คนไร้บ้านในสังคมที่เป็นธรรม



โดย ชลนภา อนุกูล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2558

ในปีค.ศ. ๒๐๑๓ แพ็ทริก แม็คคอนล็อก โปรแกรมเมอร์คนหนึ่งถือโอกาสออกกำลังกายด้วยการเดินไปทำงานที่อยู่ในเมืองแมนฮัตตันและพบกับ ลีโอ แกรนด์ คนไร้บ้านผิวสีอยู่ข้างถนน

หนุ่มน้อยแพ็ทริกในวัย ๒๓ ปี ต่อรองกับลีโอว่า ถ้าเขายอมไปเรียนการเขียนโปรแกรมที่ออฟฟิศของแพทริกวันละ ๑ ชั่วโมงทุกเช้าก่อนออฟฟิศเริ่มงาน โดยจะได้รับการสนับสนุนให้มีโน้ตบุ๊กขนาดเล็กพร้อมที่ชาร์จ ตลอดจนหนังสือสำหรับอ่านในช่วงที่นั่งเรียนเองอยู่ข้างถนน เขาจะได้รับเงิน ๑๐๐ ดอลลาร์

ลีโอ – คนไร้บ้าน – ยอมรับข้อเสนอ และใช้เวลา ๔ เดือนในการเรียนเขียนโปรแกรม จนกระทั่งเขียนแอพพลิเคชันสำหรับระบบแอนดรอยด์และไอโฟน และดาวน์โหลดขายได้เงินราว ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์

แต่ – ลีโอก็ยังเป็นคนไร้บ้าน - แม้จะเป็นคนไร้บ้านที่โด่งดัง มีสื่อมวลชนมาสัมภาษณ์ ได้ออกรายการทีวี มีผู้คนรู้จักทั่วประเทศ เขายังนอนข้างถนนแม้ในฤดูอันหนาวเหน็บ ยังต้องขอเงินซื้อข้าวจากคนอื่น เพราะไม่สามารถนำเงินของตัวเองออกมาจากธนาคารได้ ด้วยเหตุที่ไม่มีบัญชีธนาคารของตัวเอง เงินที่ได้จากการขายแอพพลิเคชันจึงอยู่ในบัญชีของแพทริก ซึ่งพยายามต่อรองให้ลีโอเปิดบัญชีธนาคารของตนเองให้ได้ภายใน ๑ ปี ถ้าทำไม่ได้ก็ขอให้เลือกศูนย์พักพิงคนไร้บ้านสักแห่งและแพทริกจะโอนเงินทั้งหมดเพื่อบริจาค ลีโอทำได้มากที่สุดก็เพียงการเดินไปจนเกือบถึงธนาคารแล้วหันหลังกลับ

การเปิดบัญชีธนาคาร เป็นเจ้าของห้องพักสักแห่ง มีประกันสุขภาพและงานทำ กลายเป็นเรื่องยากของคนไร้บ้านอย่างลีโอ เพราะเขาประสบปัญหาในการทำความเข้าใจกับระบบต่างๆ ทางสังคม ไม่รู้ว่าธนาคารทำงานอย่างไร ที่สำคัญก็คือเรื่องของศักดิ์ศรี เพราะธนาคารจะขอเอกสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำเนาบัตรประชาชน ซึ่งอาจจะทำหายหรือถูกโขมยไปนานแล้ว รวมทั้งขอที่อยู่สำหรับกรอกในเอกสาร ซึ่งคนไร้บ้านก็คงไม่อยากเดินเข้าไปในธนาคารเพื่อบอกกับใครว่าที่อยู่ปัจจุบันคือข้างถนน

ปัจจุบัน ลีโอก็ยังเป็นคนไร้บ้าน
...

บนถนนสายหนึ่งในฮอนโนลูลู ฮาวาย ในปีค.ศ. ๒๐๑๒ ไดอานา คิม ช่างภาพสาววัย ๓๐ ปี กำลังถ่ายรูปคนไร้บ้าน และพบว่าพ่อของตัวเอง – คนไร้บ้าน – เป็นหนึ่งในนั้น

พ่อกับแม่ของคิมแยกทางกันเมื่อเธออายุ ๕ ขวบ คิมต้องใช้ชีวิตตระเวนไปอยู่กับเพื่อนกับญาติ นอนในสวนสาธารณะบ้าง ในรถบ้าง ชีวิตที่ยากลำบากนี้ทำให้เธอเข้าอกเข้าใจคนไร้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการถูกทอดทิ้ง ถูกปฏิเสธ ไม่มีความมั่นคงและเสรีภาพทางเศรษฐกิจ คิมเริ่มถ่ายรูปคนไร้บ้านตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยปีที่หนึ่ง

คิมยังจำพ่อได้ เพราะพ่อเป็นคนสอนให้เธอรู้จักการถ่ายภาพตั้งแต่เด็ก และแอบเอาขนมมาให้เธอลับหลังแม่บ่อยๆ วินาทีที่พบพ่อนั้น คิมแทบใจสลาย เพราะพ่อผอมไปมาก เนื้อตัวสกปรกมอมแมม เสื้อผ้าเก่าขาด มีอาการประสาทหลอน ยืนคุยอยู่คนเดียว คิมไม่รู้ว่าจะเดินเข้าไปหาพ่อและเริ่มพูดคุยอย่างไร

๑๘ เดือนหลังจากนั้น คิมพยายามฟื้นฟูเยียวยาพ่อ เธอแวะไปหาเขา นั่งอยู่ข้างๆ กระทั่งวันที่เธอแต่งงาน เธอก็มาเยี่ยมเขาในชุดเจ้าสาวสีขาว เธอเล่าประสบการณ์ผ่านภาพถ่ายและเขียนผ่านบล็อกส่วนตัว homelessparadise.com ผู้คนรู้จักเรื่องราวของคนไร้บ้านมากขึ้น แต่พ่อเธอก็ยังเป็นคนไร้บ้าน มีอาการประสาทหลอน รับรู้และไม่รับรู้สลับกันไป ส่วนคิมก็ตกอยู่ในความหวังและความสิ้นหวังไปพร้อมกัน

เมื่อพ่อเธอมีอาการหัวใจวายและถูกส่งเข้าโรงพยาบาล ก็ทำให้มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการรักษาและฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ หลังจากนั้น พ่อเธอก็อาการดีขึ้นมาก มีที่พัก มีเพื่อน และพยายามหางานทำ

ปัจจุบัน พ่อของคิมพ้นจากความเป็นคนไร้บ้านแล้ว
...

“คนไร้บ้าน” ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Homeless – คำว่า Home ที่แปลว่า “บ้าน” นั้นบ่งบอกชัดเจนว่าสิ่งที่ขาดหายไปนั้นไม่ใช่บ้านในทางกายภาพ หรือ House

“ภาวะไร้บ้าน” จึงเปรียบเสมือนภาวะหลุดลอยจากรากของตัวเอง หลุดลอยออกมาจากครอบครัวญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ไร้หลักแหล่งที่พักพิงจากภายใน เกิดเป็นหลุมดำว่างเวิ้งขนาดใหญ่อยู่กลางอก หากขนาดหลุมดำนี้ขยายใหญ่ขึ้น จากภาวะไร้บ้าน “ชั่วครั้งชั่วคราว” ไปสู่ “ยืดเยื้อ” ก็จะกลายเป็นความป่วยไข้ที่ไม่สามารถสัมพันธ์กับผู้คนและสังคมได้อย่างเป็นปรกติ การฟื้นฟูเยียวยาภาวะไร้บ้านจึงจำต้องลงทุนลงแรงค่อนข้างมากในการนำพาผู้คนที่ล่องลอยเคว้งคว้างอยู่ในอวกาศที่ไร้แรงโน้มถ่วงกลับมาสร้างสัมพันธภาพกับคนอื่นๆ ในรูปแบบต่างๆ นั่นคือ ทั้งจากภายใน ได้แก่ การปรับสภาวะไร้บ้านกลับมาสู่ความมีบ้าน และจากภายนอก ได้แก่ การมีบ้านทางกายภาพและกติกาเพื่ออยู่ร่วมกัน และการมีงานทำเพื่อเข้าถึงเสรีภาพทางเศรษฐกิจ – เรื่องราวของลีโอและพ่อของคิมชี้ให้เห็นว่า การฟื้นฟูเยียวยาคนไร้บ้านไม่ใช่เรื่องง่ายดาย ต้องอาศัยความเข้าใจภาวะไร้บ้านในฐานะความเจ็บป่วยภายในจิตใจ ต้องลงทุนลงแรงมาก และใช้เวลามาก เพราะต้องทำงานกับการลดขนาดหลุมดำในใจของคนไร้บ้าน ควบคู่ไปกับการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

หลายคนมองว่าพวกคนเร่ร่อนไร้บ้านเป็นพวกคนบ้าวิกลจริต คนที่พ่ายแพ้ต่อสงครามชีวิตของตนเอง แล้วก็มาเดินเกะกะก่อความสกปรกน่ารำคาญให้กับเมืองใหญ่


สื่อมวลชนบางกลุ่มก็ใช้วิธีจ่อไมโครโฟนไปที่ปากของคนไร้บ้านแล้วถามว่า ทำไมถึงมาใช้ชีวิตอย่างนี้ ทำให้ได้ยินคำตอบสำเร็จรูปทำนองว่า อยู่อย่างนี้ก็สบายดี มีอิสรภาพ เพราะใครเลยจะบอกว่าตนเองมีปัญหากับครอบครัวในลักษณาการใด เข้าถึงงานดีมีความมั่นคงไม่ได้เพราะเหตุใด กลายเป็นว่าการเป็นคนไร้บ้านคือชีวิตทางเลือก ราวกับว่าการเป็นคนไร้บ้านเกิดจากเจตจำนงเสรี ปราศจากการบีบคั้นทางโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม สถาบันครอบครัวยังดำรงอยู่ได้อย่างสนิทสนมกลมเกลียว ฯลฯ

“คนไร้บ้าน” มาจากไหน? – คำถามนี้สำคัญพอๆ กันกับสังคมแบบไหนที่มีคนไร้บ้าน? หรือสังคมที่ เป็นธรรมจะยังมีคนไร้บ้านอยู่ไหม? และถ้ามี จะดูแลคนไร้บ้านในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมอย่างไร?

คำถามบนฐานการคิดเชิงระบบ (System Thinking) จะช่วยทำให้เห็นสาเหตุของการที่คนส่วนหนึ่งในสังคมกลายมาเป็นคนไร้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นเหตุจากการตกงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีสวัสดิการสังคมรองรับ การเจ็บป่วยทางจิตเวชที่ครอบครัวขาดความรู้ความเข้าใจ และไม่มีระบบการรักษาฟื้นฟูเยียวยาต่อเนื่องที่ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อว่าผู้ป่วยจิตเภทสามารถรักษาให้หายได้ การเป็นผู้สูงอายุที่ไร้ซึ่งศักดิ์ศรีในบ้านของคนอื่น การเป็นคนข้ามเพศที่ไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว ฯลฯ

เมื่อเห็นว่าระบบ/โครงสร้าง/วิธีคิดแบบใดที่เบียดขับคนออกจากบ้าน ออกจากที่ทำงาน ไปอยู่ข้างถนน ก็จะออกแบบนโยบายที่ช่วยป้องกันและลดทอนจำนวนคนไร้บ้านลงได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่อยู่อาศัย นโยบายหลักประกันทางรายได้ ซึ่งไม่ได้เป็นนโยบายเฉพาะสำหรับกลุ่มคนไร้บ้าน หากเป็นนโยบายใหญ่ที่ครอบคลุมคนทั้งหมด และช่วยดูแลคนบางกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยง/เปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคม ที่อาจจะกลายเป็นคนไร้บ้านได้

ต่อให้พวกเราไม่มีความสนใจในเชิงนโยบาย แต่เราก็อาจมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือดูแลคนไร้บ้านจำนวนมากในพื้นที่สาธารณะ และยังไม่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาในศูนย์พักพิงต่างๆ ได้ โดยอาจเริ่มง่ายๆ จากการ “มองเห็น” คนไร้บ้านได้อย่างแท้จริง การมองเห็นตัวตนของคนไร้บ้าน เห็นว่าคนไร้บ้านก็ดำรงอยู่ในสังคมเดียวกับเรา ซึ่งเป็นการมอบคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เบื้องต้นให้กับคนไร้บ้าน อย่างน้อยก็ในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์เกิดแก่เจ็บตายของเรา

เมื่อ “มองเห็น” แล้ว ด้วยดวงตาแบบใหม่ – พวกเราก็จะคิดได้เองว่า จะทำอะไรได้บ้างในการช่วยเหลือเพื่อนคนไร้บ้านเหล่านี้ บนพื้นฐานของการมอบคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับเขา/เธอ

Back to Top