สนทนาข้ามพรมแดน: ความทรงจำร่วมและความหวังของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากฐานราก



โดย ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
สถาบันสะพานพัฒนา
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2558

ไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมวงสนทนาเล็กๆ ของกลุ่มเอ็นจีโอที่มีประสบการณ์เข้มข้นและยาวนานในการทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของกลุ่มคนที่เปราะบางทางสังคม สิทธิชุมชน และสิทธิในการดูแลและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสมบัติร่วมกันของคนเล็กคนน้อยคนยากคนจนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

เราใช้เวลาสองวันหนึ่งคืนกับการพูดคุยข้ามพรมแดนชีวิตและงานของแต่ละคน แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัว เชื่อมร้อยภาพความทรงจำร่วมของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากฐานรากของประเทศไทย และช่วยกันร้อยเรียงหมุดหมายสำคัญของสายธารขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานทางสังคมของคนหลายคนในวงสนทนา เช่น ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๗ - ๒๕๒๘ ที่มีกรณีชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้านการปลูกยูคาลิปตัสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคัดค้านการทำประมงอวนลากอวนรุนที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ - ๒๕๓๔ มีกรณีคัดค้านโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรม (คจก.) รวมทั้งเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นของมหากาพย์การคัดค้านเขื่อนปากมูล หลังจากนั้นขบวนเริ่มมีการจัดการตนเองในลักษณะการเชื่อมโยงกลุ่มงานต่างๆ เข้าหากันเป็นเครือข่ายข้ามประเด็นและข้ามพื้นที่มากขึ้น เพื่อผนึกกำลังและกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวที่มุ่งผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย เช่น การรวมตัวของเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) ในปี ๒๕๓๗ และสมัชชาคนจนในปี ๒๕๓๘ เป็นต้น

แรงสนับสนุนสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่มีเนื้อหาเรื่อง “การเมืองของพลเมือง” และ “สิทธิชุมชน” ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก โดยรูปธรรมเรื่องการเมืองของพลเมืองคือการสนับสนุนให้ตั้งองค์กรอิสระเป็นกลไกตรวจสอบนักการเมือง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้สิทธิประชาชนร่วมกันเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนนักการเมือง ส่วนเรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญไทยและเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในโลกที่บรรจุเรื่องนี้ไว้อย่างเป็นทางการ เน้นที่การเสริมความเข้มแข็งให้องค์กรชุมชนมีสิทธิจัดการเรื่องต่างๆ ของตนเอง รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน เพื่อป้องกันการพังทลายของชุมชนฐานรากซึ่งเป็นฐานสำคัญของสังคมทั้งหมด

การเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายการทำงานยังคงเกิดขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เช่น การเกิดของเครือข่ายสลัม ๔ ภาค ในปี ๒๕๔๑ การผลักดันให้เกิด พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช ปี ๒๕๔๒ การเกิดเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยและเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองในปี ๒๕๔๙ การรวมตัวของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟในปี ๒๕๕๓ และกรณีศึกษาล่าสุดที่เล่าสู่กันในวงสนทนา คือ การเกิดเครือข่ายคนรักสตูลเมื่อปี ๒๕๕๕ เป็นการรวมตัวกันขององค์กรต่างๆ ทั้งรัฐ เอ็นจีโอ และภาคประชาสังคมกว่า ๒๐ องค์กร เพื่อร่วมพัฒนาจังหวัดสตูลสู่การเป็นจังหวัดจัดการตนเองด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนพื้นถิ่น

การทำงานของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากฐานรากในปัจจุบันมีทั้งงานร้อนในการรวมพลังประชาชนคัดค้านนโยบายของรัฐหรือโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรมต่อคนเล็กคนน้อยคนยากคนจน และงานเย็นที่เป็นการศึกษาวิจัยและทดลองปฏิบัติการเพื่อเสนอทางเลือกที่ดีกว่าให้สังคม เช่น การจัดทำชุดวิเคราะห์ระบบนิเวศ ชุดวิเคราะห์ทรัพยากรแร่ การจัดการน้ำ และการแพร่กระจายของดินเค็มในภาคอีสาน การแสวงหาวิธีการที่ทำให้เกษตรกรพึ่งตนเอง จนพัฒนาเป็นเครือข่ายตลาดสีเขียวทั่วประเทศของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก การทำงานของเครือข่ายที่ดินที่เสนอร่างกฎหมาย ๔ ฉบับเรื่องธนาคารที่ดิน โฉนดชุมชน ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และกองทุนยุติธรรม และการผลักดันข้อเสนอของสมัชชาคนสตูลเรื่องแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบอ่าวปากบาราให้เป็นพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แทนโครงการสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้เกิดขึ้น เป็นต้น

หลายเรื่องราวจากประสบการณ์การทำงานของกลุ่ม สะท้อนถึงความยากลำบากและอุปสรรคจากแรงกดดันและแรงต้านทานของหลายฝ่าย ทั้งแรงภายนอกขบวนคือกลุ่มที่ยึดถือแนวทางการพัฒนาที่แตกต่าง และแรงจากภายในขบวนเอง ทั้งการช่วงชิงภาวะการนำ การขาดคนรุ่นใหม่และคนกลุ่มใหม่ๆ เข้าร่วมขบวน และความแตกร้าวภายในที่ชัดเจน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาจากความแตกต่างของสีเสื้อและการเลือกข้างทางการเมือง ส่งผลให้หลายคนเหนื่อยล้า อ่อนแรง และเริ่มทบทวนตนเองว่าจะไปต่อกับขบวนแค่ไหน อย่างไร รวมทั้งตั้งคำถามกับการเคลื่อนไหวรูปแบบเดิมๆ ในการรวมกลุ่มเจราจา กดดัน และยื่นข้อเสนอต่อรัฐ ทั้งเพื่อการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว ที่หลายเรื่องแทบไม่มีความคืบหน้า ต้องคอยติดตามทวงถามเป็นระยะ และหลายเรื่อง แม้จะเรียกร้องสำเร็จจนเกิดกฎหมายหรือสถาบันทางสังคมใหม่ๆ แต่พอถึงขั้นตอนปฏิบัติก็ถูกบิดไปไกลจากอุดมการณ์ตั้งต้นในข้อเสนอของประชาชน เหมือนเป็นการ “แตะหมูเข้าปากหมา” ไปเสีย

อย่างไรก็ตาม ทุกคนเห็นตรงกันว่า วงสนทนาข้ามพรมแดนเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการหันหน้ากลับมาพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ เป็นความพยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ช่วยเติมช่องว่างของความไว้วางใจที่ขาดหายไปในช่วงที่ผ่านมา เป็นพื้นที่ของความเกื้อกูลและสร้างกำลังใจให้กัน และเป็นโอกาสร่วมคิดร่วมทำเพื่อฟื้นความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากฐานรากของบ้านเราเอง

ผู้เขียนประมวลทิศทางการทำงานที่วงสนทนาตั้งใจจะทำร่วมกันในปีนี้ โดยในระดับบุคคล เริ่มจากการสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์โดยไม่เพ่งโทษกัน ผสานมิติเชิงความสัมพันธ์และมิติทางจิตวิญญาณเพิ่มเข้ามาในการพูดคุยและการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นคงภายในของขบวนการ ให้แต่ละคนสามารถสะท้อนย้อนมองตนเอง รู้จักตัวเอง เข้าใจผู้อื่น สามารถเรียนรู้ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย และคุยกันได้ว่าจะเดินหน้าต่อไปด้วยกันอย่างไร

ส่วนในระดับภาพใหญ่ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม มีการเตรียมทำงานเพื่อวิเคราะห์และทบทวนอุดมการณ์และจินตนาการร่วมกันของขบวน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม โดยเฉพาะเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยของไทย และระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทยที่เชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ในโลก เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของขบวนการอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเริ่มจากการแลกเปลี่ยนพูดคุยและร่วมกันวิเคราะห์ถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเป็นประเด็นตั้งต้น

ภาพอนาคตของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่วงสนทนาช่วยกันเสนอคือ การร่วมมือกันทำงานข้ามพรมแดน ทั้งในเชิงประเด็น เชิงพื้นที่ และที่สำคัญคือข้ามพรมแดนความคิดของคนทำงานที่หลากหลาย ด้วยการเปิดพื้นที่การสนทนาเชื่อมร้อยคนข้ามกลุ่มเข้าด้วยกัน ทั้งเอ็นจีโอ รัฐ ประชาสังคม องค์กรชาวบ้าน และเปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มใหม่ๆ เข้าร่วมขบวน เช่น นักวิชาการ นักกฎหมาย นักธุรกิจท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รวมทั้งคนรุ่นใหม่และเยาวชนคนหนุ่มสาวที่สนใจการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม โดยสร้างพื้นที่รูปธรรมในการทำงานร่วมกันบางเรื่อง เพื่อเสริมพลังกันและกันในลักษณะเครือข่ายที่มีระบบการจัดการหลวมๆ ที่สำคัญคือเน้นการสร้างบรรยากาศของความเข้าใจระหว่างกัน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มอำนาจให้ประชาชนคนเล็กคนน้อยคนยากคนจน ซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของสังคมไทยและเป็นฐานที่สำคัญของสังคมทั้งหมด


*ขอขอบคุณแผนงานเสริมสร้างศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม และสุขภาพ (นธส.) มูลนิธิสร้างสรรค์สังคมและสุขภาวะ (มสส.) เจ้าภาพวงสนทนา และสำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้สนับสนุนงบประมาณการจัดวงสนทนาครั้งนี้

Back to Top