ธรรมชาติ ศาสนา กับสาเหตุแห่งความทุกข์

โดย ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ 22 มีนาคม 2548

หนังสือพิมพ์ เจแปนไทม์ ลงรายงานข่าวจากสำนักข่าวเอพีเกี่ยวกับสถานการณ์สึนามิว่า องค์กรด้านศาสนาที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้นมีการแข่งขันกันเผยแพร่ศาสนาของตนเพื่อเสนอหนทางพ้นทุกข์แก่ดวงวิญญาณของผู้ประสบภัยในเกาะสุมาตรา

มีการช่วงชิงและตอบโต้กันบ้าง ตามประสาคนอยากทำดี

ที่ต้องช่วงชิงและแข่งขันกันนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะแต่ละศาสนาต่างก็เสนอหนทางออกจากความทุกข์ที่ไม่เหมือนกัน

และที่เสนอทางออกไม่เหมือนกัน ก็เพราะแต่ละศาสนามีทฤษฎีว่าด้วยความทุกข์ที่แตกต่างกัน

จะว่าไปแล้ว ปัญหาการดำรงอยู่ของความทุกข์ ความชั่วร้าย และความไม่เป็นธรรม เป็นคำถามที่ทุกๆ ศาสนาพยายามให้คำตอบแก่มนุษย์ และเป็นโจทย์เก่าแก่ทางเทววิทยาที่วนเวียนกลับมาให้มนุษย์หาทางอธิบายด้วยทฤษฎีต่างๆ มาแต่อดีต จนถึงกับมีการบัญญัติศัพท์ทางวิชาการที่นักปรัชญาศาสนาและเทววิทยาใช้เรียกโจทย์นี้ว่า Theodicy

มักซ์ เวเบอร์ นักคิดทางสังคมศาสตร์ได้ศึกษาเปรียบเทียบปรัชญาศาสนาต่างๆ และได้แสดงให้เห็นว่า ศาสนาต่างๆ ตอบคำถามเรื่องการดำรงอยู่ของความชั่วร้าย ความทุกข์ และความยุติธรรมไว้ไม่เหมือนกัน ปัญหาการดำรงอยู่ของความทุกข์และความชั่วร้ายนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงศาสนาที่เรียกว่าเอกเทวนิยม คือศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว

ความเชื่อแบบเอกเทวนิยมนั้นถือว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมีอำนาจเหนือทุกสิ่ง เพราะพระองค์ทรงสร้างโลกและสรรพชีวิตทั้งมวล รวมทั้งทรงบัญญัติกฎธรรมชาติทั้งหลายด้วย ไม่เพียงแต่พระเจ้าจะมีอำนาจเหนือทุกสิ่ง (Omnipotent) และปรากฏอยู่ทุกหนแห่ง (Omnipresent) พระองค์ยังทรงไว้ซึ่งคุณธรรมยุติธรรม (คือมีเหตุผล) และมีพระเมตตาอย่างที่สุดด้วย

ปัญหาก็คือว่า ถ้าพระองค์ทรงเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมโลกนี้จึงเต็มไปด้วยความทุกข์ ทำไมต้องมีสงครามที่เข่นฆ่าเด็กๆ ผู้ไร้เดียงสาหรือทำร้ายประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ทำไมพระองค์ไม่ทำให้ความชั่วร้ายหมดไปจากโลกและให้โลกมีแต่ความยุติธรรมและสันติสุข

ยิ่งในกรณีโศกนาฏกรรมสึนามิที่เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตายเป็นเด็กๆ ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ

คำอธิบายที่มักพูดกันง่ายๆ ว่าพระเจ้าลงโทษ ดูจะใช้ไม่ได้สำหรับความตายของเด็กๆ จำนวนมากเหล่านี้ เพราะเราไม่เชื่อและไม่คิดว่าเด็กเหล่านี้จะได้ทำผิดอะไรใหญ่หลวงจึงต้องมาเผชิญชะตากรรมเช่นนี้ โดยเฉพาะเมื่อเรายังเห็นคนที่ทำเรื่องที่เลวร้ายอย่างมากกลับยังลอยนวลเสพสุขอยู่

หากพิจารณาจากมุมมองทางศาสนา พวกที่ชอบตั้งคำถามและชอบโต้แย้งหาคำอธิบายเช่นนี้อาจถือว่าเป็นพวกใช้เหตุผลมากกว่าศรัทธา เพราะต้องไม่ลืมว่าศาสนามีเรื่องศรัทธาเป็นส่วนสำคัญอยู่ด้วย

จะว่าไปแล้ว การคาดคั้นหาเหตุผลโดยตัวมันเองก็อาจเป็นเรื่องไม่มีเหตุผลได้เหมือนกัน

เพราะเหตุผลหรือคำอธิบายอาจไม่มีอยู่

หรือถึงจะมี ก็อาจไม่ใช่คำอธิบายที่จะนำไปสู่การดับทุกข์

ในหลายกรณี ศาสนาจึงมักหาทางออกจากโจทย์เหล่านี้ด้วยคำตอบที่ตอกย้ำศรัทธา ผู้นำทางคริสต์ศาสนาท่านหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ถึงเหตุการณ์สึนามิที่ผู้คนจำนวนมากต้องทนทุกข์ทรมานว่า ให้ถือว่าเรื่องร้ายแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเสมอนั้นเป็นเครื่องทดสอบศรัทธาที่มนุษย์มีต่อพระเจ้า

เพราะแม้แต่พระเยซูก็ยังต้องเสียชีวิตอย่างทนทุกข์ทรมานด้วยการถูกตรึงบนไม้กางเขน และที่เป็นเช่นนั้นก็เพื่อแสดงถึงศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อประกาศเกียรติคุณของพระองค์

ที่สำคัญคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้ามีเหตุผลอย่างไร พระเจ้าอาจจะทรงมีเหตุผลของพระองค์ แต่เราผู้เป็นมนุษย์ธรรมดานั้นอาจไม่มีสติปัญญาพอที่จะรู้ได้ เพราะถ้าเรารู้ไปหมดทุกอย่าง เราก็รู้เท่าพระเจ้า หรือไม่ก็เป็นพระเจ้าเสียเอง

หากพิจารณาจากศาสนาที่มีพระเจ้าหลายองค์หรือจากคติความเชื่อแบบพื้นบ้าน คำถามว่า ทำไมเรื่องเลวร้ายจึงเกิดขึ้นนี้ มีวิธีตอบที่แตกต่างและดูเหมือนง่ายที่จะเข้าใจมากกว่า

ในศาสนาฮินดู หรือลัทธิพราหมณ์นั้นมีพระเจ้าหรือเทพมากมายที่ทำหน้าที่ต่างกัน เทพที่สำคัญคือพระพรหม ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งการสร้าง พระวิษณุหรือเทพเจ้าแห่งการบำรุงรักษา และพระศิวะผู้เป็นเทพเจ้าแห่งการทำลาย สรรพสิ่งจึงถูกสร้างขึ้น ได้รับการบำรุงรักษา และบางครั้งก็ถูกทำลายลงเพื่อที่จะสร้างขึ้นใหม่เป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยไป

ภัยธรรมชาติก็อาจเข้าใจได้ไม่ยากว่า เกิดจากวงจรอำนาจของเทพที่สลับผัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่

เทพของกรีกก็มีมากมายมหาศาลและมีการแบ่งบทบาทหน้าที่คล้ายกันนี้ด้วย

ในขณะที่คติความเชื่อแบบพื้นบ้านต่างๆ แม้ในบางวัฒนธรรมความเชื่อจะมีพระผู้สร้าง (เช่น พญาแถน) อันเป็นเทพสูงสุด แต่คำถามว่า “ทำไม” นี้ดูเหมือนจะเข้าใจได้ง่ายและตรงไปตรงมากว่า เพราะคติความเชื่อพื้นบ้านในเรื่องผี เทพ หรือเจ้าต่างๆ นั้น มักเหลือพื้นที่ไว้สำหรับความไม่มีเหตุผลของผี เทพ หรือของเจ้า มากกว่าความคิดแบบเอกเทวนิยมที่ว่าไว้ข้างต้น

เพราะผีนั้น บางทีก็มีเหตุผล บางทีก็ไม่มีเหตุผล เทพก็ดูจะทรงพิโรธได้ง่ายๆ เช่นเดียวกับเจ้าที่ต้องคอยเซ่นไหว้เอาอกเอาใจ

พูดง่ายๆ อำนาจเหนือธรรมชาติเหล่านี้มีทั้งมิติของเหตุผลและมิติของอารมณ์

คือบางครั้งก็เอาแน่เอานอนกับท่านไม่ค่อยได้

คติพื้นบ้านเหล่านี้จึงยอมรับได้ว่าภัยพิบัติย่อมเกิดขึ้นได้ และมนุษย์นั้นมีชะตากรรมที่ไม่แน่ไม่นอน เพราะชีวิตเราขึ้นอยู่กับความไม่มีเหตุผลพอๆ กับความมีเหตุผล

การยอมรับว่าชีวิตเป็นสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้และมนุษย์ไม่สามารถที่จะรู้ไปเสียทุกสิ่ง ทำให้เรามีท่าทีต่อชีวิตแบบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากท่าทีที่อหังการ มมังการ ที่เกิดจากการถือดีว่ามนุษย์นั้นรู้ได้ทุกอย่าง และเมื่อรู้ได้ทุกอย่าง ก็จัดการได้ทุกอย่าง โดยลืมเตือนตนเป็นอนุสติอยู่เสมอว่าชีวิตนั้นเปราะบางและหาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้

ท่าทีแบบหลังนี้ ในทางพุทธถือว่าเป็นการมีชีวิตอยู่บนความประมาท

Back to Top