โดย
พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 กันยายน 2555
เป็นคนเก่ง หรือ คนขยัน อย่างใดจะดีกว่ากัน
แครอล ดเว็ค แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มีคำตอบ เขาได้ทำการทดลองกับนักเรียนนับร้อย ส่วนใหญ่เพิ่งย่างเข้าวัยรุ่น ทุกคนได้ทำแบบทดสอบที่ค่อนข้างยาก จากนั้นบางคนก็ได้รับคำชมที่เน้นเรื่องความสามารถ เช่น “คุณเก่งมาก” แต่บางคนได้รับคำชมที่เน้นเรื่องความพยายาม เช่น “คุณพยายามมากเลย”
เขาพบว่านักเรียนที่ได้รับคำชมว่าเก่ง มีความสามารถ มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงทำสิ่งยากๆ ที่ไม่เคยทำ ทั้งๆ ที่เขาสามารถเรียนรู้ได้มากมายจากสิ่งนั้น เหตุผลก็คือเขากลัวว่าจะทำได้ไม่ดี ซึ่งทำให้คนอื่นเห็นจุดอ่อนของตน และสงสัยในความสามารถของตัว
ในทางตรงข้ามร้อยละ ๙๐ ของเด็กที่ได้รับคำชมว่าขยัน สู้งาน กลับกระตือรือร้นที่จะทำสิ่งยากๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเขาไม่กลัวความล้มเหลว ถึงแม้ผลจะออกมาเป็นลบ ก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกแย่หรือรู้สึกลบกับตนเอง เพราะเขาได้ทำเต็มที่แล้ว
กล่าวอีกนัยหนึ่ง สำหรับคนที่ได้รับคำชมว่าขยัน ผลที่เกิดขึ้นนั้นไม่กระทบกับสำนึกในตัวตนของเขา ต่างจากคนที่ได้รับคำชมว่าเก่ง เขาจะสร้างภาพตัวตนว่าเป็นคนเก่ง ดังนั้นหากประสบความล้มเหลว มันไม่เพียงส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเขาในสายตาของคนอื่นเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบกับตัวตนที่เป็นคนเก่งของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจทำให้ภาพตัวตนดังกล่าวคลอนแคลน จนเกิดความรู้สึกว่าตนเป็นคนไม่เก่ง ซึ่งนั่นย่อมสร้างความทุกข์ใจแก่เขาอย่างมาก ดังนั้นเขาจึงมักเลี่ยงทำงานที่ยากหรือเสี่ยงต่อความล้มเหลว และพอใจที่จะทำงานที่ถนัดหรือมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จมากกว่า
การทดลองดังกล่าวให้ข้อคิดที่ดี ไม่เฉพาะกับเด็กหรือวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อผู้ใหญ่ด้วย ไม่ใช่ในแง่ที่ว่า ควรชมลูกหลานของตนอย่างไรเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าในแง่ที่ว่า เราควรจะเลือกสร้างสำนึกเกี่ยวกับตัวตนอย่างไร รวมทั้งตระหนักถึงจุดอ่อนจุดแข็งของภาพตัวตนแต่ละอย่างที่ตนสร้างขึ้นมาหรือเลือกรับเอามาด้วย
อันที่จริง ความเป็นคนเก่ง กับความเป็นคนสู้งาน นั้นไม่จำเป็นต้องแยกกัน คนๆ หนึ่งสามารถมีภาพตัวตนทั้งสองอย่างควบคู่กันได้ แต่สำนึกดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้อันใด หรือมีอะไรมากระตุ้นให้สำนึกอันใดผุดขึ้นมาในจิตใจของเรา จะว่าไปแล้วนอกจากความเป็นคนเก่ง หรือความเป็นคนสู้งานแล้ว ยังมีภาพตัวตนอีกมากมายที่ก่อตัวขึ้นในใจของเรา เช่น ความเป็นหญิง เป็นชาย เป็นไทย เป็นพุทธ เป็นพ่อแม่ เป็นคนสุภาพ เป็นคนหัวก้าวหน้า ฯลฯ ภาพตัวตนแต่ละอย่างที่ผุดขึ้นมานั้นสามารถส่งผลให้เกิดพฤติกรรม หรือความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกันได้ รวมทั้งความสามารถที่แสดงออกมาด้วย
มาร์กาเร็ต ชิน และคณะ ได้เคยทำการทดลองกับผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายเอเชีย โดยขอให้ทำแบบทดสอบด้านคณิตศาสตร์ แต่ก่อนหน้านั้นมีการแบ่งผู้หญิงดังกล่าวออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเพศของเธอ (เช่น ถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับหอพักรวม) เพื่อปูทางให้พวกเธอตระหนักถึงเพศของตน ส่วนกลุ่มที่สองนั้นถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเชื้อชาติ (เช่น ภาษาที่เธอใช้ในบ้าน รวมถึงประวัติครอบครัวของพวกเธอ) เพื่อปูทางให้พวกเธอตระหนักถึงเชื้อชาติของตน
เมื่อทำแบบทดสอบเสร็จ ผลปรากฏว่า ผู้หญิงที่ถูกเตือนใจว่าตนเป็นผู้หญิงนั้นทำผลงานได้แย่กว่าผู้หญิงที่ถูกเตือนใจว่าตนเป็นคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำอธิบายก็คือ เมื่อพวกเธอถูกกระตุ้นให้เกิดสำนึกว่าเป็นผู้หญิง ก็จะนึกไปถึงทัศนคติที่ผู้คนทั่วไปมีต่อผู้หญิงว่า เรียนคณิตศาสตร์ไม่เก่ง ผลก็คือไม่มีความมั่นใจในการทำแบบทดสอบนั้น ส่วนอีกกลุ่มนั้นเมื่อถูกปูทางให้เกิดสำนึกว่าเป็นอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ก็จะรู้สึกมั่นใจในการทำแบบทดสอบนั้น เพราะคนทั่วไปมองว่าคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียเก่งคณิตศาสตร์
การทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่าความคาดหวังหรือสายตาที่ผู้อื่นมองเรานั้น มีผลต่อพฤติกรรมของเราด้วย แต่จะมีผลในทางบวกหรือลบ ก็ขึ้นอยู่กับว่าภาพตัวตนอันใดที่ถูกกระตุ้นขึ้นมาในจิตสำนึกของเรา ภาพตัวตนเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มักส่งผลต่อพฤติกรรมของเราโดยไม่รู้ตัว ทั้งความรู้สึกนึกคิด ความคาดหวัง และการแสดงออก
เมื่ออยู่กับลูก ภาพตัวตนว่าเป็นพ่อแม่ก็เกิดขึ้น แต่เมื่อไปทำงานเจอเจ้านาย ภาพตัวตนว่าเป็น ลูกน้องก็มาแทนที่ แต่ถ้าเจอลูกน้อง ภาพตัวตนว่าเป็นเจ้านายก็ผุดขึ้น ในแต่ละช่วงเวลาและแต่ละบริบทนั้น เราจะแสดงอาการต่างกัน เช่น ตอนที่มีสำนึกว่าเป็นเจ้านาย ก็วางตัวขึงขัง พูดเสียงห้วน แต่พอเกิดสำนึกว่าเป็นลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ก็มีทีท่าอ่อนน้อม พูดจาสุภาพ มีน้ำเสียงนุ่มนวล ครั้นกลับถึงบ้าน ก็ใช้อำนาจกับลูก สั่งให้ลูกหยุดเล่นวีดีโอเกม และรีบทำการบ้านทันที
การเกิดภาพตัวตนหรือมีสำนึกว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ พุทธศาสนาเรียกว่า “ชาติ” ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเกิดจากท้องแม่เท่านั้น แต่รวมถึงการเกิดทางใจด้วย คือ เกิด “ตัวกู” ขึ้นมา ซึ่งมักนำไปสู่ความทุกข์ในที่สุด เพราะตัวกูแต่ละอย่างนั้นจะมีกิเลสและความยึดติดถือมั่นบางอย่างพ่วงติดมาด้วยเสมอ เริ่มตั้งแต่กิเลสที่อยากให้ตัวกูคงอยู่ยั่งยืน (หรือดับไปหากเป็นตัวกูที่ไม่ปรารถนา) กิเลสที่อยากให้ผู้อื่นสนองปรนเปรอตัวกูให้เติบใหญ่มั่นคง (ดังนั้นจึงทนไม่ได้ที่เห็นคนอื่นเก่งกว่าตน รวยกว่าตน หรือมีชื่อเสียงเป็นที่นิยมมากกว่าตน) รวมทั้งกิเลสที่อยากให้ใครก็ตามที่ขัดขวางการเติบใหญ่ของตัวกูนี้มีอันเป็นไป
เมื่อเกิดสำนึกในความเป็นแม่ หญิงสาวย่อมมีความสุขที่เห็นลูกเจริญเติบโตและมีความสุข แต่จะเป็นทุกข์ทันทีหากลูกไม่เชื่อฟังแม่หรือพูดจาไม่สุภาพกับแม่ เพราะแม่ย่อมคาดหวังความเคารพของลูก แม่ผู้หนึ่งตำหนิลูกที่เอาแต่เล่นวีดีโอเกมจนไม่สนใจทำการบ้าน แถมยังนอนดึก ไปโรงเรียนสายเป็นประจำ พอแม่ว่าลูกมากๆ ลูกก็โกรธ ไม่ยอมคุยกับแม่ แม่พยายามพูดคุยกับลูก แต่ลูกก็ไม่สนใจ เอาแต่เล่นวีดีโอเกม สุดท้ายแม่ยื่นคำขาดว่า ถ้าลูกไม่หันมาคุยกับแม่ แม่จะฆ่าตัวตาย แต่ลูกก็ยังทำหูทวนลม แม่ทนไม่ได้อีกต่อไป จึงปราดไปที่ระเบียงแล้วโดดลงมาจากตึกสูง ร่างกระแทกพื้นตายคาที่
เมื่อเกิดสำนึกหรือภาพตัวตนว่าเป็นแม่ ก็ย่อมมีกิเลสหรือความยึดติดถือมั่นอย่างแม่ คือต้องการให้ลูกเคารพเชื่อฟัง เมื่อลูกไม่เคารพเชื่อฟัง ก็เป็นทุกข์ ตัวกูถูกบีบคั้นอย่างแรง จึงต้องการตอบโต้เพื่อเอาชนะ หากใช้วิธีอื่นไม่ได้ผล ก็อาจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งหาได้เป็นประโยชน์แก่ใครเลยไม่
มีสำนึกว่าเป็นอะไร ก็มีทุกข์ทั้งนั้น การพ้นทุกข์ในพุทธศาสนาก็คือการไม่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไรเลย มีก็แต่รับรู้สมมติว่าเป็นอะไรเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อพราหมณ์ผู้หนึ่งถามพระพุทธเจ้าว่า ท่านเป็นเทวดาหรือไม่ พระองค์ก็ปฏิเสธ ถามว่าเป็นคนธรรพ์หรือไม่ พระองค์ก็ปฏิเสธ ถามว่าเป็นยักษ์หรือไม่ พระองค์ก็ปฏิเสธ ครั้นถามว่า ท่านเป็นมนุษย์หรือไม่ พระองค์ก็ปฏิเสธเช่นกัน สุดท้ายพราหมณ์ถามว่า ท่านเป็นอะไรเล่า พระองค์ตรัสตอบว่า อาสวะหรือกิเลสที่ทำให้เป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์ พระองค์ละได้หมดสิ้นแล้ว ดังนั้นเพื่อไม่ให้พราหมณ์สับสน จึงตรัสว่า “ท่านจงถือว่าเราเป็นพุทธะเถิด”
ปุถุชนอย่างเราๆ ท่านๆ ย่อมต้องมีความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ แต่อย่างน้อยมีบางสิ่งที่เราสามารถทำได้คือ รู้เท่าทันภาพตัวตนที่สร้างขึ้นในใจ ว่ามีจุดอ่อนตรงไหน มีความอยากหรือหรือความยึดมั่นในเรื่องอะไรที่จะทำให้เป็นทุกข์ได้ เมื่อรู้เท่าทันแล้วก็ไม่ปล่อยให้ความอยากความยึดมั่นนั้นครอบงำใจ จนบีบคั้นผลักไสให้เราเป็นทุกข์เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นไปดั่งใจ ขณะเดียวกันก็รู้จักเลือกใช้ภาพตัวตนให้เป็นประโยชน์ เพื่อส่งเสริมชักนำให้เราทำความดี มีความเพียร ขัดเกลาตนเอง เพื่อลดละความเห็นแก่ตัว รวมทั้งบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือใช้สำนึกในตัวตนเพื่อละความยึดมั่นในตัวตน เช่นเดียวกับที่พระสาวกหลายท่านใช้ตัณหาละตัณหาจนถึงที่สุดแห่งทุกข์
แสดงความคิดเห็น