู้ป่วยสักเท่าไรนัก


ครูก็คงไม่ค่อยมีเวลาสอนและไม่มีเวลาพูดคุยเรื่องนักเรียนสักเท่าไรด้วยสาเหตุคล้ายคลึงกัน ทั้งที่คุณครูไทยทั่วประเทศมีของดีในมืออยู่บ้างแล้ว

ครูไทยจำนวนไม่น้อยมีนวัตกรรมการเรียนการสอนอยู่บ้างแล้ว มิใช่ว่าไม่มี

ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา งานบ้านและงานอาชีพ ครูไทยจำนวนไม่น้อยได้เลิกสอนตามแบบฉบับ และหันมาจัดกระบวนการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ให้แก่นักเรียนแทนอยู่แล้ว

แม้ว่าสิ่งที่คุณครูทำไปนั้น ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้จากโจทย์ปัญหาเป็นฐานคือ Problem Based Learning (PBL) หรือการเรียนรู้ด้วยโครงงานเป็นฐานคือ Project Based Learning (PBL) อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็สามารถเรียกว่าเป็นพีบีแอลเล็กๆ หรือมินิพีบีแอล (mini-PBL)

มินิพีบีแอลเหล่านี้ คุณครูในชนบทไทยเป็นผู้คิดเองสร้างเองในสภาวะเข้าตาจนเมื่อเห็นลูกศิษย์ของตนไปไม่ไหวกับการสอนตามหลักสูตร จึงเป็นมินิพีบีแอลที่เอาความจริงใจและหลังชนฝาเป็นที่ตั้งโดยแท้

ในที่ประชุมแห่งหนึ่ง คุณครูเรียกการดิ้นรนเพื่อลูกศิษย์ของตนเองว่า เป็นรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบวิ่งสู้ฟัดกันเอาเอง ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากใครเลย

การเรียนการสอนด้วยมินิพีบีแอลจำนวนมากมายทั่วประเทศนี้สามารถพัฒนาต่อเนื่องเป็นพีบีแอลเต็มรูปแบบและดีที่สุดได้ไม่ยาก หากคุณครูรู้วิธีการประชุม

ก่อนอื่น มาดูสิ่งที่ "ไม่ควรทำ" ในการประชุมครู

๑.เชิญผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายและแนะนำ เพราะหากทำเช่นนี้ ก็ทำนายได้เลยว่า สิ่งที่บรรยายและแนะนำล้วนทำไม่ได้ในท้องถิ่นของเรา

๒.จัดประชุมเพื่อระดมสมอง ไม่ว่าจะเป็นการระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาพฤติกรรมนักเรียนหรือเพื่อปรับปรุงมินิพีบีแอล เพราะการประชุมจะฝืด ไม่มีใครกล้าระดมสมองโดยเสรีเพราะชั้นอำนาจในที่ประชุมนั้นเอง ที่สำคัญคือมินิพีบีแอลนี้เป็นผลงานขั้นต้นของเราที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทและสภาวการณ์เฉพาะท้องถิ่น มีแต่เราที่รู้จริงและรู้ว่าควรทำอย่างไรเพื่อพัฒนา

๓.จัดประชุมเพื่อเสนอแนะกันเอง คุณครูทุกท่านจำเป็นต้องใช้กิจกรรมหรือการเรียนการสอนแบบมินิพีบีแอลที่ใช้อยู่เพราะความจำเป็นของท้องถิ่น เพราะมีครูน้อย มีนักเรียนน้อย มีทรัพยากรน้อย เป็นเขตที่มีชาติพันธุ์จำนวนมาก เป็นต้น คำแนะนำที่ไม่สอดคล้องกับบริบทจะเป็นคำแนะนำที่ไม่เข้าท่าอย่างยิ่ง

๔.จัดประชุมเพื่อแสดงผลงานให้ดูกันเองแล้วแยกย้ายกลับบ้าน

ข้อห้ามทั้ง ๔ คือ ไม่ lecture ไม่ brain storm ไม่ suggestion และ ไม่ presentation เพราะการประชุมเหล่านี้ทำกันจนล้นเกิน เฝือ เสียเวลา เสียงบประมาณ และไฟไหม้ฟาง ไม่ได้ผลลัพธ์อะไร เพราะเราไม่สามารถจัดการกับชั้นอำนาจที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ปัญญาอย่างเสรีได้

การประชุมที่ดี ควรเป็นไปตามขั้นตอนดังนี้

๑.เตรียมคุณครูที่ทำมินิพีบีแอลให้เป็นนักเล่าเรื่องที่ดี คือเล่าให้เพื่อนครูเห็นว่า ตนเองจัดกระบวนการเรียนการสอนอย่างไร พาเด็กออกนอกห้องเรียนอย่างไร เด็กนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างไร พวกเขาพบอะไร ทำอย่างไร มีปฏิกิริยาอย่างไร หรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนนักเรียนด้วยกันอย่างไร

เรื่องเล่าที่ดีควรมีตัวละครที่ชัดเจน เช่น ด.ช.สมชายมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร ด.ญ.สมหญิงมีคำพูดคำจาอะไรบ้าง เด็กๆ กระทบกระทั่งหรือช่วยเหลือกันอย่างไร เป็นต้น ภาพที่ชัดของเด็กนักเรียนจะทำให้เพื่อนครูมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนอย่างชัดเจน ไม่เป็นทฤษฎี ไม่ใช่การรายงานผลหรือการนำเสนอผลงานอย่างดาษดื่น แต่เป็นการเล่าเรื่องความเปลี่ยนไปของเด็กๆ จากเด็กที่อ่านไม่ได้เลยเป็นอ่านได้บ้าง จากเด็กที่ไม่ค่อยมาโรงเรียนเป็นมาโรงเรียนทุกวัน เป็นต้น

๒.ระหว่างที่คุณครูคนหนึ่งฝึกทักษะการเล่าเรื่อง เพื่อนครูที่เหลือขอให้ฝึกทักษะตั้งใจฟังอย่างลึกซึ้ง วางปากกา ปิดโทรศัพท์ มองผู้เล่าและตั้งใจฟัง ด้วยวิธีนี้เราจะเข้าใจว่าทำไมคุณครูต้องจัดมินิพีบีแอลแบบนั้น เราจะเห็นภาพเด็กนักเรียนตัวเป็นๆ ออกมาโลดแล่นเป็นศูนย์กลางของห้องประชุม ที่สำคัญคือ เราจะนึกถึงเด็กนักเรียนที่เรารับผิดชอบอยู่ มีปัญหาคล้ายคลึงกันแต่บริบทแตกต่าง และเราอยากจะเล่าเรื่องราวของเด็กๆ ที่เราสอนบ้าง

๓.เมื่อคุณครูคนแรกเล่าเสร็จ ที่ประชุมซักถามเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นได้ แต่ไม่ซักฟอก ไม่เสนอแนะ ไม่แนะนำ ไม่วิพากษ์ ไม่แสดงความคิดเห็น ท่องไว้ว่าคุณครูสอนนักเรียนด้วยวิธีนั้นด้วยเหตุผลและบริบทของเขา ที่เพื่อนครูควรทำในขั้นตอนนี้คือ แลกเปลี่ยนเรื่องของเรา นั่นคือเล่าวิธีจัดการเรียนการสอนแบบของเราบ้าง

จะเห็นว่านี่คือการประชุมที่เท่าเทียม ทุกคนถูก และไม่ตำหนิกัน

๔.เมื่อบรรยากาศการประชุมเป็นมิตร และมีเสรีภาพทางปัญญา ขั้นตอนสุดท้ายคือการสะท้อนความรู้สึก คุณครูทุกคนควรฝึกทักษะบรรยายความรู้สึกหรืออารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังฟังเรื่องเล่าจบ จากนั้นตามด้วยการสะท้อนว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเรื่องเล่าที่ได้ฟัง

การสะท้อนเป็นการสรุปบทเรียนส่วนตัว ให้ใช้อารมณ์นำหน้าเหตุผล ใช้สมองซีกขวาทำงานก่อนสมองซีกซ้าย การสะท้อนเปรียบเสมือนการกดแป้นบันทึกเอกสารที่เราเขียนไว้บนจอมอนิเตอร์ นั่นเท่ากับเราพัฒนาตนเองไปอีกขั้นหนึ่ง

ในขั้นตอนการแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าและสะท้อนการเรียนรู้นี้เอง คุณครูทุกคนจะรู้ว่าตนเองควรกลับไปพัฒนามินิพีบีแอลของตนอย่างไรให้ดีกว่าเดิม

นี่คืองานพัฒนาคุณภาพที่มุ่งพัฒนาครูไปพร้อมกัน

มีบางเรื่องที่คุณครูควรรู้เพิ่มเติม เช่น พีบีแอลที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร สามารถบูรณาการสาระวิชาต่างๆ ได้อย่างไร และเราควรประเมินความเปลี่ยนแปลงของนักเรียนที่ตรงไหนกันแน่นอกเหนือจากผลการสอบ

แต่ก็ไม่มีอะไรสำคัญเท่าการพานักเรียนออกจากห้องเพื่อไปทำกิจกรรมการเรียนรู้สักอย่าง แล้วชวนกันจัดการประชุมที่ดี นั่นคือ เล่าเรื่อง-ตั้งใจฟัง-แลกเปลี่ยนเรื่องเล่า-สะท้อนสิ่งที่ได้

คือ story telling-deep listening-sharing-reflection

บทความนี้ตั้งใจสื่อถึงคุณครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูในชนบทไทยว่าท่านเป็นคนสำคัญและมีแต่ท่านที่จะทำได้

Back to Top