มนุษย์จำเป็นต้องมีจิตขนาดใหญ่
เพื่อที่จะบรรจุความเมตตา ความกรุณา
อันไม่มีที่ประมาณไว้ได้
โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 มิถุนายน 2553
คาร์ล มาร์กซ์ เจ้าลัทธิสังคมนิยม ผู้เชื่อเฮเกลอย่างยิ่ง เชื่อใน “ไดอะเล็กติก” แต่ตรงกันข้ามกับเฮเกล เพราะเป็นนักวัตถุนิยมจ๋า จึงผิดตาม (เกิดคำว่า “ชนชั้น” ที่เป็นหัวใจของหนังสืออันมีชื่อเสียงของเขา, Communist manifesto, 1848) และเป็นสาเหตุที่ผู้เขียนเชื่อตามไปด้วย - เนื่องจากปัญญาคือเป้าหมายชีวิตของผู้เขียน ทั้งที่ตอนนั้นมีปัญญาแค่หางอึ่ง - ตั้งแต่วัยรุ่นกระทั่งร่วมสามสิบปีก่อน อีกอย่างหนึ่ง ชื่อเรื่องนั้นเป็นความเห็นส่วนตัวที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์หรือกระบวนทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกทัศน์ทางสังคมนิยมมาเป็นธรรมาธิปไตยที่เชื่อมั่นในศาสนาพุทธและความจริงแท้ ซึ่ง ฌ็อง เปียเจต์ บอกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยากมาก เพราะได้ผ่านวัยเด็ก (๓-๑๑ ขวบ) ไปแล้ว ยากเพราะคนส่วนใหญ่ร้อยละ ๘๐ ได้มีจิตใต้สำนึกกับพฤติกรรมไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ทางสังคมของผู้ผ่านวัยเด็กไปแล้วนั้น ผู้เขียนคิดว่าไม่ได้เกิดจากจิตใต้สำนึก หากแต่เป็นเรื่องจิตสำนึกที่ผ่านการบริหารโดยสมอง คือประสบการณ์ที่มีใหม่ที่จะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
กระบวนการทั้งคู่ ทั้ง I กับ II (process I and II) เป็นกระบวนการของสมองและที่สมอง ซึ่งกระบวนการที่ I เป็นไปจากบนลงมาล่าง ด้วยกลไกของแควนตัมเมคคานิกส์ในการเลือกสภาวะความเป็นไปได้ของคลื่น ส่วนกระบวนการที่ II เป็นเรื่องของคลาสิคัลหรือนิวโตเนียนฟิสิกส์ ซึ่งทำนายผลที่แน่นอนได้ เป็นไปจากล่างมาสู่บนของสมอง – ผู้เขียนคิดเอง – ว่ามันอาจเป็นเรื่องของจิตไร้สำนึก (cosmic unconsciousness as consciousness) ซึ่งแสดงว่าจิตอาจจะเป็นสิ่งที่เล็กละเอียดอย่างยิ่ง และเป็นเหมือนกับคลื่นอนุภาค (wave particles or quiff) คือทั้งจิตกับคลื่นอนุภาค ต่างมีคุณสมบัติเหมือนกันทุกประการแต่จิตละเอียดกว่ามากนัก
ขณะที่มาร์กซ์เป็นวัตถุนิยม เฮเกลซึ่งนักปรัชญาทั้งหลายเชื่อว่าเป็นนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกตะวันตกในศตวรรษที่ ๑๙ กลับเป็นจิตนิยม โดยเฉพาะหนังสือชื่อ ปรัชญาของประวัติศาสตร์ (Philosophy of History) อันประกอบด้วยอภิปรัชญาของเฮเกลเอง ซึ่งเขาเชื่อว่าตนเองได้ค้นพบกฎธรรมชาติของการเกิดความคิดที่จะกลายเป็นความรู้ที่เรียกว่า “ไดอะเล็กติก” (คำที่ยืมมาจากพลาโต) ซึ่งประกอบด้วย “เธสีส” (thesis) และจะต้องมีธรรมชาติของความเป็นตรงกันข้ามกันเสมอ (โดยธรรมชาติเช่นกัน) ที่เรียกว่า “แอนตี้เธสีส” (antithesis) และทั้งสองฝ่ายจะต่อสู้และหักล้างกัน จนความเป็นองค์กรทั้งสองฝ่ายนั้น หมดเกลี้ยงเหลือแต่เศษส่วนประกอบอันเป็นองค์กรนั้นๆ ซึ่งจะรวมกันเกิดองค์กรใหม่เรียกว่า “ซีนเธสีส” (synthesis) อภิปรัชญาของเฮเกลที่คิดว่า ประวัติศาสตร์โดยธรรมชาติของประเทศชาติใดในโลก เป็นการเขียนขึ้นของคนเขียนประวัติศาสตร์ โดยเน้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตของสังคมประเทศชาตินั้นๆ
เมตาฟิสิกส์ “ไดอะเล็กติก” ของ ฟีดดริช เฮเกล มีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อ คาร์ล มาร์กซ์ จนเขายอมรับอย่างศิโรราบ ยกเว้นมาร์กซ์คิดว่าเพราะเฮเกลเป็นนักปรัชญาจิตนิยม จึงคิดอะไรมีความรู้อะไรมักจะเป็นไปตามประสบการณ์ที่ไตร่ตรองบนเหตุผลหรือตรรกะของตนเอง ความคิดความรู้ที่นำเสนอต่อสาธารณชนจึงเป็นอภิปรัชญาแทนที่จะเป็นวิทยาศาสตร์ มาร์กซ์จึงมีความเห็นว่าประวัติศาสตร์ของสังคมและชุมชนของมนุษยชาติ – ไม่ว่าประเทศใด – ประกอบด้วยชนชั้นของผู้ที่ไม่มี หรือมีน้อย หรือผู้ที่ใช้แรงงาน ผู้รับใช้บุคคลจำพวกแรกหรือคนอื่นๆ กับผู้ที่มี หรือมีมาก หรือผู้ที่ใช้บุคคลจำพวกแรก ที่แน่นอน ย่อมมีบุคคลที่มีชนชั้นหรือวรรณะระหว่างคนสองจำพวกที่กล่าวมานั้น คาร์ล มาร์กซ์ จึงได้เขียนหนังสือที่เป็นอุดมการณ์ที่โด่งดังยิ่งนั้นขึ้นมา
ออกัสเต คอมเต (Auguste Comte) เป็นนักจิตวิทยาสังคมผู้คิดว่าสังคมของมนุษย์แยกออกจากมนุษย์แต่ละคน และแยกจากมนุษยชาติโดยรวมไม่ได้ เขาจึงได้ตั้งสาขา “สังคมวิทยา” ขึ้นมาเพื่อศึกษาสังคมมนุษย์โดยเฉพาะ แต่เขาเข้าใจสังคมในเชิงวิทยาศาสตร์หรือชีววิทยาของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน โดยไม่ได้ศึกษาฟิสิกส์อย่างเพียงพอ จึงมองชีวิตโดยเฉพาะมนุษย์ไปในทางชีววิทยา ซึ่งขึ้นกับการสังเกต “สิ่งที่มีชีวิต” ในขณะนั้นๆ อย่างเป็นระบบ
ออกัสเต คอมเต จึงมองวิวัฒนาการของจิตใจของมนุษย์ไปในเชิงชีววิทยา คือขึ้นกับประสบการณ์การสังเกตของมนุษย์แค่นั้น ซึ่งก็คือวิทยาศาสตร์ จึงมองว่าสังคมของมนุษย์คือประสบการณ์ที่มองเห็น (สังเกต) ได้ ประวัติศาสตร์ของวิวัฒนาการจิตของมนุษย์และสังคม ซึ่งก็คือวัฒนธรรม จึงจบลงที่วิทยาศาสตร์ (magic mythic and science)
ที่เอาออกัสเต คอมเต มาพูดถึงในที่นี้เพื่อแสดงว่า นักจิตวิทยาสังคมหรือนักปรัชญาสังคม เศรษฐกิจและการเมือง รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์สังคมทั้งหลาย ควรศึกษาค้นคว้าวิทยาศาสตร์ให้ถึงแก่นแกนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะฟิสิกส์ (และแควนตัมฟิสิกส์หลังปี ๑๙๒๗) ทั้งนี้ก่อนที่นักวิชาการพวกนั้นจะเขียนและตีพิมพ์หนังสือออกมาสู่สาธารณชน เนื่องจากพวกเขามักไม่รู้ว่า หนังสือของตัวเองนั้นมีอิทธิพลความสำคัญสุดต่อสาธารณชนผู้อ่านทั่วไปยิ่งนัก โดยที่คนทั่วไปจะไม่ค่อยมีเวลาอ่านหนังสือหรือวารสารด้านวิทยาศาสตร์หนึ่ง อ่านแล้วไม่เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งหนึ่ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือหรือข้อมูลนั้นๆ เกี่ยวกับมนุษย์หรือสังคมของมนุษย์อีกหนึ่ง ซึ่งเราโดยทั่วไปก็รู้อยู่เต็มอกแล้วว่าอะไรๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์หรือสังคมของมนุษย์ หรือแม้แต่ใกล้ๆ กับตัวมนุษย์แล้ว มนุษย์เราแทบทุกคนจะมีความรู้สึกว่า เรื่องนั้นน่าสนใจเป็นที่ยิ่งและมักจะจดจำกันไปอย่างยาวนานนัก แถมยังลบออกไปจากความทรงจำยากที่สุด เพราะเรามักหลงตัวเอง
ฟรีดดริช เฮเกล และ คาร์ล มาร์กซ์ ก็เป็นเช่นนั้น รวมถึงเรื่องของชนชั้น ซึ่งหนักกว่าชั้นวรรณะของอินเดียโบราณที่มีอยู่จนกระทั่งวันนี้ และผู้เขียนคิดว่า ไม่มีทางที่มนุษย์จะกำจัดให้ออกไปจากสังคมโดยรวมได้หมดจริงๆ เพราะว่ามันผิดธรรมชาติ กอไผ่หรือกอหมากมีต้นที่แคระแกรนเตี้ยเล็กและต้นที่สูงชันอวบสมบูรณ์ในกอเดียวกัน พระพุทธองค์ถึงกล่าวว่า คนเรามีสูง มีต่ำ มีดำ มีขาว มีจน มีรวย เป็นพราหมณ์หรือราชา เป็นคนพาลต่ำช้าหรือเป็นโจร ฯลฯ เป็นเพราะกรรมอย่างเดียว
พระพุทธองค์ไม่ได้ถือชั้นวรรณะของมนุษย์ผู้ “ประเสริฐ” กว่าสัตว์โลกทั้งหลาย ไม่ใช่เพราะเกิดมาจากต่างครรภ์มารดาในสังคมเดียวกัน แต่เป็นเพราะพฤติกรรมต่างหาก ไล่ต่อไปแล้วก็ขึ้นกับการเลี้ยงดูและพันธุกรรม คือห้อมล้อมด้วยคนถ่อยคนพาลคนต่ำช้า หรือมีพ่อแม่เป็นโจร มีโคตรเหง้าเป็นโจร โดยมีสิ่งแวดล้อมในวัยเด็กมากกว่าเล็กน้อย แต่หากไล่ไปจนถึงที่สุดก็เป็นเพราะกรรมเหมือนกัน ผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยตัวแทนแบบที่เรามีอยู่ หากแต่เชื่อในวิวัฒนาการทางจิตที่ไปตามสเปคตรัมของจิตเป็นธรรมชาติสำคัญที่สุด ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าเป็นเป้าหมายของจักรวาล หาใช่สสารวัตถุหรือเนื้อเยื่อไม่ อย่าลืมว่าความประพฤติหรือพฤติกรรมของมนุษย์นั้น นักวิทยาศาสตร์ทุกคนบอกกับเราตลอดเวลาว่า ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้การควบคุมหรือกำหนดโดยจิตหรือนามทั้งสิ้น ไม่ว่าจิตจะเป็นคนละเรื่องกับสมองหรือเป็นผลการทำงานของสมอง
ที่ว่าทั้งเฮเกล ทั้งมาร์กซ์และทั้งชนชั้นที่ผิดนั้น ผิดอย่างไร? ขอชี้แจงดังนี้
ข้อแรก คิดว่าเฮเกลผิดในเรื่องเวลา เฮเกลก็เช่นเดียวกับคนในยุคนั้นที่มองอะไรๆ เป็นเส้นตรงตามลูกศรแห่งเวลา ทฤษฎี “ไดอะเล็กติก” ก็เป็นเช่นนั้น ในขณะที่ความจริงทางวิทยาศาสตร์นั้น ปรากฏการณ์ของจักรวาลเคลื่อนที่ไม่เป็นเส้นตรง แต่เป็นวัฏจักร “ก้นหอย” (vortex or no-linear science)
ข้อสอง ผิดที่เรื่องขององค์กร มันไม่มี “เธสีส” “แอนตีเธสีส” และ “ซีนเธสีส” แบบที่เฮเกลคิด มันต้องมีตัวดึงดูดและทางสองแพร่งก่อนความล่มสลายขององค์กรเก่า ถึงจะมีองค์กรใหม่โผล่ปรากฏขึ้นมา และมันไม่มีการรวมกันหรอก มีแต่มากกว่า (เอบวกบี ไม่เท่ากับ เอบี)
ข้อสาม ความเป็นองค์รวมซ้ำซ้อนองค์รวมไปเรื่อยๆ ฯลฯ เฮเกลไม่ได้พูดถึง อิมมานูเอล ค้านท์ ที่แม้จะเป็นคนรุ่นก่อนกว่า แต่ก็ร่วมสมัยกัน ความเป็นองค์รวมหรือทั้งหมด (holism) ของค้านท์ การมองชีวิต “การเป็นไปเช่นนั้นของมันเอง” (autopoiesis) อันเป็นหัวใจของปรัชญาของค้านท์ ขัดแย้งกับความคิดของเฮเกลเองที่บอกว่าความจริงที่แท้จริงคือจิตที่สมบูรณ์ (หรือจิตหนึ่งหรือจิตใต้สำนึกร่วมของจักรวาล) เฮเกลจึงผิดที่เขาตั้งทฤษฎีไดอะเล็กติกขึ้นมา แต่กลับไม่รวมความจริงที่แท้จริงหรือจิตไร้สำนึกร่วมของจักรวาลไว้ในทฤษฎีไดอะเล็กติกของเขา
และคาร์ล มาร์กซ์ ยิ่งผิดเข้าไปอีกฐานเชื่อเฮเกลและไดอะเล็กติกอย่างศิโรราบ จริงอยู่ มาร์กซ์ได้เปลี่ยนประเทศชาติเป็นชนชั้นของสังคม ทั้งยังได้สร้างลัทธิคอมมูนิสต์ขึ้นมา (ประกอบด้วยสามทฤษฎีย่อย แต่มีทฤษฎีไดอะเล็กติกสำคัญที่สุด) ผู้เขียนรู้สึกเหมือนกับ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่มาร์กซ์ เฮเกล กับไดอะเล็กติก ไม่รวมจิตและองค์รวมไว้ด้วย ผู้เขียนจึงรู้สึกเสียใจยิ่งนักที่เชื่อ คาร์ล มาร์กซ์ มานานร่วมสามสิบปี แถมเชื่อในวัยทำงานเสียด้วย จนกระทั่งมีวิทยาศาสตร์แห่งยุคใหม่ แควนตัมเมคคานิกส์ทฤษฎีเคออส ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่ไม่เดินเป็นเส้นตรง ฯลฯ เกิดขึ้นและได้ติดตามอย่างใกล้ชิดมานานจริงๆ
ชนชั้นวรรณะทางสังคมนั้น – ไม่ว่าศักดินา ชนกรรมาชีพ อำมาตย์ หรือทาส ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีมาตั้งแต่ยุคโฮโม อีเรคตัส ในอดีตแล้ว ปัจจุบันและอนาคตเราจะต้องไม่ผิดอีก เช่น อเมริกา ยุโรป กับที่เราตั้งใจผิดและปรารถนาผิดๆ เช่น สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยตัวแทน ความเท่าเทียมกันที่ตาเห็น ดังที่พระพุทธองค์กล่าวว่า วรรณะไม่เป็นธรรมหากมองแต่กายที่เห็น แต่ไม่มองที่พฤติกรรมควบคุมด้วยจิตที่ไม่เห็น นั่นคือวิวัฒนาการทางจิตที่สำคัญกว่ากาย
แสดงความคิดเห็น