โดย
ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 26 เมษายน 2557
กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมิน ถือเป็นนวัตกรรมทางการประเมินที่ผู้เขียนนำสองแนวคิดได้แก่กัลยาณมิตรประเมิน (Amicable Evaluation) ที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ริเริ่มนำไปใช้ในการประเมินภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และ จิตตปัญญาศึกษา มาผนวกควบรวมกัน เกิดเป็นแนวคิดแนวปฏิบัติใหม่ทางการประเมิน
กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินเป็นการประเมินที่มีรูปแบบ ขั้นตอนและกระบวนการประเมินที่มีความยืดหยุ่น หลากหลาย สอดประสานไปกับบริบท ธรรมชาติ ประเภท และวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการ ที่ “หวังผล” หรือ “เอื้อให้เกิดผลสำเร็จ” ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การประเมิน “ผล” การดำเนินงานเทียบเคียงกับเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งเป็นลักษณะของการประเมินเพื่อตัดสินที่ทำกันอยู่ทั่วไป
กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินเป็นการประเมินเพื่อการพัฒนาอย่างแท้จริง เพราะร่วมดำเนินการไปพร้อมๆกับทีมผู้ดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องไปด้วยกัน ไม่ใช่แค่การทำเป็นครั้งคราวเช่นครึ่งโครงการครั้ง และเมื่อเสร็จสิ้นโครงการอีกหนึ่งครั้ง หรือบ่อยหน่อยก็ทำเป็นรายไตรมาสตามรูปแบบที่ทำกันอยู่โดยทั่วไป
กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินเหมาะกับการประเมินโครงการพัฒนาต่างๆทั้งในระดับบุคคล ชุมชน องค์กร และสังคม เพราะเป้าหมายสูงสุดของกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินคือผลการพัฒนาที่มีทั้งผลิตภาพ และความสุขความพึงพอใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการเหล่านั้น เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
กัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของโครงการ/การพัฒนา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมๆ กันระหว่างผู้รับผิดชอบ/เจ้าภาพโครงการพัฒนา ทีมพัฒนา ผู้เข้าร่วมโครงการ และทีมประเมิน
ทีมประเมินจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในลักษณะของการแทรกแซง ผู้จ้องจับผิด หรือผู้ประเมิน“ผล” ตัดสินถูกผิด แต่เข้าในลักษณะของการเป็นกัลยาณมิตร การเอื้อและเสริมให้เกิด “ผล” ผ่านสามกระบวนการหลักของจิตตปัญญาศึกษาคือ สุนทรียสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสะท้อนการเรียนรู้ระหว่างกัน โดยตั้งอยู่บนความเชื่อและหลักการสำคัญสี่ประการของจิตตปัญญาศึกษาอย่างแท้จริง คือ
- ยอมรับและเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ (ในกระบวนการประเมิน และการแจ้งผลการประเมินต้องไม่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้สึกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาถูกทำร้ายหรือทำลาย)
- ยอมรับและเคารพในความแตกต่างระหว่างบุคคล (ไม่เทียบเคียงกับใคร)
- เชื่อในเรื่องความเป็นองค์รวมที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่ง (ให้ความสำคัญกับบริบท ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยรอบด้าน)
- เชื่อว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้เรียนรู้ (ทีมพัฒนา ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนา ทีมประเมิน และผู้ที่เกี่ยวข้อง)
แนวคิดและแนวปฏิบัติของกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินเป็นการให้ความหมายใหม่ของการประเมินที่เน้นกระบวนการร่วมให้และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมสร้างความสำเร็จ เป็นการประเมินแบบมีส่วนร่วม ที่ผนวกควบรวมฐานการเรียนรู้ทั้งสามฐานตามแนวจิตตปัญญาศึกษาได้แก่ฐานกาย ฐานหัว และฐานใจเข้าไปในการประเมิน ซึ่งสอดรับกับแนวคิดของกัลยาณมิตรประเมินที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้ในบทความ “กัลยาณมิตรประเมิน: การประเมินที่มีชีวิตจิตใจ”
ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์เป็นทั้งผู้ประเมินภายนอก และผู้พัฒนาผู้ประเมินภายนอกให้กับ สมศ.หลายปี ได้รับทราบคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบจากผู้รับการประเมิน ผู้ประเมินภายนอก นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินมากมาย จึงมีความสนใจที่จะศึกษาและพัฒนารูปแบบและกระบวนการประเมินที่พึงประสงค์ที่เอื้อให้เกิดผลสำเร็จ และในขณะเดียวกันก็มีความสุขความพึงพอใจของทุกฝายที่เกี่ยวข้อง
กัลยาณมิตรประเมินที่อาจารย์สมหวังริเริ่มไว้ จุดประกายและกระตุ้นให้ผู้เขียนศึกษาค้นคว้าศาสตร์และศิลป์ของการประเมินอย่างจริงจังมากขึ้น ผลการศึกษาเบื้องต้นปรากฏออกมาเป็นบทความชื่อ “กัลยาณมิตรประเมิน: การประเมินที่มีชีวิตจิตใจ” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๑
บทความนี้ได้รับการตอบรับดีมาก ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปพูดไปบรรยาย และมีการขออนุญาตนำบทความไปตีพิมพ์เผยแพร่ในหลากหลายวาระ ทุกครั้งที่ไปพูดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผู้เขียนก็จะออกตัวก่อนว่าตนเองก็ยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ยังอยู่ในชั้นตอนของการศึกษาและพัฒนา แต่ผู้เขียน “ติดใจ” แนวคิดการนำความเป็นกัลยาณมิตรเข้ามาในวงการประเมิน เพราะการประเมินที่เคยเรียนมาในฐานะที่เป็นศาสตร์เป็นวิชา และประสบการณ์การจริงในฐานะที่เป็นผู้ประเมินภายนอก มันมีลักษณะที่เป็นทางการ แข็งกระด้าง แห้งแล้ง ไม่ค่อยเป็นมิตรทั้งในหลักการ ขั้นตอน วิธีการ และกระบวนการประเมิน บางครั้งบางกรณีก็มีแต่ความเจ็บปวด มันจึงเป็นเสมือน “ซาตานที่จำเป็น” (Necessary Evil) ขององค์กร เพราะถูกบังคับให้ต้องทำ การประเมินภายนอกจึงแปลกแยก แยกส่วนออกมาจากการปฏิบัติงานจริง จึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งและส่วนเดียวกับการปฏิบัติงาน บางครั้งบางกรณีจึงเป็นเรื่องของการ “สร้าง” ร่องรอยอย่างเร่งรีบ และ “การตรวจสอบ” กับ “การวัดและการประเมินผล” ตามหลักฐาน (ร่องรอย) ที่เตรียมไว้ให้ตรวจสอบ แล้วก็แยกย้ายกันไปด้วยความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน แต่ถ้ามีความเป็นกัลยาณมิตรในจิตใจของผู้ประเมิน ในทุกขั้นตอนและกระบวนการของการประเมิน “ซาตามที่จำเป็น” ก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็น “นางฟ้ามาช่วย” ก็เป็นได้
แต่ตอนนั้นก็เป็นเพียงแนวคิด ยังไม่มีแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ตามที่ปรากฏในบทความ ประกอบกับผู้เขียนมีภารกิจอื่นมากขึ้น ไม่ได้ทำหน้าที่ผู้ประเมินภายนอกอีก เพราะไม่มีเวลา ก็เลยไม่ได้สานต่อเรื่องกัลยาณมิตรประเมิน
เมื่อมีเวลาใคร่ครวญทบทวนแนวคิดและแนวปฏิบัติของ “จิตตปัญญาศึกษา” เพราะมีโอกาสไปเป็นวิทยากร และกระบวนกรทางจิตตปัญญาศึกษาบ่อยๆ โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา มักจะมีคำถามว่าเรื่องการวัดการประเมินผลจะทำอย่างไรหากมีการจัดการเรียนการสอนตามแนวจิตตปัญญาศีกษา ผู้เขียนก็เริ่ม “ปิ๊งแว้บ” ที่จะนำแนวคิดและแนวปฏิบัติของจิตตปัญญาศึกษามาผนวกกับกัลยาณมิตรประเมิน เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการประเมิน เป็น “ตัวช่วย” หรือ “ตัวขับเคลื่อน” หรือ “เทคโนโลยื/เครื่องมือการพัฒนา” ให้โครงการบรรลุเป้าหมาย ตาม “ตัวชี้วัด” และระดับมาตรฐานที่กำหนดไว้ในโครงการ
ที่ตื่นเต้นและท้าทายมากก็คือ แนวคิดและแนวปฏิบัติของกัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินที่คิดและออกแบบไว้ กำลังจะมีโอกาสได้ลองนำไปใช้จริงเป็นครั้งแรกกับ “โครงการประเมินผลโครงการการเกษตรยั่งยืน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน” ที่มีปรมาจารย์ทางการประเมิน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สมหวัง พิธิยาณุวัฒน์ เป็นหัวหน้าโครงการ ประสบการณ์ตรงครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนากัลยาณมิตรจิตตปัญญาประเมินที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น
แสดงความคิดเห็น