มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ภัทร กิตติมานนท์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 2558
ถ้าชีวิตของผมเป็นเหมือนหนังสือ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คงเปรียบเหมือนการขึ้นบทใหม่ จากแต่เดิมที่เรียนรู้อยู่กับชุมชนมาได้ ๔ ปี ถึงตอนนี้ บริบททั้งหลายก็เปลี่ยนแปลงไป ช่วงต่อไป ผมต้องออกมาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่มีการประคองใกล้ชิดจากลุง (วิศิษฐ์ วังวิญญู) และชุมชนอย่างที่เคยเป็นมา ในช่วงที่เกิดการปรับเปลี่ยนใหม่ๆ ต้องยอมรับว่า รู้สึกสั่นสะเทือนมาก มันเกิดขึ้นโดยเราไม่ได้ตั้งตัว แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงในชีวิตก็ล้วนเป็นอย่างนี้ไม่ใช่หรือ? ผมนึกถึงช่วงที่ตัวเองเดินทางออกจากกรุงเทพฯ จากชีวิตในระบบมาสู่การเรียนรู้วิถีใหม่ที่ชุมชนเชียงราย ในตอนนั้น หลังจากติดอยู่ในวังวนยาเสพติดมา ๓ ปี คืนหนึ่ง ในวันที่ชีวิตดิ่งลงถึงจุดต่ำสุด การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น เริ่มจากแฟนที่เคยเล่นยาอยู่ด้วยกันตัดสินใจแยกทางไป แล้วจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง พ่อแม่ก็เดินทางมาหาพร้อมกับบอกว่า พวกเขารู้แล้วว่าผมติดยา ในเช้าวันนั้นเอง เราก็เดินทางออกจากกรุงเทพฯ มาสู่เชียงรายและชุมชนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน
จากวันนั้นถึงวันนี้ กินเวลา ๔ ปีกว่าๆ เป็นช่วงเวลาที่ผมได้เรียนรู้อยู่ในโลกใบใหม่ที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง หากจะนิยาม ๔ ปีในชุมชนเป็นบทหนึ่งในหนังสือ ผมจะให้ชื่อบทว่า “การศึกษาที่แท้” เพราะนี่คือการศึกษาที่ลงลึกถึงหัวใจ ไม่ใช่การเรียนเพื่อจดจำเนื้อหาดังที่เคยเป็นมา แต่ทุกๆ บทเรียนที่เกิดขึ้นคือความเข้าใจที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงตัวตนของผมอย่างถึงราก ผมเลิกยาได้จากความสนิทสนมที่มีกับลุง ผมเริ่มเปิดตัวเองสู่โลกของการอ่านการเขียน จากคนที่เคยขยาดแขยงหนังสือเล่มหนาๆ ชื่อยากๆ มาวันนี้ ผมสามารถอ่านหนังสือภาษาอังกฤษได้อย่างเมามัน อย่างที่ไม่กลัวว่าตัวเองจะไม่เข้าใจ และที่สำคัญ จากเด็กขี้อายที่ลึกๆ ยังรู้สึกสงสัยในคุณค่าของตัวเองอยู่ตลอด ตอนนี้ผมสามารถเป็นผู้นำพาการเรียนรู้ให้กับคนอื่นๆ ได้
ทั้งหมดต้องขอบคุณลุงและชุมชนที่ทำให้ผมค้นพบจุดเริ่มต้นที่คงไม่อาจพบได้หากยังใช้ชีวิตอยู่ในระบบการศึกษาแบบเก่า ๔ ปีในชุมชนเชียงรายได้สอนให้ผมรู้ซึ้งว่า การศึกษาที่แท้จริงคืออะไร ผมเหมือนได้พบ “บ้าน” ได้พบครูที่สามารถสนิทสนมด้วยได้อย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะสามารถสนิทกับใครได้อย่างนี้มาก่อน ผมยังจำได้ถึงครั้งหนึ่งที่ลุงเคยเอามือมาแตะที่บ่าแล้วเรียกผมว่าลูกชาย ความทรงจำนั้นยังทำให้รู้สึกซาบซึ้งแม้จะผ่านมาเนิ่นนานแล้ว หากจะถามว่าผมรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงของตัวเองเกิดขึ้นตอนไหน มันคงเป็นห้วงขณะเล็กๆ นี้กระมังที่เป็นเหมือนหลักไมล์ ตอนที่ลุงปฏิสัมพันธ์กับผมช่วงสั้นๆ นั้น ผมรู้สึกว่าตัวเองสามารถรับความปรารถนาดีที่ส่งมาได้อย่างเต็มที่โดยไม่เคอะเขิน โดยไม่กลบเกลื่อนความรู้สึกของตัวเอง โดยไม่กลัวที่จะเจ็บ
นั่นอาจเป็นครั้งแรกๆ ที่ผมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง แล้วความรู้สึกนี้เองที่ทำให้ผมรับรู้ได้ว่าตัวเองเกิดการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ “บ้าน” แม้จะเป็นแหล่งของความอบอุ่น ความเกื้อกูลที่ไม่อาจประเมินค่าได้ แต่อีกด้านหนึ่ง นานวันเข้าก็อาจทำให้เรานิ่งนอนใจ เมื่อสบายเกินไป เราก็อาจขาดมิติของการเรียนรู้ หรือการท้าทายในรูปแบบอื่นๆ และที่สำคัญ เมื่อผมยึดลุงเป็นพ่อผู้ให้กำเนิดครั้งที่สอง แบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกชายที่ดำเนินอยู่อย่างลับๆ ในทุกยุคทุกสมัยก็เริ่มเข้ามากระทำการ ในวันที่เกิดการตัด (จริงๆ คือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ของผมใหม่) ลุงได้พูดถึงเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าได้ช่วยสะสางมิติความสัมพันธ์ต่างๆ ระหว่างพวกเราที่เริ่มจะส่ออาการแปลกๆ ในช่วงหลัง
เรื่องนี้มีความซับซ้อน ลุงบอกว่าความสัมพันธ์ของผมกับแกจะมีสองมิติ หนึ่ง คือ ผมมองลุงเป็นแม่ที่ความอบอุ่นจากแกยังสำคัญกับผมมากๆ ในมิตินี้ผมจะสัมพันธ์กับลุงในรูปแบบ dependence คือพึ่งพาสายใยความอบอุ่นจากแกแบบขาดไม่ได้ เมื่อรู้สึกขาด ผมจะเคว้งคว้างทันที แต่ในอีกมิติหนึ่ง คือความสัมพันธ์แบบพ่อกับลูกชาย ซึ่งเป็นเรื่องตามธรรมชาติในทางที่เป็นไปอย่างสุดโต่ง หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องของปมโอดิปุส หรือนิยายปรัมปราเรื่องพญากง-พญาพาน ในชีวิตจริง ทั้งสองเรื่องล้วนสื่อให้เห็นถึงความจำเป็นที่ลูกชายจะต้องแยกออกไปจากพ่อ มิฉะนั้น ความสัมพันธ์จะมีแต่ผุกร่อน บั่นทอนคนทั้งคู่ลงไปเรื่อยๆ นี่ไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันคือแบบแผนที่กระทำการอยู่ในจิตไร้สำนึก คือกระบวนการทางธรรมชาติที่ต้องได้รับการดูแล ลุงบอกว่าสังเกตเห็นการตั้งแง่ระหว่างพวกเราทั้งคู่ที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว ทำให้การอยู่ด้วยกันแบบเดิมอาจมาถึงทางตัน ในส่วนลึก ผมอาจมีแรงขับที่ต้องการจะเป็นตัวของตัวเอง ก้าวต่อไปสู่ขั้น independence ผมคงเป็นเหมือนต้นไม้ต้นเล็กๆ ที่อาศัยร่มเงาของต้นไม้ใหญ่มาตลอด ถึงตอนนี้ ผมเริ่มเติบโต แม้ร่มเงานั้นจะยังให้ความปลอดภัย ความสบายใจอยู่ แต่ก็บดบังแสงสว่างซึ่งเป็นธาตุที่จำเป็นไปด้วย และเมื่อต้นไม้ทั้งสองเริ่มเกิดการแย่งชิง คงดีกว่าที่จะทดลองแยกกันไปเติบโตในวิถีของตัวเอง
หลังเหตุการณ์ไม่นาน พี่คนหนึ่งได้เข้ามาสะท้อนความคิดของเขาที่มีต่อเรื่องราวนี้ว่า “โดยทั่วไป ที่เคยเห็นการแยกจากเช่นนี้ ส่วนใหญ่มักลงเอยด้วยความเจ็บปวด คนทั้งคู่มักกลับมามองหน้ากันไม่ติด” พี่เขาถามว่า แล้วตัวผมรู้สึกอย่างไรบ้างกับเรื่องดังกล่าว ผมตอบด้วยความสัตย์จริงว่า ในห้วงขณะแรกที่เกิดการตัดนั้น ตัวเองทั้งเจ็บปวด ทั้งกลัว ทั้งมึน แต่ที่น่าแปลกคือ ในความรู้สึกเคว้งคว้าง เมื่อหลักยึดเดียวที่ตนเองเคยมีได้หายไป ผมกลับไม่พบอาการต่อต้านใดๆ เลย มันคือความรู้สึกเดียวกับตอนที่พ่อแม่มาบอกว่า เขารู้แล้วว่าเราติดยาและจะพาไปที่เชียงรายในวันรุ่งขึ้น ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นกระแสที่ทรงพลังจนเราไม่อาจขัดขืนได้ ในขณะนั้น เราไม่มีความโกรธ มีแต่การไว้อาลัยให้กับความสัมพันธ์เก่าๆ ที่ได้ตายลงไป และไหลไปด้วยความสงบ รอคอยสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะมาถึง ผมพบว่า แม้จะมีความเสียใจอยู่ แต่ลึกๆ ผมกลับรู้สึกมีพลังยิ่งกว่าตอนที่พยายามรั้งความสัมพันธ์เก่าๆ เอาไว้อย่างสุดความสามารถ มันคงเป็นพลังที่เกิดขึ้นยามที่เราได้กลับมาเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองแบบเต็มๆ กระมัง
ผมเริ่มตั้งคำถามที่แต่ก่อนไม่เคยกล้าถามกับตัวเอง แล้วสุดท้าย เมื่ออารมณ์ที่หลากหลายเริ่มคลี่คลายไป ผมกลับมาตระหนักได้อย่างชัดเจนว่า ผมโชคดีมากๆ ที่ได้พบครูที่กล้าหาญเช่นนี้ คงไม่ง่ายเลยสำหรับลุงที่จะสื่อสารเรื่องดังกล่าวออกมา ความเป็นครูที่คอยโอบอุ้มว่ายากแล้ว ความเป็นครูที่พร้อมจะผลักศิษย์ออกไปเพื่อการเติบโตอาจจะยากยิ่งกว่าเสียอีก ผมตระหนักดีว่านี่ไม่ใช่การลงโทษ แต่คือของขวัญที่ทั้งผมและลุงจะได้เติบโตและกลับมาสัมพันธ์กันได้อย่างเท่าเทียมยิ่งขึ้น เกื้อกูลกันได้ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา
แสดงความคิดเห็น