อารมณ์ สังคมและสมอง

โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 5 มกราคม 2551

ราว ๑๖๐ ปีก่อน ใน ค.ศ. ๑๘๔๘ คนงานก่อสร้างทางรถไฟในนิวอิงแลนด์กำลังขยายทางรถไฟในรัฐเวอร์มอนต์ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ฟีนี่ส์ เกจ เป็นคนงานที่รับผิดชอบด้านการระเบิดหินที่ขวางทางตามแนวที่จะวางรางรถไฟ

ในการระเบิดหินโดยเฉพาะภูเขาหินขนาดใหญ่ ฟีนี่ส์ เกจ จะต้องขุดหินเป็นโพรงลึกเพื่อนำดินระเบิดเข้าไปใส่ไว้ในโพรงแล้วอัดทับด้วยทรายให้แน่น เมื่อทุกคนหลบอยู่ในระยะที่ปลอดภัยจึงใช้สายชนวนจุดระเบิด ฟีนี่ส์ เกจ เป็นคนงานที่ทำงานนี้ได้ดีที่สุดและไว้วางใจได้มากที่สุดคนหนึ่งของบริษัท

บ่ายสี่โมงครึ่งของวันหนึ่งในฤดูร้อน ฟีนี่ส์ เกจ ขุดโพรงหินด้วยชะแลงเหล็กที่เขาสั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ หลังจากเอาดินระเบิดใส่ใว้จนเต็ม เขาบอกให้ลูกน้องที่ช่วยงานอยู่ให้เอาดินทรายมาใส่ทับปิดปากหลุม หลังจากหันไปคุยกับเพื่อนร่วมงานเพียงไม่กี่นาที ฟีนี่ส์ เกจ ก็ใช้เหล็กชะแลงอัดลงในหลุมเพื่อกระแทกทรายให้แน่น

เขาคิดว่าลูกน้องได้เอาทรายใส่ทับปิดปากหลุมแล้ว

แต่ในหลุมไม่มีทรายสักเม็ดเดียว เหล็กชะแลงของฟีนี่ส์ กระแทกผ่านดินระเบิดไปปะทะกับหินในหลุมเกิดเป็นประกายไฟจุดดินระเบิดที่อัดแน่นอยู่ในหลุมระเบิดสนั่นหวั่นไหวใส่ที่ใบหน้าของ ฟีนี่ส์ เกจ เต็มแรง

ที่ร้ายแรงยิ่งกว่าแรงระเบิดก็คือ เหล็กชะแลงที่เขาถืออยู่

มันโดนแรงระเบิดและพุ่งออกจากหลุมดินระเบิด กระแทกเข้าที่โหนกแก้มด้านซ้าย พุ่งทะลุผ่านกะโหลกศีรษะของ ฟีนี่ส์ เกจ ไปออกที่ตรงกลางศีรษะเหนือหน้าผาก

ท่อนชะแลงเหล็กที่เป็นเหมือนกระสุนขนาดใหญ่ ทะลวงทะลุศีรษะของ ฟีนี่ส์ เกจ ลอยไปตกบนพื้นห่างออกไปเกือบสามสิบเมตร

ร่างของ ฟีนี่ส์ เกจ กระเด็นลอยไปตกลงพื้น ไม่ตาย ไม่สลบ และรู้สึกตัวดี

ฟีนี่ส์ เกจ ยังตะลึงงันกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิด

แต่ที่ตะลึงยิ่งไปกว่าตัว ฟีนี่ส์ เกจ เองก็คือ คนงานในเหตุการณ์ที่คิดว่า ฟีนี่ส์ เกจ น่าจะเสียชีวิตทันที แต่เขากลับมีเพียงอาการกระตุกที่แขนขาเล็กน้อยและรู้สึกตัวดี แถมพูดคุยได้เหมือนคนปกติ ฟีนี่ส์ เกจ ถูกหามใส่รถม้าส่งไปรักษาพยาบาลที่โรงแรมที่ห่างออกไปไม่กี่สิบเมตร

แม้จะมีรูเปิดที่ศีรษะและบาดแผลเหวอะหวะของสมอง แต่ ฟีนี่ส์ เกจ กลับเดินลงจากรถม้าได้ด้วยตัวเอง

แพทย์ที่มาให้การรักษาถึงกับอึ้งกับบาดแผลและทึ่งกับการรู้สึกตัวเป็นปกติของ ฟีนี่ส์ เกจ เขาเขียนไว้ในบันทึกการแพทย์ว่า ฟีนี่ส์ เกจ มีบาดแผลจากวัตถุที่พุ่งทะลุโหนกแก้มไปออกที่เหนือหน้าผากกลางศีรษะ เป็นบาดแผลขนาดใหญ่ที่เห็นเนื้อสมองเต้นตุ๊บๆ อยู่ข้างใน แต่ ฟีนี่ส์ เกจ ก็รู้สึกตัวดี ตอบคำถาม และเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน

ฟีนี่ส์ เกจ พักรักษาตัวอยู่เพียงสองเดือนก็หายอย่างอัศจรรย์ โดยไม่มีการติดเชื้อรุนแรง

แต่ที่ประหลาดและน่าฉงนสนเท่ห์มากกว่าอุบัติเหตุ อาการ และการหายป่วยของ ฟีนี่ส์ เกจ ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ ฟีนี่ส์ เกจ หลังอุบัติเหตุครั้งนั้น

เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องหันมาเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเหตุผล สมองกับอารมณ์กันใหม่

เพราะหลังฟื้นตัวจากอุบัติเหตุ แม้ ฟีนี่ส์ เกจ จะไม่ปรากฏมีอาการผิดปกติของร่างกาย ไม่มีอาการแขนขาอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต ไม่มีอาการลิ้นแข็ง ไม่มีอาการเดินผิดปกติหรือมือไม้สั่น ไม่มีความผิดปกติของการพูดหรือการใช้ภาษา ซึ่งเป็นอาการที่รู้กันว่ามักพบในผู้ที่มีความผิดปกติของสมอง

แต่ ฟีนี่ส์ เกจ กลับไม่ใช่ ฟีนี่ส์ เกจ คนเดิม

สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือของเขา คืออารมณ์ที่ก้าวร้าวรุนแรง มุทะลุดุดัน และหยาบคาย จาก ฟีนี่ส์ เกจ ที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อการงาน ตัดสินใจในการทำงานด้วยเหตุผล และมีความยับยั้งชั่งใจ กลายมาเป็น ฟีนี่ส์ เกจ ที่มีแต่ความหุนหันพลันแล่นและอารมณ์ที่รุนแรง

เหมือนถูกกำกับไว้เพียงสัญชาตญาณของสัตว์ป่า

ฟีนี่ส์ เกจ ต้องออกจากงานไปรับจ้างเป็นคนเลี้ยงม้า จากนั้นไปร่วมแสดงในคณะละครสัตว์ที่โชว์ของแปลก ซึ่งเขาจะถือท่อนเหล็กที่มันเคยเสียบทะลุหัวของเขาไปเดินโชว์ให้คนเห็นตัวจริงเป็นๆ ของคนที่ผู้ชมเคยอ่านจากข่าวอุบัติเหตุ แต่เขาทำงานนี้อยู่ได้ไม่นานก็ออกเดินทางไปเผชิญโชคในอเมริกาใต้ และกลับมาอยู่กับแม่และน้องสาวที่ซาน ฟรานซิสโก และเสียชีวิตเงียบๆ ที่นั่น

เรื่องราวของ ฟีนี่ส์ เกจ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ กรณีศึกษาที่นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาใช้ศึกษาทำความเข้าใจเรื่องจิตใจ อารมณ์ และชีวิตทางสังคมของมนุษย์

จะว่าไปแล้ว วิทยาศาสตร์มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอารมณ์น้อยกว่าเรื่องอื่นๆ

ในช่วงทศวรรษหลังนี้เองที่นักวิทยาศาสตร์หันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังเกี่ยวกับเรื่องของจิต วิญญาณ และอารมณ์ พร้อมๆ กับความสนใจเรื่องจิต นักวิทยาศาสตร์ก็ได้หันมาเรียนรู้จากปรัชญาและศาสนาของตะวันออกโดยเฉพาะพุทธศาสนา ในปี ค.ศ. ๑๙๙๕ นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำกับนักปรัชญาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้จัดเวทีเสวนากับองค์ทะไลลามะขึ้น เป็นการพูดคุยในเรื่องอารมณ์ ความเมตตากรุณา และจริยธรรมจากมุมมองของวิทยาศาสตร์

มีการตั้งข้อสังเกตว่า วิทยาศาสตร์ไม่ค่อยสนใจเรื่องของอารมณ์

และเมื่อวิทยาศาสตร์มาศึกษาเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก วิทยาศาสตร์ก็จะให้ความสำคัญกับอารมณ์รุนแรงและเป็นอารมณ์ร้าย เช่น ความก้าวร้าว มากกว่าเรื่องอารมณ์ที่ละเอียดอ่อน เช่น เรื่องของความเมตตากรุณาหรือความเอื้ออาทร

ยิ่งไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์มักมองแบบแยกส่วน คือให้ความสำคัญกับการหาสารเคมีในสมองหรือแยกสมองออกเป็นส่วนๆ และหาดูว่าสมองส่วนไหนทำหน้าที่อะไรเป็นสำคัญ

ซึ่งก็ทำให้เราได้ความรู้ใหม่มากมายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

อย่างกรณีของ ฟีนี่ส์ เกจ ปัจจุบันเราก็เข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า สมองส่วนหน้าด้านซ้ายของ ฟีนี่ส์ เกจ ซึ่งถูกชะแลงเหล็กทะลวงผ่านนั้น เป็นส่วนของสมองที่มีความสำคัญด้านอารมณ์ ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกหรือประสบอุบัติเหตุทำลายสมองส่วนนี้จึงมักมีอารมณ์แปรปรวนหรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ ซึ่งมีผลอย่างใหญ่หลวงต่อการมีชีวิตในสังคม

แต่ถ้าเราคิดอย่างนี้ก็อาจสุ่มเสี่ยงต่อการลดทอนอารมณ์และชีวิตทางสังคมให้เหลือแค่เพียงปฏิกิริยาทางชีวเคมีและโครงสร้างของระบบประสาทในสมองเท่านั้น

ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมด

เพราะมีการค้นพบที่น่าสนใจมากอีกหลายประการที่แสดงให้เห็นกลับกันว่า โครงสร้างระบบประสาทในสมองของเราเป็นผลจากการใช้ความรู้สึกนึกคิดบ่อยๆ ด้วย

มีงานวิจัยพบว่าในหมู่คนขับรถแท็กซี่ที่ต้องใช้จินตนาการเรื่องทิศทางและวาดภาพแผนที่การเดินทางบ่อย สมองส่วนที่เรียกว่า ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างจินตภาพเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพื้นที่ จะมีขนาดใหญ่กว่ามากกว่าคนในอาชีพอื่น ๆ

จะเรียกว่า การปฏิบัติภาวนา หรือการหมั่นฝึกฝนหมั่นใชังาน จะทำให้สมองส่วนที่เกี่ยวข้องมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นก็ได้

นอกจากนั้น สมองที่ผิดปกติยังสามารถเยียวยาได้จากสังคมและสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมอีกด้วย

ในผู้ป่วยที่สมองสองซีกถูกตัดแยกออกจากกัน ซึ่งทำให้กลายเป็นคนที่มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนเป็นสองคน สองความรับรู้และสองความคิด มีชีวิตและการแสดงออกเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นอยู่กับว่าสมองซีกไหนมีอำนาจมากกว่า

เมื่อมีชีวิตอยู่ต่อไประยะหนึ่ง ความแปลกแยกของการมีสองความรู้สึกนึกคิดก็จะถูกสังคมและวัฒนธรรมหลอมให้เป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นใหม่ได้

ทั้งที่เนื้อสมองทั้งสองซีกยังถูกตัดแยกขาดจากกันอยู่

จิต อารมณ์ เหตุผล สมอง และสังคม จึงเป็นสิ่งที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างน่าอัศจรรย์

Back to Top