โดย
พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2560
หญิงผู้หนึ่งเศร้าเสียใจมากเพราะสามีของเธอกำลังจะตายด้วยโรคร้าย เมื่อใดที่นึกถึงวันที่ไม่มีเขาอยู่ในโลกนี้ เธอยิ่งรู้สึกห่อเหี่ยว วันหนึ่งขณะที่สามีกำลังทรุดหนัก เธอพูดกับเขาว่า “ฉันจะอยู่อย่างไรเมื่อไม่มีคุณ” คำตอบของเขาคือ “นำความรักที่คุณมีให้กับผม ไปมอบให้คนอื่นๆ”
เธอพบว่าเมื่อสามีจากไป คำแนะนำของเขาช่วยเธอได้มาก การมอบความรักให้แก่ผู้อื่น ด้วยการช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือคนที่ลำบากกว่าเธอนั้น ช่วยให้เธอคลายความเศร้าโศกไปได้ไม่น้อย มันไม่เพียงทำให้เธอหลุดจากการจมดิ่งในความทุกข์เท่านั้น ความเมตตาที่ถูกปลุกขึ้นมายังช่วยขับไล่ความเศร้าโศกไปจากใจเธอ ยิ่งกว่านั้นความสุขใจที่ได้เห็นรอยยิ้มของคนที่เธอให้ความช่วยเหลือ ยังเป็นเสมือนน้ำชโลมใจที่ทำให้กลับมามีชีวิตชีวา
ความเมตตา ความใส่ใจและเอื้ออาทรต่อผู้อื่นนั้น เป็นโอสถที่สามารถเยียวยาจิตใจของผู้ที่เศร้าโศกเพราะสูญเสียได้เป็นอย่างดี กุมารแพทย์ผู้หนึ่งสูญเสียสามีอย่างกะทันหัน ทันทีที่รู้ข่าว ใจเธอแทบสลาย เธอจมอยู่ในความเศร้าอย่างไม่รู้วันรู้คืน แม้งานศพเสร็จสิ้น ความรู้สึกหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตก็ยังไม่จางคลาย ครั้นถึงเวลาที่ต้องไปทำงาน เธอก็เอาแต่จ่อมจมอยู่ในห้องพัก ไม่มีเรี่ยวแรงไปตรวจคนไข้ ทีแรกเพื่อนๆ ก็อยากให้เธออยู่กับตัวเองสักพัก ด้วยความหวังว่าไม่นานเธอก็จะดีขึ้น แต่ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ เธอก็ยังไม่ดีขึ้น เก็บตัวอยู่แต่ในห้องพักทั้งวัน
วันหนึ่ง หัวหน้าพยาบาลนำทารกคนหนึ่งมาวางไว้บนโต๊ะข้างหน้าเธอ ทีแรกเธอไม่สนใจ แต่หลังจากนั้นพักใหญ่ ทารกก็ร้องไห้ เธอเฉยอยู่นาน ทารกก็ยังไม่หยุดร้อง เธอจึงลุกมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น ครั้นพบว่าเด็กถ่ายอุจจาระก้อนใหญ่ เธอก็ต้องไปหาผ้าอ้อมมาเปลี่ยน แล้วก็นั่งเจ่าจุกต่อ ผ่านไปเป็นชั่วโมง เด็กก็ร้องไห้อีก คราวนี้เธอพบว่าเด็กมีอาการไม่สู้ดี ต้องให้ยา เธอจึงออกไปหายามาให้เด็ก รักษาเสร็จก็ได้เวลาเลิกงานพอดี เธอจึงอุ้มเด็กไปคืนที่หอผู้ป่วย แล้วก็หิ้วกระเป๋ากลับบ้าน
วันรุ่งขึ้น เธอมาโรงพยาบาลแต่เช้า แต่แทนที่จะตรงไปยังห้องพักเหมือนเคย เธอเดินไปหอผู้ป่วยเด็ก ประโยคแรกที่เธอถามพยาบาลก็คือ เด็กคนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นเธอก็ไปเยี่ยมเด็กคนนั้น เสร็จแล้วก็ไปดูอาการเด็กคนอื่นๆ วันนั้นทั้งวันเธอง่วนอยู่กับการรักษาเด็ก จนแทบไม่มีเวลามานั่งเก็บตัวในห้องพัก นับแต่วันนั้นเธอก็กลับมาเป็นกุมารแพทย์คนเดิมที่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง ความห่อเหี่ยวซึมเศร้าหายไป ความมีชีวิตชีวากลับมาแทนที่
กุมารแพทย์คนนี้หลุดจากปลักแห่งความเศร้าโศกได้ เมื่อเธอลุกขึ้นมาช่วยเหลือผู้อื่น การเยียวยารักษาเด็กทำให้เธอไม่มีเวลามานั่งจมอยู่กับเศร้า หรือนึกถึงความสูญเสียพลัดพราก ขณะเดียวกันความเอื้ออาทรที่แผ่คลุมใจของเธอก็ช่วยให้ความโศกเศร้าจางคลายไป เหมือนมีพลังบวกมาแทนที่พลังลบในใจ
ความเศร้าโศกหดหู่ ก็เช่นเดียวกับอารมณ์อกุศลอื่นๆ เมื่อเกิดขึ้นในใจ จะพยายามครองใจเราให้นานที่สุด มันจะสั่งใจเราให้นึกถึงเหตุการณ์ที่เจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อจะได้เศร้าโศกไม่เลิกรา ใครชวนไปไหน มันจะสั่งให้เราปฏิเสธ เพื่อจะได้นั่งเจ่าจุกคิดถึงเรื่องนั้นเป็นวันๆ เท่านั้นไม่พอ มันยังสั่งให้เราฟังเพลงเศร้าๆ เพื่อจะได้เศร้าหนักขึ้น ใครเปิดเพลงสนุกสนานให้เราฟัง หวังให้คลายความเศร้าโศก เราจะไม่พอใจทันที เพราะในยามนั้นเราอยู่ในอำนาจของความเศร้าจนเกือบหมดเนื้อหมดตัว
การออกไปช่วยเหลือผู้อื่น หรือนึกถึงคนที่ทุกข์ยาก เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ใจเราหลุดจากความเศร้าโศกหรือหดหู่ได้ เราอาจใช้ความสูญเสียพลัดพราก เป็นแรงผลักดันในการทำสิ่งดีงามก็ได้ มองในแง่หนึ่งนั่นคือการเปลี่ยนความพลัดพรากสูญเสียให้เป็นพลังสร้างสรรค์
หญิงผู้หนึ่งสูญเสียลูกสาววัยเด็กทั้งสามคน รวมทั้งพ่อแม่ผู้ชราในกองเพลิง ซึ่งไหม้บ้านเธอต่อหน้าต่อตา โดยที่เธอช่วยคนเหล่านั้นไม่ได้เลยแม้แต่น้อย ตอนนั้นใจเธอแทบสลาย
อย่างไรก็ตาม ในงานศพของคนทั้งห้า แทนที่เธอจะคร่ำครวญถึงคนเหล่านั้น เธอเชิญชวนให้ญาติมิตรที่มาร่วมงาน นึกถึงลูกๆ ของเธอ ด้วยการช่วยเหลือผู้อื่น “โปรดรักษาเด็กน้อยเหล่านี้ไว้ในหัวใจของคุณด้วยการแสดงความรักพร้อมกับการกระทำที่เปี่ยมด้วยเมตตาอันบริสุทธิ์ ด้วยการรักซึ่งกันและกัน และหาทางช่วยเหลือผู้อื่นทุกวัน” ไม่เพียงแต่พูด เธอยังก่อตั้งมูลนิธิขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนที่ทุกข์ยากตามเจตนารมณ์ดังกล่าว
มีน้อยคนที่สูญเสียคนรักพร้อมกันมากมายขนาดนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความเศร้าโศกท่วมท้นใจเธอมากมายเพียงใด ใครที่เจอความสูญเสียเช่นนี้คงยากที่จะประคองตนให้เป็นผู้เป็นคนได้ภายในเวลาไม่กี่วัน แต่เป็นเพราะการนึกถึงผู้อื่นและลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อคนเหล่านี้ เธอจึงคลายจากความเศร้าโศก ใช่หรือไม่ว่าการทำสิ่งดีงามดังกล่าว ช่วยให้การตายของลูกเธอเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ไม่ไร้ประโยชน์ หรือเป็นแค่เคราะห์กรรมอันเลวร้ายที่บั่นทอนจิตใจอย่างเดียว
ไม่เพียงช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ยากเท่านั้น แม้แต่การช่วยเหลือสัตว์เลี้ยง ก็ช่วยเยียวยาจิตใจได้ ผู้เฒ่าคนหนึ่งสูญเสียภรรยาที่อยู่ร่วมกันมานานกว่า ๖๐ ปี เขารู้สึกหดหู่ หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต ถึงกับพยายามฆ่าตัวตาย จนลูกต้องพาไปอยู่บ้านพักคนชรา จะได้มีเพื่อนและคนช่วยดูแล
แต่ตลอดสามเดือนที่นั่น เขายังคงหงอยเหงาเซื่องซึม เก็บตัวอยู่แต่บนเตียง ไม่พูดจากับใคร และไม่ยอมกินอะไรเลย จนหมอคิดว่าเขาคงไม่รอดแล้ว เพราะหมดแรงจูงใจในการมีชีวิต แต่แล้ววันหนึ่งเจ้าหน้าที่บ้านพักคนชราก็เอานกแก้วมาให้เขาคู่หนึ่ง ทีแรกเขาไม่มีทีท่าสนใจมัน ต่อมาก็เริ่มหันมาจ้องดูมันบ้าง วันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่มาให้อาหารนก เขาก็เล่าให้ฟังว่า นกเป็นอย่างไร และมันชอบอะไรบ้าง เป็นครั้งแรกที่เขาแสดงให้เห็นถึงความสนใจสิ่งนอกตัว แทนที่จะจมอยู่กับตัวเอง
ไม่นานเขาก็เริ่มกิน สวมเสื้อผ้าเอง และเดินออกจากห้อง เมื่อเขารู้ว่าบ้านพักแห่งนี้เอาหมามาเลี้ยง เขาก็เข้าไปหาเจ้าหน้าที่ ขออาสาพาหมาไปเดินเล่น สามเดือนหลังจากนั้นเขาก็กลับเป็นปกติ และกลับบ้านได้
ความเมตตามีอานุภาพในการเยียวยา ช่วยให้พลังชีวิตที่ถูกกดทับกลับคืนมา ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นเท่านั้น หากยังมีอานิสงส์แก่ตัวเราเองอย่างที่นึกไม่ถึง
แสดงความคิดเห็น