อย่าทำผิดในสิ่งที่ถูก



โดย พระไพศาล วิสาโล
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 18 มีนาคม 2560

“ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ตน” เป็นพุทธภาษิตที่ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยคุ้นเคย หลายคนฟังแล้วก็โมทนาสาธุ แต่บางคนที่ช่างสังเกตหน่อยอาจสงสัยว่า ทำไมต้องมีคำว่า “ประพฤติดีแล้ว” เพราะธรรมนั้นเป็นสิ่งดีสิ่งประเสริฐ ปฏิบัติเมื่อไหร่ก็น่าจะเกิดผลดีเมื่อนั้นไม่ใช่หรือ ทำไมจึงต้องต่อท้ายว่า “ประพฤติดีแล้ว” ด้วย แสดงว่าอาจมีการประพฤติที่ไม่ดีก็ได้ นั่นก็หมายความว่า ถ้าหากประพฤติไม่ดีก็ไม่นำสุขมาให้ตน อาจจะเกิดผลตรงข้ามก็คือทำให้เกิดทุกข์ได้

ธรรมที่ประพฤติไม่ดีย่อมนำทุกข์มาให้ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มีภาษิตหนึ่งในคาถาธรรมบทที่มีความหมายสอดคล้องกัน ก็คือ “หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดีย่อมบาดมือตนเองฉันใด ความเป็นสมณะอันบรรพชิตรักษาไม่ดี ย่อมฉุดไปนรกฉันนั้น” หญ้าคานั้นดูเผินๆ ไม่มีพิษมีภัยอะไร เพราะไม่มีหนาม แต่ถ้าจับไม่ดีมันก็บาดมือเอาได้ ความเป็นสมณะหรือความเป็นพระนั้น แม้จะเป็นสิ่งดี สิ่งประเสริฐ แต่เมื่อได้ครองเพศนี้แล้ว ใช่ว่าจะเกิดความเจริญงอกงามหรือเกิดผลดีเสมอไป ถ้าปฏิบัติไม่ถูกก็สามารถลงนรกได้ เช่น พอบวชเป็นพระแล้วมีคนกราบไหว้ เคารพนับถือมากมาย ก็หลงคิดว่าตัวเองปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว หรือเมื่อปฏิบัติดีมีคนศรัทธามีลาภสักการะเกิดขึ้น เกิดหลงติดในลาภสักการะนั้นก็จะเกิดความโลภ หลงตัวลืมตนนำไปสู่การปฏิบัติที่ผิดก็เป็นได้ เช่น ใช้ความเป็นสมณะของตัวล่อลวงให้คนหลง จะได้เอาลาภสักการะมาถวายมากๆ หรือทำยิ่งกว่านั้นคือ ใช้ความเป็นพระเพื่อหลอกให้สีกามาปรนเปรอกิเลสของตัว อันนี้เรียกว่าความเป็นสมณะที่ปฏิบัติไม่ถูกย่อมฉุดลงนรก


ธรรมะเป็นของดีของประเสริฐก็จริง แต่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องด้วย ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องก็จะเกิดผลเสีย เช่น เมื่อรู้ธรรมะแล้ว แทนที่จะเอาธรรมะมาขัดเกลาตัวเองให้เจริญงอกงาม กลับเอาไปใช้ตำหนิผู้อื่นหรือยกตนข่มท่าน เป็นการเพิ่มพูนกิเลส เพิ่มพูนทิฏฐิมานะ มานะในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความขยันหมั่นเพียร แต่หมายถึงความถือตัวหรือสำคัญมั่นหมายว่าฉันดี ฉันประเสริฐ ฉันเก่งกว่าคนอื่น คนที่จบปริญญาเอกหากคิดว่าฉันเก่งกว่าปริญญาโท คนที่จบปริญญาโทถ้าดูถูกคนจบมัธยม ก็เรียกว่ามี “มานะ” ถ้าเอาธรรมะที่ได้ร่ำเรียนมาใช้ในการดูถูกคนอื่น เชิดชูอัตตา โอ้อวดว่าฉันเก่ง ฉันรู้ธรรมะ อย่างนี้เรียกว่า เอาธรรมะมาปฏิบัติแบบไม่ถูกต้อง

การให้ทานก็เช่นกัน การให้ทานเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าเราให้ทานเพื่อมุ่งประโยชน์ของผู้อื่น เพื่อลดความตระหนี่ ลดความเห็นแก่ตัว อันนี้เรียกว่าปฏิบัติดี ย่อมทำให้เกิดสุข ทีนี้ปฏิบัติไม่ดีเป็นอย่างไร เช่น ให้ทานเพื่อแสดงว่าฉันเป็นคนใจบุญ อย่างนี้เรียกว่าทำบุญเอาหน้า อีกอย่างก็คือให้ทานเพราะอยากได้โชคได้ลาภ เช่น บริจาคสิบ อยากได้ร้อย บริจาคร้อย อยากได้ล้าน ให้ทานเพื่อหวังว่าจะถูกล็อตเตอรี่ ถูกหวย อย่างนี้เป็นการให้ทานเพื่อเพิ่มพูนกิเลส ได้บุญเหมือนกันแต่ได้น้อย

การรักษาศีลหากปฏิบัติผิดหรือวางใจไม่ถูกก็มีปัญหาเช่นกัน ศีลนั้นมีไว้เพื่อขัดเกลาตัวเอง แต่บางคนพอรักษาศีลอย่างเคร่งครัดแล้วก็เกิดความหลงตัวว่าเป็นคนมีศีล สำคัญมั่นหมายว่าฉันมีศีลมากกว่าเธอ เวลาเถียงกัน ถ้ามีเหตุผลสู้เขาไม่ได้ ก็เอาศีลมาข่ม อ้างว่าฉันศีล ๘ เธอแค่ศีล ๕ เธออย่ามาเถียงฉัน อย่างนี้เรียกว่าเอาธรรมะมาปฏิบัติไม่ถูกต้อง แทนที่จะลดกิเลส กลายเป็นการเพิ่มกิเลส นักปฏิบัติธรรมหลายคนที่เข้าวัดเป็นประจำ ถ้าไม่ระวังจะมีกิเลสตัวนี้พอกพูนยิ่งขึ้น อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติธรรมไม่ดี ประพฤติไม่ถูกต้อง

ในทำนองเดียวกัน บางคนภาวนาแล้วเกิดนิมิตเห็นแสงสี ก็หลงตัวว่าฉันเป็นผู้วิเศษ บางคนก็หลงตัวว่าเป็นอริยบุคคล แล้วก็ไปข่มคนอื่น บางทีข่มครูบาอาจารย์ด้วยซ้ำ สมัยที่หลวงปู่ดูลย์ยังมีชีวิตอยู่ มีลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อว่าหลวงตาพวง ท่านบวชเมื่อแก่แล้ว จึงปฏิบัติตั้งใจมาก ปรากฏว่าวันหนึ่งเกิดวิปัสสนูปกิเลส คิดว่าตนเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงเดินเท้า ๘๐ กิโลเมตรจากบุรีรัมย์ไปหาหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ซึ่งเป็นอาจารย์ของตนที่สุรินทร์ ไปถึงตอนเที่ยงคืนแล้วก็ตะโกนหน้ากุฏิว่า “หลวงตาดูลย์ ออกมาเดี๋ยวนี้ พระอรหันต์มาแล้ว” ครั้นหลวงปู่ดูลย์ออกมาจากกุฏิ แทนที่หลวงตาพวงจะกราบหลวงปู่ดูลย์ กลับพูดว่า “อ้าว ไม่เห็นกราบ ท่านผู้สำเร็จมาแล้ว”

หลวงตาพวงคิดว่าตัวเองสำเร็จเสร็จกิจเป็นพระอรหันต์แล้ว จะมาสั่งสอนครูบาอาจารย์ อย่างนี้เรียกว่าหลง เพราะภาวนาไม่ถูก อันนี้ไม่ได้เกิดจากเจตนาที่จะหลอกใคร แต่เป็นเพราะหลง จึงทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

บางคนแกล้งภาวนาเพื่อให้คนอื่นเห็นว่าฉันเป็นนักปฏิบัติที่เคร่ง สมัยก่อนมีสำนวนว่า “ทำบุญเอาหน้า ภาวนาตอแหล” สมัยนี้ไม่ค่อยได้ยินแล้ว สำนวนนี้เตือนใจเราว่า เวลาทำบุญอย่าเอาหน้า เวลาภาวนาก็ทำด้วยความซื่อตรง อย่าตอแหล หลอกลวง หรือทำตัวเรียบร้อยเพื่อสร้างภาพ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการนำธรรมะมาปฏิบัติแบบไม่ถูกต้อง ผลเสียที่เกิดขึ้นเห็นได้ชัดอยู่แล้ว กิเลสแทนที่จะลดลงกลับเพิ่มพูนมากขึ้น แล้วยังเป็นการเบียดเบียนคนอื่นด้วย

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์องค์ปัจจุบัน (ป.อ. ปยุตโต) เคยกล่าวว่า “อย่าทำผิดในสิ่งที่ถูก” ที่พูดมาทั้งหมดคือการทำผิดในสิ่งที่ถูก คือการเอาสิ่งที่ดีมาปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเพราะเป็นความหลงหรือด้วยเจตนาไม่ดีก็ตาม สิ่งที่ถูกที่ดีนั้นจะให้ผลดีก็ต้องปฏิบัติให้ถูกด้วย ปฏิบัติไม่ถูกก็เกิดผลเสีย หรือไม่เกิดผลดีอย่างที่ต้องการ

ท่านพ่อลี ธัมมธโร แห่งวัดอโศการาม เคยเล่าถึงผู้ชายสองคนซึ่งเป็นเพื่อนกัน วันหนึ่งขึ้น ๘ ค่ำเป็นวันพระ คนหนึ่งตั้งใจว่าจะไปวัด ใส่บาตรและฟังเทศน์ จึงชวนเพื่อนอีกคนไปด้วย ฝ่ายหลังคิดในใจว่า ถ้าเราเข้าวัดใส่บาตรฟังเทศน์ กลับมาก็ไม่มีอะไรจะกิน จึงตัดสินใจไปทอดแหดีกว่า

ชายคนที่ไปวัด ขณะที่ฟังพระเทศน์ ใจก็คิดถึงเพื่อนว่าจะได้ปลามากินไหม คิดไปคิดมาก็อยากกินแกงปลา เลยนึกอยากให้เพื่อนจับปลามาให้ได้ ส่วนคนที่ไปทอดแหนั้น ในใจนึกถึงเพื่อนว่าป่านนี้ใส่บาตรเสร็จแล้วยังหนอ รับศีลหรือยัง หรือว่ากำลังฟังเทศน์อยู่ พอได้ยินเสียงฆ้องดังมาจากวัด แกก็วางแห โมทนาสาธุทุกครั้ง ใจแกจึงเป็นบุญ ตรงข้ามกับคนที่อยู่ในวัด ฟังเทศน์ก็จริงแต่ใจไม่ได้บุญเลยเพราะนึกถึงแต่ปลาที่เพื่อนจะจับ

ชายคนแรกทำผิดในสิ่งที่ถูก คือตัวฟังเทศน์แต่ใจนึกถึงการจับปลา ส่วนชายอีกคน ทำถูกในสิ่งที่ผิด คือจับปลาก็จริงแต่ใจนึกถึงบุญกุศล

ทำผิดในสิ่งที่ถูก สู้ทำถูกในสิ่งที่ผิดไม่ได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรทำถูกในสิ่งที่ถูก อย่างเช่น ธรรมะเมื่อเรารู้ว่าเป็นของดีก็ควรจะประพฤติให้ดี ปฏิบัติให้ถูก จะเกิดสุขตามมา อย่าคิดว่าขึ้นชื่อว่าธรรมะแล้วจะปฏิบัติอย่างไรก็ได้ อันนั้นไม่ใช่ ถ้าคิดว่าจะปฏิบัติอย่างไรก็ได้ กิเลสจะฉวยโอกาสเข้ามาเล่นงานเราทันที กิเลสจะฉวยเอาการปฏิบัติธรรมนั่นแหละเป็นเครื่องสนองกิเลส จนอาจนำไปสู่การเบียดเบียนคนอื่นด้วย

สงครามศาสนาเป็นตัวอย่างของการทำผิดในสิ่งที่ถูก ศาสนาเป็นสิ่งที่ดี แต่หากยึดติดถือมั่น ก็สามารถนำไปสู่การทำลายล้างกันได้ คนที่เคร่งศาสนาจำนวนไม่น้อย หลงตนว่าเป็นคนดี จะคิดหรือทำอะไรก็มักเข้าข้างตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้น เวลาเจอใครที่ไม่เห็นด้วยกับตน ปฏิบัติไม่เหมือนตน ก็มักตัดสินว่าเขาเป็นคนไม่ดี เป็นคนชั่ว และเมื่อใดที่เราตัดสินใครว่าเป็นคนชั่ว เราก็พร้อมจะทำร้ายเขา ไม่ด้วยคำพูดก็ด้วยการกระทำ โดยไม่เฉลียวใจว่าการกระทำของเรานั้นเป็นความไม่ดี หรือเป็นความชั่ว อาจชั่วยิ่งกว่าคนที่เราทำร้ายเขาด้วยซ้ำ

Back to Top