โดย
ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 มีนาคม 2560
พจนานุกรมออกซฟอร์ดได้ยกให้คำว่า “หลังความจริง” (Post-Truth) เป็นคำแห่งปี พ.ศ. ๒๕๕๙ มันมีความหมายว่า ความเป็นจริงทางภววิสัยส่งผลต่อความคิดความเชื่อของผู้คนน้อยกว่าอารมณ์ความรู้สึกและความเชื่อส่วนตัว พูดภาษาง่ายๆ ก็คือ คนเราย่อมเอาอารมณ์ความรู้สึกเข้าตัดสินเสมอๆ โดยไม่สนใจหลักฐานความเป็นจริงที่ปรากฏต่อตนเอง
นักจิตวิทยาได้แยกกระบวนการให้เหตุผลของมนุษย์เป็นสองระบบ ระบบแรก เราก่อร่างสร้างรูปความเชื่อของเราจาก “ญาณทัสสนะ” และระบบที่สอง ด้วยกระบวนการ “ความคิดเชิงเหตุผล” ญาณทัสสนะคือผลพวงของวิวัฒนาการดั้งเดิมที่ทำให้เราเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดจากสภาพแวดล้อม มันเป็นกระบวนการที่ดำเนินอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกโดยเราไม่รู้ตัว ส่วนความคิดเชิงเหตุผลเป็นผลจากวิวัฒนาการของมนุษย์ในภายหลังที่ทำให้เราสามารถใช้เหตุผลเชิงนามธรรม ซึ่งจะถูกจำกัดด้วยความทรงจำและพัฒนาการทางปัญญา
นอกจากนั้น เขายังค้นพบว่า คนเราไม่ได้ใช้เพียงความคิดเชิงเหตุผลในการตัดสินใจทำอะไรต่างๆ ๑๐๐% เรายังใช้ญาณทัสสนะเข้ามาตัดสินในเรื่องต่างๆ โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว (และอาจจะอธิบายการกระทำนั้นด้วยเหตุผลในภายหลัง)
ที่ผมพยายามจะอธิบายเรื่องนี้มาทั้งหมดนั้น ก็เพื่อที่จะบอกว่า เราทุกคนนั้นอยู่ในโลกหลังความจริงก็ด้วยเหตุนี้ เพราะเหตุผลหรือข้อเท็จจริงนั้นกระทำการอยู่ในระบบที่สอง แต่พวกเรายังมีระบบที่หนึ่งทำงานอยู่เบื้องหลังโดยไม่ลดละ และเป็นกระบวนการที่ไม่ได้อยู่ในระดับจิตสำนึกอีกต่างหาก ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการยากลำบากที่เราจะพยายามอธิบายด้วยเหตุและผลเพื่อที่เปลี่ยนความคิดของผู้อื่น โดยเฉพาะถ้านั่นไปขัดแย้งกับสมมุติฐานความเชื่อเดิมที่เขามีอยู่ แมนนี่บอกว่า
“ตัวนั้นมันจะขึ้นมาตัดรอน” หมายถึงเราจะรู้สึกหัวร้อนขึ้นมาทันทีถ้าหากใครพยายามจะพูดอะไรที่ขัดแย้งกับความเชื่อของเรา และนั่นนำมาซึ่งความรู้สึกต่อต้านไม่ยอมรับ ส่วนกระบวนการทางเหตุผลที่ติดตามมาก็จะเป็นการยกขึ้นมาเพื่อรับรองความเชื่อของเราเสียมากกว่า
ถ้ามองแบบนี้ ผู้คนในประเทศไทยของเราก็ตกอยู่ในสภาพหลังความจริงมาตลอด เพราะผมเชื่อตามนักวิชาการบางท่านที่บอกว่า ประเทศไทยไม่เคยผ่านยุคสมัยใหม่มาเสียด้วยซ้ำ ถ้ามองอย่างเคน วิลเบอร์ เราก็ติดอยู่ในระดับจิตสีน้ำเงิน (Late Mythic) ซึ่งติดอยู่กับการมองหาว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรคือความดี และมองว่าโลกนี้มีวิธีในการมองเพียงแบบเดียวเท่านั้นที่ถูกต้อง เราติดอยู่กับความพยายามที่จะทำให้เกิดความบริสุทธิ์โดยไม่คำนึงว่ามันจะผิดธรรมชาติขนาดไหน เช่น การห้ามไม่ให้นักเรียนแต่งชุดนักเรียนไปนั่งทานข้าวในห้าง เพราะไปมองว่าชุดนักเรียนเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์และความดีในอุดมคติซึ่งไม่มีอยู่จริง หรือท่านพุทธทาสและพระอาจารย์คึกฤทธิ์ วัดนาป่าพง ที่พยายามจะตัดทอนข้อความในพระไตรปิฎกเพื่อให้เหลือแต่สิ่งที่ “เป็นจริงแท้” และขจัดความไม่บริสุทธิ์ หรือสิ่งปนเปื้อนออกไป
ผมเคยสอบถามพระอาจารย์ของผมเรื่องกรณีวัดพระธรรมกาย ที่ชวนคนไปหลงผิด และมีคำสอนที่ผิดหลักศาสนาพุทธ คำตอบของท่านทำเอาผมฉงนฉงาย ท่านตอบว่า
“อย่างน้อยเขาก็ทำให้คนได้สวดมนต์ ทำวัตรนะ”
ผมไม่พอใจกับคำตอบนี้เป็นอันมาก และรู้สึกว่าท่านเป็นคนไม่มีหลักการที่ประนีประนอมกับผู้ที่กระทำความผิด แต่พอเวลาผ่านไป ผมก็เกิดความเข้าใจมากขึ้น และมองว่า ความพยายามที่จะทำให้บริสุทธิ์นั่นเอง คือตัวร้ายที่เข้ามาปฏิบัติการในความคิดของผม ผมวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่ทำให้ศาสนาแปดเปื้อนเสียเป็นกระบุงโกย จนท่านกรุณาหยุดผมด้วยประโยคง่ายๆ ก็คือ
“อย่างศรชัยนี่น่าจะไปบวชนะ ศาสนาเราจะได้มีคนดีๆ ไว้สืบทอด”
ผมสะดุดกึกเมื่อได้ยินคำนี้ จริงสิ ผมไม่ได้มีความคิดจะไปบวช ได้แต่วิพากษ์วิจารณ์อย่างสนุกปาก นักจิตวิทยาบอกว่า คนเราจะเก่งในการใช้เหตุผลด้วยระบบที่สอง ตราบใดที่มันไม่ไปขัดแย้งกับความเชื่อของเราในระบบที่หนึ่ง พูดง่ายๆ ก็คือ เราเก่งในการโต้แย้งและตีตกความคิดของคนอื่น แต่เรากลับไร้เหตุผลเอาง่ายๆ ถ้าเรื่องนั้นมันดันมาเกี่ยวข้องกับความเชื่อของเรา
ผมจึงรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพบางท่านออกมาบอกว่า ต้องกำจัดธรรมกายให้สิ้นซาก ทั้งๆ ที่ตัวท่านเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งเครือข่ายพุทธศาสนิกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างพุทธศาสนิกต่างนิกาย!!
ผมยังจำคำพูดพระอาจารย์ของผมได้อีกประโยค
“พระไม่ใช่ใคร ก็แค่ลูกชาวบ้านนะศรชัย” วิธีการมองแบบนี้ข้ามการมองแบบทวิลักษณ์ที่แบ่งเขาแบ่งเราเป็นสองขั้ว แต่เห็นความเชื่อมโยง เห็นที่มาที่ไป นี่คือผลผลิตทางปัญญาที่ไม่ไปติดกรอบความรุนแรงทางความคิดที่จะต้องทำให้อะไรๆ บริสุทธิ์แต่ถ่ายเดียวหรือเปล่านะ
ถ้ามองในแง่นี้ กรณีอย่างธรรมกายก็เป็นผลผลิตของสังคมของเรา และเราทุกคนก็มีธรรมกายอยู่ในตัวเรา เรามีความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนาอยู่อย่างมากมาย แต่เราไม่มองย้อนกลับมา เพราะระบบที่หนึ่ง ปิดกั้นไม่ให้เราเห็นความจริง และพอใจที่จะให้ระบบที่สอง คือตรรกะเหตุผลทำงาน
ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าผมจะปกป้องวัดธรรมกายนะ เพราะตรงนี้ก็ให้ผู้เกี่ยวข้องเขาจัดการไป แต่ความคิดผมไปไกลกว่านั้น ผมมองว่าเราจะจิตวิวัฒน์ไปข้างหน้าได้อย่างไร ถ้าเรายังมีจิตวิญญาณฟาสซิสต์ซึ่งคอยบอกว่าอะไรถูกและอะไรผิด และวางตัวเองเป็นศาลเตี้ยทางจิตวิญญาณตลอดเวลา เพราะเท่าที่ผมพูดคุยมา ก็ไม่มีใครมีความเห็นที่ตรงกันในเรื่องพุทธศาสนาเป๊ะๆ เพราะเราก็ต่างมีเวอร์ชั่นของพุทธศาสนาที่เราว่าดีที่สุดในความคิดความเชื่อของเรา (ซึ่งเราไม่รู้ว่ามาตอนไหนอย่างไร -- จิตไร้สำนึก ระบบที่หนึ่ง)
ผมเพียงแต่สงสัยเท่านั้นเองว่า รัฐไทยไม่มีวิธีการที่ละมุนละม่อมในการจัดการเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อและศรัทธาของผู้คนหรืออย่างไร? ทำไมเราไม่ใช้การพูดคุยเจรจา ทำไมเราไม่ให้ผู้รู้ที่ไม่ตั้งตัวเป็นผู้เผด็จการทางความเชื่อ ทำการสังคายนาใหญ่เพื่อปรับเปลี่ยนความเห็นที่ออกนอกลู่ทางกลับมาสู่แนวทางที่ควรจะเป็นและทุกฝ่ายจะสามารถยอมรับได้ อาวุธยุทโธปกรณ์เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องนำมาใช้ในการจัดการกับสิ่งที่ละเอียดอ่อนและลึกลงไปถึงความเชื่อของผู้คน ผมก็ได้แต่หวังว่า เราควรจะมีศาสนาพุทธที่สามารถรองรับความแตกต่างหลากหลายไปตาม “สติปัญญา” ของศรัทธาธิกชนได้เลือก ส่วนเรื่องบิดเบือนคำสอน ไม่ต้องไปกังวลหรอกครับ ทุกวันนี้ก็บิดเบือนกันไปมากแล้ว แต่อย่าลืมนะว่า สติปัญญาของผู้คนจะเป็นตัวตัดสินว่า ค่ายไหนจะได้ “ไปต่อ”
แสดงความคิดเห็น