โดย
ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 25 มีนาคม 2560
ผมได้ดูเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งจากรายการทีวีช่อง National Geographic ระหว่างที่ดูได้อารมณ์ ความรู้สึก และความคิดที่หลากหลาย ได้สติและปัญญา มีความรู้สึกอยากจะเผยแพร่เรื่องราวการต่อสู้ชีวิตของเธอผู้แกร่งกล้าคนนี้
ผู้หญิงคนนี้เธอมีชื่อว่า Lizzie Velasques เป็นคนอเมริกัน เกิดที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส เธอเกิดมาก่อนกำหนดพร้อมกับความผิดปกติซึ่งวงการแพทย์ก็ยังวินิจฉัยไม่ได้ว่ามาจากอะไร คือเธอไม่สามารถเพิ่มน้ำหนัก (ไขมัน) ให้ตัวเองได้ รูปร่างของเธอจึงผอมบางมีแต่หนังหุ้มกระดูก เหมือนมนุษย์ต่างดาว หน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว จนตัวเธอเองพูดว่าเธอเป็นผู้หญิงที่น่าเกลียดที่สุดในโลก
ความทุกข์ทรมานทางกายจากโรคประหลาดที่ยังไม่ทราบสาเหตุ ความเจ็บป่วยทางกายที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดจนนับครั้งไม่ถ้วนตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันอายุ ๒๕ ปี และความเจ็บปวดทางใจตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา จากการถูกเพื่อนๆ ที่โรงเรียนล้อเลียน กลั่นแกล้ง ไม่มีเพื่อนเล่น มีแต่คนรังเกียจ ไม่มีใครอยากคบ เธอต้องคอยหลบซ่อนตัวจากจากคนอื่นๆ เพราะไม่อยากเห็นสายตา ท่าทาง การซุบซิบ และไม่อยากตอบคำถามเกี่ยวกับความผิดปกติของเธอกับคนรอบข้าง
ผู้ที่อยู่เคียงข้างและเป็นกำลังใจให้เธอตลอดมาก็คือคุณพ่อคุณแม่ของเธอเอง
เธอพูดกับตัวเองบ่อยๆ ว่าเธอจะยังตายไม่ได้ เธอรวบรวมความกล้า ส่งรูปตัวเองพร้อมคำบรรยายที่ระบุว่าเธอคือ “ผู้หญิงที่น่าเกลียดที่สุดในโลก” ลงในสื่อออนไลน์ ปรากฏว่ามีคนเข้าดูเกือบ ๕ ล้านครั้งในเวลาไม่นาน
เธอเป็นที่รู้จักในสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว มีสื่อและทีวีหลายช่องขอสัมภาษณ์ เชิญไปออกรายการ รวมทั้งได้รับเชิญให้ไปพูดในรายการ TED Talks ที่โด่งดัง ซึ่งเธอก็ต้องรวบรวมความกล้าที่จะออกไปปรากฏตัวตามที่สาธารณะและสื่อต่างๆ
ปัจจุบัน เธอต่อสู้เพื่อเด็กและบุคคลที่ถูกล้อเลียนและกลั่นแกล้งอันเนื่องมาจากความผิดปกติทางร่างกายและด้อยโอกาสทางสังคม เธอยังทำหน้าที่เป็นนักพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟังที่หลากหลาย โดยเฉพาะเด็กนักเรียน
เธอเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงแบบสำเร็จรูป ทันทีที่เธอใช้ความกล้าที่เกิดจากภายในจิตใจของตนเอง ผนวกกับการหนุนเสริมและการให้กำลังใจจากพ่อแม่ ก้าวข้ามความความผิดปกติและความอัปลักษณ์ภายนอกทางกาย เธอกลายเป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจที่ใครๆ ก็อยากฟัง ปัจจุบันเธอได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า
Dare to Be Kind อาจแปลเป็นไทยได้ว่า “กล้าที่จะการุญ”
สาระสำคัญในการพูดสร้างแรงบันดาลใจของเธอคือ การรวบรวมความกล้า ซึ่งเป็นมิติภายในจิตใจของตนเอง กล้ายอมรับและกล้าเผชิญความจริง นำสิ่งที่คิดว่าเป็นด้านมืด ด้านลบ ด้านด้อย (Negativity) ให้แปรเปลี่ยนเป็นด้านสว่าง ด้านบวก ด้านเด่น (Positivity) กล้าที่จะก้าวออกจากความกลัวและกับดักความคิดเดิมๆ รูปลักษณ์ภายนอกต่างก็แตกต่างกันออกไป หากแต่ละคนก็มีความเป็นมนุษย์ ความเป็นตัวของตัวเอง ที่สำคัญคือความกล้าเริ่มมาจากตัวเราเอง
ใครสนใจชีวิตของผู้หญิงคนนี้ที่ภายนอกอาจจะดูน่าเกลียดที่สุดในโลก แต่ภายในแกร่งกล้าและงดงามที่สุดคนหนึ่ง เข้าไปค้นหาได้ในกูเกิล แค่พิมพ์ชื่อเธอตามที่ผมให้ไว้ในตอนต้นของบทความ ก็จะพบเรื่องราวที่น่าสนใจของเธอ
ผมเองก็เคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า
กล้าที่จะก้าวข้าม หรือ Dare To Walk Across เมื่อปี ๒๕๕๑ เป็นหนังสือรวมบทความที่เขียนไว้ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ แจกให้ลูกศิษย์ในงานเกษียณอายุราชการของตัวเอง โดยผมนำชื่อของบทความหนึ่งมาเป็นชื่อหนังสือ ในบทความนั้นผมได้สะท้อนความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น และได้อัญเชิญพระราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ บางส่วนมาเสนอเพื่อให้ และเตือนสติแก่ผู้ที่กำลังต่อสู้กันท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ในส่วนหนึ่งของบทความ ผมเขียนว่า “ด้วยจิตสำนึกของความเป็นครู อาจารย์ ที่หวังให้ทุกฝ่ายในสังคมประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ยุวชน และเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ปวงชนโดยส่วนรวม ผู้เขียนไม่ขอเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายถอยกันคนละก้าว แต่ขอร้องให้ทุกฝ่ายก้าวไปข้างหน้าอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ด้วยการเดินหน้าเข้าหากันอย่างมีสติและใช้ปัญญาในการก้าวข้ามตัวตน ก้าวข้ามพรรค ก้าวข้ามฝ่าย และก้าวข้ามวิกฤตการณ์เพื่อแสวงหาทางเลือกที่พึงประสงค์ร่วมกัน ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นส่วนรวมอย่างแท้จริงโดยสันติวิธี”
ที่ผมพูดถึงหนังสือ
กล้าที่จะก้าวข้าม ที่ผมเขียน ก็เพียงเพื่อจะสะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างในเชิงเปรียบเทียบ ผมอายุ ๖๘-๖๙ ปี ไม่เคยมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดบาดลึกจิตใจแบบที่ Lazzie ผ่านพบ ผมเรียนจบปริญญาเอก เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สอนที่จุฬาฯ มหิดล และทั่วประเทศ เป็นสมาชิกและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มจิตวิวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการและต่อมาเป็นที่ปรึกษาศูนย์จิตตปัญญาศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เป็นอาจารย์และที่ปรึกษาศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นกรรมการนโยบายของไทยพีบีเอส... ผมเขียนได้แค่ กล้าที่จะก้าวข้าม ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ปรากฏต่อหน้า แต่ผู้หญิงที่ชื่อ Lazzie คนนี้ เธอมีอายุแค่ ๒๕ ปี แต่เธอมีความกล้าที่จะเขียนหนังสือ
กล้าที่จะการุญ (Dare To Be Kind) ที่ถ่ายทอดมาจากประสบการณ์ตรงของชีวิตที่เลวร้ายและงดงามของเธอ...ข้าฯ ผู้เฒ่าขอคารวะ
แสดงความคิดเห็น